วงการบอล 7 คน ‘ไทย’ เทียบ ‘เวียดนาม’ ปัจจุบันใครไปไกลกว่า?
หากกล่าวถึงกีฬา ‘ฟุตบอล’ ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก สำหรับในหมู่ผู้ชา่ยส่วนใหญ่ตั้งแต่วัยเด็กยาวไปจนวัยกลางคน แทบจะเรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่อยู่คู่กับช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเสพสื่อเพื่อความบันเทิง, ออกกำลังกาย และยังรวมถึงการยึดเป็นถึงอาชีพที่ทำเงินเป็นกอบเป็นกำได้ในปัจจุบัน
เกมลูกหนังนั้นมีการแยกย่อยออกไปตามจำนวนและพื้นที่สนามแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นฟุตซอล 5 คนที่เล่นได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง, ฟุตบอล 7 คนทั้งสนามหญ้าจริงและหญ้าเทียม และฟุตบอลแบบดั้งเดิม 11 คน ที่มีถ่ายทอดสดให้เห็นกันเป็นประจำทุกสัปดาห์ จากทั้งในประเทศไทยเองหรือต่างประเทศก็ดี
ถ้าจำเป็นต้องแยกย่อยมาในกลุ่มชายที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย หาสนามเล่นง่ายและสะดวกสบายกว่าประเภทอื่นๆ จนได้รับความนิยมอย่างสูง ณ ตอนนี้ คงหนีไม่พ้นฟุตบอล 7 คน ทั้งแบบสนามหญ้าจริงและหญ้าเทียม เนื่องจากมีการพัฒนาไปจากการออกกำลังกายทั่วๆ ไปเพื่อสันทนาการ จนมีผู้ริเริ่มจัดรายการชิงเงินรางวัลมานับสิบๆ ปี เริ่มตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้านบาท จนทุกวันนี้มีทัวร์นาเมนต์ผุดขึ้นราวกับดอกเห็นแทบทุกสัปดาห์ทั่วประเทศ
หลายปัจจัยที่ทำให้คนหันมาสนใจบอล 7 คนมากขึ้น ไม่ได้เป็นเพราะกระแสตามสื่อ โซเชี่ยล มีเดีย ต่างๆ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องยอมรับว่า มีกลุ่มคนที่มีใจรักในกีฬาประเภทนี้ แล้วคอยผลักดันอยู่เบื้องหลังถึงขนาดส่งทีมตัวแทนทีมชาติไทย ออกไปชิงแชมป์ระดับอาเซียนนอกประเทศที่ ‘เวียดนาม’ มาแล้ว
อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ของผู้ที่ไปสัมผัสวงการบอล 7 คนของทัพดาวทองมาจริงๆ กลับแอบรู้สึกผิดหวังเล็กๆ อยู่ในใจ เพราะเมื่อเรื่องความเอาจริงเอาจังในบ้านเรากับบ้านเขาแล้ว ต้องยอมรับตามตรงว่ามีบางปัจจัยที่เขานำหน้าเราอยู่พอสมควร ซึ่งถ้าไม่ใช่คำบอกเล่าของชายที่ชื่อว่า กอล์ฟปราการ 'ภัทรวุฒิ ศรีสวัสดิ์' ผู้คร่ำหวอดในวงการลูกหนังที่คลุกคลีมาตั้งแต่ บอลสโมสรอาชีพ, บอลเดินสายล่าเงินรางวัล และดูแลจัดการฟุตบอลระดับเยาวชนอีกมากมายหลายรายการ น้ำหนักคงไม่น่าเชื่อถือเท่านี้
วันนี้ทีมงาน Think Curve-คิดไซด์โค้ง พร้อมที่จะนำคำบอกเล่ากับแนวคิดของ กอล์ฟปราการ ผู้ทุ่มเทให้กับวงการบอล 7 คนอย่างจริงจังมาตลอด มาตีแผ่ให้เห็นภาพว่า ‘ทำไมประเทศไทยถึงสมควรใส่ใจกับกีฬาชนิดนี้ให้มากกว่าเดิม?’ เมื่อเขาได้ไปเห็นพัฒนาการในแวดวงเดียวกันของชาติย่านอาเซียนแบบ เวียดนาม มาด้วยตาของตัวเอง
