ไทยควรศึกษา : เหตุใดแข้งญี่ปุ่นจึงไปฝังตัวในต่างแดนตั้งแต่อายุน้อย เพิ่มมากขึ้นในยุคหลัง?

ไทยควรศึกษา : เหตุใดแข้งญี่ปุ่นจึงไปฝังตัวในต่างแดนตั้งแต่อายุน้อย เพิ่มมากขึ้นในยุคหลัง?
มฤคย์ ตันนิยม

ไทจิ ฟูคูอิ สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นผู้เล่นญี่ปุ่นคนที่ 2 ที่ลงเล่นให้ บาเยิร์น มิวนิค หลังถูกส่งลงสนามด้วยวัยเพียง 19 ปีในเกม เดเอฟเบ โพคาล เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ฟูคูอิ ไม่ใช่แข้งดาวรุ่งญี่ปุ่นคนเดียว ที่ฝังตัวอยู่ในสโมสรยุโรป เพราะหากไล่เรียงไปตามทีมต่างๆ ในลีกเยอรมัน สเปน เบลเยียม รวมไปถึงอังกฤษ พบว่ามีไม่น้อยกว่า 20 ราย

อะไรที่เป็นสาเหตุทำให้แข้งชาวญี่ปุ่น ออกไปค้าแข้งในต่างแดนตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 กันอย่างเป็นขบวนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา?

ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ดาวรุ่งเต็มยุโรป

แม้ว่ากระแสการออกไปค้าแข้งในต่างแดนของผู้เล่นชาวญี่ปุ่น จะมีมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990s เรื่อยมาจนถึงยุค 2000s แต่ก็ยังเป็นจำนวนเพียงแค่หยิบมือ

เห็นได้จาก 23 ขุนพลซามูไร ในฟุตบอลโลก 2002 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ นั้นมีผู้เล่นในยุโรปเพียงแค่ 4 ราย ได้แก่ จุนอิจิ อินาโมโตะ (อาร์เซนอล), ฮิเดโตชิ นาคาตะ (ปาร์มา), โยชิตคัตสึ คาวางูจิ (ปอร์ทสมัธ) และ ชินจิ โอโนะ (เฟเยร์นูร์ด)

จนกระทั่งชินจิ คางาวะ ได้สร้างปรากฏการณ์ กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทั้งที่ย้ายมาร่วมทีมด้วยค่าตัวเพียง 350,000 ยูโร หลังจากนั้นทีมในยุโรป ก็เริ่มเปิดใจรับนักเตะชาวอาทิตย์อุทัยมากขึ้น

“คางาวะไม่ได้ไปเล่นฟุตบอลโลก 2010 แต่เขาทำได้อย่างยอดเยี่ยมในบุนเดสลีกา” ทาเคฮิโระ นาคามูระ ผู้จัดการทั่วไปของ Lead Off Sports Marketing กล่าวกับ AP

“เขาทำให้สโมสรเริ่มคิดมากขึ้นว่าที่ญี่ปุ่นมีนักเตะอายุน้อย เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ และราคาถูก และช่วยจูงใจให้แมวมองไปดูเจลีกอย่างใกล้ชิดกว่าที่เป็นมา”

Photo : AFP

แต่ถึงอย่างนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว นักเตะชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่ย้ายไปเล่นในยุโรป มักจะเป็นผู้เล่นที่กำลังทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมกับสโมสรในเจลีก หรือพิสูจน์ตัวเองในทีมชาติชุดใหญ่ได้แล้ว

ต่างจากตอนนี้ ที่ญี่ปุ่น ที่ดาวรุ่งญี่ปุ่น มักจะออกไปตามหาความท้าทายตั้งแต่อายุยังน้อย ที่บางคนไม่เคยติดทีมชาติชุดใหญ่ หรือลงเล่นในเจลีกด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น อันริเอะ จาเสะ ที่เซ็นสัญญากับ สตุ๊ตการ์ท หลังจบมัธยมปลาย หรือ ไทจิ ฟูคูอิ ที่ลงเล่นให้ ซางัน โทสุ ไม่ถึง 100 นาที

Photo : Stuttgarter Nachrichten

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Soccerway ระบุว่าในฤดูกาล 2023-2024 ญี่ปุ่นแข้งอายุไม่ถึง 20 ปีที่ค้าแข้งอยู่ในยุโรปมากถึง 26 ราย ได้แก่เยอรมัน 8 คน, สเปน 5 คน ส่วน เนเธอร์แลนด์, อัลแบเนีย, ฟินแลนด์, ลัตเวีย และ โปรตุเกส ประเทศละ 2 คน ขณะที่ โปแลนด์ เซอร์เบีย ออสเตรีย มีลีกละคน

เพราะอะไร?

