หมีขาวข้ามทวีป : จะเกิดอะไรขึ้นหาก รัสเซีย - เบลารุส ย้ายมาเล่นในเอเชีย ?

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่อสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ OCA เทียบเชิญ รัสเซียและเบลารุส มาร่วมการแข่งขันในเอเชียนเกมส์ 2022 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน
เนื่องจากทั้งสองชาติ คือหัวหอกหลักในการรุกรานยูเครน ที่ทำให้พวกเขาถูกแบนจากการแข่งขันกีฬาในยุโรป และระดับโลก มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022
อย่างไรก็ดี หากพวกเขาตอบรับคำเชิญจริง จะส่งผลอย่างไรต่อฟุตบอลเอเชีย และมันจะมีผลต่อโควต้า ในฟุตบอลโอลิมปิก หรือฟุตบอลโลก หรือไม่?
ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ย้ายทวีป?
สงครามไม่เคยส่งผลดีต่อใคร เช่นกันกับวงการกีฬา เพราะนับตั้งแต่ รัสเซีย ส่งทหารรุกรานยูเครน โดยมี เบลารุส เป็นผู้สนับสนุน ก็ทำให้พวกเขาถูกแบนจากการแข่งขันกีฬาทุกชนิด รวมถึงฟุตบอล ทั้งในระดับทวีป และระดับโลก มาตั้งแต่ต้นปี 2022
สโมสรจากรัสเซียถูกห้ามเข้าร่วมการแข่งขัน ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ตั้งแต่ฤดูกาล 2022-2023 ขณะที่ทีมชาติของพวกเขา ก็ถูกตัดสิทธิ์ในรอบเพลย์ออฟ ฟุตบอลโลก 2022 และไม่มีเกมอย่างเป็นทางการอีกเลยนับตั้งแต่ตอนนั้น
อย่างไรก็ดี ทีมฟุตบอลของทั้งสองชาติ อาจได้รับข่าวดี เมื่อสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ OCA ตัดสินใจเทียบเชิญพวกเขามาเล่นในการแข่งขันของเอเชีย โดยมี เอเชียนเกมส์ 2022 ที่หางโจว เป็นทัวร์นาเมนต์ประเดิม

“OCA เชื่อในพลังอันเป็นหนึ่งเดียวกันของกีฬาและนักกีฬาทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะมีสัญชาติอะไรหรือหรือพาสสปอร์ตแบบไหน พวกเขาควรได้ร่วมลงแข่งขัน” แถลงการณ์ของ OCA ระบุ
“OCA ได้ยื่นข้อเสนอให้นักกีฬารัสเซีย และเบลารุสมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันในเอเชีย รวมถึงเอเชียนเกมส์”
อันที่จริงก่อนหน้านี้ สภาโอลิมปิกสากล หรือ IOC ก็เพิ่งประกาศว่าอาจจะให้ รัสเซีย และเบลารุส มาร่วมแข่งขันในโอลิมปิกได้ แต่ในฐานะชาติเป็นกลาง

ทั้งนี้ การประกาศดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะชาวยูเครน ชาติที่โดนรัสเซีย ส่งกำลังทหารเข้ารุกราน จนทำให้บ้านเรือนเสียหาย และมีผู้คนล้มตายไปไม่น้อยกว่า 10,000 คน
ย้อนกลับไปเมื่อ 31 ปีก่อน ก็เคยมีเหตุการณ์ที่คล้ายกัน เมื่อยูโกสลาเวีย ที่ถูกแบนจากสหประชาชาติ จากสงครามกลางเมือง แต่พวกเขาก็สามารถส่งนักกีฬาลงแข่งในโอลิมปิก 1992 ในนามของ "Independent Olympic Participants” หรือผู้เข้าร่วมอิสระ
ทว่า การร่วมการแข่งขันของนักกีฬายูโกลาเวียในครั้งนั้น มีเฉพาะการแข่งขันประเภทบุคคลเท่านั้น แต่ไม่ได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมในกีฬาประเภททีมอย่างบาสเก็ตบอล รวมถึงฟุตบอล
ผลกระทบต่อวงการฟุตบอลเอเชีย
แม้ว่ารัสเซีย จะมีพื้นที่กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในดินแดนของเอเชีย แต่ประชากรส่วนใหญ่ของพวกเขาล้วนอาศัยอยู่ในพื้นที่ฝั่งยุโรป ที่รวมแล้วเกินกว่า 75 เปอร์เซ็นต์
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ รัสเซีย เลือกที่จะอยู่ในสังกัดของสมาคมกีฬาฝั่งยุโรป จากความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรมที่มากกว่าในเชิงภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล ที่อยู่ในสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า หรือกีฬาอื่นที่อยู่ภายใต้ คณะกรรมการโอลิมปิกยุโรป (EOC)
แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมือง ก็อาจจะทำให้พวกเขา (รวมถึงเบลารุส) ตัดสินใจย้ายสังกัดได้ โดยเฉพาะฟุตบอล เพราะในอดีต ก็เคยมีชาติที่ย้ายจากทวีปหนึ่งไปอยู่อีกทวีปหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็น กรณีของอิสราเอล ที่ถูกขับออกจากสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC)ในปี 1974 จากข้อเสนอของคูเวต อันเนื่องมาจากความขัดแย้งกับชาติอาหรับ ที่ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นชาติเร่ร่อน ก่อนที่ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) จะเข้ารับเป็นสมาชิกในปี 1992
หรือกรณีของ คาซัคสถาน ชาติที่ถือกำเนิดหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อในตอนเริ่มแรกพวกเขายังอยู่ภายใต้สังกัดของ AFC แต่ได้ย้ายไปอยู่ยูฟ่า นับตั้งแต่ปี 2022 รวมถึง ออสเตรเลีย ที่เป็นชาติลำดับท้ายๆ ที่ใช้โปรย้ายค่าย หลังเปลี่ยนจาก OFC มาเป็น AFC เมื่อปี 2006
แน่นอนว่า หากรัสเซีย และเบลารุส ขอย้ายมาอยู่กับ AFC ย่อมส่งผลต่อโควต้าฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายของโซนเอเชีย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะพวกเขาถือเป็นหนึ่งในทีมแกร่งของยุโรป และมีอันดับโลกอยู่ในท็อป 100 ของโลก (รัสเซีย อันดับ 37, เบลารุส อันดับ 97)
เช่นเดียวกับ การฟุตบอลโอลิมปิก ที่โควต้ารอบสุดท้าย มีเพียงแค่ 16 ทีม ซึ่งน้อยกว่าฟุตบอลโลกถึง 3 เท่า (48 ทีม) บวกกับสรีระของผู้เล่นเยาวชนของทั้งสองประเทศ ที่ทั้งสูงและแข็งแกร่ง น่าจะทำให้พวกเขาเป็นทีมที่ไม่มีใครอยากเจอในรอบคัดเลือก

