30 ปีเจลีก: ย้อนรอยก้าวแรกลีกอาชีพญี่ปุ่นก่อนการเป็นเบอร์ 1 ของเอเชีย

30 ปีเจลีก: ย้อนรอยก้าวแรกลีกอาชีพญี่ปุ่นก่อนการเป็นเบอร์ 1 ของเอเชีย
มฤคย์ ตันนิยม

เหลืออีกเพียงแค่ไม่กี่วัน เจลีก ลีกที่มีแข้งชาวไทยอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์ และสุภโชค สารชาติ ค้าแข้งอยู่ ก็เตรียมจะเปิดฉากอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ นอกจากการลุ้นเชียร์แข้งจากแดนสยามแล้ว ซีซั่นนี้ยังเป็นปีครบรอบ 30 ปี ของการกำเนิดขึ้นของลีกอาชีพที่ดีที่สุดของเอเชีย

ด้วยเหตุนี้ Think Curve - คิดไซด์โค้ง จึงอยากพาย้อนไปชมก้าวแรกของพวกเขา โดยเฉพาะเกมนัดแรกในประวัติศาสตร์ ที่คนแย่งกันเข้าไปดูจนสนามแทบแตก ทั้งที่ฟุตบอลไม่ได้เป็นกีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งของประเทศ

ติดตามเรื่องราวได้ที่นี่

ก่อนจะมาเป็นเจลีก

แม้ว่าเจลีก จะได้รับคำชื่นชมในฐานะลีกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอเชีย ทั้งในแง่การบริหารจัดการ ไปจนถึงการส่งออกนักเตะสู่ยุโรปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก้าวแรกของพวกเขาไม่ง่ายเลย

ย้อนกลับในปี 1988 ที่คณะกรรมการลีกฟุตบอลญี่ปุ่น เริ่มคิดเรื่องการก่อตั้งลีกอาชีพจริงจัง ด้วยเป้าหมายที่จะยกระดับฟุตบอลของแดนอาทิตย์อุทัย รวมถึงการผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ในตอนนั้นฟุตบอลยังเป็นเพียงแค่กีฬาระดับรอง ที่ตามหลังเบสบอลอย่างสุดกู่

ไม่ว่าจะเป็นยอดผู้ชม ที่มีจำนวนแค่หลักสิบหรือหลักร้อย เนื่องจากมันเป็นเหมือนลีกขององค์กร ไปจนถึงเงินเดือนของผู้เล่นที่ไม่ได้สูงนัก จากสถานะที่ไม่ต่างจากพนักงานบริษัทที่ทำงานไปด้วย เล่นฟุตบอลไปด้วย

Photo : サッカーマガジンWEB

ทำให้คณะกรรมการก่อตั้งลีก ต้องคิดและวางแผนอย่างหนัก ที่ไม่ใช่แค่ให้ลีกได้รับความสนใจ แต่ยังต้องมีประสิทธิภาพ และช่วยขับเคลื่อนทีมชาติญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งในระดับนานาชาติ

“ตอนที่เราเริ่มคิดเรื่องทำลีกฟุตบอลอาชีพในญี่ปุ่น ไอเดียแรกของเราคือจะทำอย่างไรให้ทีมชาติญี่ปุ่นแข่งขันในระดับนานาชาติได้” ซาบูโร คาวาบูจิ ประธานคณะกรรมการก่อตั้งเจลีกกล่าวกับ New York Times

“ดังนั้น เราจึงตระหนักว่าเราต้องวางโครงสร้างของลีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับญี่ปุ่น”

พวกเขาศึกษาแนวทางจากลีกทั่วโลก พิจารณาถึงผลดี-ผลเสีย ก่อนจะตัดสินใจใช้โมเดลจากยุโรป ทั้งระบบอมรมและพัฒนาโค้ช และผู้ตัดสิน ระบบเยาวชน ไปจนถึงแนวคิด “บ้านเกิด” หรือสโมสรทีมต้องผูกพันกับท้องถิ่น และต้องเปลี่ยนชื่อเพื่อสลายความเป็นทีมองค์กรออกไป

“โมเดลในอุดมคติของเราคือบุนเดสลีกา” คาวาบูจิ อธิบาย

Photo : Stuttgarter Zeitung

แม้ว่าในช่วงแรก เหล่าทีมองค์กรจะไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เพราะแรกเริ่มการถือกำเนิดขึ้นของทีมกลุ่มนี้ ก็มาจากให้พนักงานบริษัทได้ออกกำลังกาย และประชาสัมพันธ์บริษัทเท่านั้น ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ทีมที่ให้ความสนใจก็เพิ่มขึ้นจนเกินเป้าที่วางไว้