คุโบะ เอฟเฟค

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แข้งญี่ปุ่นอายุน้อย ตัดสินใจไปเล่นในต่างแดนมากขึ้น คือการสร้างชื่อของ ทาเคฟุสะ คุโบะ ที่ไปเล่นให้กับเยาวชนของบาร์เซโลนาตั้งแต่อายุ 12 ปี

อดีตแข้งเยาวชนของ คาวาซากิ ฟรอนทาเล ได้เข้าไปอยู่ใน ลามาเซีย อคาเดมีของ บาร์เซโลนา ตั้งแต่ปี 2011 ก่อนจะทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในทีม U11 ด้วยการยิงไปถึง 74 ประตูจาก 30 เกม จนถูกเลื่อนขั้นขึ้นไปเล่นในรุ่นอายุที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าเจ้าตัวจะต้องกลับมายังบ้านเกิดในปี 2016 เนื่องจาก บาร์ซา ทำผิดกฎฟีฟ่า ในเรื่องการซื้อนักเตะต่างชาติอายุไม่เกิน 18 ปี แต่หลังจากเจ้าตัวอายุถึงเกณฑ์ เขาก็ได้ย้ายกลับไปเล่นในยุโรป ด้วยการเซ็นสัญญากับ เรอัล มาดริด ก่อนจะมาเป็นผู้เล่นที่ขาดไม่ได้ของ เรอัล โซเซียดัด ในปัจจุบัน

เส้นทางของ คุโบะ กลายเป็นตัวอย่างชั้นดีของแข้งชาวญี่ปุ่น ที่ไปอยู่ในยุโรปตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วผลักดันตัวเองจนประสบความ และทำให้ผู้เล่นดาวรุ่งจากแดนซามูไรคนอื่นเชื่อว่าตัวเองก็น่าจะสามารถตามรอยคุโบะได้เช่นกัน

ผู้เล่นอายุน้อยญี่ปุ่นล้วนมีความสามารถ” อันเดรส อิเนียสต้า อดีตกองกลางบาร์เซโลนา ที่เคยค้าแข้งกับ วิสเซิล โกเบ ที่ญี่ปุ่นกล่าวกับ  BBC Sport

“ในความคิดของผม พวกเขามีมิติ มีพรสวรรค์ และร่างกายที่แข็งแกร่ง”

ทว่า สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการที่ คุโบะ พิสูจน์ให้เห็นว่าการคว้าผู้เล่นญี่ปุ่นมาตั้งแต่เป็นดาวรุ่ง เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ก็ทำให้สโมสรในยุโรปมีทัศนคติที่ดีกับผู้เล่นเยาวชนจากแดนอาทิตย์อุทัยมากขึ้น จนทำให้พวกเขาถูกดึงตัวมาเล่นตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

“ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 15-20 ปีก่อน คุณต้องอายุ 25-26 ปี ต้องมีผลงานที่ดีในเจลีก 2-3 ฤดูกาล และได้รับการพิสูจน์ในทีมชาติ” แดน ออร์โลวิตซ์ นักข่าวจาก Japan Times กล่าวกับ BBC Sports

“ตอนนี้ สโมสรยุโรปเข้าใจนักเตะญี่ปุ่นแล้วว่าพวกเขามีพรสวรรค์จริงๆ ไม่ใช่แค่วูบวาบ พวกเขาจึงเริ่มไปหานักเตะอายุน้อย”

Photo : AFP

บวกกับชื่อเสียงของชาวญี่ปุ่นในเรื่องความขยันและทำงานหนัก รวมถึงไม่มีอีโก้ ทำให้นักเตะอายุน้อยจากแดนอาทิตย์อุทัยกลายเป็นที่ต้องตาต้องใจของสโมสรยุโรปมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“จิตใจคืออันดับหนึ่ง” เทอร์รี เวสท์เลย์ อดีตผู้อำนวยการอคาเดมีเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของเจลีก กล่าวกับ The Athletic

“คุณจะได้นักเตะที่อยากจะเก่งขึ้น มีเทคนิคระดับสูง ถ้าแข้งดาวรุ่งญี่ปุ่นถูกบอกให้ทำอะไร พวกเขาจะไม่เบื่อมัน พวกเขาจะฝึกฝนจริงๆ”

ทว่า การสนับสนุนในบ้านเกิด ก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน

โปรเจ็ค ดีเอ็นเอ

รากฐาน คือสิ่งที่จำเป็นไม่ว่าจะทำสิ่งใด และสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอด ในตอนที่ก่อตั้งเจลีก หนึ่งในกฎเหล็กที่ทีมที่ต้องการเข้าร่วมต้องทำคือต้องมีระบบพัฒนาเยาวชน โดยเฉพาะทีมรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี และ 18 ปี และยังคงบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน

“แต่ละสโมสรในเจลีก มีอคาเดมีเป็นของตัวเอง” ซาโตมิ ทาเรคูระ เจ้าหน้าที่ของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นกล่าวกับ Hindustan Times

“บางทีมเริ่มทีมเยาวชนในรุ่นไม่เกิน 12 ปี บางทีมเริ่มในรุ่นไม่เกิน 15 ปี แต่เป็นเรื่องปกติที่สโมสรในเจ1 เจ2 มีผู้เล่นที่เริ่มสุกงอมจากรุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี”

ซามูไรไร้รอยสัก : ทำไมญี่ปุ่นจึงเป็นไม่กี่ชาติในฟุตบอลโลกที่นักเตะไม่สักลาย
เมื่อรอยสักที่นักฟุตบอลให้ความนิยม ไม่สามารถเจาะตลาดแข้งญี่ปุ่น เพราะอะไร?

ขณะเดียวกัน เจลีก เองก็มีนโยบายผลักดันการปั้นดาวรุ่ง ไม่ว่าจะเป็นกฎ U-21 ในเจลีกคัพ ที่แต่ละทีมต้องส่งผู้เล่นอายุไม่เกิน 21 ปีลงเล่นอย่างน้อย 1 คน หรือการมอบเงินสนับสนุนสโมสร และโรงเรียน ที่สร้างผู้เล่นสู่ทีมชาติ ในฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านมา

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “โปรเจ็คต์ ดีเอ็นเอ” ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2016 ภายใต้การนำของ มิตสึรุ มุราอิ อดีตประธานเจลีก ที่มีจุดประสงค์ในการปรับเปลี่ยนและแก้ไขวิธีการฝึกซ้อมที่ใช้อยู่ เพื่อสร้างนักฟุตบอลที่มีความสามารถรอบด้านมากขึ้น

เจเอฟเอ มองว่าการฝึกซ้อมของพวกเขามีรูปแบบเดียวมากเกินไป จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่และโค้ชไปทั่วยุโรป รวมถึงพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ เพื่อศึกษาและเรียนรู้ ก่อนจะพบว่าการพัฒนาผู้เล่นแบบเฉพาะเป็นรายบุคคล คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างนักเตะในยุคปัจจุบัน

Photo : AFP

“มูราอิซังมีสิ่งนี้ นั่นคือ วิสัยทัศน์ 2030” เวสต์ลีย์ กล่าวกับ The Athletic

นั่นคือสิ่งที่โปรเจ็คตดีเอ็นเอเป็น มาทำให้ผู้เล่นเก่งขึ้น ทำให้โค้ชเก่งขึ้น มาประเมินว่าสโมสรอยู่ระดับไหน และแผนก็เริ่มขึ้น”

พวกเขายังได้เน้นเรื่องเทคนิค เป็นสำคัญ ที่เห็นได้จากผู้เล่นชาวญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในยุคหลัง มีสไตล์การเล่นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น คาโอรุ มิโตมะ (ไบรท์ตัน), ไดจิ คามาดะ (ลาซิโอ) หรือ ทาเคฟุสะ คุโบะ ที่ล้วนเป็นผู้เล่นแนวรุกที่เล่นบอลด้วยความสนุก คาดเดาไม่ได้ และน่าตื่นตา

Photo : AFP

“มันมีการเน้นเรื่องไหวพริบมากขึ้นในช่วงหลัง” จอห์น เดอร์เดน นักข่าวด้านฟุตบอลเอเชีย ของ The Guardian กล่าวกับ Inews

“มันคือความปกติของฟุตบอลในยุคโลกาภิวัฒน์ เทียบกับ 20-30 ปีก่อน ตอนนี้เด็กญี่ปุ่นสามารถดูการเล่นจากผู้เล่นที่น่าตื่นตาและดีที่สุดในโลกในทุกวัน”

“โค้ชก็ตระหนักได้ว่าญี่ปุ่นมีกองกลางที่โดดเด่นด้านเทคนิค และฟูลแบ็คที่มีมิติ มากเกินไป พวกเขาจึงต้องการบางอย่างที่ต่างออกไป”

“ความสำเร็จของมิโตมะ จะผลักดันสิ่งนั้นให้ดีขึ้นไปอีก เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความตื่นตาและสดใสในระดับสูงที่สุด”

วัฏจักรการพัฒนา

อันที่จริงไม่เพียงแต่เจลีก และสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นที่มีส่วนในการผลักดันเรื่องนี้ เพราะแม้แต่สื่อเองก็ยังสนับสนุนให้นักเตะญี่ปุ่น กล้าที่จะออกจากคอมฟอร์ทโซน ไปเผชิญชีวิตนอกเกาะไม่น้อย

