ประวัติศาสตร์การเมาเหล้าก่อนแข่งของนักเตะพรีเมียร์ลีกเกิดขึ้นเพราะอะไร ?

ประวัติศาสตร์การเมาเหล้าก่อนแข่งของนักเตะพรีเมียร์ลีกเกิดขึ้นเพราะอะไร ?
ชยันธร ใจมูล

เรื่องราวการดื่มหนัก ๆ ของนักฟุตบอลอาชีพ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแข่งขันถือเป็นเรื่องการผิดวินัยร้ายแรง และมีบทลงโทษรออยู่ในทุก ๆ สโมสร

ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนนักเตะในลีกอังกฤษกินเหล้าตั้งแต่แข่งเสร็จ เมาเละจนถึงเช้าของอีกวัน แต่ตอนนี้แค่พวกเขาคิดจะเปิดเบียร์สักกระป๋องมาดื่ม พวกเขายังต้องคิดแล้วคิดอีก

วัฒนธรรมการ “ห้ามกินเหล้าก่อนวันแข่ง” ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษเกิดขึ้นได้อย่างไร อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่

แต่ก่อนเป็นปกติ

ย้อนกลับในวันที่ฟุตบอลเริ่มมีความเป็นอาชีพ กล่าวคือนักกีฬามีรายได้จากการเล่นฟุตบอล หรือหากจะวัดเป็นช่วงเวลาก็คงจะเริ่มที่ปี 1940 เป็นต้นมา เรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(ขอใช้คำว่าเหล้า) การเที่ยวผู้หญิง และการใช้ชีวิตอย่างเพลย์บอย ถือเป็นเรื่องปกติเป็นอย่างมาก โดยหนึ่งในลีกที่ได้รับการพูดถึงว่ามีนักเตะ "ขี้เมา" มากที่สุดคือลีกของอังกฤษ  

Photo : Manchester Evening News

เพราะการดื่มกินเป็นพฤติกรรมที่ชาวอังกฤษใช้ประกอบกับการดูฟุตบอลอยู่แล้ว และนักเตะในยุคก่อนหากนับจากยุค 50s-60s เป็นต้นมาก พวกเขาก็ไม่ได้มีสถานะเป็นนักเตะซูเปอร์สตาร์ เหมือนกับดาราหนังเหมือนกับนักฟุตบอลยุคปัจจุบัน ดังนั้นการใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ อยากกินก็กิน อยากดื่มก็ดื่ม อยากเที่ยวก็เที่ยว จึงเป็นเรื่องปกติ ไม่กฎข้อห้ามในสโมสร ไม่มีกฎที่คนเป็นผู้จัดการทีมวางเอาไว้เหมือนในทุกวันนี้  

นอกจากนี้กลุ่มผู้สนับสนุนทีมฟุตบอลแต่ละทีมของอังกฤษส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรงกลั่นเหล้า, โรงต้มเบียร์ และเจ้าของร้านแนวผับบาร์ ซึ่งการสนับสนุนเหล่านีส่วนใหญ่จะเป็นผู้สนับสนุนในระดับท้องถิ่น ซึ่งก็ช่วยทำให้เหล้าเบียร์เหล่านี้เข้าถึงนักฟุตบอลได้ง่ายยิ่งกว่าคนทั่วไป เรียกง่าย ๆ ว่าในเมื่อ "กินฟรี" ก็ต้องจัดกันให้เต็มที่คงไม่ผิดนัก  

เราจะได้เห็นข่าวคราวของนักฟุตบอลยุคนั้นเสียชีวิต หรือมีปัญหาเรื่องสุขภาพจากพฤติกรรมการกินเหล้าอยูบ่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น ฮิวจ์ส กัลลาเกอร์ อดีตกองหน้าของ นิวคาสเซิล ติดเหล้าจนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า, ปีเตอร์ ออสกู้ด ตำนานของ เชลซี ดื่มจนมีปัญหาเรื่องสุขภาพและเลิกเล่นก่อนวัยอันควร และเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 50 กว่า ๆ จากหัวใจวายเฉียบพลัน  

Photo : Daily Echo

แม้กระทั่งจอร์จ เบสต์ นักเตะที่โด่งดังที่สุดในช่วงยุค 60s-70s ที่มีสถานะระดับสตาร์ ได้ฉายาว่า "เต่าทองตัวที 5" จากการเปรียบเทียบกับวงดนตรีดังแห่งยุคอย่าง The Beatles ก็ยังมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมการดื่ม จากสถานะที่เรียกว่า "พิษจากความสำเร็จ" กล่าวคือใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงเพราะมีทั้งเงินและชื่อเสียงเข้ามาพร้อม ๆ กัน

เราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นนักเตะระดับที่ได้เงินน้อย ๆ หรือนักเตะที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด การดื่มเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครห้าม นักฟุตบอลทุกคนต้องควบคุมตัวเองให้ได้... ถ้าทำได้ก็ดีไป แต่ถ้าทำไม่ได้ชีวิตของพวกเขาก็พังเพราะเหล้าได้เช่นกัน ... ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเองล้วน ๆ ไม่มีกฎข้อห้าม ซึ่ง ณ จุดนี้ความเปลี่ยนแปลงกำลังจะเริ่มขึ้นหลังจากนี้ไม่นานนัก สิ่งที่เข้ามาพร้อมกับกฎการเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มเหล้าของนักเตะในอังกฤษก็คือ "รายได้" นั่นเอง  ... มีเงินแล้วแทนที่จะมีเงินเอาไปดื่มกินมากขึ้น แต่ทำไมกลับทำให้นักเตะอังกฤษ ดื่มกันน้อยลงล่ะ ?

เพิ่มรายได้ กระจายความเป็นมืออาชีพ

เพิ่มรายได้ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงรายได้ของนักฟุตบอล แต่หมายถึงรายได้ของสโมสรและอุตสาหกรรมของฟุตบอลอังกฤษทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในยุค 1980 ที่เริ่มมีการเอาแบรนด์ต่าง ๆ มาเป็นสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อ ซึ่งการตลาดเหล่านี้มาบูมเอาสุด ๆ ในช่วงปี 1990 เป็นต้นมา ช่วงที่ฟุตบอลอังกฤษพยายามจะรีแบรนด์ตัวเอง จากเดิมที่เคยมองว่าเป็นลีกรวมตัวของพวกขี้เมาและแฟนบอลอันธพาลกลายเป็นลีกที่มีคุณภาพทั้งในแง่การเล่นและกาตลาด

เรื่องนี้ต้องขอบคุณการรีแบรนด์ฟุบบอลลีกอังกฤษ จากดิวิชั่น 1 เป็นพรีเมียร์ลีกในปี 1992 ณ วันนั้นฟุตบอลอังกฤษต้องการทำตลาดเพิ่มช่องทางการถ่ายทอดสด และพยายามหารายได้เข้ามาเป็นเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมฟุตบอลให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเจริญที่ยั่งยืน ซึ่งมันก็เป็นช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมหลังจากนั้น

Photo : Daily Mail

เมื่อลีกมีรายได้สูงขึ้น ส่วนแบ่งก็มาถึงสโมสรมากขึ้น และเมื่อสโมสรรวยขึ้น รายได้นักฟุตบอลก็สูงขึ้น เพียงแต่ว่าเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนการเพิ่มรายได้ให้นักฟุตบอลมาพร้อมกับความรับผิดชอบและกฎต่าง ๆ มากมาย กล่าวคือนักฟุตบอลอังกฤษหรือนักเตะที่มาเล่นในพรีเมียร์ลีกในช่วงยุค 90s เป็นต้นมา จะต้องทำตัวให้สมกับเป็นมืออาชีพ เพื่อทำให้สโมสรประสบความสำเร็จ ซึ่งสร้างผลลัพธ์ดังกล่าวได้พวกเขาก็จะได้รับผลประโยชน์กลับไปด้วย

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักฟุตบอลในช่วงเวลานี้ เราจะเห็นหรือได้ยินผ่านเรื่องเล่าที่นักเตะยุคนั้นพูดถึงกุนซือที่เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และ อาร์แซน เวนเกอร์ อยู่บ่อย ๆ

Photo : British GQ

เฟอร์กี้ เข้ามารื้อวัฒนธรรมการดื่มกินของนักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สร้างนักเตะที่มีความพร้อมทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และทัศนคติในการลงเล่น ขณะที่ อาร์แซน เวนเกอร์ ก็ทำไม่ต่างกัน ก่อนหน้านี้กลุ่มนักเตะของ อาร์เซน่อล จะมีกลุ่มแยกที่ตั้งชื่อว่า Tuesday Club ที่สรุปให้เข้าใจกันง่าย ๆ ก็คือกลุ่มรวมตัวกันดื่มเหล้า นำโดย โทนี่ อดัมส์, พอล เมอร์สัน และ ลี ดิ๊กสัน โดยจะดื่มกันในคืนวันอังคารและลากยาวถึงเช้าของอีกวัน เพราะวันพุธจะเป็นวันที่สโมสรให้เป็นวันหยุดซ้อม ซึ่ง เวนเกอร์ ก็เข้ามาทำลายวัฒนธรรมนี้ทิ้ง และสร้างมาตรฐานนักฟุตบอลในแบบของเขาใหม่ขึ้นมาคล้าย ๆ กับที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทำ

