เป้าที่ไม่ได้ตั้งเล่น ๆ : ญี่ปุ่น จะทำอะไรต่อเพื่อแผนเป็นแชมป์โลกปี 2050 ?

เป้าที่ไม่ได้ตั้งเล่น ๆ : ญี่ปุ่น จะทำอะไรต่อเพื่อแผนเป็นแชมป์โลกปี 2050  ?
มฤคย์ ตันนิยม

“ผมเบื่อที่จะได้ยินเรื่องการเป็น “ผู้แพ้ที่ยอดเยี่ยม” ผมอยากจะเป็นผู้ชนะมากกว่าเป็นผู้แพ้ที่ดี” มายะ โยชิดะ กัปตันทีมชาติ กล่าวหลังเกมพ่ายโครเอเชีย

ปิดฉากลงไปอย่างเป็นทางการ สำหรับฟุตบอลโลกของทีมชาติญี่ปุ่น ที่สุดท้ายพวกเขายังไม่สามารถก้าวผ่านกำแพงของรอบ 16 ทีมสุดท้าย หลังจอดป้ายด้วยน้ำมือของ โครเอเชีย รองแชมป์โลกเมื่อ 4 ปีก่อน

อย่างไรก็ดี ความฝันของขุนพลซามูไรบลูยังไม่จบ เมื่อเป้าหมายสูงสุดของพวกเขาคือการขึ้นไปอยู่ในแถวหน้าของโลก และคว้าแชมป์โลกในปี 2050 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า

เพื่อไปถึงจุดนั้น พวกเขามีแผนอย่างไรต่อจากนี้ ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : อาวุธลับที่หายไป : เพราะเหตุใดทีมชาติญี่ปุ่นยุคหลังจึงไม่มีจอมสังหารฟรีคิก?

อาวุธลับที่หายไป : เพราะเหตุใดทีมชาติญี่ปุ่นยุคหลังจึงไม่มีจอมสังหารฟรีคิก? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง “ในฟุตบอลโลก ถ้าคุณเตะฟรีคิกได้ดี มันอาจจะเป็นตัวตัดสิน และนำไปสู่ชัยชนะได้” วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช อดีตกุนซือทีมชาติญี่ปุ่นกล่าว


มุ่งสู่ทีมชั้นนำของโลก

พลิกชนะเยอรมัน, เฉือนชนะสเปน พ่ายรองแชมป์โลก โครเอเชียในรอบ 16 ทีมสุดท้าย อาจจะเป็นผลงานที่น่าชื่นชมสำหรับทัพ “ซามูไรบลู” ทีมชาติญี่ปุ่นในฟุตบอลโลก 2022 ที่เห็นได้จากผู้คนหลายพันคน ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่พากันมาคอยต้อนรับที่สนามบินนาริตะราวกับวีรบุรุษ

แต่สำหรับผู้เล่นทีมชาติญี่ปุ่น พวกเขารู้สึกว่ามันยังไม่พอ เมื่อเป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขา คือการผ่านเข้าไปเล่นในรอบ 8 ทีมสุดท้าย และยังห่างไกลจากเป้าหมายสูงสุด ในแผน 100 ปีสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ที่ต้องคว้าแชมป์โลกให้ได้ภายในปี 2050

“ผมต้องขอโทษ (ผู้เล่นอาวุโส) ด้วยความแข็งแกร่งที่มากกว่าผมเคยมี (เรื่องการเข้าไปเล่นในรอบก่อนรองชนะเลิศ)” คาโอรุ มิโตมะ หนึ่งในผู้เล่นที่พลาดโทษตัดสิน กล่าวทั้งน้ำตาขณะให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์

Photo : Sussex Express

“ผมไม่สามารถบอกได้ว่ากำแพงนี้ใหญ่แค่ไหนกับการเจอมันครั้งแรกแต่ผมสามารถรู้สึกได้ถึงความแข็งแกร่งของโครเอเชียตลอดการแข่งขันว่ามากแค่ไหน”