หนึ่งในนั้นคือโฆษณาในช่วงปลายทศวรรษที่ 2010s ที่บอกเล่าเรื่องราวของแข้งดาวรุ่งที่ต้องมาใช้ชีวิตตามลำพังในต่างประเทศด้วยตัวคนเดียว ที่ไม่ว่าจะคิดถึงบ้านแค่ไหน ก็ต้องกัดฟันสู้เพื่อทำตามฝัน

มันแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นนี้ ว่าไม่ได้จำกัดอยู่ในวงของฟุตบอลเท่านั้น ขณะเดียวกันมันจะเป็นการส่งสาส์น ไปยังผู้เล่นที่อยากออกไปเล่นในต่างแดนตั้งแต่อายุยังน้อยว่า “มันทำได้” หรือ “มันเป็นไปได้” เพราะคุณไม่ใช่คนเดียวที่ทำแบบนี้แน่นอน

Photo : Bayern Muchen

“พวกเขาจำเป็นต้องหลากหลาย จำเป็นต้องเจอกับทีมอย่าง อาร์เซนอล, สเปอร์ส, เชลซี, บาร์เซโลนา, เรอัล มาดริด, ยูเวนตุส หากผู้เล่นจะพัฒนาขึ้น พวกเขาต้องการประสบการณ์เหล่านั้นและการเปิดรับ” ริชาร์ด อัลเลน ผู้บริหารอาวุโส และที่ปรึกษาฝ่ายเทคนิคของ โยโกฮามา เอฟซี อธิบาย

ขณะเดียวกัน กระบวนการดังกล่าว ยังทำให้เกิดการพัฒนาแบบเป็นวัฏจักร เริ่มจากการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนามากขึ้น จะนำไปสู่ การมีนักเตะที่มีความสามารถรอบด้านมากขึ้น และเมื่อมีนักเตะที่มีความสามารถรอบด้าน ก็จะทำให้พวกเขาสามารถส่งออกผู้เล่นไปต่างแดนได้มากขึ้น

และเมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จในการส่งออก ก็จะนำไปสู่การได้รับความสนใจจากยุโรปมากขึ้น และพอได้รับความสนใจมากขึ้น ก็ทำให้มีแมวมองมาคอยเสาะหานักเตะมากขึ้น พอมีแมวมองมามากขึ้น ก็จะเกิดแรงจูงใจในการพัฒนานักเตะมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่จุดเริ่มต้นก็คือเกิดการมุ่งเน้นในการพัฒนานักเตะมากขึ้น หมุนเวียนกันไปเป็นวงกลม

แน่นอนว่าผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดก็คือทีมชาติ พวกเขาจะมีนักเตะฝีเท้าดีให้เลือกใช้มากมาย และไม่ใช่แค่ทีมชาติชุดใหญ่เท่านั้น แต่รวมถึงทีมชุดเยาวชนในทุกระดับ เพราะอย่างทีมชาติญี่ปุ่นชุด U20 ชุดปัจจุบัน ก็มีผู้เล่นที่ค้าแข้งอยู่ในยุโรปมากถึง 7 ราย

Photo : AFP

มันคือสิ่งที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ด้วยเหตุนี้มันคงไม่แปลกหากว่าวันหนึ่ง ญี่ปุ่นจะก้าวขึ้นไปอยู่แถวหน้าของโลกอย่างที่พวกเขาเคยวาดฝันไว้

“มีคนเคยบอกว่าญี่ปุ่นสามารถชนะทุกอย่าง หากสอนพวกเขาด้วยวิธีที่ถูกต้อง” ออร์โลวิตช์ กล่าวหลังเกมญี่ปุ่นชนะเยอรมันในฟุตบอลโลก 2022

“พวกเขาพูดไม่ผิดเลย พวกเขามีกลุ่มผู้เล่นที่ยอดเยี่ยม นอกจากผู้รักษาประตู พวกเขามีผู้เล่นที่ดีที่สุดในทุกตำแหน่งเท่าที่เคยมีมา”

แหล่งอ้างอิง

https://inews.co.uk/sport/football/project-dna-japan-league-flair-factory-europe-top-clubs-2184690

https://www.bbc.com/sport/football/63559988

https://www.hindustantimes.com/sports/football/made-in-japan-export-quality-footballers-101669480205067.html

https://theathletic.com/3949714/2022/11/30/japan-football-west-ham/

https://www.espn.co.uk/football/story/_/id/37634385/bundesliga-home-japans-best-end-germanys-world-cup

https://www.foxsports.com/stories/soccer/germanys-bundesliga-takes-on-japanese-flavor

https://us.soccerway.com/players/players_abroad/japan/

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