ไม่ใช่แค่ธีสิสเลี้ยงบอล : เมื่อวิทยาศาสตร์การกีฬาทำให้ “มิโตมะ” แข็งแกร่งในพรีเมียร์ลีก

ไม่ใช่แค่ธีสิสเลี้ยงบอล : เมื่อวิทยาศาสตร์การกีฬาทำให้ “มิโตมะ” แข็งแกร่งในพรีเมียร์ลีก
มฤคย์ ตันนิยม

ชั่วโมงนี้คงไม่มีนักเตะเอเชียคนไหนจะร้อนแรงไปกว่า คาโอรุ มิโตมะ หลังเพิ่งทำประตูชัย ซึ่งถือเป็นประตูที่ 5 จาก 7 นัดหลังสุด ช่วยให้ ไบรท์ตัน เอาชนะ บอร์นสมัธไปได้ 1-0 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างที่หลายคนทราบกันก่อนมาเป็นนักเตะอาชีพ มิโตมะ ตัดสินใจเรียนต่อในมหาวิทยาลัยก่อน แถมวิทยานิพนธ์จบการศึกษาของเขายังเป็นการวิจัยเกี่ยวกับการหาจุดอ่อนของกองหลังในการดวลกันแบบสถานการณ์ 1-1 จนทำให้เขาโดดเด่นอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ดี การเรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้ส่งผลต่อตัวเขาแค่นี้ เมื่อมันยังทำให้เขาแข็งแกร่ง และเอาตัวรอดในพรีเมียร์ลีกได้

ส่วนจะเป็นอย่างไร? ติดตามไปพร้อมกับ Think Curved - คิดไซด์โค้ง  

ตัวตึงฟุตบอลมหาวิทยาลัย

ชีวิตของ คาโอรุ มิโตมะ ผูกพันกับฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เขาอยู่ในอคาเดมี คาวาซากิ ฟรอนทาเล สโมสรในบ้านเกิด ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และได้เลื่อนขึ้นไปอยู่ในทีมเยาวชนชุด U15 และ U18 ในเวลาต่อมา

“นับตั้งแต่เขาอยู่ในทีมชุดจูเนียร์ เขาก็โดดเด่นมาตลอด เขาอยู่ในระดับสูงกว่ารุ่นเดียวกัน” ทัตสึรู มูโคจิมะ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของฟรอนทาเลกล่าวนิตยสาร Number

“อาจจะมีบางช่วงที่เขาต้องดิ้นรนในสมัยจูเนียร์ยูธ (U15) แต่หลังจากขึ้นมาอยู่ในชุดเยาวชน (U 18)เขาก็ขึ้นมาอยู่แถวหน้าอีกครั้ง”

Photo : J. League Regista - WordPress.com

ผลงานที่โดดเด่น ทำให้เขาถูกคาดหมายว่าในไม่ช้า คงจะขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ของแชมป์เจลีก 4 สมัย แต่ทันทีที่จบมัธยมปลาย เขาก็เลือกในเส้นทางที่ต่างออกไป คือการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสึคุบะ ในสาขาพละศึกษา  

“ผมแค่รู้สึกว่าร่างกายผมยังไม่พร้อม และนั่นก็ทำให้ผมยังไม่ได้อยู่ในทีมชุดแรกในทันที” มิโตมะ อธิบายสาเหตุกับ The Athletic

“ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือทำให้ได้ลงเล่นมากขึ้น และเก่งขึ้น”

อันที่จริง มันไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากฟุตบอลมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น มีมาตรฐานที่ค่อนข้างสูง ที่บางทีสูงกว่าฝั่งยุโรปเสียอีก และบางครั้งอาจได้ไปเล่นให้สโมสรเจลีกในโควต้าพิเศษที่ชื่อว่า “J.League designated special players” และทำให้นักเตะระดับทีมชาติหลายคนผ่านฟุตบอลอุดมศึกษามา