ดังนั้นทันทีที่ถึงบ้านเกิด พวกเขาต้องรีบลืมความผิดหวังให้เร็ว และมุ่งสู่เป้าหมายต่อไป ที่ได้วางเอาไว้อย่างชัดเจนใน “แผนระยะกลาง 2022-2025: ปฏิทินฟุตบอลและเป้าหมาย” ของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA)

ไม่ว่าจะเป็น การคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก U17/U20 ในปี 2023 คว้าเหรียญในโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส และคว้าแชมป์ฟุตบอลเยาวชนโลกอีกครั้งในปี 2025 รวมถึงการผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก ที่หวังแก้ตัวใหม่ในปี 2026 หลังเพิ่งพลาดไปในทัวร์นาเมนต์ที่กาตาร์

Photo : JFA


แม้ว่ามันอาจจะดูไม่ง่าย แต่พวกเขาก็ต้องทำให้ได้ เพราะก่อนที่จะคว้าแชมป์โลก ญี่ปุ่น ต้องก้าวขึ้นไปเป็นทีมชั้นนำของโลกให้ได้ก่อน และที่สำคัญพวกเขาต้องถีบตัวเองขึ้นไปอยู่ในท็อป 10 ของโลกในตารางฟีฟ่า เวิลด์แรงกิ้ง (ปัจจุบันญี่ปุ่นอยู่อันดับ 24 ของโลก)

นอกจากนี้ JFA ยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายใหญ่ คือการยกระดับเจลีกให้กลายมาเป็นลีกชั้นนำของโลก โดยพวกเขาตั้งเป้าว่าลีกอาชีพของพวกเขา จะต้องเป็นหนึ่งในท็อป 4 ของลีกที่ดีที่สุดในโลก ภายในปี 2030 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า

“เรามีแผนระยะยาว และภายในปี 2030 เราพยายามที่จะเป็นหนึ่งใน 4 ของลีกที่ดีที่สุดในโลก” มิตสึรุ มูราอิ อดีตประธานเจลีก กล่าวในงานสัมนาภายใต้หัวข้อ ‘ศักยภาพลีกฟุตบอลเอเชียและความท้าทายในการพัฒนา’ เมื่อปี 2019

แน่นอนเมื่อมีเป้าหมาย ก็จำเป็นต้องมีวิธีการ

ผลิตบุคลากรฟุตบอลที่มีคุณภาพและหลากหลาย  

หากสังเกตุทีมชาติชั้นนำของโลก สิ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือการมีนักเตะฝีเท้าดีให้เลือกใช้เป็นจำนวนมาก และญี่ปุ่นก็พยายามจะทำแบบนั้นผ่านการพัฒนาลีกอาชีพของพวกเขาให้แข็งแกร่งอยู่เสมอ

อันที่จริง มันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนก่อตั้งเจลีก และยังไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และ “เฮงซัง” วิทยา เลาหกุล อดีตนักเตะไทยคนแรกในบุนเดสลีกา ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเหตุการณ์นี้ สมัยที่เขาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม มัตสึชิตะ อิเล็กทริค เอฟซี (กัมบะ โอซากาในปัจจุบัน)

“ช่วงฟุตบอลโลก 1990 ที่อิตาลี สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ส่งโค้ชของ Japan Football League สโมสรละสองคน คือเฮดโค้ชและผู้ช่วยโค้ช รวมถึงผมไปที่สนามในอิตาลี เพื่อวิเคราะห์การแข่งขันว่าทำอย่างไร จึงไปเล่นฟุตบอลโลกได้” วิทยากล่าวกับ The Nation

“จากนั้น (เรา) ก็กลับมาวิเคราะห์และพัฒนาระบบที่ทำให้ไปเล่นในฟุตบอลโลกได้”

