AFF สไตล์ : การหวดยับเตะกันสบายส่งผลร้ายต่อทั้งระบบอย่างไร ?

AFF สไตล์ : การหวดยับเตะกันสบายส่งผลร้ายต่อทั้งระบบอย่างไร ?
ชยันธร ใจมูล

หากใครได้ดูเกมระหว่างเวียดนาม เปิดบ้านชนะ อินโดนีเซีย 2-0 ทำให้ทัพดาวทองเข้าไปในรอบชิงชนะเลิศ ศึก เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022

นอกเหนือจากชัยชนะแล้วสิ่งทีเห็นคือภาพการเข้าปะทะที่หนักหน่วงชวนเดือดของผู้เล่นในเกมนี้ ที่มันยิ่งทำให้เห็นภาพชัด ๆ ว่าบางทีอาจจะถูกต้องแล้วที่หลาย ๆ สโมสรไม่ต้องการปล่อยนักเตะให้ลงเเข่งขันในรายการนี้

เพื่อให้ความแคลงใจนี้หมดไป มีวิธีไหนบ้างจะแก้ไขเรื่องนี้ได้ ? หาคำตอบกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง  

มาตรฐานการตัดสินคือจุดเริ่มต้น

พูดกันหน่อยสำหรับ Yanmar นี่ถือว่าเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันที่ Yanmar เป็นสปอนเซอร์หลักของการแข่งขันรายการชิงแชมป์อาเซียน

โดยหนนี้ AFF MITSUBISHI ELECTRIC CUP 2022  Yanmar จะทำกิจกรรมในภูมิภาคนี้ภายใต้สโลแกนที่ว่า “#Football is our engine - Challenge for tomorrows, together-" เพื่อตอกย้ำถึงความปรารถนาที่จะสนับสนุนผู้คนที่ต้องการท้าทายกับอนาคตต่อไป

โดยมีฟุตบอลเป็นแรงขับเคลื่อนของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอย่างที่เรารู้กันดีว่า Yanmar เองก็เป็นผู้สนับสนุนทีมในไทยลีก 1 อย่าง สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด และระดับเจลีก อย่างสโมสรเซเรโซ โอซาก้า ด้วย ก็ต้องขอบคุณ Yanmar ที่เป็นส่วนขับเคลื่อนวงการฟุตบอลด้วยนะครับ

กลับมาที่เรื่องของรายละเอียดในวันนี้กันบ้าง … มาตรฐานฟุตบอลในรายการ AFF นั้นหากไม่โกหกตัวเองคงสามารถพูดได้เต็มปากว่าเราแทบจะเป็นรองในทุก ๆ ภูมิภาคในทวีปเอเชีย

Photo : AFF Mitsubishi Electric Cup 2022

คุณภาพในที่นี่ไม่ได้หมายถึงคุณภาพนักเตะ หรือวิธีการเล่นเท่านั้น แต่มันคือคุณภาพของผู้ตัดสิน และการจัดการการบริหารการแข่งขันในทัวร์นาเม้นต์ด้วย

สิ่งที่เราเห็นภาพได้ชัดและสามารถชี้ให้เห็นปัญหาได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องพึ่งข้อมูลวงใน นั่นคือเรื่องของการตัดสิน เชื่อว่าแฟนบอลที่ดูฟุตบอลมานานก็จะเข้าใจได้ในทันทีว่ามาตรฐานกรรมการในฟุตบอลอาเซียนนั้นเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน เราจึงได้เห็นการเล่นประเภทถึงลูก ถึงคน เตะเป็นเตะ หวดเป็นหวดอยู่บ่อย ๆ ...  และหากจะถามหาเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงเข้าบอลหนักขนาดนั้นได้อย่างต่อเนื่อง ก็ต้องยอมรับว่า "มาตรฐานการตัดสิน" มีผลที่ทำให้พวกเขาเป็นแบบนั้น