กระแสนิยมในไทย
หากแฟนฟุตบอลในประเทศไทยได้ติดตามสื่อวงการบอลไทยอย่างใกล้ชิดเมื่อเดือนก่อน หลายคนคงปฏิเสธได้ยากว่า ฟุตบอล 7 คน กำลังมาแรงมากๆ เพราะรายการ ‘ฟุตบอล 7 สี’ ที่เป็นบอลนักเรียนชิงแชมป์ทั่วประเทศระดับเยาวชน ที่ยอดคนดูผ่านออนไลน์ถ้านับรวมทุกคู่ที่ถ่ายทอดสด การันตีได้เลยว่าหลายล้านคน แถมยังมีทีมดังๆ หรือโรงเรียนที่เป็นอะคาเดมี่จากสโมสรระดับท็อปในวงการบอลอาชีพบ้านเราเข้าร่วมด้วย
สำหรับผู้เล่นที่เป็นตัวท็อปของรายการนี้ ไม่ต้องถามถึงอนาคตว่าจะไปลงเอยที่ไหน? เพราะพวกเขาคงมีสโมสรรองรับ คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังอยู่แล้ว รอวันที่จะเติบใหญ่เป็นนักฟุตบอลอาชีพระดับ ไทยลีก 1-3 พร้อมก้าวสู่เส้นทางที่ควรจะเป็นต่อไป แต่ถ้าถามถึง เพชรรายอื่นๆ ที่ยังไม่ผ่านการเจียระไนให้เปล่งประกายฉายแววออกมาเต็มที่ กลับเป็นอนาคตที่สวนทางกันแบบชัดเจน เพราะกลุ่มนี้นั้นยังไม่มีเวทีรองรับว่าควรจะเอายังไงต่อกับชีวิตกันแน่
ด้วยเสน่ห์ของเกมบอล 7 คน ที่เน้นไปที่การยิงประตู เล่นเกมบุก เกมไว และได้รับผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว เข้าใจกฎกติกาง่าย ไม่มีการล้ำหน้า เลยทำให้ได้รับความนิยมสูง เพราะเป็นเกมที่แฟนบอลชมแล้วรู้สึกได้รับการเอนเตอร์เทน ยิงกันถล่มทลายระดับ 3 ลูก 5 ลูก/เกม ได้สบายๆ ความนิยมจึงเป็นที่แพร่หลายตามจังหวัดต่างทั่วประเทศมาอย่างยาวนาน กลายเป็นกีฬาที่เล่นกันได้แทบทุกตำบล ยิ่งมีผู้จัดใจถึงกระจายจัดรายการเงินรางวัลไปทั่วประเทศ ประชาชนทั่วไปเข้าไปรับชมที่สนามได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย แถมยังมีการถ่ายทอดสดออนไลน์ ความนิยมของบอล 7 คน จึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมมีรายการเงินล้านดังๆ ไม่กี่รายการ จนตอนนี้แทบจะนับกันไม่ถ้วนตามปีปฏิทิน
แน่นอนว่าอนาคตของอดีตเยาวชนบอล 7 สี หลายๆ คน ถ้าไม่มีสโมสรอาชีพช้อนตัวไป เกินกว่าครึ่งคงต้องหันมาเอาดีทางนี้แบบเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นการสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว รวมไปถึงเป็นการต่อเส้นทางของตัวเองให้ได้ทำในสิ่งที่รัก แต่ด้วยภาพลักษณ์ตั้งแต่สมัยเก่าก่อนเรื่อง การทะเลาะวิวาท, การพนัน และ สิ่งมอมเมาต่างๆ ยังคงทำให้ผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนติดภาพเดิมๆ จนเกิดกระแสแอนตี้ฟุตบอลกระแสรองนี้ ทั้งที่ไม่ได้อัพเดตชุดข้อมูลว่าปัจจุบันพัฒนาไปไกลแค่ไหน?