“ผมกำลังดูฟุตบอลโลกอยู่ที่อิตาลีตอนที่ผมได้รับโทรศัพท์จากโตเกียวที่บอกว่ามี 20 บริษัทอยากเข้าร่วม ผมรู้สึก 'ไชโย' ออกมาเลย" คาวาบูจิ ย้อนความหลัง

"ตอนแรกผมคิดเอาไว้ว่าน่าจะมีราว 15 บริษัทที่สนใจ หรืออย่างแย่ที่สุดก็ 3 บริษัท ดังนั้นผมจึงรู้สึกดีใจมาก ๆ"

แต่ถึงอย่างนั้น ในช่วงแรกการก่อตั้งลีกก็เต็มไปด้วยความแคลงใจ

ถูกปรามาสก่อนแข่ง

อันที่จริง ไม่ใช่แค่ลีกยุโรปเท่านั้น ที่คณะกรรมการ ฯ เอามาเป็นแบบอย่าง แต่สหรัฐอเมริกาก็เป็นอีกชาติ ที่ถูกนำมาใช้เป็นโมเดล โดยเฉพาะวิธีการหาเงิน และการตลาด

พวกเขาเซ็นสัญญากับ Sony Creative Products ในการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเจลีก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด หมวก ปากกา หรือ โทรโข่ง ที่จะกลายเป็นอีกรายได้ของลีก นอกเหนือจากสปอนเซอร์ และลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด

“เราเรียนรู้การขายของที่ระลึกมาจากชาวอเมริกัน” คาวาบูจิที่ต่อมาเป็นประธานคนแรกของเจลีก กล่าวกับ New York Times

Photo : テニスマガジン

นอกจากนี้ พวกเขายังใช้บทเรียนจากลีกอเมริกาเหนือ ที่หลายทีมต้องล่มสลายจากการใช้เงินมากเกินไป และลีกไร้ความสมดุล ด้วยการแบ่งรายได้ให้เท่ากัน ทั้งจากการขายของที่ระลึก และการถ่ายทอดสด รวมถึงการจำกัดโควต้าผู้เล่นต่างชาติไว้ที่ 3 คน

14 กุมภาพันธ์ 1991 คณะกรรมการฯ ก็ประกาศรายชื่อ 10 ทีมแรกของเจลีก หรือ “ออริจินอล 10” ซึ่งประกอบไปด้วย กัมบะ โอซากา, เจฟ ยูไนเต็ด อิจิฮาระ, นาโงยา แกรมปัส เอตส์, ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา, อูราวะ เรด ไดมอนด์ส, เวอร์ดี คาวาซากิ, โยโกฮามา ฟลูเกลส์ และ โยโกฮามา มารินอส บวกกับ ชิมิสึ เอสพัลส์ ที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ และ คาชิมา อันท์เลอร์ส ที่เลื่อนขึ้นมาจากดิวิชั่น 2 เก่า

และมันก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้มหลามตั้งแต่ยังไม่เริ่มแข่ง ทั้งคำว่า “เจลีก” ที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง หรือชุดแข่ง ที่กลายเป็นข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์หลายฉบับหลังการเปิดตัว จนคาดกันว่าทำให้เจลีกประหยัดงบประชาสัมพันธ์ไปมากถึง 60 ล้านเยน

Photo : materiaisjr.com.br

นอกจากนี้ เกมนาบิสโก้ คัพ หรือเจลีกคัพ ที่ถูกจัดขึ้นในปี 1992 เพื่อลองระบบ ก่อนที่เจลีกจะเริ่มแข่งขันอย่างเป็นทางการในอีกหนึ่งปีต่อมา ก็ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะนัดชิงชนะเลิศระหว่าง เวอร์ดี คาวาซากิ และ ชิมิสึ เอสพัลสต์ ที่มีผู้ชมมากถึง 56,000 คน

"มีผู้ชมกว่า 10,000 คน (ต่อเกม) เข้ามาชมเกมในรอบแรก และในที่สุดเราก็สามารถดึงดูดคนไปถึงหลัก 20,000 คน ซึ่งเป็นระดับที่สนามกีฬาท้องถิ่นไม่เพียงพอที่จะรองรับทุกคนได้" คาซูกิ ซาซากิ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และเลขาธิการทั่วไปเจลีกในตอนนั้น กล่าว

"ความห่างระหว่างสิ่งนั้นกับยุค JSL มันใหญ่เกินกว่าพวกเราที่จะเข้าใจ"

Photo : sports.yahoo.co.jp

แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ยังโดนปรามาส ว่ายากจะประสบความสำเร็จ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นในช่วงปลายปี 1991 บวกกับคุณภาพของผู้เล่น ที่ยังห่างไกลจากคำว่าเก่ง

“แนวโน้มมันดูเลวร้าย” คาซูโอะ จูโจ กล่าวกับ New York Times ในเดือนเมษายน 1993 หนึ่งเดือนก่อนเจลีกซีซั่นแรกเปิดฤดูกาล

