เลบานอน : ชาติที่มีฟุตบอลเป็นความหวัง ขณะประเทศกำลังใกล้ล้มละลาย
นับถอยหลังอีกไม่ถึงสัปดาห์ “ช้างศึก” ทีมชาติไทย ก็จะได้ฟาดแข้งกับ เลบานอน ชาติจากตะวันออกกลาง ในศึกฟุตบอลพระราชทานคิงส์คัพประจำปี 2023
ทั้งนี้ แม้ว่ารายการดังกล่าวจะมีศักดิ์ศรี เทียบเท่านัดกระชับมิตร แต่สำหรับผู้มาเยือน มันมีความหมายต่อพวกเขา โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังย่ำแย่สุดขีด และอาจถึงขั้นเข้าสู่ภาวะล้มละลายในไม่ช้า
ติดตามเรื่องราวของพวกเขาไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้ที่นี่
ระเบิดเศรษฐกิจ
เลบานอน อาจจะไม่ใช่ทีมชั้นนำของเอเชีย แต่พวกเขาก็มักถูกเชิญไปร่วมทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ซึ่งคิงส์คัพถือเป็นรายการที่ 3 ของปี ต่อจากอินเตอร์คอนติเนนทัลคัพ และฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียใต้ ที่เพิ่งจัดไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
แม้รายการดังกล่าวจะมีศักดิ์ศรีไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่ทุกเกมที่ลงสนามผู้เล่นเลบานอน ต่างเล่นกันอย่างเต็มที่ ราวกับเป็นนัดชิงชนะเลิศทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์ นั่นเป็นเพราะนี่เป็นหนึ่งในความสุขเล็ก ๆ ของนักเตะ และคนในประเทศ
“เราพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ประชาชนมีความสุข เราพยายายามอย่างเต็มที่ เรามีนักเตะใหม่ๆ มากมายในทีมชาติ และเราก็พยายามสร้างขึ้นมาจากผู้เล่นเยาวชนที่เรามี” ฮัสซัน มาตุค กัปตันทีมชาติเลบานอนกล่าวกับ Sport Star
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 เลบานอน กลายเป็นจุดสนใจของคนทั้งโลก หลังแอมโมเนียไนเตรตกว่า 2,750 ตันในโกดังที่กรุงเบรุต เกิดระเบิดขึ้น ที่ถือเป็นหนึ่งการระเบิดที่ร้ายแรงที่สุดที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
“ทุกอย่างในประเทศเดินถอยหลัง มันพาเราถอยหลังไป 10 ปี การระเบิดยังส่งผลกระทบต่อผู้คนจนถึงทุกวันนี้ ทุกคนต้องสูญเสียใครสักคน ขอให้อัลเลาะฮ์อวยพรให้แก่คนที่เสียชีวิต คนที่บ้านเรือนถูกทำลาย และคนที่ตกงาน” มาตุค กล่าวกับ FIFA
โศกนาฏกรรมดังกล่าว คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 218 คน และบาดเจ็บอีกว่า 7,000 ราย แรงระเบิดยังทำให้พื้นที่ใกล้เคียงพังราบเป็นหน้ากลอง และทำให้ผู้คนกว่า 300,000 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย
มันกลายเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของเลบานอน ที่เลวร้ายอยู่แล้ว ให้วิกฤติขึ้นไปอีก เมื่อหลังจากนั้น ลิรา สกุลเงินของพวกเขามีมูลค่าต่ำลงกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ และทำให้คนจนที่มีกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ต้องเผชิญกับความยากลำบาก
หลายคนต้องเอาตัวรอด ด้วยการเอาของใช้ส่วนตัวมาแลกกับของที่จำเป็นกว่า ข้อความขอแลกของปรากฏมากมายในโซเชียลมีเดีย สะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวังของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตอย่างจำกัดจำเขี่ย
“ผมมีชุดสำหรับเด็กผู้หญิงสามขวบ ผมอยากแลกเปลี่ยนกับของจำเป็นอย่าง นมและน้ำยาซักผ้า” หนึ่งในข้อความบนโซเชียลเดีย
แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ยังไม่หมดหวัง
ฟุตบอลเยียวยาจิตใจ
“หลายครอบครัวเคยมีปัญหา และอีกจำนวนมากยังคงมีอยู่ แต่มันก็เหมือนฟุตบอล ที่อยู่ในวัฒนธรรมเลบานอนของเรา คือทำให้ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ และพยายามที่จะจบปัญหา” มาตุค กล่าวกับ Sport Star
“ผมรู้ว่ามันยาก แต่นี่คือชีวิต บางครั้งคุณต้องไปต่อทั้งที่มันยาก แล้ววิธีแก้ก็จะเข้ามา”
มาตุค ไม่ได้พูดแบบคนลอยตัวเหนือปัญหา แต่เขาเผชิญมันมาก่อน เขาเป็นหนึ่งในเด็กเลบานอน ที่เกิดในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับสงครามกลางเมือง (1970-1995) ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 1.2 ล้านคน และหลายคนต้องหนีออกประเทศ เช่นกันกับพ่อแม่ของเขา
