วิเคราะห์อนาคต ‘ทีมชาติไทย U-23’ ออกหน้าไหน เทกุ หรือ โค้ชหระ ใครเหมาะได้ทำทีม?
อนาคตของทีมชาติไทย ชุดอายุต่ำกว่า 23 ปี ที่มีทาง ‘โค้ชหระ-อิสสระ ศรีทะโร’ รับตำแหน่งเป็นกุนซืออยู่ในขณะนี้ พร้อมกับแนวทางการบริหารทีมที่ไม่มีความชัดเจน ทั้งเรื่องของการจ่ายเงินเดือน, สัญญาฉบับใหม่ หรือ การลุ้นขอเก็บตัวนักเตะ ที่ทางทีมงานต้องวางแผนกันตามสถานการณ์แบบเดือนต่อเดือน
แม้ว่าทาง ‘บิ๊กอ๊อด-พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง’ นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน จะมีการยืนยันล่าสุดว่า เตรียมมีการต่อสัญญากับ โค้ชหระ พร้อมกับเปรยว่าจะให้โอกาสคุมทีมไปจนทัวน์นาเมนต์ชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งจะลงเตะกันในช่วงวันที่ 15 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2024 โดยมีเดิมพันสูงถึงตั๋วการไปลุย โอลิมปิก เกมส์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตามกระแสข่าวจากสื่อญี่ปุ่นอย่าง Sponichi ที่เคยรายงานข่าว ‘มาซาทาดะ อิชิอิ’ เตรียมคุมทีมชาติไทย กลับเสนอข่าวว่า ‘มาโกโตะ เทกุระโมริ’ เป็นตัวเต็งในการเข้ารบงานคุม ทีมชาติไทย ชุดอายุต่ำกว่า 23 ปี ส่งผลให้เรื่องนี้อาจเกิดความสั่นคลอนในการทำทีมเดิมทีก็ไม่มั่นคงอยู่แต่เดิม
หากนำบริบทต่างๆ มาวิคราะห์กันตามจริง เทกุ หรือ โค้ชหระ ใครเหมาะสมในการเป็นกุนซือประจำทัพช้างศึกจูเนียร์ ด้วยเหตุผลประกอบอย่างไรบ้าง? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ความคุ้นเคยกับลูกทีม
แน่นอนว่าจุดนี้ตามหน้าเสื่อดูเหมือนว่า โค้ชหระ จะได้เปรียบ เทกุ อยู่เล็กน้อย เพราะมีลูกทีมที่เป็นตัวหลักบางรายอย่าง อิรฟาน ดอเลาะ ที่ผลักดันกันมาตั้งแต่เคยคุม ทีมชาติไทย ชุดอายุต่ำกว่า 19 ปี รวมไปถึง ปุรเชษฐ์ ทอดสนิท เพลย์เมคเกอร์จากสโมสร เมืองทอง ยูไนเต็ด ที่แม้จะไม่ค่อยได้เล่นกับต้นสังกัด แต่เมื่อได้โอกาสในทีมชาติมักจะทำได้ดีเสมอ
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าแกนหลักของทัพ ยู-23 ทีมชาติไทย ส่วนใหญ่ล้วนมาจากสโมสรที่สนับสนุนเยาวชนอย่าง ชลบุรี เอฟซี ที่พร้อมปล่อยตัวนักเตะในสังกัดมาช่วยชาติอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ทรงชัย ทองฉ่ำ (เซนเตอร์แบ็ค), จักรพงษ์ แสนมะฮุง (เซนเตอร์แบ็ค), ฉัตรมงคล เรืองฐณโรจน์ (แบ็คซ้าย), พงศกร ตรีสาตร์ (แบ็คขวา) และ บุคฆอรี เหล็มดี (แบ็คขวา)
นอกจากนี้กองกลางตัวเพลย์คนสำคัญอย่าง ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว และกองหน้าตัวจบสกอร์อย่าง ยศกร บูรพา ก็ล้วนเป็นนักเตะจากค่าย ฉลามชล เช่นกัน ซึ่งพวกเขาล้วนเคยมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับ เทกุ ในถิ่น ชลบุรี สเตเดี้ยม เผลอๆ ถ้านับชั่วโมงที่อยู่ร่วมกัน อาจมากกว่าที่เก็บตัวกับ โค้ชหระ เสียอีก
ถ้าวิเคราะห์เริ่มต้นกันจากจุดนี้ เทกุ และ โค้ชหระ ล้วนรู้จักศักยภาพที่แท้จริงของลูกทีมไม่ต่างกัน แต่ถ้าเกิดทางผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจจัดการ ตัดสินใจปรับเปลี่ยนหัวเรือแบบเร่งด่วน ผลกระทบที่จะตามมาจะออกเป็นบวกหรือลบ ยังไม่มีใครตอบได้
การวางแท็คติกและประสบการณ์ทำทีม
