ยุบ บิวรี่ : เหตุการณ์ที่ทำให้ลีกอังกฤษต้องออกกฎ คัดเจ้าของทีมแบบเข้มสุดๆ
อุดรธานี เอฟซี สโมสรระดับไทยลีก 2 ยังคงมีประเด็นเรื่องติดค้างค่าจ้างนักเตะ ซึ่งเป็นปัญหาที่คาราคาซังมาตั้งแต่ปีก่อน เสียงตำหนิติเตียนทั้งหลายจึงพุ่งเป้าไปที่ อริสรา ชะมูล ประธานสโมสรที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในแวดวงฟุตบอลไทย เพราะเราเคยเห็นข่าวทำนองนี้มานับครั้งไม่ถ้วน อย่างเมื่อไม่นานมานี้ก็มีกรณีของอดีตนักเตะของ เมืองกาญจน์ ยูไนเต็ด ที่ออกมาทวงเงินค่าเหนื่อยที่สโมสรค้างจ่าย
แม้แต่ลีกชั้นนำของโลกอย่าง อังกฤษ ก็หนีปัญหานี้ไม่พ้น จนสโมสรเก่าแก่ของประเทศอย่าง บิวรี่ เอฟซี ต้องถูกอัปเปหิออกจากสารบบฟุตบอลอาชีพ และกลายเป็นบทเรียนที่พวกเขาต้องหาทางป้องกัน ด้วยการวางระบบคัดกรองเจ้าของทีมใหม่
มันเกิดอะไรขึ้นกับสโมสรบิวรี่ ? ระบบคัดกรองเจ้าของทีมของอังกฤษเป็นอย่างไร ? และลีกไทยควรนำมาปรับใช้หรือไม่ ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเราที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ปิดตำนานบิวรี่
บิวรี่ เอฟซี เป็นสโมสรเก่าแก่ของอังกฤษ ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1885 เคยคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ 2 สมัย แต่ผลงานของทีมไม่ค่อยประสบความสำเร็จ พวกเขามักวนเวียนอยู่แต่ในลีกรอง ได้ลงเล่นบนลีกสูงสุดครั้งสุดท้ายต้องย้อนไปถึงฤดูกาล 1928/29 หรือกว่า 90 ปีที่แล้ว
ต้องอธิบายก่อนว่า อังกฤษจะเรียก 4 ลีกสูงสุดของประเทศว่า ระบบฟุตบอลลีก (EFL) ประกอบด้วย พรีเมียร์ลีก, เดอะ แชมเปี้ยนชิพ, ลีกวัน และลีกทู ส่วนลีกที่อยู่ต่ำลงไปจะถือเป็นลีกสมัครเล่นทั้งหมด
ความน่าสนใจของ บิวรี่ เอฟซี อยู่ตรงที่พวกเขาไม่เคยร่วงสู่ลีกสมัครเล่น นับตั้งแต่ได้เข้ามาอยู่ในระบบฟุตบอลลีกเมื่อปี 1894 เรียกว่าต่อให้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่แค่ไหน พวกเขาก็สามารถเอาตัวรอดได้เสมอ จนกลายเป็นความภาคภูมิใจของสโมสรและแฟนบอล
แต่แล้ว บิวรี่ เอฟซี ก็ต้องเจอวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในฤดูกาล 2018/19 เมื่อ สจ๊วต เดย์ เจ้าของทีมในเวลานั้น ประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากธุรกิจส่วนตัวขาดทุนหนัก เป็นเหตุให้ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างนักเตะ, สตาฟฟ์ และลูกจ้างในทีม จนต้องกู้เงินมาช่วยเพิ่มสภาพคล่อง
สุดท้าย สจ๊วต เดย์ ตัดสินใจขาย บิวรี่ เอฟซี ด้วยราคาถูกแสนถูกเพียง 1 ปอนด์ (40 บาท) เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายและหนี้สินของสโมสรไม่ไหว โดยมี สตีฟ เดล นักธุรกิจอีกคนมารับช่วงต่อ พร้อมอาสาพาสโมสรเดินไปข้างหน้า
ปรากฎว่า นักเตะของ บิวรี่ เอฟซี สามารถคว้าตั๋วเลื่อนชั้นสู่ลีกวันได้ในฤดูกาลนั้น แต่สถานการณ์ของทีมก็ยังไม่ดีขึ้นแม้แต่น้อย สตีฟ เดล ไม่สามารถแก้ปัญหาการเงินได้ เขายังติดค้างค่าเหนื่อยนักเตะ เพราะสโมสรไม่ได้มีรายได้มากนัก ไหนจะต้องแบกหนี้ที่เจ้าของทีมคนก่อนทิ้งเอาไว้อีก จึงทำได้แค่ขอเลื่อนเวลาจ่ายเงินออกไปเท่านั้น