สิ่งที เฟอร์กี้ และ เวนเกอร์ ทำกลายเป็นการเห็นผลแบบชัดเจนในด้านผลงาน แมนฯ ยูไนเต็ด และ อาร์เซน่อล คือ 2 ทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดในอังกฤษในยุคของพวกเขา ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็กลายเป็นมาตรฐานที่ทีมอื่นพยายามทำตาม มันทำให้พวกเขาเข้าใจว่าถ้าทีมจะผลงานดี นักฟุตบอลต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมที่สุดในทุก ๆ ด้าน และการดื่มเหล้าก็ค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ หลังจากวันนั้น

แม้ในช่วงปลายยุค 90s ต่อต้นยุค 2000s จะยังมีนักเตะที่มีพฤติกรรมชอบการดื่ม แต่ก็ลดน้อยลงมาก ซึ่งมันเหมือนกับวิธีธรรมชาติคัดสรร กล่าวคือถ้าพวกเขาดื่มกิน ใช้ชีวิตสุดเหวี่ยง ผลงานในสนามของพวกเขาก็จะตกลง และถ้าถึงวันนั้นขึ้นมาสโมสรก็จะไม่เก็บพวกเขาไว้ พวกเขาจะเสียสิทธิ์ของการเป็น "คนพิเศษ"  นั่นก็คือการเป็นนักฟตุบอลอาชีพที่มีรายได้มากมาย ... นี่คือความรับผิดชอบที่นักเตะในพรีเมียร์ลีก เริ่มปรับพฤติกรรมตัวเอง ยิ่งในยุคนี้ทุกสโมสรยังมีทีมโค้ชฟิตเนส ที่สามารถประมวลตัวเลขออกมาและฟ้องได้เลยว่าแต่ละคนใช้ชีวิตอย่างไร กินดื่มหรือไม่ ดูแลตัวเองดีหรือเปล่า นักเตะก็แทบจะโกหกไม่ได้แล้วด้วยซ้ำไป

Photo : The Mirror

ปัจจุบันนักฟุตบอลมีรายได้มากกว่าคนธรรมดาหลายเท่า ความรับผิดชอบของพวกเขาก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แน่นอนว่าการดื่มกินเป็นรสนิยม เราได้เห็นข่าวนักเตะยุคนี้เมาเละอยู่บ่อย ๆ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้นในช่วงปิดซีซั่น ซึ่งถือเป็นช่วงที่สโมสรปล่อยให้พวกเขาใช้ชีวิตที่อยากจะทำแบบเต็มที่ แต่ถ้าเมื่อถึงฤดูกาลแข่งขันปกติเมื่อไหร่ พวกเขาจะต้องกลับมาอยู่ในกฎระเบียบที่เคร่งครัดเป็นเวลานานถึง 9 เดือนจนกว่าฤดูกาลจะจบลง

อีกเหตุผลหนึ่งที่นักฟุตบอลไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก็เพราะกฎของสโมสร สโมสรฟุตบอลจะมีกฎที่เข้มงวดเมื่อผู้เล่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เราไม่สามารถยืนยันได้ว่ากฎเหล่านี้คืออะไร แต่มีแนวโน้มว่าจะเป็นกฎที่ห้ามผู้เล่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันก่อนการแข่งขัน

และหากผู้เล่นถูกจับได้ว่าฝ่าฝืนกฎเหล่านี้ จะมีผลที่ตามมา การปรับคือผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ แต่อาจบานปลายและหยุดผู้เล่นไม่ให้ได้รับเลือกสำหรับผู้เล่นตัวจริง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ ... ซึ่งกับรายได้ และชื่อเสียงที่นักเตะในยุคนี้มี พวกเขาจึงไม่อยากจะเสี่ยงที่จะเสียทั้งหมดที่พวกเขาสร้างมาเพียงเพราะการดื่มเหล้าก่อนเเข่งอย่างแน่นอน

Photo : The Mirror

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สืบจาก มิโตมะ : ลีกเบลเยี่ยมเหมาะกับแข้งจากชาติที่ได้ "เวิร์ค เพอร์มิต" ยากอย่างไร ?

ยุโรปไม่ไกลเกินฝัน : 5 ลีกทางเลือกที่แข้งไทยเล่นได้ไม่ต้องห่วงเรื่องเวิร์คเพอร์มิต

เปิดกฎเวิร์คเพอร์มิตพรีเมียร์ลีก : ศุภณัฎฐ์ ไป เลสเตอร์ ได้จริงหรือ ?

แหล่งอ้างอิง

https://the-elastico.com/do-footballers-drink-alcohol/

https://www.quora.com/Are-English-premier-league-players-allowed-to-drink-alcohol

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4453709/

https://en.wikipedia.org/wiki/Alcohol_in_association_football

แชร์บทความนี้
หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