ญี่ปุ่นคิดอย่างไรกับกระแส "บินกลับมาเล่นทีมชาติคือความลำบาก"?
กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ฟีฟ่าเดย์เดือนที่แล้ว หลัง ทาเคฟุสะ คุโบะ ดาวโรจน์ของ เรอัล โซเซียดัด ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าการต้องบินกลับมาเล่นให้บ้านเกิดคือความลำบาก
เพราะเหตุใด คุโบะ ถึงออกมาพูดแบบนี้ และนักเตะในยุโรปคนอื่นคิดเหมือนกับเขาหรือไม่ ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
จุดเริ่มต้นดราม่า
อันที่จริง จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปในโปรแกรมฟีฟ่าเดย์ เมื่อเดือนที่แล้ว หลัง ทาเคฟุสะ คุโบะ ดาวเตะจากเรอัล โซเซียดัด ในลาลีกา ของสเปน ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความยากลำบาก ในการบินกลับมาเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่นที่บ้านเกิด
เขารู้สึกว่าการเดินทางจากสเปนไปญี่ปุ่น ที่ใช้เวลารวมทั้งสิ้นกว่า 15 ชั่วโมง สร้างความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจให้เขามาก จนเจ้าตัวต้องออกมายอมรับว่าวิถีชีวิตแบบนี้ ทำให้เขารู้สึกลำบาก
“บอกตามตรงมันยากมากเลย บอกไม่ถูก มันเหมือนความรู้สึกมันกลับมา” คุโบะ กล่าวกับสื่อก่อนเกมกระชับมิตรกับแคนาดา เมื่อเดือนตุลาคม
“มีคนรออยู่ที่ญี่ปุ่น ผมได้ยินว่าตั๋วขายหมดแล้ว ผมรู้สึกดีใจที่ได้เล่นต่อหน้าผู้คนเหล่านั้น แต่ที่จริงมันก็มีความลำบากอยู่”
คุโบะ ยกตัวอย่างว่า หลังเกมแคนาดา เขาต้องใช้เวลาเกือบ 1 วันบนเครื่องบิน และมีเวลาแค่ 2 วัน ก่อนจะต้องลงสนามต่อในเกมกับ เรอัล มายอร์กา ในช่วงบ่ายวันเสาร์ (ซึ่งสุดท้ายแล้ว คุโบะ ลงเล่นในฐานะตัวสำรอง)
นอกจากนี้ คุโบะ ยังมีภารกิจสำคัญคือการพา เรอัล โซเซียดัด ลงเล่นในยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ที่เขาและทีมกำลังทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม หลังการันตีเข้าสู่รอบต่อไป
“มันยาก (ในเกมกับมายอร์กา) เราเตะตอนบ่าย 2 มั้ง มันคงจะดีสำหรับคนที่ญี่ปุ่นเนื่องจากพวกเขาสามารถดูเกมผ่านทีวีได้” คุโบะระบาย
“แต่มันยากสำหรับผม (ยิ้มขื่น) (การกลับไปสเปน) มันจะดีถ้าผมได้ผมได้กินยานอนหลับบนเครื่องบินและได้หลับบ้าง”
“แชมเปียนส์ลีกหนักกว่าที่ผมคิดไว้ มันมีเกมที่ต้องเตะอย่างต่อเนื่อง และผมก็แพ้ไม่ได้ ดังนั้นผมจึงพยายามกลับมาพร้อมกับสภาพร่างกายที่สมบูรณ์”
อย่างไรก็ดี คำให้สัมภาษณ์ของเขา ก็ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ในวงกว้าง ไม่ว่าจะในสื่อโซเชียล ที่หาว่าเขา “ไม่รักชาติ” หรือ “ไม่ภาคภูมิใจกับการรับใช้ทีมชาติญี่ปุ่น”
หรือแม้แต่เพื่อนร่วมทีม ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับความคิดนี้ เช่นวาตารุ เอ็นโด กองกลางกัปตันทีม ที่ยอมรับว่ามันสร้างความลำบากก็จริง แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้ในเรื่องนี้