อ้างอิงจากการสัมภาษณ์ กอล์ฟปราการ ที่แชร์ประสบการณ์ตรงจากผู้จัดแข่งรายการระดับประเทศให้ฟังว่า
"บ้านเรา นักบอลเก่งๆ หายไปเพราะอะไร? เพราะมีข้อจำกัดด้านจำนวนคน สมมติว่า ทีมในไทยลีก ทีมนึงมีผู้เล่น 35 คน คูณไป 16 ทีม T2 มี 18 คูณ 35 T3 อีกตั้งเท่าไหร่? แต่อย่าลืมว่านักบอลสมมติว่าจบจากฟุตบอลนักเรียนหรือมหาวิทยาลัย จบไปจะมีเวทีเล่นเลย แต่ละทีมเขามีคนอยู่แล้ว ซึ่งจะแทรกก็ไม่ง่าย แล้วนักฟุตบอลใหม่ออกมาเป็นหมื่นเป็นแสน ซึ่งหลายคนเลิกเล่นไปเพราะไม่มีเวทีรองรับ"
"ทุกวันนี้ฟุตบอลเดินสายบูมมาก แต่คนไปจำภาพที่มีปัญหากัน ทั้งๆ ที่รายการที่มีปัญหา ไม่ใช่รายการใหญ่ๆ ที่ผ่านมาเราจัดบอล 7 คนตรงนี้มา 500 กว่าทีม ตลอด 2 ปีไม่เคยมีปัญหาอะไรที่มันรุนแรงออกไปเลย"
นอกจากนี้ กอล์ฟปราการ เสริมข้อความอันหนักแน่นให้เข้าใจภาพลักษณ์บอล 7 คน หรือบอลเดินสายที่เปลี่ยนไปจากในอดีต เนื่องจากผู้จัดหลายรายมีการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เพิ่มข้อจำกัด เพิ่มกฎ มี VAR มีการถ่ายทอดสด ทำให้ภาพที่มันเกิดขึ้นกลายเป็น ดิจิตอล ฟุตปริ้นท์ นักเตะที่มาแข่งขันแทบจะไม่มีใครกล้ากระทำกิริยาแย่ๆ ออกไป เนื่องจากกลัวสังคมออนไลน์ประณาม ยิ่งไปกว่านั้นยังตัดเรื่องของการพนันขันต่อออกไปได้อีกด้วย หากผู้จัดนั้นมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าต้องการให้รายการของตัวเองนั้นขาวสะอาด
สิ่งที่การันตีได้เป็นอย่างดี คือ รายการที่จัดโดย Kool Supporters ที่มีการจับมือกับแบรนด์เครื่องดื่มระดับโลก นั้นไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเลย แม้จะมีทีมที่เข้าแข่งขันจากทั่วประเทศหลายร้อยทีม เพราะแต่ละทีมต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การคว้าสิทธิ์ไปโชว์ฝีเท้าที่ต่างประเทศ พร้อมกับเงินรางวัลสนับสนุนที่สมน้ำสมเนื้อ สมกับที่พวกเขาเหนื่อยยากตราตรำมา…แต่เมื่อนำภาพของเราไปเทียบกับเพื่อนบ้านย่านอาเซียน ยังต้องยอมรับว่าเราเป็นรอง เวียดนาม อยู่ก้าวหนึ่ง
เวทีอาชีพจริงจัง
จากคอนเนคชั่นและชื่อเสียงในวงการของ กอล์ฟปราการ ที่ดำเนินการจัดแข่งขันบอล 7 คนมาอย่างยาวนาน แล้วมีความเป็นมืออาชีพสูง จึงได้รับการติดต่อจากตัวแทนจากประเทศเวียดนาม ให้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะถึงรังของทัพดาวทอง แล้วเมื่อไปสัมผัสประสบการณ์จริง กลับทำให้เขาต้องรู้สึกอึ้งไม่น้อย
เวียดนาม มีการจัดตั้งสมาคมบอล 7 คนขึ้นมาจริงๆ จังๆ แถมออฟฟิศยังอยู่ภายใน VFF หรือ สมาคมฟุตบอลประเทศเวียดนามอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเปิดลีกอาชีพรองรับ นักเตะมีการลงทะเบียน มีการซื้อตัว มีการจ่ายเงินเดือนจ้าง มีโปรแกรมการแข่งขันไม่ต่างจากฟุตบอล 11 คน ทุกอย่างมันสะท้อนให้เห็นภาพที่แตกต่างจากประเทศไทยที่เขาพยายามผลักดันวงการนี้แบบคนละขั้ว
นอกจากนี้มันทำให้ กอล์ฟปราการ ได้เห็นถึงการแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่อง นักบอลลีกอาชีพ แอบมาเล่นฟุตบอล 7 คนเดินสายในประเทศของเราได้ชัดเจน เพราะมีเวทีรองรับ หากนักเตะคนไหนสะดวกใจจะอยู่ในระบบการบริหารแบบไหน ก็สามารถเลือกทางเดินที่เหมาะกับตัวเองได้แบบไม่มีถูกผิด ตามที่เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า
“ถ้าทุกสโมสรในลีกจ่ายเงินเดือนตรง จ่ายเงินเดือนเต็ม ไม่มีนักบอลออกมาเดินสายแน่นอน แต่ทุกวันนี้จ่ายเงินกันน้อย จ่ายไม่ตรง จ่ายไม่ครบ กลุ่มนักเตะก็ต้องมองหารายได้อื่นๆ เป็นปกติ ธรรมชาติของคนถ้าเงินดี สวัสดิการดี ไม่มีใครเอาอนาคตตัวเองมาเสี่ยงแน่นอน”