“กุญแจความสำเร็จคือผู้เล่น แต่พรสวรรค์ของนักเตะที่นี่ยังแย่อยู่ พวกเขามีความเร็วก็จริง แต่ไม่มีสามัญสำนึกว่าจะทำให้เกมดำเนินไปอย่างไร”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้คนเหล่านี้คิดผิด

เกมเปิดฤดูกาลที่ดีที่สุดตลอดกาล

เจลีกฤดูกาล 1993 ประเดิมการแข่งขันด้วยการใช้ระบบ 2 สเตจ ที่เรียกว่า Suntory series และ NICOS series โดยแต่ละสเตจ จะเตะแบบ 2 นัดเหย้าเยือน เพื่อหาแชมป์แต่ละสเตจมาชิงชัย และทำให้แต่ละทีมมีเกมลงเล่นมากถึง 36 เกม โดยยังไม่มีการตกชั้น

นอกจากนี้ เพื่อความตื่นเต้น เจลีกยังได้นำใช้ระบบ sudden death ที่หากมีผลเสมอใน 90 นาที จะต่อเวลาออกไป ด้วยกฎวี (ใครยิงเข้าก่อนชนะ) หรือยิงลูกโทษหากยังเสมอ รมถึงจัดอันดับตามผลแพ้ชนะ คล้ายกับบาสเก็ตบอล NBA

ขณะที่หลายทีม ก็พยายามดึงดูดแฟนบอล ด้วยการทุ่มเงินดึงดาวดังมาเสริมทัพ ไม่ว่าจะเป็น แกรี ลีนิเกอร์ ของแกรมปัส, ปิแอร์ ลิตบาร์สกี ของเจฟ ยูไนเต็ด รวมถึง ซิโก้ ของ อันท์เลอร์ส ที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่สมัยยังเป็น ซูมิโตโม สตีล

Photo : サッカーダイジェストWeb

และมันก็ได้ผล เมื่อเกมนัดเปิดสนามระหว่าง เวอร์ดี คาวาซากิ และ โยโกฮามา มารินอส ที่จะเตะกันในวันที่ 15 พฤษภาคม 1993 ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม โดยมีผู้ลงทะเบียนขอซื้อตั๋วมากถึง 300,000 คน (1 คนซื้อได้ 4 ที่นั่ง) จากความจุทั้งหมด 59,626 ที่นั่ง

ก่อนที่วันของการรอคอยทุกคนจะมาถึง ซึ่งเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่ตั้งแต่พิธีเปิด ทั้งแสงสีที่ละลานตา นักดนตรีจากวง Tube วงดนตรีชื่อดังของญี่ปุ่นในตอนนั้น ไปจนถึงแฟนบอลที่เข้ามาชมกันเต็มความจุ ที่ไม่เคยมีมาก่อนสมัยเป็น Japan Soccer League

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
นันคัตสึ เอสซี : ทีมนอกลีกที่คนวาด “สึบาสะ” วางปากกาเพื่อมาปลุกปั้นสู่เจลีก | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
“ตอนนี้ความฝันที่ใหญ่ที่สุดของผมคือการพา นันคัตสึ เอสซี เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในเจลีก” ทาคาฮาชิ ผู้วาดการ์ตูนกัปตันสึบาสะกล่าว ถือเป็นเรื่องช็อกวงการ สำหรับ โยอิจิ ทาคาฮาชิ บิดาผู้ให้กำเนิด “กัปตันสึบาสะ” การ์ตูนชื่อดั


“มันเหมือนการแสดงคอนเสิร์ตวงร็อค มากกว่าเกมฟุตบอล” Japan Times สื่อชื่อดังญี่ปุ่นบรรยาย

“เลเซอร์ส่องแสงสาดผ่านฝูงชนกว่า 59,626 คนในสนามกีฬาแห่งชาติ นักดนตรีสวมผ้าพันคอเดินไปมาในสนาม ธงลดหลั่นไปตามอัฒจันทร์ เรือเหาะบินอยู่เหนือหัว ฉายภาพไปทั่วญี่ปุ่นและทั่วโลก”

เกมนัดนั้นยังถูกถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติญี่ปุ่น หรือ NHK และสามารถทำเรตติ้งได้สูงถึง 32.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเทียบประชากร 1 เปอร์เซ็นต์เท่ากับ 1 ล้านคน หมายความว่ามีคนชมเกมนัดนี้มากถึง 30 ล้านคน


และผู้เล่นก็ไม่ได้ทำให้ผู้ชมในเกมวันนั้นต้องผิดหวัง พวกเขาเปิดเกมแรกกันอย่างสนุก ก่อนที่ เฮนรี เมเยอร์ กองหน้าชาวดัตช์ จะทำให้ เวอร์ดี เป็นฝ่ายเฮก่อนในนาทีที่ 19 หลังได้บอลมุมซ้ายของกรอบเขตโทษ แล้วตัดเข้าใน ก่อนซัดเต็มแรง บอลพุ่งเสียบเสาไกลเข้าไปอย่างสวยงาม และนั่นก็เป็นประตูแรกอย่างเป็นทางการของเจลีก