หลังสงครามสงบ เขาในวัย 9 ขวบได้กลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นตำนานของ เลบานอน ด้วยการเป็นผู้เล่นที่ติดทีมชาติมากที่สุด 109 นัด และดาวซัลโวตลอดกาลของ “ซีดาร์ส” หลังยิงไปทั้งสิ้น 23 ประตู
เขาคือกำลังสำคัญในการพาทีมผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก 2 ครั้ง รวมถึงการพาเลบานอน เข้าไปเล่นในเอเชียนคัพ รอบสุดท้าย 2 สมัยติดต่อกันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่เป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงใจเล็กๆ ของชาติที่มีฟุตบอลเป็นกีฬาอันดับ 1 ของประเทศ
“เรามีปัญหามากมายในประเทศ แต่เมื่อเราเล่นโดยใช้เท้า หัวของเราก็ไม่ได้คิดอะไรเลยนอกจากเกมที่อยู่ตรงหน้า” มาตุคกล่าว
นอกจากนี้ วิกฤติเศรษฐกิจ ยังทำให้วงการฟุตบอลของพวกเขาเผชิญกับปัญหาผู้เล่นสมองไหล หลังแข้งระดับทีมชาติ ย้ายออกไปเล่นในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็น ซุนนี ซาอัด ที่แฟนบอลชาวไทยคุ้นเคยกันดี หลังเคยมาเล่นให้กับ พีที ประจวบ เมื่อปี 2021-2022 หรือล่าสุด บาสเซล จราดี ที่เล่นอยู่กับ แบงค็อก ยูไนเต็ด ในฤดูกาลนี้
“ผู้เล่นบางคนไปคูเวต มาเลเซีย หรือสักที่อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่เลวร้าย ชีวิตของเราเปลี่ยนไปมากจากการพังทลายของค่าเงิน” ราบิฮ์ อตายา ที่เล่นให้กับ ทีพี มาเซมเบ ของโมซัมบิก กล่าวกับ Arab News
“ผู้เล่นกำลังรอข้อเสนอดีๆ และพวกเขาจะย้ายออกไปเล่นในสักที่ แม้แต่ลีกที่ไม่ได้โดดเด่น พวกเขาอยากจะออกไปจากที่นี่”
แต่ถึงอย่างนั้น ในทางกลับกัน หลายฝ่ายก็มองว่านี่เป็นโอกาสอันดี ที่ผู้เล่นดาวรุ่งจะได้รับโอกาสมากขึ้น และทำให้ทีมชาติของพวกเขาเกิดกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีแข้งรุ่นใหม่ให้ใช้งานอย่างไม่ขาดสาย
“ผู้เล่นเลบานอนยังมีโอกาสที่จะเติบโต โดยเฉพาะเยาวชน ตอนนี้มีนักเตะแค่ 5 คนที่อายุเกิน 30 และผู้เล่นอายุต่ำกว่า 20 และ 23 ต้องมีนาทีลงเล่น” เจ้าหน้าที่สมาคมฟุตบอลเลบานอน กล่าวกับ Arab News เมื่อปี 2020
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การออกไปแข่งในต่างประเทศ ไม่ว่าจะทัวร์นาเมนต์เล็กหรือใหญ่ ทั้งหมดล้วนมีความหมาย และขณะเดียวกันมันยังเป็นโอกาสในการเตรียมทีมเพื่อลงเล่นเอเชียนคัพที่กาตาร์ในปี 2024
“เรากำลังทำงานอย่างหนักกับโค้ชคนใหม่ เพื่อเล่นในแนวทางที่เราต้องการ และผมก็คิดว่าทุกการเตรียมพร้อมมีขึ้นสำหรับ เอเชียนคัพ” มาตุคอธิบาย
ราวกับว่ามันคือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของพวกเขา
รางวัลแด่เพื่อนร่วมชาติ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟุตบอลถูกใช้เป็นความหวัง เพราะย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน เกมลูกหนังก็เคยทำให้ ไอวอรี โคสต์ ที่ขัดแย้งกันอย่างหนัก จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง กลับมารวมกันเป็นชาติได้อีกครั้ง
เช่นกันกับ เลบานอน ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนัก และอาจเข้าขั้นล้มละลาย มาตุค และแข้งทีมชาติคนอื่นๆ ก็อยากจะคว้าแชมป์ให้ได้สักรายการ รวมถึงคิงส์คัพของไทย ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า
มันไม่ใช่แชมป์ที่จะบ่งบอกว่าพวกเขาแข็งแกร่ง ไม่ใช่แชมป์ที่จะเอามาประดับตู้โชว์ แต่เป็นรางวัลสำหรับเพื่อนร่วมชาติของพวกเขา ได้สนุก ได้มีความสุข และส่งเสียงเชียร์ไปพร้อมกัน ที่อาจทำให้ได้ลืมช่วงเวลาลำบากไปได้ แม้จะชั่วคราว
ส่วน เลบานอน จะทำได้ไหม 7 กันยายน ที่จะถึงนี้ ที่สนามสมโภช 700 ปีเชียงใหม่ ทีมชาติไทย จะเป็นผู้ให้คำตอบ
แหล่งอ้างอิง
https://www.arabnews.com/node/1728681/{{
https://www.longtunman.com/37320
ข่าวและบทความล่าสุด