ไม่ว่าจะเป็น ไดกิ อิวามาซะ ตำนาน คาชิมา อันท์เลอร์ส ที่เคยมาเล่นในไทยลีก บีอีซี เทโร, โยชิโนริ มูโต อดีตกองหน้าไมนซ์ และนิวคาสเซิล หรือ ล่าสุดก็ ฮิเดมาสะ โมริตะ กองกลางทีมชาติญี่ปุ่นชุดฟุตบอลโลก 2022 ที่ปัจจุบันเล่นให้ สปอร์ติง ลิสบอน

Photo : Kyodo News

แต่สำหรับมิโตมะ สิ่งที่เขาได้มีมากกว่านั้น

แข้งนักวิจัย

มิโตมะ เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสึคุบะ ในคณะสุขภาพและวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขาพละศึกษา และกลายเป็นกำลังสำคัญของทีมมหาวิทยาลัย จนคว้ารองแชมป์ลีกมหาวิทยาลัยภูมิภาคคันโต (ตะวันออก) และติดทีมมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น ชุดคว้าแชมป์ ฟุตบอลมหาวิทยาลัยโลก 2 สมัยในปี 2017 และ 2019

อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้มาเพื่อเล่นฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังพยายามขวนขวายหาความรู้ในศาสตร์ลูกหนัง จนได้ทำวิทยานิพนธ์จบการศึกษาในเรื่อง “ศึกษากระบวนการของฝ่ายรุก ในสถานการณ์แบบ 1-1 ของฟุตบอล”

“ผมติดกล้องไว้บนหัวของเพื่อนร่วมทีมเพื่อศึกษาว่าจุดไหนและอะไรที่พวกเขากำลังมองอยู่ และคู่ต่อสู้กำลังมองพวกเขาตรงไหน” มิโตมะอธิบายกับ The Athletic

“ผมเรียนรู้ว่าผู้เล่นเก่ง ๆ ไม่ได้มองบอล พวกเขามองไปข้างหน้า และเล่นบอลโดยไม่มองเท้าของตัวเองเลย นั่นคือสิ่งที่แตกต่าง”

“ผมเป็นหนึ่งในคนที่เลี้ยงบอลได้ดีขึ้นในตอนนั้น แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร”

Photo : The Sun

ทั้งนี้ ในช่วงมหาวิทยาลัย มิโตมะ ยังใช้เวลาไปกับการศึกษาหาคำตอบที่เคยสงสัย หรือหมกมุ่นไปกับสิ่งที่สนใจ ที่เขาคิดว่าน่าจะสามารถปรับใช้กับชีวิตนักเตะอาชีพของเขาในอนาคต

“แน่นอน บางสิ่งสามารถทำได้ในมหาวิทยาลัย และด้วยความที่ผมเรียนอยู่ในสาขาพละศึกษา ทำให้การเรียนรู้ด้านสรีระวิทยา การออกกำลังกาย โภชนาการ ฯลฯ การศึกษาเพื่อเกมการแข่งขันเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ตอนนี้ผมกำลังสนใจ ‘การฟื้นฟูร่างกาย’” มิโตมะ ให้สัมภาษณ์กับ Number สมัยเรียนอยู่ ม.สึคุบะ

“เมื่อก่อนผมแค่ตระหนักแค่การเล่นและการซ้อม แต่ตอนนี้ผมสามารถดูแลร่างกายได้อย่างมีเหตุผล”

ก่อนที่ความรู้ และนิสัยเหล่านี้จะติดตัวเขามา แม้กระทั่งตอนเป็นนักเตะอาชีพ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จบ ป.ตรี เงินเดือน 3 ล้าน : วิชาลับในรั้วมหา’ลัยของ คาโอรุ มิโตะมะ | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
การปฏิเสธขึ้นทีมชุดใหญ่เพื่อเรียนมหาวิทยาลัย ที่ทำให้ ‘คาโอรุ มิโตมะ’ เฉิดฉายในพรีเมียร์ลีก และ ไบรท์ตัน


