เปิดขั้นตอนตรวจร่างกายนักฟุตบอล : ทำไมดีล กัน-ธนวัฒน์ ยังไม่จบ
หลังจากมีการรายงานข่าวเรื่องของ “กัน-ธนวัฒน์ ซึ้งจิตถาวร” เดินทางมาตรวจร่างกายที่ประเทศไทย ณ โรงพยาบาลกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการดำเนินการ ก่อนที่จะเซ็นสัญญากับสโมสรที่ให้ความสนใจในไทยลีก
ปรากฏว่าหลายสื่อบอลไทยและเพจต่างๆ ได้ลงข่าวด่วนเบื้องต้น เกี่ยวกับผลการตรวจของ กัน ไปแล้วช่วงเช้าวันนี้ โดยมีข้อมูลออกมาเพียงว่า ‘ไม่ผ่าน’ เนื่องจากตัวนักเตะยังไม่สามารถวิ่งได้เต็มที่ ต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกประมาณ 3 เดือน ถึงจะเริ่มกลับมาซ้อมกับฟุตบอลได้
อย่างไรก็ตามเรื่องของการเซ็นสัญญา ยังไม่ได้มีการปัดตกกันไปแต่อย่างใด เพียงแต่ทางสโมสรที่เปิดการเจรจาขอระยะเวลาในการตัดสินใจ ซึ่งมีโอกาสลงเอยด้วยการเพิ่มเงื่อนไขบางประเด็นลงไป เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย
การตรวจร่างกายของนักฟุตบอลนั้นมีรายละเอียดขั้นตอนแบบใดบ้าง ความเป็นไปได้ที่ตัวของ ธนวัฒน์ ผลออกมาไม่ผ่านเกณฑ์เพราะอะไร ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ตรวจร่างกายไปเพื่ออะไร
แกรี่ เลวิน อดีตนักกายภาพบำบัดของสโมสร อาร์เซน่อล, ทีมชาติอังกฤษ และ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด เคยให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตรวจร่างกายกับ The Athletic เอาไว้ว่า
“การตรวจร่างกายของนักเตะมันไม่มีคำว่า ‘ผ่าน’ หรือ ‘ไม่ผ่าน’ มันเป็นเพียงขั้นตอนเบื้องต้นในการประเมินความเสี่ยงในการลงทุนในดีลต่างๆ ว่าจะคุ้มหรือไม่?”
“บอร์ดบริหารของทีมจะเข้ามาพร้อมกับบอกข้อมูลทีมแพทย์ว่า เรามีโอกาสจะซื้อตัวนักเตะที่ราคา 60 ล้านปอนด์ ตั้งเป้าจะเซ็นสัญญากัน 4 ปี มูลค่า 40 ล้านปอนด์ รวมแล้วต้องจ่าย 100 ล้านปอนด์ ความเสี่ยงเรื่องอาการบาดเจ็บที่เราต้องเจอกับนักเตะคนนี้มีอะไรบ้าง?”
“บางดีลการสโมสรลุล่วงข้อตกลงเรื่องค่าตัวกับต้นสังกัดเดิมแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนของการเซ็นสัญญา ที่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสม ทางผู้จัดการทีมและบอร์ดบริหารต้องคำนวนตัวเลขให้ละเอียด”
“บางรายมีอาการเจ็บติดตัวมา ก็จะมีการประเมินว่าเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย แล้วต้องมาชั่งใจกันว่าเซ็นหรือไม่เซ็นอีกที เรื่องของเส้นตายในการตัดสินใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคิดถึงด้วยว่าด่วนมากแค่ไหน”
ดังนั้นการตรวจร่างกายนักเตะก่อนเซ็นสัญญา เป็นเพียงแค่ขั้นตอนหนึ่งในการประเมินความเสี่ยงในการลงทุนระยะยาว เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสภาพร่างกายของนักเตะรายนั้นๆ ที่เป็นเป้าหมาย มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานกี่เปอร์เซ็นต์ มีความเป็นไปได้ที่จะบาดเจ็บที่เดิม หรือเป็นขาประจำในโรงหมอ จนเป็นเหมือนการจ่ายเงินเปล่า แล้วโค้ชไม่ได้ใช้งานหรือไม่?
