แค้นกันมาตั้งแต่เมื่อไร : ทำไมทีมชาติไทยและเวียดนามใส่ยับกันทุกครั้งที่ลงสนาม

แค้นกันมาตั้งแต่เมื่อไร : ทำไมทีมชาติไทยและเวียดนามใส่ยับกันทุกครั้งที่ลงสนาม
มฤคย์ ตันนิยม


“ในเรื่องความไม่ลงรอยระหว่างไทยกับเวียดนามในหมู่แฟนบอล ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่หลงเหลือมาจากยุคสงครามเย็น” รัชพล พลอยเทศ นักศึกษาปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจภาษาและวัฒนธรรมเวียดนาม กล่าวกับ Think Curve

จบไปแล้วยกแรกสำหรับ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022 ที่ทีมชาติเวียดนามเป็นฝ่ายไล่ตีเสมอไทยไปอย่างหวุดหวิด 2-2 เมื่อค่ำคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา

ทว่า นอกเหนือจากสกอร์ สิ่งที่ผู้ชมได้เห็นจากการแข่งขัน คือการเล่นกันอย่างเต็มที่ของทั้งสองฝั่งแบบไม่มีใครยอมใคร และมันก็เป็นแบบนี้มาตลอด

เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ? บางทีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาจจะมีคำตอบ ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

คู่รักคู่แค้นแห่งอาเซียน

ด้วยความที่ฟุตบอล คือกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้แต่ละชาติ ต่างมุ่งมั่นที่จะขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ในกีฬาชนิดนี้ ผ่านการแข่งขันระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลซีเกมส์ หรืออาเซียนคัพ ซึ่งไทยและเวียดนามคือหนึ่งในนั้น

แม้ว่าในช่วงเริ่มแรก “ขุนพลช้างศึก” จะเหนือชั้นกว่าคู่แข่งร่วมภูมิภาคอย่างชัดเจน โดยเฉพาะฟุตบอลซีเกมส์ที่เคยผงาดหว้าเหรียญทองได้ 8 สมัยติด ในช่วงปี 1993 -2007 และแชมป์เอเอฟเอฟ 3 ครั้ง จาก 4 หนแรกในปี 1996-2002 แต่หลังจากนั้น เวียดนามก็พยายามเร่งเครื่อง และขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงคนสำคัญของทีมชาติไทย

จุดเแรกเริ่มคือปี 2008 ที่ไทยกับเวียดนาม ได้มีโอกาสเจอกันในนัดชิงชนะเลิศอาเซียนคัพเป็นครั้งแรก และเป็นขุนพลดาวทอง ที่บุกมาเอาชนะไทยถึงกรุงเทพ ก่อนจะไปยันเสมอ 1-1 ที่สนามหมี่ ดินห์ จากประตูของ เล กงวินห์ ในนาทีที่ 90+4 คว้าถ้วยใบนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

Photo : Zing

จริงอยู่ที่ผลงานเวียดนามหลังจากนั้นยังคงกระท่อนกระแท่น และเป็นขุนพลช้างศึก ที่ยังมีผลงานที่ดีกว่าในการพบกัน ทว่า การมาถึงของพัค ฮังซอ กุนซือชาวเกาหลีใต้ ในปี 2017 ก็ทำให้บางสิ่งเปลี่ยนไป

อดีตผู้ช่วยของ กุดส์ ฮิดดิงค์ เข้ามายกระดับขุนพลดาวทอง ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน ยิ่งไปกว่านั้น เขายังสามารถพาเวียดนาม U23 เอาชนะไทยได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ในทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่อง M150 คัพในปี 2017

แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหลังจากนั้น เวียดนาม ก็ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นเหนือไทย ไม่ว่าจะการกลับมาคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟคัพอีกครั้งในรอบ 10 ปีเมื่อปี 2018 หรือการคว้าแชมป์ซีเกมส์ 2 สมัยติดในปี 2019 และ 2021 แถมหนึ่งในนั้นเป็นการเอาชนะไทยในนัดชิงชนะเลิศ  