Photo : thescore.com

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่นักฟุตบอลเท่านั้น แต่ ญี่ปุ่น ยังพยายามสร้างบุคลากรเกี่ยวกับฟุตบอล ที่มีคุณภาพและมีที่มาจากหลากหลายสโมสร ซึ่งรวมถึงสต้าฟโค้ช และผู้ตัดสินไปพร้อมกัน โดยตั้งเป้าไว้ที่ 10 ล้านคนภายในปี 2050

ขณะที่ระยะสั้นพวกเขาวางแผนว่า ภายในปี 2025 ญี่ปุ่นต้องมีนักฟุตบอลลงทะเบียนรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 964,425 คน (สถิติล่าสุดเมื่อปี 2020 อยู่ที่ 818,418 คน) สต้าฟโค้ช 117,956 คน (เดิม 82,258 คน) และผู้ตัดสิน 305,623 คน (เดิม 251,149)  

ด้วยเหตุนี้ JFA จึงพยายามผลักดันให้เจลีกมีสโมสรอาชีพกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศให้มากที่สุด เพื่อช่วยกันผลิตบุคลากรฟุตบอล โดยมีเป้าหมาย 100 สโมสรภายในปี 2092

ซึ่งตอนนี้พวกเขาก็ทำได้เกินครึ่งทางแล้ว หลังกำลังจะมีครบ 60 สโมสรจาก 3 ดิวิชั่น ใน 41 จังหวัด จากทั้งหมด 47 จังหวัด ในฤดูกาล 2023 ซึ่งจะเป็นฤดูกาลครบรอบ 30 ปีเจลีก

Photo : J.LEAGUE

“ตอนนี้มีสโมสรมากมายอยู่ทั่วประเทศ คุณไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในชิซึโอกะ หรือโตเกียว หรือในเมืองที่มีแต่สโมสรเก่ง ๆ ” ฌอน แคร์โรล นักเขียนชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอลญี่ปุ่นกล่าวกับ Japan Times

“คุณสามารถอยู่ในอิวากิ (จังหวัดฟูคูชิมะ) ได้ และที่นั่นก็มีทีมท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง”

และมันก็เริ่มจะเห็นผลบ้างแล้ว เมื่อสมาชิกทีมชาติญี่ปุ่นในฟุตบอลโลก 2022 หลายคนไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากทีมใหญ่ แต่เป็นทีมท้องถิ่นเล็กๆ  ไม่ว่าจะเป็น ฮิโรกิ อิโต (จูบิโล อิวาตะ), วาตารุ เอ็นโด (โชนัน เบลล์มาเร) หรือ ไดเซน มาเอดะ (มัตสึโมโต ยามางะ)

“พวกเขาเหล่านี้ (ทีมชาติญี่ปุ่น) เติบโตจากเจลีก ผมอยากให้เจลีกเติบโตกว่านี้ เข้มข้นมากกว่านี้ หากในเมืองหรือจังหวัดคุณมีสโมสรฟุตบอล ผมอยากให้สนับสนุนพวกเขา” ยูโตะ นางาโตโมะ อดีตกองหลังอินเตอร์ มิลาน ที่ปัจจุบันเล่นให้ เอฟซี โตเกียว กล่าว

อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้มองแค่การพัฒนาในประเทศเท่านั้น

ครองยุโรป

หลังเริ่มลีกอาชีพแข็งแกร่ง อีกหนึ่งปัจจัยที่ JFA พยายายามผลักดันมาตลอด คือการส่งนักเตะไปเล่นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

พวกเขาตระหนักในเรื่องนี้มาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1998 ที่เป็นการเปิดตัวครั้งแรกของญี่ปุ่นในเวทีระดับโลก เมื่อ 23 นักเตะจากเจลีกของพวกเขา ไม่สามารถช่วยให้ญี่ปุ่นเก็บได้แม้แต่แต้มเดียว