“การที่นักเตะลีกล่างๆ มาเยอะ เพราะผู้จัดบอลเดินสายมีศักยภาพในการจ้างสูงมาก มองในมุมนักบอลที่ขาดรายได้ช่วงปิดฤดูกาล ถ้าพวกเขาไม่มีรายได้แน่นอน ถามว่าพวกเขาจะอยู่ได้จริงๆ เหรอ? สโมสรหลายสโมสรปล่อยตัวนักเตะออกมาเดินสายได้ เพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายช่วงปิดฤดูกาลได้ แล้วนักบอลก็ต้องการหารายได้ ข้อสรุปมันมีเท่านั้นเอง”
กอล์ฟปราการ มองว่า การมีลีกอาชีพอย่างจริงจัง เพื่อรองรับกีฬาฟุตบอล 7 คน จะช่วยส่งเสริม, ต่อชีวิต และสร้างอนาคตให้กับนักฟุตบอลทั่วประเทศได้แบบนับไม่ถ้วน แล้วเมื่อเห็นตัวอย่างจาก เวียดนาม แลกเปลี่ยนพูดคุยถึงอนาคตของกีฬาชนิดนี้กับตัวแทนจากต่างประเทศแบบจริงจัง จึงมีการลงนามทำสัญญาเป็นพันธมิตร เพื่อส่งทีมจากประเทศไทยมาเป็นตัวแทนแข่งชิงแชมป์อาเซียนบอล 7 คน ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่ามีการส่งแข่งมาหลายครั้งแล้ว
ปลายทางเพื่อสร้างรากฐาน
การส่งทีมตัวแทนจากประเทศไทยไปแข่งขันที่เวียดนาม นอกจากจะเป็นการได้ไปศึกษาดูงานจากเพื่อนบ้านแล้ว ยังทำให้เห็นถึงการวางโครงสร้างการบริหารของทัพดาวทองที่มีความจริงจัง ซึ่งสามารถปรับมาใช้กับบ้านเราได้ในอนาคต ยิ่งไปบ่อยครั้งเท่าไหร่ประสบการณ์ของ กอล์ฟปราการ ก็เพิ่มและเชี่ยวชาญมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตามต่อให้เขาส่งตัวแทนไปกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ยิ่งทำให้เขาเห็นถึงสิ่งที่ ‘ไทย’ ยังขาด แล้วเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดในมุมมองของเขา คือ การจัดตั้ง ‘สมาคมฟุตบอล 7 คน’ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปูทางไปสู่การจัดการแข่งขันลีกอาชีพ หรือแม้แต่ทัวร์นาเมนต์อย่างเป็นทางการที่มีสมาคมรองรับทั่วประเทศ
แต่ใช่ว่าการพยายามของ กอล์ฟปราการ จะมีคนเห็นค่าและเห็นประโยชน์แบบทันทีทันใด ซึ่งเขาได้แชร์ประสบการณ์ให้ฟังเอาไว้ว่า
"เชื่อไหมว่าตอนที่ผมจะจดสมาคมฯ เขาไม่รู้เรื่องเลย เราต้องยื่นถึง 4 ครั้งกว่าจะผ่าน เราสู้เรื่องนี้กันสุดๆ เลยเพราะภาพจำของคนในเรื่องนี้ ลึกๆ เขามองว่ามันต้องมีอะไรแน่ๆ แต่ที่ผ่านมา มันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว และหลายๆ ที่ ที่จัดกันจริงๆ มีแต่คนบอกว่า ดีกว่าสนุกกว่า การจัดการ ไม่ได้ด้อยกว่าบอลอาชีพ"
แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่สามารถเปิดเผยถึงความก้าวหน้าของสมาคมได้เต็มปาก แต่แผนงานที่เขาวางไว้ทั้งการจัดทำ ลีกฟุตบอล 7 คนอาชีพ, การแข่งขันทั่วประเทศแบบน็อกเอาท์ หรือแม้แต่การหาทางบรรจุกีฬาชนิดนี้ลงมหกรรมกีฬาระดับชาติ ล้วนถูกวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วทั้งสิ้น
สุดท้ายแล้วไม่ว่าความฝันของ กอล์ฟปราการ จะเป็นจริงหรือไม่? คงไม่มีใครการันตีได้ หน้าที่ของเขาทำได้เพียงผลักดันวงการต่อไปให้ก้าวไปทัดเทียมชาติเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม สร้างเวทีรองรับนักฟุตบอลที่ถูกเมินจากสโมสรอาชีพ หรือใครก็ตามที่มีฝีเท้าและใจรักในกีฬาชนิดนี้ ต่อให้มันจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนนัก การันตีได้เลยว่าอย่างน้อย การส่งตัวแทนทีมชาติไทยไปชิงแชมป์อาเซียนครั้งถัดไปก็ยังจะมีอยู่เหมือนเดิม จากการที่เขาเป็นคนไม่ยอมแพ้หรือถอดใจง่ายๆ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : การสัมภาษณ์ส่วนตัว