ทว่า สิ่งที่สร้างความเจ็บช้ำให้กับขุนพลช้างศึกมากที่สุดคือการก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนในฟีฟ่าเวิลด์แรงค์กิงเมื่อปี 2017 รวมถึงแซงหน้าไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือกรอบที่ 2 ทะลุเข้าไปเล่นในรอบ 12 ทีมสุดท้าย และเป็นตัวแทนจากอาเซียนเพียงหนึ่งเดียวในตอนนั้น

Photo : baodanang.vn

สิ่งเหล่านี้ กลายเป็นก้าวกระโดดสำคัญ ที่ทำให้เวียดนามไม่รู้สึกเกรงกลัว “ช้างศึก” อีกต่อไป พวกเขาเล่นอย่างเต็มที่ในแบบไม่กลัวเจ็บ ทั้งในระดับเยาวชน ไปจนถึงระดับทีมชาติชุดใหญ่ จนกลายเป็นสงครามขนาดย่อมในสนาม

“ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในความสำเร็จที่สุดของพัค ฮังซอ คือการช่วยให้เวียดนาม เอาชนะความกลัวในการเจอทีมชาติไทย ที่เริ่มจากการพาเวียดนาม U23 เอาชนะไทย 2-1 ในทัวร์นาเมนต์ M150 Cup ในช่วงสิ้นปี 2017” เอริน นักข่าวของ Vietnam Post English กล่าวในบทความ Comments on Vietnam vs Thailand: A historic appointment

“การข้ามผ่านนั้น สามารถทำลายกำแพงทางจิตวิทยาได้มาก ซึ่งช่วยให้เวียดนามมีความมั่นใจในตัวเอง และช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาอย่างเต็มที่ภายใต้การคุมทีมของพัค ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของฟุตบอลเวียดนาม”

ทว่า บางทีเหตุผลอาจจะไม่ได้มีแค่นี้

ผลพวงจากสงครามเย็น?

แม้ว่าความสัมพันธ์เชิงฟุตบอล ระหว่างไทยและเวียดนาม เพิ่งจะเริ่มต้นในปี 1995 จากการพบกันครั้งแรกในฟุตบอลซีเกมส์ที่เชียงใหม่ แต่ความรู้สึกไม่ถูกกันของทั้งสองชาติอาจจะนานยาวกว่านั้น

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1970s ซึ่งเป็นช่วงที่แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์กำลังแพร่หลายในคาบสมุทรอินโดจีน เวียดนามถือหนึ่งในชาติหัวหอกของอาเซียนที่โอบรับแนวคิดนี้

ลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้สร้างความหวาดกลัวต่อชาติบ้านใกล้เรืองเคียง รวมถึงไทย ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ผู้ปกครองในตอนนั้น พยายามอย่างเต็มที่ในการสกัดคอมมิวนิสต์ ให้มองว่ามันเป็นสิ่งชั่วร้ายไปต่างจากปีศาจ และต้องกำจัดทิ้ง เหมือนที่ครั้งหนึ่ง พระกิตติวุฑโฒ ภิกขุ เคยกล่าวไว้ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 1976 ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

Photo : The Vietnam War

“ในเรื่องความไม่ลงรอยระหว่างไทยกับเวียดนามในหมู่แฟนบอล ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่หลงเหลือมาจากยุคสงครามเย็น” รัชพล พลอยเทศ นักศึกษาปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจภาษาและวัฒนธรรมเวียดนาม กล่าวกับ Think Curve

“เราถูกทำให้รู้สึกกลัวเวียดนาม มองเวียดนามว่าเป็นภัยร้ายแรงที่ต้องกำจัด”

แนวคิด “เกลียดคอมมิวนิสต์” ยังสะท้อนได้จาก การโฆษณาชวนเชื่อของทางการไทยในช่วงเวลานั้น ผ่านคำขวัญ แบบเรียนในหนังสือ การ์ตูนในหนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งเครื่องไม้เครื่องมือในชีวิตประจำวัน