รายละเอียดการตรวจมีอะไรบ้าง
ขั้นตอนการตรวจร่างกายของนักฟุตบอลเบื้องต้น จะสามารถแบ่งออกเป็น 4 ปัจจัยหลักๆ ที่จำเป็นต้องเช็คอย่างละเอียด ประกอบไปด้วย
- การตรวจเลือด - ทีมแพทย์จะเจาะเลือดนักเตะ ก่อนส่งตัวอย่างไปยังห้องแลป เพื่อเช็ครายละเอียดเกี่ยวกับโรคต่างๆ ก่อนจะส่งผลกลับมาให้สโมสรเป็นขั้นตอนสุดท้าย
- การตรวจหัวใจ - จะใช้วิธีการตรวจ ECG หรือ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ให้ผู้ถูกตรวจทำกิจกรรมที่ต่างกันออกไป อาทิ นั่งนิ่งเฉย, ปั่นจักรยาน หรือ วิ่งบนลู่วิ่ง เพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ต่อด้วยการทำ Echocardiogram ใช้เครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง ดูรูปร่าง ขนาดห้องหัวใจ และการทำงานต่างๆ เก็บเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยเพิ่มเติม
- การตรวจข้อต่อต่างๆ - ทีมแพทย์จะมีการใช้เครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) เป็นการสร้างภาพความละเอียดสูงด้วยคลื่นแม่เหล็ก ให้เห็นสภาพของกระดูกสันหลัง, กระดูกเชิงกราน, เส้นเอ็นต่างๆ บริเวณสำคัญอย่าง เข่า และ ข้อเท้า อย่างละเอียด
- การตรวจละเอียดเพิ่มเติม - เป็นการขอข้อมูลอาการบาดเจ็บ เช็คประวัติผู้ถูกตรวจ ถามถึงประวัติการบาดเจ็บเรื้อรัง ระยะเวลาในการรักษา มักเน้นไปที่อาการบาดเจ็บหนัก เพื่อตรวจพิเศษในบริเวณดังกล่าวต่อไป
หลังจากทีมแพทย์ตรวจร่างกายได้ข้อมูลมาครบถ้วนแล้ว หากพวกเขาเจอสิ่งผิดปกติในบริเวณไหนเป็นพิเศษ จะมีการทำการปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางในสาขานั้นๆ ต่อไป เพื่อประเมินความเสี่ยงให้ถี่ถ้วนมากขึ้น เพราะบางทีข้อมูลจากปากของนักเตะ หรือรายละเอียดการรักษา อาจมีบางส่วนที่ถูกปิดบังหรือไม่เป็นจริง
อย่างไรก็ตามใช่ว่าบอร์ดบริหารจะตัดสินใจจากข้อมูลจากทีมแพทย์ แล้วเชื่อในการประเมินความเสี่ยงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเคยมีเคสที่ฝืนเซ็นสัญญากันมาแล้วจาการให้ข้อมูลของ มัลคอล์ม สจ๊วร์ต อดีตนักกายภาพบำบัดของ ไบรท์ตัน ที่กล่าวไว้ว่า
“ผมเคยได้รับข้อมูลจากนักรังสีวิทยาที่ทำการเอ็กซเรย์เข่านักเตะรายหนึ่ง แล้วมีการส่งสัญญาณบอกเป็นนัยไปแล้วว่า สโมสรไม่ควรเสี่ยงเซ็นสัญญากับนักเตะรายนี้เด็ดขาด แต่ทีมงานของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เลือกที่จะเพิกเฉยกับผลการวินิจฉัย รวมไปถึงคำเตือนดังกล่าว แล้วเดินหน้าเซ็นสัญญากับนักเตะคนนั้นต่อ”
“ซึ่งพวกเขาพร้อมยอมรับความเสี่ยงนั้นไว้ แล้วปรากฏว่ามันเป็นการเสี่ยงที่คุ้มค่า เพราะนักเตะคนนั้น คือ เดนิส ลอว์ หนึ่งในกองหน้าระดับตำนานของ ปีศาจแดง ที่ยิงประตูให้กับทีมไปถึง 171 ลูก”