จนแล้วจนรอด สตีฟ เดล ก็ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายตามที่สัญญาไว้ นักเตะของ บิวรี่ เอฟซี จึงไปร้องเรียนกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ นำมาซึ่งกระบวนการสอบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น และพบว่า บิวรี่ เอฟซี ไม่จ่ายค่าเหนื่อยนักเตะในทีมจริง สโมสรจึงถูกลงโทษตัด 12 คะแนน ก่อนฤดูกาลใหม่จะเริ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ยังได้กำหนดเส้นตายให้ บิวรี่ เอฟซี เคลียร์ค่าจ้างนักเตะในทีม ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงเล่นเกมลีกวัน และต้องได้รับบทลงโทษสถานหนัก ด้วยการถูกขับไล่ออกจากสารบบของฟุตบอลลีกอังกฤษ
นั่นทำให้ สตีฟ เดล พยายามหากลุ่มทุนใหม่เข้ามาเทคโอเวอร์ โดยมี C&N Sporting Risk บริษัทรับพนันถูกกฎหมายในอังกฤษ แสดงความสนใจเทคโอเวอร์ แต่สุดท้ายการเจรจาก็ล่มลงแบบไม่เป็นท่า และ บิวรี่ เอฟซี ก็ไม่สามารถให้เงินมาจ่ายนักเตะได้ทันเวลา
บิวรี่ เอฟซี จึงถูกตัดสิทธิ์จากการลงแข่งในลีกวันฤดูกาล 2019/20 และถูกอัปเปหิออกจากระบบฟุตบอลลีก ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ในลีกระดับล่างสุดของพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ (ดิวิชั่น 8) ปิดฉากตำนานสโมสรที่ไม่ตกชั้นสู่ลีกสมัครเล่นไว้ที่ 125 ปี ท่ามกลางน้ำตาและความเศร้าโศกเสียใจของแฟนบอล ที่พยายามช่วยระดมทุนอีกทางแต่ก็ไม่เป็นผล
“ทั้งหมดที่ผมมีตอนนี้คือทีวีกับสโมสรบิวรี่ ผมจินตนาการถึงชีวิตตัวเองไม่ออก ถ้าไม่มีสโมสรบิวรี่อีกแล้ว” เคนนี่ ไฮน์เดิ้ล แฟนบอลบิวรี่วัย 78 ปี ที่ตามเชียร์ทีมรักมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ กล่าวด้วยความปวดใจ
สตีเวน ฟาร์ราร์ แฟนบอลอีกคนของบิวรี่ ที่วางแผนจัดพิธีแต่งงานที่สนามของทีมรัก เปิดใจว่า “มันจะไม่เกิดขึ้นแล้ว (พิธีแต่งงาน) สโมสรบิวรี่คือชีวิตของผม ผมได้เพื่อน 90% ในชีวิตที่นี่ ผมขอแฟนแต่งงานที่นี่ ตอนนี้ผมรู้สึกพังทลายจนพูดไม่ออก”
สารตั้งต้นสู่การเปลี่ยนแปลง
การล่มสลายของ บิวรี่ เอฟซี ทำให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ในฉากหลังฟุตบอลอังกฤษ หากยังขืนปล่อยปละละเลยต่อไป บิวรี่จะไม่ใช่สโมสรสุดท้ายที่พบกับจุดจบแบบนี้ เมื่อถึงตอนนั้นอาจจะสายเกินแก้และพังกันทั้งระบบ
องค์กรแฟนบอลจากทั่วประเทศ นำโดยสหภาพแฟนบอลอังกฤษ (FSA) จึงเรียกร้องให้มีการตั้งหน่วยงานอิสระเข้ามาตรวจสอบคนที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของทีมอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่จะตามมาในอนาคต
เสียงดังกล่าวถูกส่งไปถึงพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในปี 2019 พวกเขาจึงประกาศเจตนารมณ์ว่า จะเปิดโอกาสให้แฟนบอลได้มีส่วนร่วมในการร่างระเบียบเพื่อความยั่งยืนของฟุตบอลอังกฤษ (Fan-led review) หนึ่งในนั้นคือการคัดกรองคุณสมบัติของเจ้าของทีม
ปรากฎว่า พรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง พวกเขาก็ดำเนินการเรื่อง Fan-led review ตามที่ให้สัญญาไว้ แต่ในช่วงแรกนั้นยังไม่มีความคืบหน้าเท่าไรนัก เนื่องจากมีเรื่องใหญ่อย่าง Brexit (การขอแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป) ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน
กระทั่งในปี 2020 เกิดวิกฤตโควิดระบาดไปทั่วโลก ฟุตบอลอังกฤษต้องลงเล่นโดยไม่มีแฟนบอลในสนาม เช่นเดียวกับช็อปขายสินค้าของสโมสรที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการ สโมสรจึงได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างหนัก เพราะมีรายจ่ายเท่าเดิม แต่ไม่มีรายได้เข้ามา
ทีมในลีกทูอย่าง แม็คเคิลส์ฟิลด์ ทาวน์ ต้องลงเอยแบบเดียวกับ บิวรี่ เอฟซี เนื่องจากเจ้าของทีมประสบปัญหาทางการเงิน จนถูกขับออกไปเล่นในลีกสมัครเล่น แม้แต่ทีมใหญ่ในพรีเมียร์ลีกอย่าง อาร์เซนอล ยังต้องปลดพนักงานบางส่วน เพื่อเซฟค่าใช้จ่ายที่เริ่มแบกไม่ไหว
จากนั้นเดือนเมษายน ปี 2021 ฟุตบอลอังกฤษก็ต้องเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ เมื่อ 6 สโมสรใหญ่ในพรีเมียร์ลีกอย่าง แมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยูฯ, เชลซี, อาร์เซนอล, ลิเวอร์พูล และสเปอร์ส ลงนามเข้าร่วมการแข่งขัน ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก กับอีก 6 สโมสรชั้นนำของยุโรป
นี่ถือเป็นจุดแตกหักที่แฟนบอลรับไม่ได้ เพราะมองว่าบรรดาเจ้าของทีมสนใจแต่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ โดยไม่เคยเห็นหัวแฟนบอลอย่างพวกเขา จนนำมาซึ่งการประท้วงครั้งใหญ่ ซึ่งสุดท้ายทั้ง 6 สโมสรก็ยอมถอนตัวออกมาแต่โดยดี พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ขอโทษต่อแฟนบอลสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น
เมื่อเจอทั้งเรื่องบิวรี่, โควิด-19 และซูเปอร์ลีก พรรคอนุรักษ์นิยมที่ได้เป็นรัฐบาลจึงไม่สามารถอยู่เฉยได้อีกต่อไป พวกเขาเร่งดำเนินการเรื่อง Fan-led review ทันที โดยได้ลงมาปรึกษาหารือกับองค์กรแฟนบอลจากทั่วประเทศ
“มันดีมากที่ได้เห็นความมุ่งมั่นและแพสชั่นของแฟนบอลที่ร่วมแสดงความเห็น แต่แพสชั่นของพวกเขากลับถูกเจ้าของทีมหักหลัง มันน่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะแฟนบอลบิวรี่ที่ต้องสูญเสียสโมสร” เทรซี่ เคราช์ สส.พรรคอนุรักษ์นิยม ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลที่ลงมาคุยกับแฟนบอล
“การตระหนักถึงปัญหาของเกมฟุตบอล และการที่แฟนบอลร่วมเสนอทางแก้ไข มันเป็นเรื่องที่วิเศษมาก มีการพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า ถ้าไม่มีแฟนบอล ฟุตบอลก็ไร้ค่า การร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ก็เช่นกัน ดิฉันอยากขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมจริง ๆ ”
“การร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนของการทำสโมสร มันถึงเวลาที่เราต้องปฏิรูประบบนี้แล้ว และดิฉันมองโลกในแง่ดีว่าเอกสารฉบับนี้จะถูกตราเป็นกฎหมายออกมา”
หลังจากได้รับฟังความเห็นจากแฟนบอล สส.เทรซี่ เคราช์ ได้สรุปข้อเสนอแนะต่าง ๆ อาทิ ตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาดูแลระบบฟุตบอลอาชีพ และ ออกบททดสอบคุณสมบัติของเจ้าของทีมและผู้อำนวยการสโมสร ส่งไปให้รัฐบาลพิจารณา
ถึงเวลาปฏิรูป
ผลที่ออกมาคือรัฐบาลอนุมัติข้อเสนอที่ได้จาก Fan-led review เพราะเห็นพ้องกับแฟนบอลว่า ถึงเวลาที่ต้องออกมาตรการควบคุมวงการฟุตบอลแล้ว เพื่อรักษากีฬาที่เป็นสมบัติประจำชาติให้อยู่คู่กับคนอังกฤษตลอดไป
