สืบจากอดีต: เวียดนามในมือ ฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ จะแตกต่างจากยุค ฮังซอ ยังไง ?

สืบจากอดีต: เวียดนามในมือ ฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ จะแตกต่างจากยุค ฮังซอ ยังไง ?
มฤคย์ ตันนิยม


ฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ อดีตกุนซือทีมชาติญี่ปุ่น จะเป็นคนที่เข้ามารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของทีมชาติเวียดนามต่อจาก พัค ฮังซอ โค้ชชาวเกาหลีใต้

ซึ่งถือว่าดีกรีไม่เลวเลยสำหรับกุนซือเจ้าของฉายา “พ่อมดขาว” เมื่อเขาคือโค้ชคนแรกในประวัติศาสตร์ที่พาญี่ปุ่น เข้าถึงรอบน็อคเอาท์ในฟุตบอลโลกในฟุตบอลโลก 2002

ตอนนั้น ว่าที่กุนซือทีมชาติเวียดนามทำอย่างไร จนทำให้ “ซามูไรบลู” ชาติที่เพิ่งผ่านเข้าไปเล่นในเวิลด์คัพรอบสุดท้ายเป็นครั้งที่ 2 ไปถึงจุดนั้น? ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

พ่อมดขาวอินเจแปน

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990s ญี่ปุ่น อาจจะเป็นเพียงชาติที่กำลังพัฒนาในโลกลูกหนัง เพราะ “ซามูไรบลู” เพิ่งจะผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้เพียงครั้งเดียวในปี 1998 ทว่าสำหรับ ฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ กุนซือชาวฝรั่งเศส มองว่านี่แหละคือความท้าทายที่เขากำลังตามหา

อันที่จริงในตอนนั้น ทรุสซิเยร์ ก็ไม่ใช่โค้ชโนเนม หลังเคยผ่านงานการคุมทีมชาติในทวีปแอฟริกามามากมาย ไล่ตั้งแต่ ไอวอรี โคสต์, ไนจีเรีย, บูกินาฟาโซ รวมถึงแอฟริกาใต้ ในฟุตบอลโลก 1998

โค้ชเจ้าของฉายา “พ่อมดขาว” เข้ามารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของทีมชาติญี่ปุ่น ต่อจาก ทาเคชิ โอคาดะ ที่อำลาทีมไปหลังทัวร์นาเมนต์ที่ฝรั่งเศส และรู้สึกประทับใจในความสามารถของนักเตะญี่ปุ่น ตั้งแต่แรกเห็น แต่พวกเขายังขาดคุณสมบัติในการต่อสู้กับทีมระดับโลก นั่นคือความดุดัน

Photo : Red Star

เพราะแม้ว่าเจลีก ลีกอาชีพญี่ปุ่นจะพัฒนาขึ้นมาก และมีการเล่นที่เต็มไปด้วยคุณภาพ และแทคติกที่ซับซ้อน แต่มันเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนเกินไป และไร้ความดุดัน

“นักเตะดาวรุ่งญี่ปุ่นบางทีในเรื่องเทคนิค อาจจะดีกว่ายุโรปด้วยซ้ำ”ทรุสซิเยร์ กล่าวกับ New York Times

“ความท้าทายของผมคือเตรียมนักเตะเหล่านี้เพื่อฟุตบอลระดับโลก เพื่อเล่นกับทีมต่างชาติที่ดุดัน”

ทรุสซิเยร์ เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซ้อม เขาเน้นพละกำลังและการเข้าปะทะจนบางครั้งมันแทบดูไม่ต่างจากการซ้อมรักบี้ แต่เขายืนยันว่ามันต้องทำแบบนี้ เพื่อต่อสู้ในระดับโลกได้

Photo : AFC

“ในตอนนั้น ญี่ปุ่น มีสภาพร่างกายที่ค่อนข้างเปราะ มันจึงยากที่จะเล่นฟุตบอลในระดับที่ท้าทาย ผมจึงให้ความสนใจไปกับแทคติกในเกมรับ” ทรุสซิเยร์ กล่าวกับ Football Asian

“แต่ฟุตบอลไม่ใช่ยูโด คุณสามารถชนคู่แข่งออกไปได้ หากมีร่างกายที่แข็งแกร่ง และก็ยังตัดสินใจว่าจะบล็อคผู้เล่นหรือลูกบอล”