“ในไทย คอมมิวนิสต์ในทุกรูปแบบถูกมองว่าเป็นปีศาจมาหลายทศวรรษ” ไมเคิล ดันฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวในบทความ Soccer wars in Southeast Asia

Photo : ETCPOOL BLOG

“ ในการ์ตูนการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1970s ซึ่งตอนนี้โด่งดังจากการเป็นหน้าปกหนังสือ Siam Mapped ของธงชัย วินิจกุล สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกต่อต้านคอมมิวนิสต์ในบริบทของการเมืองไทยแบบชาตินิยมเป็นอย่างดี”

“เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ถูกรวมเข้าด้วยกัน และกลายร่างเป็นมนุษย์คอมมิวนิสต์ผู้โกรธแค้น คอยก่อความไม่สงบ กำลังกัดกินประเทศไทยที่ดูเหมือนร่างกาย”

แม้ว่าหลังการล่มสลายของสงครามเย็น จะทำให้ความคิดเหล่านี้ เริ่มเลือนหายไป แต่การผงาดขึ้นมาในเชิงเศรษฐกิจของเวียดนามในยุคหลัง ก็ทำให้คนไทยรู้สึกไม่ชอบใจกับเพื่อนร่วมภูมิภาคชาตินี้

“เรื่องความไม่ลงรอยกัน มันคงไม่เหมือนในสงครามเย็นแล้วที่จงเกลียดจงชังตลอดเวลา หรือไม่ไว้เนื้อวางใจ ผมมองว่าปัจจุบันมันเปลี่ยนเป็นความรู้สึกไม่ชอบใจมากกว่า ที่เห็นคนคนหนึ่งที่เมื่อก่อนแย่กว่าเรามาก แล้วอยู่ดี ๆ จะมาได้ดีกว่าเราได้อย่างไร” รัชพล อธิบาย

Photo : Reporter on the Road

ที่เห็นได้ชัดคงจะเป็นในสื่อสังคมออนไลน์ ที่หากไทยและเวียดนาม ต้องโคจรมาพบกัน หรือแม้กระทั่งไม่ได้พบกัน แต่แข่งในรายการเดียวกัน ก็มักจะมีคนจากอีกฝั่ง บุกเข้ามาคอมเมนต์อยู่เสมอ ซึ่งปรากฎการณ์นี้ไม่ได้มีแค่ฟุตบอลเท่านั้น

“เราอาจจะเห็นได้จากสื่อออนไลน์ เช่นเมื่อมีข่าวย้ายฐานการผลิต (จากไทย) ไปเวียดนาม ก็อาจจะมีคอมเม้นต์ของคนไทยบางคนที่ไม่ชอบใจ พยายามหาข้อด้อยของเวียดนามมาโต้แย้ง เอามาพูด มาคอมเมนต์ให้รู้สึกว่าเวียดนามแย่กว่าไทย ย้ายก็ย้ายไปเถอะ”  รัชพล กล่าวต่อ

“หรืออย่างเช่นวาทะกรรมที่มีมาสักพักแล้ว ว่าอีกกี่ปีข้างหน้า เวียดนามกำลังจะแซงไทย เป็นวาทะกรรมที่คนไทยรู้สึกไม่ชอบมาก”

“ผมคิดว่าเพราะว่าพื้นฐานในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยรู้สึกว่า เวียดนามเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนามาก ๆ แล้วอยู่ดี ๆ วันหนึ่งจะมาแซงไทยได้อย่างไร ตรงนี้อาจจะก่อให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมา”

อย่างไรก็ดี ในความไม่ถูกกันสำหรับคนเวียดนามมันอาจจะฝังลึกอีกครั้ง

ชาตินิยมที่เข้มข้น

เวียดนามคือชาติที่ต้องผ่านอุปสรรคมากมายมาย พวกเขาเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิจีน ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส รวมไปถึงถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กว่าจะมารวมเป็นชาติเดียว ก็ต้องรอจนถึงปี 1975

ทำให้คนเวียดนาม มีความเป็นรักชาติอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นจากการปลูกฝังโดยรัฐ หรือประสบการณ์ในอดีต และทำให้แนวคิดแบบ “ชาตินิยม” ยังคงไหลเวียนอยู่ในตัวพวกเขาแม้กระทั่งปัจจุบัน