อย่างไรก็ดี กรณีของทัวร์นาเมนต์หลัง อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หรือไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา น้อยมากที่คณะกรรมการโอลิมปิกจะมีการย้ายทวีป และในอดีตก็มีเพียงแค่อิสราเอลชาติเดียวเท่านั้น
เพราะแม้ว่าสมาคมฟุตบอลของคาซัคสถาน หรือออสเตรเลีย จะย้ายสังกัด แต่คณะกรรมการโอลิมปิก ก็ยังคงอยู่ใน OCA และ ONOC ตามลำดับ และเป็นเหตุผลที่ทำให้ คาซัคสถาน ลงเล่นในฟุตบอลเอเชียนเกมส์ หรือรอบคัดเลือกโอลิมปิก แต่ในฟุตบอลโลก พวกเขาไปลงเตะกับชาติในยุโรป
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การย้ายค่ายของ รัสเซีย และเบลารุส ยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ที่นอกจากในเชิงการเมืองแล้ว จากการที่พวกเขามีพันธมิตรอยู่ในเอเชีย ได้แก่จีน อิหร่าน และอินเดีย แล้ว มันยังส่งผลกระทบในวงกว้างแก่วงการฟุตบอลเอเชีย
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

การย้ายจากยุโรป มาเอเชีย อาจจะทำให้ทีมฟุตบอลของ รัสเซีย หรือเบลารุส มีเส้นทางที่ง่ายขึ้นในฟุตบอลโลก หรือโอลิมปิก แต่มันก็ส่งผลตรงข้าม โดยเฉพาะโควต้ารอบสุดท้าย จากการที่เอเชียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีจำนวนในลำดับท้ายๆ
และที่สำคัญ การยอมรับรัสเซีย และเบลารุส จะถือเอเชีย ยอมรับการก่ออาชญากรรมสงครามในระหว่างการรุกรานยูเครนของพวกเขาหรือไม่ ? ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังต้องถกเถียง

เพราะแม้ว่าผู้คนจำนวนมากจะบอกว่า อย่าเอากีฬามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่สุดท้ายแล้วการเมืองล้วนแทรกอยู่ในทุกอณูของชีวิต โดยเฉพาะกีฬาประเภททีมอย่างฟุตบอล ที่เอาตัวแทนของแต่ละชาติมาห้ำหั่นกัน และเปลี่ยนจากสนามรบ มาเป็นสนามหญ้า เท่านั้นเอง
“IOC เมินเฉยต่อการก่ออาชญากรรมสงครามของรัสเซีย โดยอ้างว่า ‘ไม่ควรมีนักกีฬาคนใดถูกขัดขวางจากการแข่งขันเพียงเพราะหนังสือเดินทางของพวกเขา’ ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครน กล่าวผ่าน Twitter
“ขณะที่นักกีฬายูเครนยังคงถูกฆ่าต่อไปโดยรัสเซียเพราะหนังสือเดินทางของพวกเขา”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
มิไคโล มูดริค : เขาบอกว่าผมเหมือน เนย์มาร์, เอ็มบัปเป้ และ วินิซิอุส จริงเหรอ ?
ทั้งที่เป็นภูมิภาคบ้าบอล : ทำไมไม่ค่อยมีนักเตะสัญชาติ ‘อาเซียน’ ค้าแข้งอยู่ในยุโรป
ย้อนต้นตอจากวูชคิช : ทำไมนักเตะยุโรปตะวันออกจึงนิยมมาเล่นในไทยลีก ?
แหล่งอ้างอิง
https://www.cbc.ca/sports/olympics/olympics-asian-games-russia-invited-1.6726890
ข่าวและบทความล่าสุด
MOST POPULAR

อดีตอันแสนเจ็บปวด : ทาเคฟุสะ คุโบะ โดนบูลลี่หนัก สมัยอยู่อคาเดมี่ของ บาร์เซโลนา

ชินจิ โอโนะ ฉลองวันเกิดอายุ 44 ปี ประกาศแขวนสตั๊ดหลังจบฤดูกาล

คาโอรุ มิโตมะ ไม่พอใจฟอร์มส่วนตัว แม้ทำ 3 ประตู 3 แอสซิสต์ จาก 6 เกม

นาโปลี ลงคลิป Tik Tok ล้อ โอซิมเฮน แต่นักเตะไม่ขำเตรียมฟ้องสโมสร

อิสสระ มอง ไทย มีโอกาสโค่น อิหร่าน เพราะไม่แกร่งเท่าเกาหลีใต้