“มันลำบากก็จริง แต่ผมไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรกับมันเป็นพิเศษ ไม่ได้คิดเลย” เอ็นโด กล่าว
ขณะที่ ริตสึ โดอัน เพื่อนร่วมทีมชาติของ คุโบะ ที่หลุดทีมในการแข่งขันช่วงเดือนตุลาคม เนื่องจากผ่าฟันคุด ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ แบบไม่ยั้ง
“ผู้เล่นที่ไม่อยากมาก็ไม่ต้องมา ผมแน่ใจว่าผู้เล่นเหล่านั้นจะต้องบ่นหากหลุดจากทีมต่อจากนี้ ผมเองอยากมีส่วนร่วมกับทีมชาติทุกชุด แม้กระทั่งในโอลิมปิกที่ปารีส ผมก็อยากติดทีมชาติไ”
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกคนจะไม่เห็นด้วยกับความคิดของ คุโบะ
ความเห็นจากสื่อ
แม้ว่าคำเรียกร้องของ คุโบะ จะฟังดูเอาแต่ใจ หรือเห็นแต่ตัว แต่ถ้าหากเอาอคติออกไป แล้วลองคิดอีกที มันก็เป็นข้อเสนอที่สมเหตุผล หากมองด้วยความเป็นจริง
หนึ่งในผู้ที่ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้คือ โยชิยูกิ โคมิยะ นักข่าวแห่ง Yahoo News Japan ที่กล่าวว่าควรรับฟังข้อเสนอของ คุโบะ เพราะนี่คือข้อเรียกร้องที่มองข้ามไม่ได้
เขาบอกว่าก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการเดินทางระหว่างทวีป ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เพราะต้องขดตัวอยู่ในพื้นที่แคบๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง ที่สร้างความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ
“สำหรับผู้เล่นที่เล่นอยู่ในยุโรป การเดินทางระหว่างทวีป ถือเป็นภาระที่หนักมาก” โคมิยะ อธิบาย
“อีกทั้งมันยังมีความเปลี่ยนแปลงที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเวลา เช่นตอนนี้ พวกเขาไม่สามารถใช้เส้นทางทางเหนือ เนื่องจากรัสเซียรุกรานยูเครน ทำให้เวลาในการเดินทางเพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ ซาน เซบาสเตียน เมืองที่ คุโบะ ค้าแข้งอยู่ ยังไม่มีเที่ยวบินตรงจากญี่ปุ่นมาที่นี่ ทำให้ดาวเตะชาวญี่ปุ่น ต้องไปลงที่สนามบินใกล้เคียง เช่น บิลเบา, ปารีส หรือแฟรงค์เฟิร์ต, แล้วค่อยต่อรถเข้ามา
“ความเหนื่อยล้าไม่ใช่เรื่องง่าย โหลดก็ยังต่างกันอย่างชัดเจน ระหว่างผู้เล่นที่อยู่ในเมืองที่มีเที่ยวบินตรง และผู้เล่นที่อยู่ในเมืองที่ไม่มี” โคมิยะ ชี้ประเด็น
“แฟรงเฟิร์ต, ลอนดอน, อัมสเตอร์ดัม, โรม และปารีส มีเที่ยวบินตรง แต่บางกรณีอย่างสเปน ไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศ”
ทั้งนี้ ยังมีเรื่องผู้เล่นแต่ละตำแหน่งมีการใช้พลังงานที่ต่างกัน เช่น เอ็นโด สามารถเรียกความฟิตได้เร็ว เนื่องจากเป็นนักเตะในเกมรับ ที่มีหน้าที่จัดการคู่แข่ง แต่ คุโบะ เป็นผู้เล่นเกมรุก ที่ต้องใช้จินตนาการ เป็นสำคัญ ที่หากไม่สดก็จะโชว์ฟอร์มไม่ออก
“นักสู้อย่างเอ็นโด สามารถฟื้นฟูร่างกายด้วยจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ของเขา หน้าที่ของเขาคือการก่อกวนและฉีกคู่แข่งออกเป็นชิ้นๆ ดังนั้นแม้ว่าเขาจะไม่สด 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังสามารถรับมือได้” โคมิยะยกตัวอย่าง