หากวัดกันด้วยปัจจัยนี้ ต้องยอมรับกันตามตรงว่า โค้ชหระ นั้นเป็นรอง เทกุ แบบสุดกู่ เนื่องจากโปรไฟล์ของโค้ชแดนปลาดิบ เคยผ่านการพาทีม เวกัลตะ เซ็นได เป็นแชมป์ เจ ทู ในปี 2009 และพาทีมชาติญี่ปุ่น รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี คว้าแชมป์เอเชียได้สำเร็จในปี 2016 แต่เมื่อมองกลับมาที่กุนซือช้างศึกจูเนียร์คนปัจจุบัน กลับยังไม่เคยคว้าแชมป์ใดๆ มาครองได้เลยทั้งในระดับชาติและสโมสร
จริงอยู่ที่ทาง โค้ชหระ ใช้เวลาเพียงสั้นๆ ในการวางแผนการเล่นให้เหมาะสมกับลูกทีมที่มีอยู่ในมือได้เสมอ ยามออกไปต่อกรกับชาติอื่นๆ ในระดับเวทีเอเชีย เรียกว่าสู้ได้สนุก ได้ใจ แบบไม่เป็นรอง แต่ผลการแข่งขันก็ออกได้ทั้งสามหน้า ไม่ว่าจะเป็น ชนะ-เสมอ หรือแพ้ แถมมีรอยด่างติดตัวจากเหตุการณ์นัดชิง ซีเกมส์ ที่ทำทีมจบในตำแหน่งรองแชมป์ พร้อมกับเรื่องการทำกิริยาไม่เหมาะสมของนักเตะและทีมสตาฟฟ์ในเกมนัดชิงกับ ทีมชาติอินโดนีเซีย พ่วงเป็นชนักติดหลังอยู่อีก
ส่วนทาง เทกุ ที่มองจากโปรไฟล์แล้วเลิศหรู ก็ดูเหมือนจะมาตกม้าตายกับการคุมทัพ ชลบุรี เอฟซี ในฤดูกาลนี้เช่นกัน ทำทีมหล่นไปอยู่ในโซนแดงท้ายตาราง ต้องมานั่งลุ้นหนีตกชั้นกันต่อ หลังจากเขาอำลาตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
แม้ว่าภาพรวมในการเล่นของ ชลบุรี ในยุคของ เทกุ จะเป็นบอลที่มีระบบการเล่นที่ดี ต่อบอลสวยงาม และมีการเล่นเกมรุกที่ไหลลื่น แต่กลับขาดเรื่องของการจบสกอร์ที่เฉียบคม ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ตัดสินผู้แพ้-ชนะในเกมลูกหนัง ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า หากโค้ชรายนี้มีตัวเลือกที่มีศักยภาพฝีเท้าสูงขึ้นให้ใช้งานในมือ จะเกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้แฟนบอลได้เห็นกันหรือไม่?
ข้อดี-ข้อเสียของทั้งคู่
ข้อดีของ โค้ชหระ ที่ปฏิเสธไม่ได้เลย คือ การทำงานร่วมกับผู้บริหารแบบไม่มีหือ ไม่มีอือ ก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา ไม่มีการออกมาพูดตำหนิปัญหาที่เกิดขึ้นกับทีมผ่านสื่อ หรือ ออกลูกดื้อใดๆ จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา รวมไปถึงการแสดงออกถึงความเป็นลูกผู้ชายในการยอมรับความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับทีมชุดนี้ด้วยตัวเองมาตลอด
แต่การที่ไม่มีปากมีเสียงในการเรียกร้องสิ่งที่ควรจะได้ ส่งผลให้การทำงานของเขานั้นหนักหนาสาหัสมากขึ้นเป็นดาบสองคมเช่นกัน แล้วถ้าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นแผลติดเชื้อเรื้อรังต่อไป ระบบรากฐานของฟุตบอลไทยก็จะไม่มีการพัฒนาเป็นแบบมืออาชีพสักที
ส่วนในรายของ เทกุ แน่นอนว่าข้อดีที่สุดที่แฟนบอลไทยคาดหวัง คือ ‘วิถีเจแปน เวย์’ ที่จะถูกนำมาใช้บริหารจัดการ และได้ทำงานร่วมกับ มาซาทาดะ อิชิอิ กุนซือทีมชาติไทยชุดใหญ่ ด้วยแนวทางเดียวกัน สื่อสารกันได้ชัดเจนเพราะเป็นคนญี่ปุ่นเหมือนกัน การส่งมอบนักเตะชุดเล็ก เพื่อเป็นกำลังหลักให้ทีมทีมชาติชุดใหญ่ในอนาคต ย่อมเป็นสิ่งที่หลายๆ คนคาดหวัง รวมไปถึงการลุ้นแชมป์ในรายการสำคัญต่างๆ
อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการแบบมืออาชีพของ เทกุ อาจจะไม่เข้ากับระบบการจัดการของผู้มีอำนาจตัดสินเรื่องต่างๆ จาก สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ก็เป็นได้ ดังนั้นหากตั้งความหวังว่า เทกุ จะเข้ามาเสกความสำเร็จให้ได้ในฉับพลันคงเป็นไปได้ยาก ซึ่งมองดูได้จากตัวอย่างล่าสุดในการคุม ชลบุรี เอฟซี ที่แม้จะมีทรัพยากรและแนวทางตรงกันไปหมด แต่ผลลัพธ์กลับออกมาน่าผิดหวังแบบที่ไม่มีใครคาดคิด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :