ฝีเท้าได้ก็ลุยเลย : 5 ลีกยุโรปที่แข้งไทยเล่นได้ไม่ต้องห่วงเรื่องเวิร์คเพอร์มิต

ฝีเท้าได้ก็ลุยเลย : 5 ลีกยุโรปที่แข้งไทยเล่นได้ไม่ต้องห่วงเรื่องเวิร์คเพอร์มิต
วิสูตร ดำหริ

จากประเด็นข่าวที่ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา กำลังจะถูกส่งไปยุโรปในช่วงที่โปรแกรมตรงกัน ซีเกมส์ ทำให้มีการคาดเดาหลาย ๆ ทางว่าจะไปที่ไหน, จะไปแค่ซ้อมหรือย้ายทีมจริงจังเลย เพราะช่วงเวลาดังกล่าวก็คาบเกี่ยวกับช่วงปิดฤดูกาลในฟุตบอลยุโรปพอดี

ซึ่งต้องยอมรับว่า โอกาสที่นักเตะไทยจะได้ไปเล่นในพรีเมียร์ลีกมีน้อยมาก ด้วยความที่อังกฤษกำหนดเงื่อนไขการยื่นขอเวิร์คเพอร์มิตไว้แบบเข้มข้น จนแทบจะปิดโอกาสนักเตะจากชาติที่มีฟีฟ่าแรงกิ้งต่ำแบบไทยไปเลย

ดังนั้นการมองหาโอกาสในลีกอื่นของยุโรป ที่ไม่ได้วางกฎระเบียบไว้เข้มข้น น่าจะเป็นทางเลือกที่เข้าท่ากว่า เพราะนักเตะไทยสามารถลงไปปล่อยของในสนามได้เลย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการขอเวิร์คเพอร์มิตอีกต่อไป

และนี่คือ 5 ลีกยุโรปที่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักเตะชาวไทยในอนาคต ขอแค่คุณจริงเจ๋ง คุณก็มีโอกาสลงสนามทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นในลีกอังกฤษ จะมีลีกไหนบ้างนั้น ติดตามได้ที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง


1. บุนเดสลีก้า (เยอรมัน)


เชื่อว่าหลายคนคงไม่คิดว่าเป็นไปได้ เพราะบุนเดสลีก้าคือลีกระดับแนวหน้าของยุโรป ศักดิ์ศรีแทบจะไม่เป็นรองพรีเมียร์ลีกเลยก็ว่าได้ นี่คือลีกของประเทศที่คว้าแชมป์โลก 4 สมัย แล้วแบบนี้นักเตะไทยจะไปมีโอกาสลงเล่นได้อย่างไร

คำตอบคือเป็นไปได้ ในบรรดา 5 ลีกใหญ่ของยุโรป เงื่อนไขการลงเล่นในบุนเดสลีก้าง่ายที่สุดแล้ว เพราะที่นี่ไม่มีการกำจัดโควตานักเตะนอกอียู (สหภาพยุโรป) เหมือนอย่างที่ ลาลีก้า, กัลโช่ เซเรีย อา และลีกเอิง ทำกัน

ส่วนการยื่นขอเวิร์คเพอร์มิตนั้น ง่ายยิ่งกว่าปลอกกล้วยเข้าปากเมื่อเปรียบเทียบกับพรีเมียร์ลีก ขอแค่คุณอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ โอกาสที่คุณจะได้รับก็มีสูงมาก ดังนั้นการลงเล่นในลีกเยอรมันจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลย

“การขอเวิร์คเพอร์มิตในเยอรมันไม่ได้ยากเลย ตราบใดที่คุณอายุครบ 18 ปีแล้ว ดังนั้นนักเตะจึงเข้าถึงลีกนี้ได้มากกว่า” สตีฟ เชรุนโดโล กุนซือชาวอเมริกันของ ลอสแองเจลิส เอฟซี ที่เคยเป็นผู้ช่วยโค้ชในเยอรมันกับ ฮันโนเวอร์ และ สต๊ตการ์ต กล่าว

Photo : Reuters


2. เอเรดิวิชี่ ลีก (เนเธอร์แลนด์ส)

ความรู้สึกของหลายคนคงไม่ต่างจากในข้อแรก เพราะเอเรดิวิชี่ก็ถือเป็นลีกชั้นนำของยุโรป และปลุกปั้นดาวดังขึ้นมาประดับวงการลูกหนังโลกมากมาย ด้วยระบบที่เอื้อต่อการให้โอกาสนักเตะดาวรุ่ง นี่จึงเป็นลีกในฝันของบรรดานักเตะอายุยังน้อยที่ต้องการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อนย้ายไปลีกใหญ่

ทีมจากเอเรดิวิชี่สามารถตระเวณหานักฟุตบอลจากทั่วโลก โดยไม่ต้องกังวัลโควตานักเตะนอกอียู เนื่องจากสมาคมฟุตบอลดัตช์ไม่ได้จำกัดโควตาตรงส่วนนี้ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นนักเตะจากชาติที่มีฟีฟ่าแร้งกิ้งต่ำแค่ไหน คุณก็ยังมีโอกาสมาโชว์ฝีเท้าในลีกนี้

ส่วนหลักเกณฑ์การขอเวิร์คเพอร์มิตยุ่งยากกว่าบุนเดสลีก้าสักหน่อย เพราะนอกจากคุณต้องอายุครบ 18 ปีแล้ว สมาคมฟุตบอลดัตช์ยังกำหนดเพดานค่าเหนื่อยขั้นต่ำ สำหรับนักเตะนอกอียูที่ยื่นขอเวิร์คเพอร์มิตไว้ด้วย

- นักเตะอายุ 18-19 ปี ต้องได้ค่าเหนื่อย 197,308 ยูโรต่อปีเป็นอย่างน้อย (7 ล้านบาท)

- นักเตะอายุ 20 ปีขึ้นไป ต้องได้ค่าเหนื่อย 394,616 ยูโรต่อปีเป็นอย่างน้อย (14 ล้านบาท)

หากคิดเป็นรายสัปดาห์ กรณีแรกจะรับอยู่ที่ 3,794 ยูโร (135,000 บาท) ส่วนกรณีที่สองจะรับอยู่ที่ 7,580 ยูโร (270,000) ซึ่งมันก็เป็นเรทปกติที่ฟุตบอลอาชีพของยุโรปจ่ายกันอยู่แล้ว ถ้าฝีเท้าของคุณดีจริง เงินแค่นี้ไม่ใช่ปัญหาเลย

Photo : AD.nl

3. จูปิแลร์ ลีก (เบลเยี่ยม)

ด้วยความที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านเรือนเคียง ฟุตบอล “จูปิแลร์ ลีก” ก็ถอดแบบ “เอเรดิวิชี่ ลีก” มาเป๊ะ ๆ ทั้งในเรื่องของการไม่จำกัดโควตานักเตะนอกอียู และกำหนดเพดานเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับการยื่นขอเวิร์คเพอร์มิตเอาไว้

แต่ที่ต่างออกไปคือจำนวนเงินค่าจ้างที่น้อยกว่าเกือบ 5 เท่า และกำหนดไว้เพียงกรณีเดียว นั่นคือนักเตะต้องได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 86,209 ยูโรต่อปี (3 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 1,675 ยูโรต่อสัปดาห์ (60,000 บาท)

โอกาสของนักเตะไทยในลีกเบลเยี่ยมจึงมีสูงลิบลิ่ว เพราะนักเตะไทยลีกหลายคนได้เงินเยอะกว่านี้ด้วยซ้ำไป ซึ่งมันก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะหลายคนเลือกที่จะอยู่สบายใน Comfort Zone แทนที่จะออกไปพิสูจน์ตัวเองในยุโรป

หากนักเตะไทยปรับทัศนคติตรงนี้ได้ “จูปิแลร์ ลีก” คือลีกยุโรปที่มีเงื่อนไขเอื้อต่อคนไทยที่สุดแล้ว ไหนเรายังมีบริษัทสัญชาติไทยอย่าง “คิง เพาเวอร์” เป็นเจ้าของทีม “โอเอช ลูเวิน” ที่อยู่ในลีกนี้ ยังไงก็มีโอกาสได้ลงเล่น เหมือนอย่างในรายของ กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ นายด่านทีมชาติไทย

ยิ่งกว่านั้น “จูปิแลร์ ลีก” ยังเป็นลีกที่เหมาะสำหรับนักเตะที่ต้องสะสมแต้ม เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ขอเวิร์คเพอร์มิตในอังกฤษสุด ๆ คาโอรุ มิโตมะ ที่กำลังเฉิดฉายกับ ไบรท์ตัน พิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว ดังนั้นบางทีมันอาจเป็นสะพานส่งนักเตะไทยไปถึงฝันในพรีเมียร์ลีกก็เป็นได้

เรื่อราวที่เกี่ยวข้อง
สืบจาก มิโตมะ : ลีกเบลเยี่ยมเหมาะกับแข้งจากชาติที่ได้ ”เวิร์ค เพอร์มิต” ยากอย่างไร ? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง คาโอรุ มิโตมะ ยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง หลังทำประตูที่ 4 จาก 5 นัด ช่วยให้ ไบรท์ตัน เฉือนเอาชนะลิเวอร์พูลไปอย่างสุดมันในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ในศึกเอฟเอคัพ รอบ 4 เมื่อคืนที่ผ่านมา


4. พรีเมรา ลีก้า (โปรตุเกส)

แม้ว่า พรีเมรา ลีก้า จะเป็นลีกที่มีการจำกัดโควตาต่างชาติ ไม่เหมือนกับ บุนเดสลีก้า, จูปิแลร์ ลีก และเอเรดิวิชี่ ลีก ที่ปล่อยฟรีเรื่องนี้ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า นักเตะนอกอียูจะไม่มีโอกาสมาเล่นเลย เพราะมันมีเงื่อนไขที่น่าสนใจซ่อนอยู่

เนื่องจากลีกโปรตุเกสไม่ได้นับนักเตะสัญชาติยุโรปในโควตาอียูอย่างเดียว แต่พวกเขายังนับนักเตะที่พูดภาษาโปรตุกีสได้อยู่ในโควตานี้ด้วย ดังนั้นชาติอย่าง บราซิล, แองโกล่า หรือแม้แต่ ติมอร์ เลสเต้ เพื่อนบ้านในอาเซียนของเรา ที่ใช้ภาษาโปรตุกีสเป็นภาษาหลัก จะถูกนับเป็นนักเตะในอียู หากย้ายมาเล่นในโปรตุเกส

นี่คือเหตุผลที่สโมสรจาก “พรีเมรา ลีก้า” ชอบเซ็นสัญญากับนักเตะบราซิล เพราะพวกเขาจะไม่เสียโควตาส่วนนี้ มันจึงเป็นโอกาสดีสำหรับนักเตะนอกอียูจากชาติอื่น ๆ ที่จะย้ายมาเล่นในลีกสูงสุดของโปรตุเกส หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย

ปัจจุบันเรามี ชยพิพัฒน์ สุพรรณเภสัช กองกลางฮาร์ดแมนวัย 21 ปี เล่นอยู่กับ เอสซี ไปรเอ็นเซ สโมสรระดับดิวิชั่น 4 ของโปรตุเกส เพราะฉะนั้นตัดความกังวลเรื่องเวิร์คเพอร์มิตไปได้เลย หากมีโอกาสได้ย้ายมาเล่นที่นี่ ยังไงก็มีโอกาสลงเล่น

5. เดนิส ซูเปอร์ลีก้า (เดนมาร์ก)

รู้หรือไม่ว่าเดนมาร์กคือหนึ่งในประเทศที่ขอเวิร์คเพอร์มิตง่ายที่สุดในยุโรป ขอแค่คุณมีทักษะและความเชี่ยวชาญในอาชีพที่ทำ รัฐบาลเดนมาร์กก็พร้อมรับคุณเข้าไปทำงานในประเทศแล้ว ซึ่งรวมถึงการเป็นนักฟุตบอลด้วย

แม้ว่าเดนมาร์กจะจำกัดให้สโมสรมีนักเตะโควตานอกอียูได้ไม่เกิน 3 คน แต่เมื่อดูจากเงื่อนไขการขอเวิร์คเพอร์มิตที่ง่ายดาย ถ้าคุณเกิดทำผลงานได้ดีจนเข้าตาสโมสรจากเดนมาร์ก ยังไงคุณก็จะได้ลงเล่นในลีกนี้ ไม่ต้องมานั่งลุ้นคุณสมบัติว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน

“เดนิส ซูเปอร์ลีก้า” จึงถือเป็นลีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักเตะไทย ที่ยังไม่ได้อยู่ในสายตาสโมสรในลีกใหญ่ของยุโรปมากนัก และด้วยความที่ไม่ใช่ลีกระดับท็อปของยุโรป ทีมจากเดนมาร์กก็ไม่มีแรงดึงดูดนักเตะจากตลาดใหญ่มากพอ พวกเขาจึงต้องใช้วิธีหานักเตะในลีกที่ไม่โด่งดังแทน

ที่ผ่านมาเราก็มีนักเตะอย่าง โจนาธาร เข็มดี ที่ลืมตาดูโลกที่จังหวัดสุรินทร์ ได้ไปโลดแล่นอยู่กับวงการลูกหนังแดนโคนมกับ โอเดนเซ่ แต่น่าเสียดายที่เขาเบียดขึ้นชุดใหญ่ของทีมไม่ได้ จนล่าสุดเก็บกระเป๋าย้ายกลับมาค้าแข้งในไทยลีกกับ ราชบุรี เอฟซี แล้ว

Photo : Goal

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศุภณัฎฐ์ พุ่งพรวด : อัพเดท 10 อันดับนักเตะไทยลีกมูลค่าสูงที่สุดในเวลานี้

ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา : ไปเจออะไรมาที่ เลสเตอร์ ทำไมถึงเก่งเบอร์นั้น ?

เปิดกฎเวิร์คเพอร์มิตพรีเมียร์ลีก : ศุภณัฎฐ์ ไป เลสเตอร์ ได้จริงหรือ ?

แหล่งอ้างอิง : https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/why-the-best-young-american-players-are-flocking-to-the-bundesliga-pulisic-2743-1186

https://www.theplayersagent.com/knowledgecenter/article/non_eu_eea_players_working_permit_netherlands

https://www.footballmanagerblog.org/2018/04/football-manager-squad-registration-rules.html

https://www.vlaanderen.be/en/work-permits-for-foreign-workers/work-permits-categories-and-procedures/work-permit-professional-athlete

https://bleacherreport.com/articles/228685-portuguese-league-a-platform-for-south-american-players

https://blog.y-axis.com/want-to-work-in-europe-here-are-the-top-5-easiest-eu-countries-to-get-a-work-visa/

https://www.rdes.it/FOREIGN_PLAYERS36.pdf

แชร์บทความนี้
ฟุตบอล, อนิเมะ, กาแฟ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