อิมพอร์ทไม่ดีกว่าเหรอ ? เปิดสาเหตุทีมไทยลีกใช้ตัวต่างชาติหน้าเดิม ๆ
เมื่อเข้าสู่ช่วงบอลไทยลีกปิดฤดูกาล สิ่งเดียวที่พอจะทำให้แฟนบอลได้พอคึกคักกับกระแส คงหนีไม่พ้นเรื่องของตลาดนักเตะที่เปิดทำการแทน ทุกสโมสรในดิวิชั่นต่างย่อมมีเป้าหมายที่ต่างกันออกไปในบั้นปลาย แต่สิ่งที่พวกเขาต้องทำเหมือนกัน คือ การเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีม
นักเตะทั้งไทยและตัวต่างชาติ ล้วนมีการโยกย้ายกันสนุกสนาน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในช่วงหลังที่เห็นได้ชัดเจนเลย คือ ตัวต่างชาติที่ค้าแข้งอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วจะวนเป็นตัวหน้าเดิมๆ เปลี่ยนแค่เพียงสังกัดหลังหมดสัญญา
หากไม่มีทีมยักษ์ใหญ่เงินถุงเงินถึงยกตัวอย่างเช่น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, การท่าเรือ เอฟซี หรือ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด เปิดการเจรจาดึงนักเตะหน้าใหม่ๆ ที่เป็นตัวต่างชาติย้ายมาจากต่างลีก สโมสรอื่นๆ ที่เป็นระดับดีกรีลดทอนลงมา แทบจะเลิกหวังไปได้เลย
แล้วพอมีการดึงตัวมาจากสโมสรใหญ่ๆ หากพวกเขาใช้งานแล้วไม่ประทับใจอย่างที่สุด ไม่มอบสัญญาให้ไปต่อ ก็จะกลายเป็นทีมเกรดรองๆ ลงมา เข้าไปคุยเจรจาความเป็นไปได้ในการดึงตัวมาเสริมทัพ โดยไม่ต้องไปหวังพึ่งเอเย่นต์หรือทีมแมวมอง อาศัยผลงานที่เห็นผ่านตาเป็นตัววัดเกณฑ์
กลายเป็นว่านักเตะอย่าง เรนาโต้ เคลิช, ดานิโล่ อัลเวส, วิคเตอร์ คาร์โดโซ่ หรือ อันเดรส ตูเนซ เป็นชื่อเดิมๆ ที่แฟนบอลเห็นกันจนคุ้นชิน เพียงแค่เช็คว่าฤดูกาลนี้พวกเขาเหล่านั้นสังกัดทีมไหนกันแน่ เปลี่ยนแค่สีเสื้อต้นสังกัดแค่นั้น
สาเหตุที่สโมสร ไทยลีก ไม่เดินหน้ามองหาทางเลือกใหม่ๆ คืออะไร? แล้วทำไมถึงไว้วางใจตัวเดิมๆ ในลีก ร่วมวิเคราะห์หาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
การติดต่อหานักเตะ
แน่นอนว่าทุกวันนี้ ไทยลีก มีการบริหารจัดการต่างๆ แบบเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น พยายามยกระดับเกี่ยวกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้มีการเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น การผลักดันการสอบฟีฟ่าเอเย่นต์ หรือ การเปิดอบรบโค้ชตามระดับไลเซนส์ต่างๆ