สรุปแล้วหน้าที่ของทีมแพทย์ที่ตรวจร่างกายนักเตะ เป็นเพียงแค่การให้ข้อมูลร่างกายอย่างละเอียดตามจริงไปยังสโมสร ส่วนเรื่องของการตัดสินใจขั้นสุดท้าย พวกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะผู้ที่จะประเมินความเสี่ยงคือ ทีมซื้อ-ขาย และเจ้าของเงินลงทุนอยู่ดี
ทำไมดีลธนวัฒน์ถึงยังไม่จบ
จากข้อมูลเบื้องต้นที่้มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาจากสื่อต่างๆ ชัดเจนว่า ธนวัฒน์ ยังมีอาการบาดเจ็บเข่าที่ยังไม่หายขาด ตรงกับที่ โค้ชโย่ง-วรวุธ ศรีมะฆะ เคยกล่าวไว้ในการไลฟ์สด กับช่อง คิดไซด์โค้ง ไว้ว่า
“กัน มีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แค่ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่พร้อมการเข้าตรวจแบบละเอียดที่เป็นการทดสอบหนัก อาจส่งผลเสียให้เกิดอาการเจ็บซ้ำเดิมที่เข่าได้ สโมสรที่สนใจจะเซ็นสัญญาต้องยอมรับในเงื่อนไขตรงนี้”
แม้ว่าตัวนักเตะจะเดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้ว แต่ใช่ว่าดีลการตกลงต่างๆ จะจบลง เพราะยังอยู่ในช่วงของการประเมินความเสี่ยง ดังนั้นหากสโมสรในไทยลีก ให้ความสนใจจริง พร้อมรับความเสี่ยง ตกลงระบุเรื่องเงื่อนไขในข้อสัญญาเพิ่มเติม ทุกอย่างยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะเดินต่อในดีลนี้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://theathletic.com/4127950/2023/01/28/transfer-medical-process/
https://thinkcurve.co/aphedt-kant-thnwathn-r-klabaithyhruue-yuuyuorpt/
https://www.facebook.com/t.bannongsa
https://www.facebook.com/mankosina
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ศราวุฒิ มาสุข : กับชีวิตใหม่ในเส้นทางฟุตบอลเดินสาย
เทพนิยายภูธร : ‘สโมสร ดอนมูล’ ตำนานทีมระดับตำบลผู้พิชิตแชมป์ เอฟเอ คัพ
เมื่อครั้งหนึ่ง “อิชิอิ” เคยทำงานในโรงอาหาร หลังคว้ารองแชมป์สโมสรโลก
คล้ายตรงไหนบ้าง? : ศุภณัฏฐ์ นักเตะเงา โลซาโน่ ในสายตาสื่อต่างประเทศ
เวียดนามกร้าวก่อนซีเกมส์ : "4 ปีก่อน ทรุสซิเย่ร์ ก็เคยพาทีมเวียดนามยู 19 เอาชนะไทยมาแล้ว
เก่งในสนามไม่พอ : สาเหตุใด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถึงครองความยิ่งใหญ่ได้แบบยั่งยืน ?
บุรีรัมย์ ยังห่างแค่ไหน ? 10 สถิติไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้
คุณสมบัติอะไรที่ทำให้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นทีมไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ ?
ข่าวและบทความล่าสุด