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
เป้าที่ไม่ได้ตั้งเล่น ๆ : ญี่ปุ่น จะทำอะไรต่อเพื่อแผนเป็นแชมป์โลกปี 2050 ? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
| Think Curve - คิดไซด์โค้ง “ผมเบื่อที่จะได้ยินเรื่องการเป็น “ผู้แพ้ที่ยอดเยี่ยม” ผมอยากจะเป็นผู้ชนะมากกว่าเป็นผู้แพ้ที่ดี” มายะ โยชิดะ กัปตันทีมชาติ กล่าวหลังเกมพ่ายโครเอเชีย

แม้ว่าในช่วงแรก มันอาจจะไม่เห็นผล หลังทรุสซิเยร์ พาญี่ปุ่นคว้าชัยได้เพียงแค่เกมเดียว จาก 10 นัดแรก แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งการไล่ถล่มทีมที่พวกเขาเคยแพ้ในฟุตบอลโลก จาไมกา 4-0 เสมอกับทีมยุโรปอย่าง สโลวาเกีย 1-1 และเอาชนะโบลิเวีย 2-0

ทว่า ยังมีอีกสิ่งที่ ทรุสซิเยร์ นำมาใช้

ไม่สนหน้าอินทร์ หน้าพรหม

ว่ากันว่ามีคำแนะนำสำหรับคนต่างชาติเวลาไปทำงานที่ญี่ปุ่นคือ ต้องพยายามจัดการปัญหาอย่างเงียบๆ ไม่ทำให้เพื่อนร่วมงานเสียหน้า และอย่าแสดงอารมณ์ทางสีหน้า สิ่งเหล่านี้คือ Wa  หรือความกลมกลืน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่คนญี่ปุ่นยึดถือ

แต่สำหรับ ทรุสซิเยร์ เรียกได้ว่าแทบจะตรงกันข้าม เพราะเขาพร้อมจะวิจารณ์ทุกอย่างหากไม่ถูกต้อง ครั้งหนึ่งเขาเคยต่อว่า สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น หรือ JFA ซึ่งเป็นนายจ้างของเขา ว่าบริหารงานแบบ “มือสมัครเล่น” หรือแม้แต่ตะคอกผู้เล่นต่อหน้า ผู้เล่นในทีม

Photo : ithethao.vn

“มันเป็นไปไม่ได้เลยที่โค้ชญี่ปุ่นจะทำพฤติกรรมได้เหมือนผม” ทรุสซิเยร์ กล่าวกับ New York Times

“คนญี่ปุ่นจะต้องเคารพข้อตกลงทางสังคม แต่ผมไม่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งนั้นในญี่ปุ่น มันเป็นข้อได้เปรียบมาก”

แม้ว่าพฤติกรรมดังกล่าว อาจจะทำให้เขาไม่เป็นที่รักสำหรับชาวญี่ปุ่นในช่วงแรก จนได้รับฉายาว่า “ปีศาจแดง” ทว่าผลงานในสนาม ก็ทำให้หลายคนมองข้าม ไม่ว่าจะเป็น การพาเยาวชนญี่ปุ่น ก้าวไปคว้าตำแหน่งรองแชมป์โลกในปี 1999 หรือพาทีมโอลิมปิก คว้าชัย 17 นัดรวด และยิงไปถึง 84 ประตู

นอกจากนี้ เขามักจะใช้ล่ามในการพูดคุยกับสมาคมฯ และสื่อ แต่เมื่อพูดกับผู้เล่น เขาจะใช้นักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่จะพูด ตะโกน ตะคอก ด้วยน้ำเสียงแบบเดียวกับ ทรุสซิเยร์ เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Photo : Onze Mondial

“ผมต้องการวัฒนธรรมของผม มันจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผมต้องมีล่ามภาษาฝรั่งเศส” ทรุสซิเยร์อธิบาย

ขณะเดียวกัน เขายังสอนให้แข้งชาวญี่ปุ่นไม่เถรตรงจนเกินไป เพราะแม้ว่ามันจะเป็นนิสัยที่พวกเขาได้รับคำชื่นชม แต่ในเกมลูกหนังที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มันอาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวาง

“ในช่วงเวลานั้น เราพูดว่าเราโง่และซื่อเกินไป เวลาเราพูดถึงฟุตบอลญี่ปุ่นกฎของฟีฟ่าบอกว่าไม่ควรสัมผัสคู่ต่อสู้ที่มีบอล แต่ในยุโรป พวกเขาใช้ศอกกันโดยไม่สนใจอะไร แต่มันไม่เป็นแบบนั้นในญี่ปุ่น” กุนซือชาวฝรั่งเศสกล่าวกับ Football Asian  

“ตอนที่ผมเตรียมทีมสำหรับฟุตบอลโลก ผมบอกผู้เล่นญี่ปุ่นให้ลืมกฎฟีฟ่าเวลาเจอทีมจากยุโรป กฎของฟีฟ่าทำให้คุณโง่ และคุณจะไม่ชนะ คู่ต่อสู้จะเหยียบเท้าเรา ตีเราดึงเสื้อเราและยั่วยุเรา เราต้องเตรียมตัวเพื่อสิ่งนั้น”

Photo : Twitter

ซึ่งมันก็ได้ผล เมื่อนับตั้งแต่ปี 2000 ญี่ปุ่นก็กลายเป็นทีมที่สามารถต่อกรกับทีมแถวหน้าของโลกได้ เพราะนอกจากแชมป์เอเชียนคัพ 2000 ทรุสซิเยร์ ยังพาซามูไรบลู เสมอกับทีมอย่าง บราซิล และอิตาลี รวมถึงคว้ารองแชมป์ คอนเฟดเดอเรชั่น 2001 ด้วยการพ่ายฝรั่งเศส แชมป์โลก 0-1

แต่ถึงอย่างนั้น ทรุสซิเยร์ ก็คิดว่ายังไม่พอ

ผลักดันไปต่างประเทศ

สิ่งหนึ่งที่ขัดอกขัดใจ ทรุสซิเยร์ มาโดยตลอด นับตั้งแต่เข้ามาคุมทีมชาติญี่ปุ่นในปี 1998 คือผู้เล่นญี่ปุ่น ขาดประสบการณ์ในระดับนานาชาติ เนื่องจากผู้เล่นทีมชาติส่วนใหญ่ในยุคนั้น มักจะยังคงเล่นอยู่ในลีกบ้านเกิด

ด้วยความที่ในตอนนั้น นักเตะญี่ปุ่น ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนักจากสโมสรยุโรป ทำให้ ทรุสซิเยร์ ใช้วิธีพาผู้เล่นไปแข่งนัดกระชับมิตรในต่างประเทศบ่อยๆ หรือแม้แต่ปล่อยให้นักเตะลงกลางทาง และให้พวกเขาหาวิธีกลับโรงแรมเอง

“คนญี่ปุ่น (ในตอนนั้น) รู้เรื่องราวโลกไม่มากพอ ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาที่จะมีประสบการณ์ของมนุษย์” ทรุสซิเยร์ กล่าวกับ New York Times

“พวกเขาต้องเดินไปทั่วลอนดอน หรือกินพิซซ่าที่อิตาลี สิ่งนี้จะช่วยทำลายพรมแดนทางสังคมและทำให้พวกเขามีวิธีใหม่ๆในการแสดงออก คุณจำเป็นต้องใช้พรสวรรค์ของมนุษยในสนามฟุตบอล เพื่อสื่อสารและตัดสินใจภายใต้ความกดดัน”

Photo : FourFourTwo

แต่ถึงอย่างนั้น โค้ชชาวฝรั่งเศส ก็ยังยืนว่าสิ่งที่ดีที่สุดในการพัฒนาทีมชาติ คือผลักดันนักเตะไปค้าแข้งในต่างประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“เมื่อคุณทำงานในต่างประเทศ คุณต้องฝึกซ้อมด้วยวิธีที่ต่างออกไป โค้ชที่ต่างออกไป คุณยังต้องเล่นในการแข่งขันที่ต่างจากเดิม คุณจะเจอปัญหามากมาย” เขากล่าวกับ J SELECT Magazine

ทำให้นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งในปี 1998 ทรุสซิเยร์ ก็พยายามเน้นย้ำและกระตุ้นให้ผู้เล่นของพวกเขาไปเล่นในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสนักเตะญี่ปุ่นในยุโรปในเวลาต่อมา

“การเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาจากการฝึกสอน มันมาจากสโมสรยุโรปมองนักเตะเกาหลีและญี่ปุ่นอย่างไร ในช่วงเวลานั้น มีนักเตะญี่ปุ่นแค่คนเดียวเองมั้งที่เล่นในยุโรป แต่ตอนนี้มี 25-30 คนเลยทีเดียว” ทรุสซิเยร์ กล่าวกับ Football Asian เมื่อปี 2021

Photo : The Japan Times

“ทำไมญี่ปุ่นจึงพัฒนา เพราะว่าผู้เล่นของพวกเขาไปยุโรป ถ้าคุณถามผมว่าผมพัฒนาฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างไร ผมสามารถพูดได้ว่า เป็นเพราะนักเตะ 20 คนของพวกเขาไปยุโรป มันไม่ใช่การพัฒนาจากนโยบายเชิงเทคนิคของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น”

“ถ้าคุณไปยุโรป คุณจะพัฒนาไปอีก คุณภาพของนักเตะญี่ปุ่นและเกาหลีในตอนนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ มาจากการบุกยุโรป นั่นคือสิ่งเดียว”

และมันก็ส่งผลกระทบในเชิงบวก เมื่อทีมชาติญี่ปุ่นชุดฟุตบอลโลก 2002 ที่มีผู้เล่นค้าแข้งอยู่ในยุโรป 3 รายได้แก่  ฮิเดโตชิ นาคาตะ (ปาร์มา), จุนอิจิ อินาโมโต (อาร์เซนอล) และ ชินจิ โอโนะ (เฟเยนูร์ด) ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ทะลุเข้าถึงรอบน็อคเอาท์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ผลงานดังกล่าวทำให้ ทรุสซิเยร์ ได้รับการยกย่องอย่างมากในญี่ปุ่น ทำให้แม้ว่าเขาจะอำลาทีมหลังเวิลด์คัพ 2002 แต่ก็เป็นคนที่แฟนบอลญี่ปุ่นรักใคร่ และเพิ่งจะได้รับเลือกเข้าไปอยู่ในหอเกียรติยศของ JFA เมื่อปี 2020

Photo : Bolaskor

เช่นกันสำหรับ ทรุสซิเยร์ เขาก็มีประสบการณ์ที่ดีกับที่นี่ เพราะมันคือช่วงเวลาที่รุ่งเรืองที่สุดของเขาในฐานะโค้ช เป็นสี่ปีแห่งความทรงจำ และยากจะลืมเลือน

“ผมชอบที่จะเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ภาษา แต่เรียนรู้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไร” ทรุสซิเยร์ กล่าวกับ J SELECT  

“ผมรักญี่ปุ่น ผมรักคุณภาพของชีวิต ผมรักการบริการ ความใจดี ความปลอดภัย และทุกสิ่งทุกอย่างของพวกเขา มันคือประเทศที่สวยงามมากสำหรับสิ่งเหล่านั้น”

ก้าวเล็ก ๆ ที่เวียดนาม

จริง ๆ แล้ว ฟิลิปป์ ทรุสซิเย่ร์ เข้ามาคุมทีมเวียดนามชุดยู 19 ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2019 แล้ว โดยเป้าหมายของการแต่งตั้ง ทรุสซิเยร์ ในเวลานั้นคือการพยายามจะทำให้ทีมชุดยู 19 มีนักเตะเยาวชนที่พร้อมขึ้นมาเป็นนักเตะชุดใหญ่สำหรับศึกฟุตบอลโลก 2026 ที่จะมีการเพิ่มจำนวนทีม และทวีปเอเชียจะได้โควต้าเป็น 8.5 ทีม จาก 4.5 ทีม

“เราคาดหวังว่าด้วยความรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับฟุตบอลเอเชียในช่วงเวลาที่ทำงานในญี่ปุ่นของ ทรุสซิเยร์ จะช่วยฟุตบอลเวียดนามได้ เป้าหมายของเราคือการพัฒนานักเตะ U19 และ U18 เพื่อเป็นแกนหลักในการคว้าตั๋วไปบอลโลก 2026”  Tran Quoc Tuan รองประธาน VFF กล่าว