สิ่งที่คุณอาจไม่รู้คือแม้ในโลกโซเชี่ยลของชาวไทยจะมองว่า เวียดนาม เป็นทีมที่เล่นแรง เข้าทั้งบอลทั้งคน แต่ในความจริงคือ พวกเขาเป็นชาติที่ทำฟาวล์มากที่สุดในทัวร์นาเม้นต์เป็นอันดับ 3 เท่านั้น โดย เวียดนาม เสียฟาวล์ไปใน AFF 2022 เพียงแค่ 60 ครั้งเท่านั้น น้อยกว่าอันดับ 1 อย่าง อินโดนีเซีย ที่ทำฟาวล์มากกว่าเสียดนามถึง 23 ครั้ง (อินโดนีเซีย ฟาวล์  83 ครั้ง)

แม้กระทั่งการโดนใบเหลือง เวียดนาม ก็อยู่แค่ในอันดับที่ 4 เท่านั้น โดยโดนไปทั้งหมด7 ใบเหลือง  (อันดับ 1 เมียนมา อันดับ 2 บรูไน และ อันดับ 3 กัมพูชา)

สิ่งที่เราเห็นสวนทางกับสถิติที่เกิดขึ้น นั่นเป็นการแสดงให้เห็นในอีกทางหนึ่งว่ามาตรฐานการตัดสินนั้นต่ำเกินไป จริงอยู่ที่งานนี้จะมีการจ้างผู้ตัดสินจากชาติอื่น ๆ ในเอเชีย เข้ามารับบทบาท แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้ช่วยยกระดับมาตรฐานการเป่าขึ้นมาเลย นอกจากนี้ผู้ช่วยผู้ตัดสินก็ยังเป็นชาวอาเซียนอยู่ ดังนั้นเราจึงได้เห็นจังหวะค้านสายตาอยู่บ่อย ๆ ยิ่งไม่เป่าไม่เบรก นักเตะก็ยิ่ง

Photo : New Straits Times

เรื่องนี้ยืนยันได้จากตัวเลขผู้ตัดสิน และ ผู้ช่วยผู้ตัดสิน ที่ FIFA รับรองในชาติอาเซียน นั้นก็มีน้อยมาก โดยข้อมูลจากสมาคมฟุตบอลไทยล่าสุดทีเปิดเผยมา ก็พบว่าในอาเซียนผู้ตัดสินชายที่ได้มาตฐาน FIFA แค่ 41 คนเท่านั้น ขณะที่ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ได้รับการรับรองจาก FIFA อีก 64 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากหากนับชาติสมาชิกที่มี 11 ชาติ

การตัดสินที่ปล่อยเกมไหล ใบเเดง-ใบเหลือง ออกยากนี้หากเราใช้เวียดนามเป็นบรรทัดฐานเราจะพบว่าจริง ๆ แล้วเวียดนาม ก็ไม่ได้เล่นแบบนี้ทุกรายการ ในช่วงที่พวกเขาได้รองแชมป์ยู23 ชิงแชมป์เอเชีย เมื่อปี 2018 นั้น พวกเขาโดนใบเหลืองไป 12 ใบ ขณะที่ เอเชี่ยน คัพ 2019 เวียดนาม ก็ยังโดนใบเหลืองไป 9 ใบ (เล่นไป 5 เกม)

และถ้าใครได้ดูเวียดนามเล่นในทัวร์นาเม้นค์ที่กล่าวไปในข้างต้นคุณจะเห็นได้ว่า พวกเขาไม่ได้เละเตะคน หรือเล่นแรงจนเกินกว่าเหตุเลย เพราะกรรมการนั้นพร้อมจะแจกใบเหลืองในทันที เรียกได้ว่าโดนเบรกด้วยคำตัดสินก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าความเข้มของผู้ตัดสินนั้นมีผลต่อการทำให้นักเตะไม่กล้าเข้าบอลแรง ๆ หรือเล่นนอกเกม เหมือนกับที่เราได้เห็นใน AFF ที่มีปัญหาในเรื่องนี้แทบทุกครั้งที่มีการแข่งขัน

เทคโนโลยี...มี แต่ไม่ใช้ ?