"คุณจะไม่ภาคภูมิใจได้อย่างไรในเมื่อบทเรียนประวัติศาสตร์ทั้งหมดของคุณสอนให้คุณรู้ว่าประเทศเล็กๆ ของคุณเอาชนะผู้รุกรานทุกคนได้เสมอ ซึ่งมักจะมาจากกองทัพที่ทรงพลังที่สุดในโลกในเวลานั้นรวมถึง จีน, มองโกเลีย, ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา" บินห์ เล นักธุรกิจชาวเวียดนามกล่าวในบทความ Vietnam's unlikely love affair with Donald Trump ในเว็บไซต์ Nikkei Asia

“คนเวียดนามจึงคิดว่าอะไรก็ตามที่เป็นการรับใช้ผลประโยชน์ของชาติจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง”

Photo : Nikkei Asia

และสิ่งเหล่านี้ ก็ยิ่งเข้มข้นไปอีก เมื่อเป็นการแข่งขันฟุตบอล โดยเฉพาะการแข่งขันของทีมชาติ ที่ทำให้แฟนบอลเวียดนามรู้สึกว่าจะน้อยหน้ามหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทยไม่ได้ และเป็นเหตุผลว่าทำไมทัพดาวทอง จึงใส่เต็มทุกครั้งเมื่อเจอทีมชาติไทย

“ไทยมีวัฒนธรรมฟุตบอลที่ยาวนานกว่าเวียดนาม ดังนั้นพวกเขาจึงประสบความสำเร็จมากกว่า แม้ว่าความสำเร็จเหล่านี้ จะเริ่มดร็อปลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เวียดนามแตกต่างจากคนอื่นคือ พวกเขามองว่าความพ่ายแพ้ต่อไทย ถือเป็นความอัปยศของชาติ” ผู้ใช้ชื่อว่า Ziaddinè Chahoudi กล่าวใน quora.com

“ชาวฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, พม่า และชาติอื่นในอาเซียนมองว่า การแพ้ต่อไทย เป็นเรื่องปกติ และพวกเขาอาจจะก่นด่าเล็กน้อย แต่สำหรับชาวเวียดนาม มันเป็นสิ่งที่ต่างออกไป พวกเขามองว่าการแพ้ต่อไป คือหายนะของชาติ”

นอกจากนี้ ในช่วงเปิดประเทศในทศวรรษ 1990s รัฐบาลสังคมนิยมเวียดนาม ยังใช้ไทยเป็นตัวเปรียบเทียบการพัฒนาของประเทศ เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าประเทศมีความก้าวหน้า จนกลายเป็นความรู้สึกว่าพวกเขาต้องแข่งขันกับไทย

Photo : International Finance Magazine

“หลังเปิดประเทศ ในช่วงทศวรรษ 1990s เวียดนามซึ่งปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ต้องการบอกคนในประเทศว่าพวกเขากำลังพัฒนา และเพื่อให้เห็นภาพก็ต้องมีตัวเปรียบเทียบ ไทยก็เลยเป็นที่ตั้ง” รัชพลอธิบาย

“การแข่งขันในมุมเวียดนามจึงไม่ใช่ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นในเชิงวัฒนธรรมด้วย ฟุตบอลก็เป็นหนึ่งในนั้น”  

“เพราะฟุตบอลเวียดนามเอง ก็เพิ่งจะมาพัฒนาในช่วงไม่กี่สิบปีกว่านี้ ยิ่งถ้าหากชนะไทย ก็อาจทำให้รู้สึกว่าเวียดนามจะแซงไทย”

อย่างไรก็ดี การพยายามแข่งกับไทยของเวียดนาม ไม่ได้มีแค่ฟุตบอล เพราะในช่วงหลังกีฬาชนิดอื่นอย่าง วอลเลย์บอล หรือแม้กระทั่งการประกวดนางงาม ก็กลายเป็นเวทีแห่งการฟาดฟันระหว่างชาวเน็ตจากสองประเทศ