หลังจากนั้น ญี่ปุ่น ก็เริ่มมีนักเตะไปค้าแข้งในลีกยุโรปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ฮิเดโตชิ นาคาตะ (เปรูจา, โรมา) และ ชุนซูเกะ นาคามูระ (เรจจินา, กลาสโกว์ เซลติก) ในช่วงแรก, ชินจิ คางาวะ (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, แมนฯยู ไนเต็ด) ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2010s

Photo : Herald Sun

หรือล่าสุดในตอนนี้ ที่มีแข้งญี่ปุ่นฝังตัวอยู่มากมายในลีกใหญ่ของยุโรป ทั้งพรีเมียร์ลีก บุนเดสลีกา หรือลาลีกา และทำให้ 26 ขุนพลสุดท้ายชุดฟุตบอลโลก 2022 มีผู้เล่นที่เล่นอยู่ยุโรปมากถึง 19 ราย

“สิ่งที่ติดใจผมในฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย คือการได้เห็นรายชื่อผู้เล่นของทีมแชมป์ ทีมชาติฝรั่งเศส ตั้งแต่นัดแรกของการแข่งขัน” มูราอิ กล่าวกับ Japan Times

“ฝรั่งเศสมีตัวจริงเพียงแค่คนเดียวที่ยังเล่นอยู่ในลีกของประเทศนั่นคือ คิลิยัน เอ็มบับเป กองหน้ามหัศจรรย์วัย 19 ปีของปารีส แซงต์ แชร็กแมง”

“ทุกคนล้วนเล่นอยู่นอกฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นพรีเมียร์ลีก หรือบุนเดสลีกา ฝรั่งเศสเชื่อว่าถ้าพวกเขาแสดงให้เห็นความแข็งแกร่งที่แท้จริง พวกเขาต้องเล่นในลีกที่ดีที่สุด เพราะว่านั้นคือวิธีที่พวกเขาจะพัฒนาทักษะของตัวเอง”  

อย่างไรก็ดี แค่ไปเล่นที่ยุโรปมันยังไม่พอ เพื่อคว้าแชมป์โลก นักเตะญี่ปุ่น ต้องเป็นผู้เล่นตัวจริงของทีมใหญ่ในลีก หรือทีมเต็งที่จะคว้าแชมป์ หรือไม่อย่างนั้นก็ควรเป็นทีมที่ผ่านเข้าไปเล่นในรอบน็อคเอาท์แชมเปียนส์ลีกได้เป็นประจำ

Photo : The Telegraph

“ระดับการเล่นในญี่ปุ่นยังค่อนข้างต่ำ ดังนั้นเราจึงอยากให้ผู้เล่นไปเล่นในยุโรป และอยู่ในทีมที่ลงเล่นในรอบน็อคเอาท์แชมเปียนส์ลีกเป็นประจำ” มูราอิ กล่าวต่อ

“มันหมดยุคที่จะดีใจเพียงเพราะว่าผู้เล่นได้ไปเล่นในต่างประเทศ เพราะถ้านับจำนวนผู้เล่นญี่ปุ่นที่เล่นอยู่ในทีมชั้นนำในต่างประเทศ เรายังห่างไกล ญี่ปุ่นมาถึงขั้นตอนที่เราอยากให้ผู้เล่นเหล่านั้น ช่วยยกระดับสโมสรชั้นนำได้”

และแม้ว่าจะยังมีไม่มากนัก แต่ก็เริ่มให้เห็นบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น มาโคโตะ ฮาเซเบะ ที่คว้าแชมป์บุนเดสลีกา กับโวล์ฟบวร์ก,ชินจิ คางาวะ กับการเป็นกุนแจสำคัญของ ดอร์ทมุนด์ ในยุคของคล็อป หรือล่าสุดอย่าง ไดจิ คามาดะ ที่ร่วมคว้าแชมป์ยูโรปา ลีกกับ ไอทรัค แฟรงต์เฟิร์ต