ทีมงานเคยมีการพูดคุยกับตัวเอเย่นต์ทั้งยุคเก่าและยุคใหม่มาแล้ว ซึ่งการแชร์ประสบการณ์การทำงานในวงการนี้ ก็มีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เริ่มกันที่เอเย่นต์ในยุคเก่า โดม - ยศรัณย์ โควสุรัตน์ ฟีฟ่าเอเย่นต์ที่ถูกต้องรุ่นแรกในประเทศไทย เปิดเผยถึงประสบการณ์สมัยเขายังเป็นตัวแทนนักเตะเอาไว้ว่า
“ตอนนั้นนักเตะยังไม่เข้าใจระบบเอเย่นต์เหมือนในสมัยนี้ เลยไม่ค่อยใช้กันเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเอง”
“สโมสรส่วนใหญ่ก็ชอบติดต่อกับเอเย่นต์ที่ไม่มีใบอนุญาต เพราะเวลายกเลิกสัญญาต่างๆ มันไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เลยมีคนไปแฝงตัวอยู่ตามสโมสรแล้วแอบทำหน้าที่แบบนี้ไม่น้อย”
“สโมสรในไทยมีปัญหาเรื่องการเงินเยอะมาก เลยชอบดีลกับเอเย่นต์ที่ไม่มีใบอนญาตมากกว่า เพราะเขาสามารถเอาเปรียบนักเตะที่ไม่มีใครช่วยได้”
แต่สมัยนี้พอวงการฟุตบอลและสื่อโซเชี่ยลต่างๆ มีการพัฒนามากขึ้น สโมสรจะขยับตัวทำอะไรแบบมีนอกมีในย่อมเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควร เลยมีการเริ่มต้นสเกาท์ข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างอย่าง transfermarkt ผสมกับการใช้เอเย่นต์เป็๋นตัวกลาง ตามที่มีการเปิดเผยจากเอเย่นต์ในยุคนี้เอาไว้ว่า
“ส่วนใหญ่แล้วเราจะได้รับใบสั่งจากสโมสรต่างๆ ว่าเขาอยากได้นักเตะตำแหน่งไหน? งบประมาณเท่าไหร่? ซึ่งจะได้ข้อมูลมาจากผู้บริหารสโมสรต่างๆ”
“หลังจากนั้นอเย่นต์ก็จะไปคัดกรองนักเตะที่อยู่ในมือตามสเปค เพื่อมาเสนอให้สโมสรเลือก ส่งโปรไฟล์ข้อมูลไปให้พิจารณา ก่อนที่สโมสรจะทำการทดสอบฝีเท้า เพื่อดูเรื่องการตกลงเซ็นสัญญาต่อไป”
แน่นอนว่าหากตัดขั้นตอนเรื่องการไปค้นหาข้อมูล เลือกตัวที่เคยเห็นฝีเท้ากันมาแล้ว การหาคอนเนคชั่นติดต่อมันก็เป็นเรื่องง่ายของสโมสร ยิ่งรู้ตัวเอเย่นต์ว่า คนไหนใครดูแล เช็คข้อมูลให้ชัวร์ รวมไปถึงรอการร่อนเสนอนักเตะจากเอเย่นต์ ทีมต่างๆ ใน ไทยลีก หากไม่ได้มีเป้าหมายสูงมาก ก็สามารถคว้าตัวที่เห็นๆ กันอยู่มาได้ง่าย ไม่ต้องไปเริ่มตั้งแต่จุดแรกให้ยุ่งยากมากความตามสไตล์คนไทย เน้นเอาสะดวกเข้าว่า
ลดความเสี่ยง
แน่นอนว่าการโยกย้ายสังกัดของนักเตะ หากเป็นผู้เล่นต่างชาติที่มาจากลีกอื่นๆ ทั่วโลก สโมสรย่อมมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ อาทิ วัฒนธรรม, อาหารการกิน และ อากาศ เป็นต้น