Photo : Vietnamnet

“GDP หรือการส่งออก มันเป็นสิ่งที่ยังเห็นได้ไม่ชัดในทันทีทันใด แต่ในเรื่องของฟุตบอล นางงาม มันตัดสินในครั้งเดียว เพราะฉะนั้นมันอาจจะทำให้คนมีความรู้สึกร่วม และมีการคอมเม้นต์แบบทันทีทันใด ไม่ชอบใจว่าเธอจะมาดีกว่าฉันได้อย่างไร” รัชพลอธิบาย

“เวียดนามกับไทย ในปัจจุบัน มันไม่ใช่ความเกลียดชังเหมือนในยุคสงครามเย็น มันแปรเปลี่ยนไปเป็นความไม่ชอบใจ หรือไม่อยากให้ชาติใด เด่นกว่าชาติตัวเองในช่วงพ.ศ. นี้”

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
AFF สไตล์ : การหวดยับเตะกันสบายส่งผลร้ายต่อทั้งระบบอย่างไร ? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง หากใครได้ดูเกมระหว่างเวียดนาม เปิดบ้านชนะ อินโดนีเซีย 2-0 ทำให้ทัพดาวทองเข้าไปในรอบชิงชนะเลิศ ศึก เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022

“การแข่งขันที่มีผู้เล่นจากสองประเทศนี้ ระหว่างไทยกับเวียดนาม ที่มันเห็นเป็นรูปธรรมชัด ๆ มันจะยิ่งเพิ่ม เร้าอารมณ์เกลียดชัง หรือไม่ชอบขี้หน้าได้ดีกว่าการแข่งขันที่เป็นนามธรรม หรือการแข่งขันที่ไม่สามารถจัดอันดับได้แบบทันทีทันใด”

“เราอาจจะไม่ได้เห็นความไม่ชอบใจ ที่มาโจมตีกันอย่างชัดเจนระหว่างไทยกับเวียดนามได้เท่ากับการแข่งขันที่เป็นรูปธรรมอย่างฟุตบอลและนางงาม”

Photo : Detiksport

แต่ถึงอย่างนั้น รัชพล ก็มองว่าคนไทยและเวียดนาม ส่วนใหญ่เมื่ออยู่นอกสนาม ก็ไม่ได้เกลียดกันจึงขนาดต้องทะเลาะกัน แต่มันเป็นการต่อสู้กัน แข่งขันกันในสมรภูมิต่าง ๆ มากกว่าความเกลียดชัง

มันเป็นเหมือนศักดิ์ศรีที่ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามเอาชนะกัน เหมือนที่เห็นแฟนบอลได้เห็นในสนามฟุตบอลเสมอมา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Inverted Wing Back : ตำแหน่งที่ทำให้ ธีราทร เล่นกองกลางได้เนียนตา

นอนนาน เปลี่ยนตัวช้า ยั่วให้วุ่นวาย: ทำไมแทคติก “ถ่วงเวลา” ควรหายไปจากบอลอาเซียน ?

เรื่องเล่าจาก ธีรเทพ : เล่นกับ เวียดนาม ในเกมเยือนนัดชิงต้องเจอกับอะไรบ้าง ?

แหล่งอ้างอิง

https://www.newmandala.org/soccer-wars-in-southeast-asia/

https://www.quora.com/Do-Thai-and-Vietnamese-hate-each-other-because-of-soccer-rivalry

https://www.dw.com/en/vietnam-looking-to-take-southeast-asia-back-to-the-world-cup/a-59030386

https://seasia.co/2017/09/17/omg-this-is-asia-s-top-5-football-rivalries

https://vietnam.postsen.com/trends/241576/Comments-on-Vietnam-vs-Thailand-A-historic-appointment.html

https://vietnam.postsen.com/trends/237654/Head-to-head-history-Vietnam-vs-Thailand.html

https://www.posttoday.com/international-news/645650

https://asia.nikkei.com/Opinion/Vietnam-s-unlikely-love-affair-with-Donald-Trump

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