นอกจากนี้ JFA ยังเชื่อว่า หากผู้เล่นญี่ปุ่นได้สัมผัสกับเกมระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ทำให้ทีมชาติแข็งแกร่งเท่านั้น แต่ยังสามารถนำประสบการณ์กลับมาถ่ายทอดให้รุ่นน้องในบ้านเกิด ตอนกลับมาเล่นในเจลีกในช่วงบั้นปลาย ที่จะทำให้มาตรฐานของลีกพวกเขาสูงขึ้นในอนาคต

Photo : The Japan Times

“มันไม่ใช่แค่การส่งนักเตะไปเล่นในยุโรป แต่หลังจากลีกเกิดมา 18 ปี เราก็มาถึงจุดที่ผู้เล่นเหล่านั้นเริ่มกลับมาช่วยลีก” มูราอิ อธิบาย

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้เล่นอายุน้อยกับการไปยุโรป แต่ผมก็ยังต้อนรับผู้เล่นประสบการณ์สูง ที่จะนำประสบการณ์และความรู้กลับมาญี่ปุ่น เราอยากให้พวกเขาแสดงให้เห็นมาตรฐานระดับโลกแก่ผู้เล่นอายุน้อย”

ทั้งนี้ ภาคเอกชนจำนวนไม่น้อย ก็มีส่วนสนับสนุนในเรื่องนี้ ทั้งการปล่อยผู้เล่นญี่ปุ่นไปต่างประเทศในราคาสุดถูก หรือไม่มีค่าตัว หรือการที่เอกชน ไปเทคโอเวอร์สโมสรในลีกเกรดรอง เพื่อเป็นฮับในการรองรับแข้งจากแดนซามูไร

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ แซงต์ ทรุยดอง ในลีกสูงสุดของเบลเยียม ที่มี DMM บริษัทสื่อความบันเทิงผู้ใหญ่เป็นเจ้าของ พวกเขาคือแหล่งพักพิงแข้งญี่ปุ่น ทั้งในปัจจุบันที่มีอยู่ในทีมถึง 5 ราย อย่าง คางาวะ, ชินจิ โอคาซากิ, ดาเนียล ชมิดท์, ไดกิ ฮาชิโอกะ และ ไดจิ ฮายาชิ หรือป้อนให้ทีมอื่นอย่าง ทาคาฮิโร โทมิยาสุ (อาร์เซนอล) เป็นต้น

ล้ม 7 ครั้ง ลุก 8 ครั้ง

แม้ว่า ญี่ปุ่น จะตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก 2022 แต่อนาคตของพวกเขาก็ยังสดใส เมื่อ “ซามูไรบลู” มีผู้เล่นที่มีอายุเท่ากับหรือน้อยกว่า 25 ปีอยู่ในทีมชุดทำศึกที่กาตาร์มากถึง 11 ราย จากทั้งหมด 26 ราย

“นักเตะดาวรุ่งของเราจะรับความผิดหวังนี้เอาไว้ และใช้มันขับเคลื่อนฟุตบอลญี่ปุ่นไปข้างหน้า” นางาโตโมะวัย 36 ปีกล่าว

“ประสบการณ์เหล่านี้ จะเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้”

Photo : Jordan News

อันที่จริง พวกเขาก็พิสูจน์ให้เห็นในประวัติศาสตร์มาตลอดว่าไม่ว่าจะพ่ายแพ้ยับเยินแค่ไหน พวกเขาก็สามารถกลับมาทุกครั้ง เหมือนดั่งภาษิต 'ล้มเจ็ดครั้ง ลุกขึ้นแปดครั้ง' (Nanakorobi Yaoki) ที่หมายความว่า ไม่ยอมท้อถอยแม้จะล้มเหลวมาแล้วกี่ครั้ง