ถ้าเป็นนักเตะจากโซนยุโรปเมืองหนาว การมาเล่นในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนจัด สปีดฟุตบอลมีความเร็วจากหน้าถึงหลังแบบบอลไดเรคท์ หลายคนต้องใช้เวลาปรับตัวไม่น้อย เคสที่ผ่านแล้วเห็นกันชัดๆ ยกตัวอย่างเช่น ดิออน คูลส์ และ โกรัน เคาซิช จากสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
แต่หลายทีมยักษ์ใหญ่บางทีก็ต้องการตัวที่ใช้ได้แบบแน่นอน มีประสบการณ์ในการเล่นในเมืองไทยมาแล้ว โปรไฟล์ไม่ธรรมดาเห็นฝีเท้ากันอยู่ รู้เรื่องฐานเงินเดือนดีว่าจ่ายกันอยู่เท่าไหร่? ความประพฤติก็รู้ไส้รู้พุงกันหมดเพราะเช็คง่าย เล่นอยู่ในประเทศไทย สายข่าวต่างๆ ทำอะไรก็ถึงกันหมด
ยกตัวอย่างเช่น การท่าเรือ เอฟซี ที่มีโควต้าต่างชาติที่ว่างลง ก็ไม่ต้องไปค้นหาโปรไฟล์นักเตะในต่างประเทศ แค่เลือกเอาต่างชาติที่มีผลงานผ่านเกณฑ์แบบชัดเจน เข้ามาเสริมแล้วไม่ต้องห่วงเรื่องของการปรับตัว แล้วก็ได้มาเป็น บาร์รอส ทาร์เดลลี่ กองหน้าจาก หนองบัว พิชญ ที่ต้นสังกัดตกชั้น แต่ฟอร์มส่วนตัวกดประตูไปถึง 13 ลูก และทำอีก 3 แอสซิสต์
รวมไปถึงดีลของ ชาลี คลัฟ เซนเตอร์แบ็คจากสโมสร นครราชสีมา ดีกรีเป็นถึงกัปตันทีม ฟอร์มในสนามโดดเด่นทั้งการคุมเกมรับจากการเล่นที่หนักแน่นดุดัน รวมไปถึงมีทีเด็ดในการทำประตูจากลูกโหม่ง ตัวนักเตะเองสามารถปรับตัวเข้ากับลีกไทยได้แล้ว แม้ว่าจะมีข้อสงสัยจากแฟนบอลว่าดีพอหรือไม่? เจ้าตัวก็ตอบไว้ชัดเจนว่า
“ความเป็นผู้นำ, ประสบการณ์ และ เลือดของความเป็นนักสู้ คือสิ่งที่ผมจะมอบทุกอย่างให้กับ การท่าเรือ เอฟซีในทุกเกม แล้วผลลัพธ์ที่ออกมามันจะเป็นการเก็บคลีนชีทและจำนวนประตูที่ยิงได้”
“ก่อนหน้านี้แฟนบอลก็เคยวิจารณ์ผมในทำนองนี้มาแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมเซ็นสัญญากับ สวาทแคท มันเป็นเรื่องปกตินะที่จะสงสัยเกี่ยวกับฝีเท้าของผม แต่ผมอยากจะพิสูจน์ตัวเองให้แฟนๆ ได้เห็นกับตาในสนามมากกว่า”
เมื่อสโมสรต้องการประกันความเสี่ยงให้กับตัวเอง รวมไปถึงเรื่องของการได้ตัวเลขที่แน่นอนในการจบดีล กาติดต่อตัวต่างชาติเดิมๆ ที่ค้าแข้งอยู่ในประเทศไทย ล้วนเป็นทางเลือกที่ง่ายและจบกันได้เร็ว แถมยังการันตีแล้วว่าเล่นได้ ไม่ต้องไปนั่งเช็คข้อมูลจากเว็บไซต์ หรือ เปิดคลิปจากยูทูปมาตัดเกรด
เพราะขั้นตอนสุดท้ายก็ต้องติดต่อมาทดสอบการเล่นให้เห็นกันจริงๆ อยู่ดี แล้วกว่าจะเดินเรื่องจบก็ต้องนั่งมาลุ้นว่าตัวแทนของนักเตะนั้นจัดการรายละเอียดทุกอย่างได้ราบรื่นหรือไม่ เนื่องจากทุกวันนี้อาชีพเอเย่นต์ ใครๆ ที่อยู่ในวงการก็พยายามผันตัวมาทำด้านนี้หลายราย ทั้งแบบที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง
ประสบการณ์ตรงจากตัวแทนในวงการ
ทางทีมงานได้มีการสอบถามไปยังตัวแทนนักฟุตบอล ที่มีชื่อเป็นที่รู้จักกันดีแต่ไม่สะดวกในการเปิดเผยตัว แล้วได้รับการแชร์ประสบการณ์เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการทำงานสายนี้ รวมไปถึงรายละเอียดการทำดีลต่างให้ลุล่วงในอีกมุมนึงว่า
“เวลาไปคุยกับคนที่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการซื้อตัวไม่ว่าจะเป็น ประธานสโมสร โค้ช หรือ เจ้าของทีม จะออกมาในทางเดียวกัน คือ เน้นไปที่นักเตะที่เห็นๆ อยู่แล้ว เรื่องของฟอร์มการเล่น ผลงาน สภาพร่างกาย ทัศนคติ และ คาแรกเตอร์ เป็นยังไง”
“ถ้าจะเอาตัวต่างชาติในไทยลีกจริงๆ นักเตะต้องมีความสามารถชัดเจน เป็นสินค้าที่จับต้องได้ ไม่ต้องไปลุ้นว่าดีจริงไหม? ในกรณีที่เป็นแค่ต่างชาติผลงานครึ่งๆ กลางๆ ก็อาจจะต้องลงไปเล่นในลีกที่ต่ำลง ไปอยู่กับทีมที่เล็กลง”
“การดึงนักเตะต่างชาติมาเล่นในไทยทุกวันนี้ บางทีประธานสโมสรหรือเจ้าของทีมลุยเองก็มี เพราะเขามีคอนเนคชั่นอยู่ในมือ ก็จะกลายเป็นการเจรจาโดยตรงระหว่างสองสโมสรคู่ค้า หลายสโมสรย่อมมีการดำเนินงานที่ต่างกันไป”
“อย่างในกรณีของผมจะมีความสนิทกับเจ้าของสโมสรไทยลีกบางทีม เราก็สามารถส่งนักเตะที่มีอยู่ในมือไปเสนอให้เขาได้ว่า เราดูแลคนไหนอยู่บ้าง? มีทีมไหนสนใจบ้างหรือไม่? สอบถามไปว่าปีนี้ทีมของพี่เล็งจะเสริมตำแหน่งไหนบ้าง?”
“เราทำหน้าที่ส่วนนี้มีบริษัทชัดเจน โปรไฟล์น่าเชื่อถือ การจะดึงตัวผู้เล่นที่เรามีคอนเทนคชั่นจาก โปรตุเกส, อังกฤษ หรือ สเปน แล้วคัดมาแล้วว่าฝีเท้าดีอยู่ก็นำไปเสนอได้ หน้าที่ของตัวแทนที่เป็นตัวกลางสำคัญคือจะทำให้จบดีลได้หรือเปล่า”
“บางกรณีที่เคยเจอกับตัวมา พานักเตะจะไปเซ็นสัญญาอยู่แล้ว ก็มีใครไม่รู้ติดต่อเข้ามาหานักเตะของเรา ว่าสนใจไปทีมนั้นทีมนี้มั้ย ปาดกันแบบนี้ก็มี เคสล่าสุดนี่กำลังจะเซ็นสัญญาเบื้องต้นกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งออนไลน์ แต่ก็มีเบอร์โทรเข้ามาหาพี่ พอโทรหาพี่ไม่รับก็ต่อหานักเตะโดยตรง แบบนี้ก็มีเหมือนกัน”
“อย่างในเคสถ้าเสนอชื่อตัวจากต่างประเทศ ที่ไม่เคยเล่นในไทยมาก่อน บางทีเสนอไปสโมสรก็เกิดการลังเลว่าผลงานจะดีจริงตามสถิติไหม มาเล่นในไทยแล้วจะไปได้หรือไม่”