จริงอยู่ที่ผู้ตัดสินก็เป็นมนุษย์สามารถทำผิดพลาด หรือตัดสินใจไม่ถูกต้องได้ แต่ในยุคนี้ก็มีเทคโนโลยีอย่าง VAR เข้ามาช่วย ซึ่งการ VAR ถือเป็นสิ่งที่ลีกชั้นนำและฟุตบอลทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ ๆ ทั่วโลกใช้เพื่อให้ได้รับผลการตัดสินที่มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด แต่ในรายของ AFF กลับไม่เลือกใช้สิ่งนี้เพื่อช่วยหาทางออกของปัญหา ที่เกิดขึ้นทุกครั้งในฟุตบอลอาเซียน ทั้ง ๆ ที่แฟนบอลและโค้ชของทีมต่าง ๆ ก็อยากให้มีการลงทุนในส่วนนี้

แม้จะการเผยเหตุผลมาว่าการใช้ VAR นั้นมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ในความจริงเมื่อเราอ้างอิงข้อมูลค่าใช้จ่ายสำหรับ VAR ในศึกไทยลีกเราจะพบว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่จำนวนเงินที่มากเกินไปเลยด้วยซ้ำ

Photo : Vietnam Posts English

สำหรับในการแข่งขันไทยลีก มีการกำหนดค่าใช้จ่ายของ VAR ต่อการแข่งขัน 1 นัด ไว้ที่ประมาณ 77,000-80,000 บาท โดยจะแบ่งแยกเป็น ค่าอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น กล้อง,จอทีวี ,ค่าสัญญาณดาวเทียม และระบบต่าง อยู่ที่ราว 60,000 บาท อีกส่วนจะเป็นค่าบุคลากร อีกประมาณ 17,000 บาท ประกอบด้วยค่าผู้ตัดสิน ค่าเจ้าหน้าที่ในการสวิชเซอร์ และควบคุมระบบกล้อง

และหากนำมาคำนวนเกมแข่งขันในทัวร์นาเมนต์เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริก คัพ 2022 ที่มีทั้งหมด 26 นัด ก็จะใช้เงินอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านเท่านั้น (26*80,000) ทั้งทัวร์นาเม้นต์เพียง 2 ล้านบาท คุณฟังไม่ผิดแน่นอน นี่คือเงินที่จิ๊บจ๊อยมากสำหรับรายการ AFF ที่เปรียบเสมือนฟุตบอลโลกของชาวอาเซียน ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือรายรับจากค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดให้แค่ละชาติที่มีราคามากกว่า 60 ล้านบาท ... 10 ชาติที่เข้าแข่งขันก็ตีเป็นเงินกลม ๆ แบบตีราคาต่ำที่สุดก็น่าจะที่สักราว ๆ  500 ล้านบาท  จะเห็นได้ว่า 500 ล้านบาท กับ  2 ล้านบาท นั้นห่างไกลกันมากเลยทีเดียว

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
กรณีศึกษาจากต่างประเทศ : ไทยควรจัดการกับแฟนบอลจุดพลุแฟร์ในสนามอย่างไร ? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ส่อแววโดนสมาพันธ์ลูกหนังเอเชีย (AFC) ลงโทษสถานหนักกว่าการปรับเงิน หลังจากแฟนบอลทำผิดซ้ำซากจุดพลุแฟร์ในเกมมิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022 ก่อนหน้านี้ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้รับบทลงโทษจาก AFC มาแล้ว 2 ครั้ง เกิดขึ