วิทยาศาสตร์การกีฬาพาแกร่ง

หลังจบจากมหาวิทยาลัยสึคุบะในปี 2019 เขาก็ได้เซ็นสัญญากับ คาวาซากิ ฟรอนทาเล ทันที และกลายเป็นกำลังสำคัญให้ทีมคว้าแชมป์เจลีก และเอ็มเพอร์เรอร์สคัพ ก่อนจะได้ย้ายมาอยู่กับ ไบรท์ตัน ตั้งแต่ปี 2021 แต่เพิ่งได้ลงเล่นให้ทีมในซีซั่นนี้ หลังเพิ่งได้เวิร์คเพอร์มิต

อันที่จริง ในตอนแรกเขาเป็นเพียงแค่ซูเปอร์ซับ ที่ลงมาพลิกเกม แต่หลังจากทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในฟุตบอลโลก 2022 เขาก็ได้รับความไว้วางใจจาก โรแบร์โต้ เด แซร์บี้ กุนซือคนใหม่ที่มาแทน แกรห์ม พ็อตเตอร์ ที่ลาไปคุมเชลซี ก่อนจะทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในขณะนี้

“ผมมีภาพลักษณ์ที่ทำให้ระดับความไว้วางใจในทีมเปลี่ยนไป พอดูฟุตบอลโลกแล้วเห็นว่า ‘นี่มันทำได้เกินคาด’ ผมก็รู้สึกว่าโค้ช เด แซร์บี ไว้วางใจในตัวผมมากขึ้นเลย” แข้งชาวญี่ปุ่นที่ทำไป 5 ประตูจาก 7 นัด หลังสุดกล่าวกับ Number

photo : Goal

ทั้งนี้ เบื้องหลังความยอดเยี่ยมของ มิโตมะ ไม่ใช่มาจากทักษะ แต่เป็นการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยมาใช้จริง ไม่ว่าจะเป็นการลากเลื้อยด้วยวิธีมองเท้าคู่แข่งก่อนโยกหลบ ที่ได้มาจากธีสิส ไปจนถึงการเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่ทำมาเป็นกิจวัตร ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา  

“ผมไปฝึกซ้อมที่ยิม 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ไบร์ทตัน ไม่ได้มีการฝึกฝนกล้ามเนื้อเป็นทีม” มิโตมะกล่าวกับ Number

“มันเป็นเมนูที่ผมทำมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เริ่มด้วยการสควอตแบบพื้นฐาน จากนั้นก็ยกน้ำหนักที่จะเพิ่มน้ำหนักขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ลดจำนวนครั้ง”

“แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ไม่ได้ยกน้ำหนักเป็นพิเศษ เหมือน (นักเบสบอล) โชเฮ โอตานิ (225 กิโลกรัม) ผมสควอตยกน้ำหนัก 100 กิโลกรัมประมาณ 5 ครั้ง แต่มันคงไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการยกได้เท่าโอตานิซัง ผมอยากจะเข้าใกล้เขาอีกนิดในอนาคต”

Photo : Brighton & Hove Albion

และมันก็ช่วยได้มากทีเดียว เพราะสมัยมหาวิทยาลัย มิโตมะ มีน้ำหนักเพียงแค่ 66 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าผอมบาง เมื่อเทียบกับส่วนสูง 178 เซนติเมตร ของเขา ทว่า หลังจากได้เดบิวท์เป็นนักเตะอาชีพ น้ำหนักของเขาก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากมวลกล้ามเนื้อ จนหนัก 73 กิโลกรัมในฤดูกาลปัจจุบัน