“การติดต่อนักเตะจากต่างประเทศสักคนนึงมาไทย มันขึ้นอยู่กับคอนเนคชั่นของตัวแทนคนนั้นๆ ถ้าเป็นแบบถูกต้องก็ต้องมีการรับรอง มีใบอนุญาต เคยผ่านการจบดีลมาแล้วหลายคน สโมสรก็มั่นใจ แต่พวกที่ทำตัวเป็น เอเย่นต์ แต่ทำงานแบบแค่นายหน้าก็มี เดินงานไม่เป็นแบบนั้นการติดต่อมันก็จะยาก”
“การทำงานของพี่จะมีอคอนแทคตรงอย่างตัวใน เกาหลี และ ญี่ปุ่น อยู่แล้ว พอไปรวมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ก็จะมีการแชร์ข้อมูลนักเตะเพิ่มขึ้น แล้วก็มาดูเรื่องสัญญากับทางเลือกของนักเตะว่าจะไปไหนได้บ้าง เป็นรายๆ ไป”
“การกระจายโปรไฟล์นักเตะในเคสของพี่มันทำได้ง่าย แต่กลุ่มที่แอบอ้างเป็นนายหน้า เขาอาจจะไปติดต่อตามไอจีนักบอลหรืออะไรก็ว่าไป ความน่าเชื่อถือ การไปต่อขั้นต่อไป มันก็ต่างกัน”
ทุกวันนี้ตลาดเอเย่นต์ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่มีตัวแทนให้เลือกอยู่แค่ไม่กี่เจ้า กลายเป็นว่า โค้ช, นักฟุตบอล หรือใครก็ตามในวงการหันมาทำงานทางนี้กันเยอะ แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับว่าตัวของสโมสรเอง จะดำเนินการต่างๆ ด้วยตัวเอง แบบไม่ใช้คนกลางรึเปล่า เพราะถ้าพวกเขาทำได้เองมันก็เป็น วัน สต็อป เซอร์วิส
สุดท้ายแล้วการเลือกทั้งเอเย่นต์ที่ไว้ใจสามารถจบดีลได้ รวมไปถึงนักเตะที่มีดีกรีการันตีอยู่แล้ว ส่งผลดีต่อสโมสรในเรื่องของโอกาสของความเสี่ยงล้มเหลวของดีลที่จะเกิดขึ้น การมองหานักเตะหน้าใหม่ๆ เข้ามาเป็นการกระตุ้นให้ลีกดูน่าสนใจขึ้นก็จริง แต่ใช่ว่าจะการันตี ‘ความปัง’ ได้ทุกคน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
การสัมภาษณ์ออนไลน์
https://thinkcurve.co/e-eynt-thiimiiaib-nuyaatkh-ng-fiifaa-miipraoychncchringhruue-aimsamhrabwngkaarfutb-laithy/
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เทพนิยายภูธร : ‘สโมสร ดอนมูล’ ตำนานทีมระดับตำบลผู้พิชิตแชมป์ เอฟเอ คัพ
เมื่อครั้งหนึ่ง “อิชิอิ” เคยทำงานในโรงอาหาร หลังคว้ารองแชมป์สโมสรโลก
คล้ายตรงไหนบ้าง? : ศุภณัฏฐ์ นักเตะเงา โลซาโน่ ในสายตาสื่อต่างประเทศ
เวียดนามกร้าวก่อนซีเกมส์ : "4 ปีก่อน ทรุสซิเย่ร์ ก็เคยพาทีมเวียดนามยู 19 เอาชนะไทยมาแล้ว
เก่งในสนามไม่พอ : สาเหตุใด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถึงครองความยิ่งใหญ่ได้แบบยั่งยืน ?
บุรีรัมย์ ยังห่างแค่ไหน ? 10 สถิติไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้
ข่าวและบทความล่าสุด