แต่มารินอส ก็ไม่ได้ยอมแพ้ และมาได้ประตูตีเสมอจาก เอเวอร์ตัน ตัวรุกชาวบราซิล ที่ปั่นไกลเสียบสามเหลี่ยม ก่อนที่ รามอน ดิอาซ อดีตกองหน้านาโปลี และ ฟิออเรนตินา จะมายิงประตูชัยให้ทีมจากจังหวัดคานางาวะพลิกแซงไปในท้ายที่สุด

"ความรู้สึกข้างในของผมเป็นอะไรมากว่าคำว่าทึ่ง ผมรู้สึกตกใจ ผลตอบรับจากสาธารณะยิ่งใหญ่มาก มันมากกว่าที่ผมคิดเอาไว้เสียอีก" ยาซูชิ โฮโซคาวะ อดีตบอร์ดบริหารเจลีก และรองประธาน นิสสัน มอเตอร์ ที่อยู่ในเกมนัดเปิดสนามเจลีก กล่าว

"ผมถึงขั้นถามตัวเองว่า มันคงไม่เป็นไรใช่ไหมหากเริ่มต้นด้วยอะไรแบบนี้"

Photo : サッカーダイジェストWeb

รากฐานอันยิ่งใหญ่

เจลีกประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายตั้งแต่ฤดูกาลแรกด้วยจำนวนแฟนบอลเฉลี่ยที่มากถึง 17,976 คน และมีคนมาจับจ่ายใช้สอยตลอด 180 เกมของเจลีกในจำนวนแตะหลัก 3.2 ล้านคน

นอกจากนี้พวกเขายังทำกำไรจากโฆษณา ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ของที่ระลึกเป็นเงินสูงถึง 8 พันล้านเยน (ราว 2 พันล้านบาท) ซึ่งมากกว่า สมัย JSL ถึง 10 เท่า ขณะที่ธนาคารฟูจิ สปอนเซอร์อย่างเป็นทางการของเจลีก ได้รับอานิสงค์จากความนิยม จนทำให้มีคนมาเปิดบัญชีกับพวกเขามากถึง 1 ล้านคน

“ถ้าคุณไม่เรียกสิ่งนี้ว่าความสำเร็จ อะไรล่ะที่เรียกได้ว่าการประสบความสำเร็จ" คาวาบูจิกล่าว

Photo : verdy.co.jp

แม้ว่าหลังจากนั้น เจลีกจะเผชิญกับภาวะฟองสบู่ จนทำให้ความนิยมของลีกต้องหยุดชะงักลง ทว่าพวกเขาก็พาวิธีแก้ไข และปรับปรุงจนทำให้มันสามารถยืนหยัดได้อีกครั้งในยุค 2000s และก้าวขึ้นมาเป็นลีกเบอร์ 1 เอเชียในปัจจุบัน

มันคือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าทุกความสำเร็จ ล้วนมาจากรากฐานที่มั่นคง ญี่ปุ่นใช้เวลาถึง 25 ปีในการก่อร่างสร้างตัว และอีก 5 ปีในวางแผนและเซ็ตระบบ จนออกมาเป็นลีกอาชีพที่มีระบบการจัดการที่หลายชาติในเอเชียยกให้เป็นโมเดล

เพราะไม่มีสิ่งใดที่ได้มาง่ายดาย ทุกอย่างล้วนต้องแลกมากับความพยายาม และเวลา รวมถึงความจริงจังที่จะไปถึงเป้าหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เจลีกพิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

El Chino : ทำไมสโมสรใน ลา ลีกา จึงมีเด็กเอเชียอยู่ในเยาวชนแทบทุกทีม ?

เงินเยอะกว่า ≠ แชมป์ลีก : วิสเซล โกเบ ทีมรวยสุดในญี่ปุ่นที่ล้มเหลวเรื่องความสำเร็จ

สืบจากอดีต: เวียดนามในมือ ฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ จะแตกต่างจากยุค ฮังซอ ยังไง ?

แหล่งอ้างอิง

https://www.goal.com/en-us/news/25-years-of-j-league-rise-and-fall-of-asias-no1-football/ri3u63otspsd19upuq6pvub75

https://www.nytimes.com/1993/04/06/sports/IHT-in-jleague-japan-trying-to-avoid-us-mistakes-takes-a-header.html

บทความ The J.League, Japanese Society and Association Football

บทความ Football in the community: global culture, local needs and diversity in Japan

บทความ The making of professional football league : The design of J.League system

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