โดยเริ่มจากการประกาศจัดตั้งองค์กรอิสระให้เข้ามาดูแล พร้อมวางเป้าหมายไว้ 4 ข้อหลัก ๆ คือ ป้องกันการล้มละลายของสโมสร, ตรวจสอบคุณสมบัติของเจ้าของทีม, ห้ามสโมสรแยกออกไปตั้งศึกซูเปอร์ลีก และเพิ่มอำนาจบริหารทีมให้กับแฟนบอล
“ฟุตบอลอังกฤษยังหนึ่งในวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของอังกฤษที่ถูกส่งออกไปนอกประเทศ ลีกทั่วโลกมองเราเป็นแบบอย่างในด้านความสำเร็จ นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลต้องก้าวเข้ามาเพื่อทำให้แน่ใจว่า มันจะยังถูกส่งไปถึงคนในรุ่นต่อ ๆ ไป” แถลงการณ์ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์
ขณะเดียวกัน ฟุตบอลลีกอังกฤษ (EFL) กับ สหภาพนักเตะอังกฤษ ก็เห็นด้วยกับระเบียบการที่ออกมา เพราะมองว่าถึงเวลาที่ต้องเข้ามาจัดการเรื่องการเงินของสโมสรแล้ว เพื่ออนาคตและความยั่งยืนของเกมฟุตบอลในประเทศอังกฤษ
อย่างไรก็ดี ฝั่งเจ้าของทีมในพรีเมียร์ลีกกลับไม่เห็นด้วย พวกเขามองว่าการถูกองค์กรควบคุมมีผลเสียมากกว่าผลดี และอาจปิดกั้นโอกาสเข้ามาลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงนักเตะที่จะย้ายเข้ามาค้าแข้งด้วย หนึ่งในนั้นคือ เดวิด ซัลลิแวน เจ้าของทีมเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่ออกมาโจมตีกันแบบไม่ไว้หน้า
“การมีองค์กรควบคุมฟุตบอลเป็นความคิดที่เลวร้ายมาก รัฐบาลทำทุกอย่างแย่ไปหมด ลองดูความยุ่งเหยิงของประเทศนี้สิ เราจ่ายภาษีแพงที่สุด แต่ได้รัฐบาลที่แย่ที่สุดเข้ามา เราต้องจ่ายเงินให้กับองค์กรควบคุมอีก มันเป็นการใช้เงินสูญเปล่า” ซัลลิแวน กล่าว
“พรีเมียร์ลีกคือลีกที่มีระบบดีที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ทีมในลีกรอง สหภาพนักเตะ และฟุตบอลรากหญ้า ได้รับเงินสนับสนุนมากกว่าทุกลีกในโลก เราเป็นลีกที่มีการส่งออกที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว”
ฟีดแบ็คของเจ้าของทีมเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะมันส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง เพราะต่อไปนี้ไม่ใช่ว่ามีเงินอย่างเดียวก็จะได้ครอบครองทีมฟุตบอลได้ แต่คุณสมบัติของเจ้าของทีมต้องผ่านเกณฑ์ที่องค์กรอิสระกำหนดด้วย
แม้ว่าจะดูเป็นมาตรการที่เข้มงวดสำหรับฟุตบอลอังกฤษ แต่หากมองถึงผลลัพธ์ในระยะยาวแล้ว มันจะส่งผลดีต่อฟุตบอลทั้งระบบ อุตสาหกรรมฟุตบอลในประเทศจะเกิดความยั่งยืนในทุกภาคส่วน ที่สำคัญมันเกิดจากการผลักดันของแฟนบอลในประเทศ ซึ่งพวกเขานี่แหละจะเป็นศูนย์กลางที่จะขับเคลื่อนวงการไปข้างหน้า
ประยุกต์ใช้กับบอลไทย
จะว่าไปฟุตบอลอังกฤษก็มีปัญหาคล้าย ๆ กับฟุตบอลไทย ในเรื่องเจ้าของทีมที่ไม่มีความพร้อม ทีมอย่าง บิวรี่ เอฟซี ต้องถูกขับไล่ออกจากระบบฟุตบอลลีก เพราะเจ้าของทีมประสบปัญหาทางการเงิน จนต้องค้างค่าจ้างนักเตะ, สตาฟฟ์ และพนักงานในสโมสร
เช่นเดียวกับเคสของ อุดรธานี เอฟซี สโมสรในไทยลีก 2 ที่ประสบภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังและไม่มีเงินจ่ายนักเตะ จนนำมาซึ่งเรื่องราวดราม่าในโซเชียลมีเดียตั้งแต่ต้นปี 2022 เมื่อนักเตะหลายคนโพสต์ทวงเงินสโมสร เพราะพวกเขาก็พลอยลำบากจากการไม่ได้เงินค่าเหนื่อยไปด้วย