สิ่งที่น่านำมาวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ไม่ใช้ VAR ในทัวร์นาเม้นต์อีกหนึ่งอย่างก็คือผู้ตัดสิน VAR ที่ทั้งอาเซียน มีผู้ตัดสินในด้านนี้ที่ได้รับการรับรองจาก FIFA  เพียงแค่ 7 คนเท่านั้น (ไทย 6 คน และ สิงคโปร์ 1คน) และความไม่พร้อม

ไม่ว่าจะมีเหตุผลมาจากข้อไหน แต่ที่แน่ ๆ AFF ต้องแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้ เพราะการเข้าปะทะที่หนักจนเกินความจำเป็นจะส่งผลระยะยาวต่อทัวร์นาเม้นต์นี้แน่นอน

วันนี้ไม่เห็นค่า...วันหน้าอาจรู้ซึ้ง

การเข้าปะทะที่หนัก มาตรฐานการเเข่งขันในส่วนต่าง ๆ และการไม่ได้อยู่ในปฎิทินฟีฟ่า เดย์ ของ AFF เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่ทำให้หลัง ๆ เราเริ่มได้เห็นแต่ละสโมสรไม่ได้ปล่อยนักเตะตัวหลักของทีมให้กับทีมชาติเพื่อรายการนี้มากขึ้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวหากยังไม่มีการแก้ไข หรือทำให้มีมาตรฐาน การอยากส่งนักเตะมาเข้าร่วมรายการนี้ของแต่ละสโมสรก็น้อยลง เพราะเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บ ยิ่งมาตรฐานการตัดสินที่มีเหตุการณ์ค้านสายตาให้เห็นบ่อย ๆ ก็ยิ่งทำให้ความหมายของรายการชิงแชมป์อาเซียนลดน้อยลงไปเป็นเงาตามตัว

ถ้าหากถึงวันนั้นขึ้นมาจริง ๆ วันที่สโมสรต่าง ๆ ไม่เห็นความสำคัญของทัวร์นาเม้นต์นี้ นักเตะชื่อดังมาเข้าร่วมการแข่งขันน้อยลง มูลค่าทางการตลาดของรายการ AFF ที่เปรียบเสมือนฟุตบอลโลกของชาวอาเซียนก็ลดลงด้วย ถึงวันนั้นค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด และเงินสนับสนุนของสปอนเซอร์ ก็จะมีผลกระทบตามมาแน่ และทำให้ AFF อาจจะต้องเสียรายการฟุตบอลที่เป็นเหมือนกับ "Cash Cow" หรือสินค้าที่สามารถทำเงินได้เรื่อย ๆ ตลอดเวลาไปก็ได้

Photo : GOL - BolaTimes.com


ดังนั้นการลงทุนและยกระดับการแข่งขันด้วยการทุ่มงบประมาณและปิดจุดอ่อนต่าง ๆ ทำให้การแข่งขันกลับมามีคุณภาพจึงเป็นสิ่งที่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปและ AFF รายการนี้ก็กลายเป็นรายการทางผ่านของที่ไม่มีใครสนใจ ถึงวันนั้นทุกฝ่ายจะต้องเสียใจอย่างแน่นอน

มาถึงตรงนี้ก็ขอขอบคุณสปอนเซอร์ใจดีของเรา Yanmar ที่ร่วมขับเคลื่อนวงการฟุตบอล ภายใต้สโลแกน “#Football is our engine - Challenge for tomorrows, together-" ขอบคุณครับ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Inverted Wing Back : ตำแหน่งที่ทำให้ ธีราทร เล่นกองกลางได้เนียนตา

เบรนเเดน กัน : แข้งลูกครึ่งขวัญใจแฟน มาเลเซีย ผู้เอาชนะมะเร็งและคืนสู่สังเวียนลูกหนัง

วัดเฉพาะ AFF : ไทย vs เวียดนาม เจอกันกี่ครั้ง ใครคือเจ้าอาเซียนตัวจริง ?

แชร์บทความนี้
หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