ทั้งการพลิกฟื้นประเทศขึ้นมาได้อย่างยิ่งใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2, การฟื้นฟูประเทศในเหตุแผ่นดินไหว และสึนามิ เมื่อปี 2011 หรือในฟุตบอลอย่าง ‘โศกนาฏกรรมโดฮา’ เมื่อปี 1993 ที่กลายเป็นแรงผลักดัน พาพวกเขาไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 1998

เชื่อว่าความเจ็บปวดในฟุตบอลโลก 2022 จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนขุนพลซามูไรบลูต่อไปในอนาคต ดังที่เห็นล่าสุดที่ JFA ออกมาประกาศว่าจะเน้นยำความสำคัญในการยิงลูกโทษตัดสิน ที่จะให้ฟุตบอลกระชับมิตรมีการเตะจุดโทษ หลังซามูไรบลู ต้องตกรอบที่กาตาร์ ด้วยเหตุผลนี้

แน่นอนว่าเป้าหมายแรกของพวกเขาคือการข้ามกำแพงของรอบ 16 ทีมสุดท้าย ที่เชื่อว่าอีกไม่นาน ญี่ปุ่น ก็คงทำได้ ก่อนจะก้าวขึ้นไปอีกสเต็ป นั่นคือการคว้าแชมป์โลก ภายในปี 2050 ที่ตัวเองหวังจะเป็นเจ้าภาพในอีก 28 ข้างหน้า

Photo : asahi.com

อย่างไรก็ดี มันไม่ใข่เป้าหมายที่มาจากลมปาก แต่เกิดจากการวางแผนและลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติ ที่หมดยุคแล้วกับคำว่า “แพ้แต่อย่างน้อยก็เต็มที่แล้ว” เพราะเมื่อทำเต็มที่แต่แพ้ มันหมายความได้อย่างเดียวว่ายังไม่ดีพอ และมีจุดที่ต้องปรับปรุง

“ผมเบื่อที่จะได้ยินเรื่องการเป็น “ผู้แพ้ที่ยอดเยี่ยม” ผมอยากจะเป็นผู้ชนะมากกว่าเป็นผู้แพ้ที่ดี” มายะ โยชิดะ กัปตันทีมชาติ กล่าวหลังเกมพ่ายโครเอเชีย

ก็มารอดูว่า ญี่ปุ่น จะทำได้ดีแค่ไหนต่อจากนี้ แต่ที่แน่ ๆ ความคิดของพวกเขาเปลี่ยนไปแล้ว เพราะการเอาชนะทีมชั้นนำของโลก ก็ไม่ได้สิ่งที่เกินฝัน ดังที่แสดงให้เห็นทัวร์นาเมนต์ที่กาตาร์…เช่นกันกับการคว้าแชมป์โลก

“เราสามารถเอาความมั่นใจจากการเอาชนะอดีตแชมป์โลก” ฮาจิเมะ โมริยาสุ กุนซือทีมชาติญี่ปุ่นกล่าวกับ Japan Times

“ถ้าเราหยุดคิดที่จะไล่ตาม และเริ่มคิดที่จะแซงพวกเขาแทน อนาคตของเราก็จะเปลี่ยนไป”

แหล่งอ้างอิง :

https://www.japantimes.co.jp/sports/2021/01/06/soccer/j-league/jleague-mitsuru-murai-interview-part2/

https://www.japantimes.co.jp/sports/2022/12/06/soccer/world-cup/world-cup-2022-japan-exit/

https://www.jfa.jp/eng/about_jfa/plan/goal2030.html

https://www.japantimes.co.jp/sports/2022/12/04/soccer/world-cup/japanese-soccer-evolution/

https://www.japantimes.co.jp/opinion/2022/12/12/editorials/japan-soccer/

https://www.nationthailand.com/lifestyle/40022420

https://worldfootballsummit.com/this-is-how-the-j-league-plans-to-challenge-europes-top-football-leagues-by-2030/

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