“ในทางกลับกัน ผู้เล่นในแดนหน้าจำเป็นต้องใช้จินตนาการ ถ้าหัวไม่โล่ง ร่างกายไม่มีพลังงานเพียงพอ ก็จะไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งผ่านแทคติกได้"
“เมื่อความเหนื่อยล้าสะสม คุณจะเข้าสู่ภาวะ ‘ไม่เฉียบคม’ และไม่สามารถผลักดันตัวเองให้ผ่านจุดยากๆได้ แถมยังเสี่ยงที่จะบาดเจ็บ”
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือการมองว่า คุโบะ เป็นพวกไม่รักชาติ หลังออกมาพูดเรื่องนี้ เพราะนี่คือความคิดที่อันตราย ขาดหลักการและเหตุผล โดยใช้เพียงแค่ความรู้สึกเท่านั้น
“มันอันตรายที่จะละเลยข้อเรียกร้องด้วยคำวิจารณ์เหล่านี้ คุโบะและมิโตมะ ต้องอยู่ในสนามในเกมกับเมียนมาร์ที่อยู่ในอันดับ 158 ของโลก ขณะที่ซีเรีย อยู่อันดับ 94 ของโลก (ญี่ปุ่นอยู่อันดับ 18) อย่างนั้นหรือ?” โคมิยะ ตั้งคำถาม
"เราไม่ควรเสียความแข็งแกร่งทางร่างกายและพลังงานไปกับเกมกระชับมิตร หรือเกมอันดับต่ำสุดของเอเชีย"
"หากเล่นเกมกระชับมิตรกับทีมที่มีอันดับโลกต่ำกว่าญี่ปุ่น และเกมกับทีมที่มีอันดับต่ำกว่า 80 ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก นักเตะตัวหลักอาจจะเป็นชุด เจลีก+MLS+ เคลีก+กาตาร์ลีก และนักเตะจากยุโรปบางคน”
อันที่จริง สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นเอง ก็เคยมีแนวคิดในลักษณะนี้ หลัง โคโสะ ทาชิมะ นายกสมาคมฯมองว่า พวกเขาไม่ควรลงเล่นตั้งแต่รอบคัดเลือก รอบที่ 2 และเคยยื่นข้อเสนอแก่สหพันธ์ลูกหนังเอเชีย (AFC) ในเชิงว่าทีมแรงกิ้งฟีฟ่าสูงอย่าง ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และซาอุดิอาระเบีย ควรไปยืนรอในรอบที่ 3 แต่สุดท้ายข้อเสนอก็ถูกปัดตก
“เป็นเรื่องจริงที่พวกเราเคยแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ (กับ AFC) แต่หลายประเทศยังต้องการลงแข่งกับญี่ปุ่นหลังจากได้พูดคุยกัน เราอยากลดเกมที่จบด้วยสกอร์ 10-0 แต่พวกเขายืนกรานถึงความสำคัญในการได้ลงแข่งกับญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และซาอุดิอาระเบีย" ทาจิมะ กล่าว
"สุดท้ายข้อสรุปที่ได้กลับมาคือการคัดเลือกด้วยวิธีการแบบเดิมเหมาะสมแล้ว"
ก็ต้องมาดูกันว่าดราม่าในเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร และบางทีนี่อาจจะเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ ฮาจิเมะ โมริยาสุ ต้องแก้ เพราะหากปล่อยไป บรรยากาศแบบนี้คงไม่ดี สำหรับการลงเล่นในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก รวมถึงการไล่ล่าแชมป์เอเชียนคัพ สมัยที่ 5 ที่จะเปิดฉากในต้นปีหน้า
แหล่งอ้างอิง
https://www.sponichi.co.jp/soccer/news/2023/07/30/kiji/20230730s00002014620000c.html
https://news.yahoo.co.jp/expert/articles/a632bcd172499965c4a800e580575d73a499180e
ข่าวและบทความล่าสุด