แม้ว่า อริสรา ชะมูล ออกมาชี้แจงกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง แล้วว่า สโมสรได้เคลียร์ค่าจ้างกับนักเตะจบไปแล้ว และ ณ ตอนนี้เหลือการค้างชำระค่าเหนื่อยนักเตะอีกเพียง 5 คน และค้างเพียง 50% ของเดือนธันวาคมและมกราคมเท่านั้น
แต่ดูเหมือนปัญหาจะยังไม่จบง่าย ๆ เมื่ออดีตนักเตะของทีมอย่าง ประกิต ดีพร้อม ยืนยันว่า นักเตะยังไม่ได้เงินจนต้องซื้อสัญญาย้ายออกจากทีมเพื่อตัดปัญหา พร้อมตัดพ้อว่า “จริง ๆ ไม่มีใครอยากย้ายออก ถ้าได้เงินตรง คือโทษแต่นักบอลไง ไม่เคยโทษตัวเอง”
ขณะที่ ณัฐกฤต ทองนพคุณ อดีตกัปตันทีมยักษ์แสด กล่าวเสริมว่า “นักเตะบางคนจากทีมเยาวชนที่มีเงินเดือน 7,000 บาท แต่จ่ายเขาแค่ 35% ก็ได้ 2,500 บาท ทำให้บางคนไม่มีเงินมาซ้อม ไม่มีจ่ายค่าเช่าห้องพัก”
ไม่ว่าฝ่ายไหนจะพูดความจริง แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มันเป็นเนื้อร้ายที่กำลังกัดกินลีกฟุตบอลบ้านเรา เพราะไม่ใช่แค่ อุดรธานี เอฟซี ทีมเดียว ยังมีอีกหลายทีมที่ประสบปัญหาแบบนี้ ถ้าไม่รีบแก้กันอย่างจริงจัง ฟุตบอลไทยอาจพังทั้งระบบก็เป็นได้
ดังนั้นไทยลีกต้องหาทางป้องกันก่อนจะสายเกินไป การออกมาตรฐานคัดกรองคุณสมบัติเจ้าของทีมแบบอังกฤษก็ถือเป็นทางเลือกที่ไม่เลว อย่างน้อยจะได้มั่นใจว่า เจ้าของทีมมีความพร้อมที่จะเข้ามาบริหารสโมสรจริง ๆ ไม่ใช่แค่เข้ามาเอาหน้าหรือหวังผลทางการเมือง
หากได้คนที่พร้อมเข้ามาเป็นเจ้าของทีม ต้องการพัฒนาทีมไปข้างหน้า ฟุตบอลลีกเมืองไทยก็จะเกิดความยั่งยืนทั้งระบบ ก็ได้แต่หวังว่ามันจะเป็นไปได้ในอนาคต เราจะได้ไม่ต้องมาเห็นข่าวสโมสรติดเงินนักบอลอีก
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
Inside Forward : ตำแหน่งตัวรุกโมเดิร์นฟุตบอลที่ทำให้ ศุภณัฏฐ์ ฮ็อตปรอทแตก
ศุภณัฎฐ์ พุ่งพรวด : อัพเดท 10 อันดับนักเตะไทยลีกมูลค่าสูงที่สุดในเวลานี้
30 ปีเจลีก: ย้อนรอยก้าวแรกลีกอาชีพญี่ปุ่นก่อนการเป็นเบอร์ 1 ของเอเชีย
แหล่งอ้างอิง
https://www.bbc.com/sport/football/49451896
https://news.sky.com/story/fans-mourn-as-the-lights-go-out-at-bury-fc-for-the-last-time-11795882
https://www.fourfourtwo.com/features/general-election-2019-football-jeremy-corbyn-boris-johnson-party-manifestos-labour-conservative-tories-lib-dems
https://www.traceycrouch.org.uk/campaigns/tracey-publishes-her-fan-led-review-football-governance
https://www.independent.co.uk/sport/football/government-tracey-crouch-premier-league-conservative-party-super-league-b2225133.html
https://thefsa.org.uk/our-work/fan-led-review/
https://metro.co.uk/2023/02/22/government-confirms-new-regulator-for-football-to-block-super-league-18332221/?fbclid=IwAR2zeGEOqCrlmUmfu7Iwtt9kC4-q1qJiebr5XNNRyiTEEsz2f3NNrIcKCGk
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11783751/West-Ham-chairman-David-Sullivan-BLASTS-plans-English-footballs-independent-regulator.html?ns_mchannel=rss&ns_campaign=1490&ito=1490