นอกจากนี้ ความเป็นเด็กวิทยาศาสตร์การกีฬา ยังทำให้เขาจริงจังในเรื่องการดูแลร่างกายเป็นพิเศษ ด้วยการจ้างโค้ชพัฒนาประสิทธิภาพ (Performance Coach) และนักโภชนาการ ที่เรียกกันว่า “ทีมมิโตมะ” ซึ่งจะเข้ามาช่วยเก็บข้อมูล และดูแลในทุกเรื่อง ตั้งแต่อาหารการกิน การปรับเวลานอน ความเหนื่อยล้า และความเข้มข้นในการฝึกซ้อม

“เป้าหมายของผมคือ 75 กิโลกรัม แต่เนื่องจากน้ำหนักผมลดง่าย ก็เลยลองผิดลองถูกอยู่ตอนนี้ ตอนนี้น้ำหนักผมลดเหลือ 71 แต่ผมก็ใส่ใจอาหารการกินมากขึ้น ผมคิดว่าร่างกายของผมกำลังอยู่ในแง่บวก” มิโตมะ อธิบาย

สนามฟุตบอลคือห้องแล็บ

มิโตมะ ยอมรับว่าการวิเคราะห์ข้อมูล ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของเขาไปแล้ว ทุกเช้าที่เขาตื่นมา เขาจะนั่งดูข้อมูลที่ “ทีมมิโตมะ” ส่งมา และนำมาปรับใช้ผ่านการทดลองในการแข่งขันจริง  

“เราจะดูระยะทางของการสปรินท์และสัดส่วนของการเคลื่อนที่ประจำ ผมยังตัดสินใจไม่ได้สำหรับตัวเลขเป้าหมายของการเล่นในพรีเมียร์ลีก ตอนนี้ยังบอกตัวเลขไม่ได้ (หัวเราะ)” มิโตมะอธิบายกับ Number

“ผมไม่อยากเปรียบเทียบกับนักเตะคนอื่น และไม่อยากให้คนคิดว่าผมชอบแบบนั้น ผมอยากจะเติบโตอย่างมั่นคง”

Photo : Sussex Express

มันคือการตั้งคำถามและหาคำตอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยทำกัน และพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ว่า มิโตมะ จะเป็นนักเตะอาชีพแล้ว แต่จิตวิญญาณนักวิจัยที่ลุกโชนอยู่ในตัวเขา ก็ยังไม่หายไปไหน

“การมีมืออาชีพมาชี้ให้เห็นด้วยแนวคิดที่เป็นกลางอาจจะแทงใจดำ แต่มันยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมไม่ได้สังเกตุเห็น มันคือการลงทุนที่จำเป็นสำหรับนักเตะอาชีพ”  มิโตมะกล่าวต่อ

แต่ที่สำคัญที่สุด เขาคือตัวอย่างของการนำความรู้สมัยเรียน มาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ไม่เพียงทำให้เขาเอาตัวรอดในลีกสุดหินอย่างพรีเมียร์ลีก แต่ยังก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นน่าจับตาอีกด้วย

บางทีสำหรับ มิโตมะ ฟุตบอลอาจจะไม่ใช่กีฬา แต่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เขากำลังวิจัยอย่างไม่รู้จบ โดยไม่จำเป็นต้องหาทุนวิจัย เหมือนนักวิจัยคนอื่นก็เป็นได้

Photo : Sky Sports

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เงินเยอะกว่า ≠ แชมป์ลีก : วิสเซล โกเบ ทีมรวยสุดในญี่ปุ่นที่ล้มเหลวเรื่องความสำเร็จ

สืบจาก มิโตมะ : ลีกเบลเยี่ยมเหมาะกับแข้งจากชาติที่ได้ "เวิร์ค เพอร์มิต" ยากอย่างไร ?

ศูนย์รวมซามูไรในยุโรป : เหตุใด แซงต์-ทรุยด็อง จึงมีนักเตะญี่ปุ่นมากมาย ?

แหล่งอ้างอิง

https://number.bunshun.jp/articles/-/856365

https://number.bunshun.jp/articles/-/830894

https://theathletic.com/4076314/2023/01/14/mitoma-brighton-dribbling-university-thesis/

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