โดยเด็กหน้าที่ของ ทรุสซิเยร์ คือการสร้างนักเตะที่เกิดในช่วงปี 2000-2003 เพื่อให้พวกเขาก้าวขึ้นไปพีกในช่วงก่อนฟุตบอลโลก 2026 พอดี โดยตลอดในช่วงเวลาที่เขาทำงานกับทีมชุดเล็กเขาก็ติดต่อกับ พัค ฮัง ซอ กุนซือเวียดนามคนก่อนอยู่ตลอด เพื่อให้มีการทำทีมไปทิศทางเดียวกัน และปลูกฝังทัศนคติความมุ่งมั่นของนักเตะให้พยายามก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง รวมถึงการปลูกฝังจิตสำนึกเพื่อให้นักเตะของพวกเขาไม่กลัวคู่แข่งที่ดีกว่า ... จะแพ้หรือชนะไม่รู้แต่ขอให้สู้ด้วยกลยุทธ์และหัวใจที่แข็งแกร่ง

โดยทีมชาติเวียดนามชุด AFF2022 นั้นมีนักเตะเวียดนามที่ผ่านการทำทีมชุดเยาวชนของ ทรุสซิเยร์ เพียงรายเดียวเท่านั้นคือ เหงียน ทันห์ บินห์ (Nguyễn Thanh Bình) หมายเลข 6 รายเดียวเท่านั้น

นั่นหมายความว่า เด็ก ๆ ที่กำลังรอขึ้นทีมชาติใหญ่หลังจากนี้ล้วนผ่านมือของ ทรุสซิเยร์ มาแล้ว นั่นเป็นที่มาว่าทำไม ทรุสซิเยร์ จึงได้รับตำแหน่งนี้ต่อจาก พัค ฮัง ซอ  

หากจะถามถึงวิธีการเล่นที่เขาโปรดปราน สื่อเวียดนามเคยถาม "พ่อมดขาว" และได้คำตอบว่า

"ผมชอบที่จะทำฟุตบอลเกมรุก และเน้นให้นักเตะกล้าที่จะเสี่ยง ซึ่งผมมั่นใจว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ชัยชนะสำหรับการปฎิวัติฟุตบอลเวียดนาม แต่เราจะต้องค่อยเปลี่ยนรูปแบบการเล่นให้ได้ เราจะมีความกระตือรือร้น มีสมาธิ และฉวยโอกาสให้เก่งที่สุด ..."

"ฟุตบอลเกมรุกนี่แหละเป็นกระแสใหม่ของโลกฟุตบอลและผมก็ต้องการสร้างทีมของผมให้เป็นแบบนั้น"

ซึ่งวิธีการดังกล่าวของ ทรุสซิเย่ร์ นั้นสามารถเอาชนะใจสมาคมฟุตบอลเวียดนาม และพวกเขาก็เลื่อกจะซื้อปรัชญาเกมรุกที่เรียกว่าเป็น "ฟุตบอลสมัยใหม่" เพื่อพาทัพดาวทองยกระดับกันไปอีกก้าว

ที่เหลือต่อจากนี้ก็ต้องมารอดูว่า ทรุสซิเยร์ จะทำได้ดีแค่ไหน หากได้รับงานคุมทีมชาติเวียดนาม หลังก่อนหน้านี้เคยรับหน้าที่ประธานฝ่ายเทคนิค ของสมาคมฟุตบอลเวียดนาม รวมถึงโค้ชทีมชาติเวียดนาม U19 มาก่อน  

หรือบางที นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์อีกครั้งก็เป็นได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เป้าที่ไม่ได้ตั้งเล่น ๆ : ญี่ปุ่น จะทำอะไรต่อเพื่อแผนเป็นแชมป์โลกปี 2050 ?

ศิษย์-อาจารย์, เพื่อน, คู่แข่ง : ญี่ปุ่น-เยอรมัน ความสัมพันธ์ลึกซึ้งผ่านฟุตบอล

อาวุธลับที่หายไป : เพราะเหตุใดทีมชาติญี่ปุ่นยุคหลังจึงไม่มีจอมสังหารฟรีคิก?

แหล่งอ้างอิง  

https://www.nytimes.com/2000/09/14/sports/IHT-french-coaching-style-stirs-japanese.html

https://www.jfa.jp/eng/about_jfa/hall_of_fame/member/Philippe_TROUSSIER.html

https://jselect.net/en/english-philippe-troussier-former-coach-of-the-japan-national-team-shares-his-philosophy-of-football/  

http://www.football-asian.com/news/articleView.html?idxno=34

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