คุยกับเอเย่นต์ : ทำไมทีมไทยลีกเริ่มนิยมใช้แข้งเกาหลีใต้ในโควต้าเอเชีย ?

คุยกับเอเย่นต์ : ทำไมทีมไทยลีกเริ่มนิยมใช้แข้งเกาหลีใต้ในโควต้าเอเชีย  ?
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

ท่ามกลางประเด็นการถกเถียงเรื่องโควต้านักเตะต่างชาติในศึก ไทย ลีก ที่มีทั้งฝ่ายที่ เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย เป็นธรรมดา จำนวนตัวเลขของโควต้าหนึ่งเดียวที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ นักเตะเอเชียซึ่งยังคงยึดไว้ที่สโมสรละ 1 ที่ แล้วต้องใช้มันอย่างคุ้มค่าเป็นประโยชน์ที่สุด

แน่นอนว่าแฟนบอลคงเดาได้ไม่ยากว่า โควต้าเอเชีย หากต้องการผู้เล่นที่มีการการันตีว่าฝีเท้าถึงระดับจริงๆ แล้วสามารถเรียกความนิยม จากแฟนบอลได้เป็นผลทางอ้อม จะเหลือเพียงแค่สองตัวเลือกเท่านั้นอย่าง ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้เอนเอียงไปฝั่งแดนอาทิตย์อุทัยมากกว่าเล็กน้อย

แต่ในปัจจุบันความนิยมได้เปลี่ยนกลับมาอยู่ฝั่ง ผู้เล่นจากเกาหลีใต้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว วัดได้จากจำนวนนักเตะมากถึง 9 คน ที่ค้าแข้งอยู่กับ 7 สโมสรที่แตกต่างกัน เป็นรองแค่นักเตะสัญชาติบราซิลที่มีจำนวนมากกว่าเท่านั้น ... แม้กระทั่ง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็กำลังจะคว้าตัวกองหลังชาวเกาหลีใต้อย่าง คิม มิน ฮยอก มาร่วมทีมอีกด้วย

คำตอบเรื่องกระแสเกาหลีฟีเวอร์ ติดตามได้ใน Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ปัจจัยในการทำการตลาด

สภาพสังคมไทยในตอนนี้ ต้องยอมรับกันตามตรงว่า ได้รับอิทธิพลหลายอย่างมาจากประเทศในแถบเอเชียอย่าง เกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ แฟชั่น, การเสพสื่อบันเทิง และ กีฬา ที่ค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาตามช่องทางออนไลน์

การเสพย์เพลงก็นิยมเพลง K-Pop ที่สาวๆ นิยมเต้นกันในแอปพลิเคชั่นหลายแพลตฟอร์ม, การชมซีรีย์ตามผู้ให้บริการก็ได้รับความนิยมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และ วงการกีฬาก็ได้รับอิทธิพลกับเขาไปด้วย เมื่อนักเตะเบอร์หนึ่งจากประเทศเกาหลีใต้อย่าง ซน ฮึง-มิน ระเบิดฟอร์มจนคว้ารางวัลดาวซัลโวร่วมในศึก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่แฟนบอลบ้านเราติดตามกันเป็นประจำ ความนิยมจึงพุ่งขึ้นแบบพรวดพราด

อ้างอิงจากข้อมูลงานวิจัยในเรื่อง "การตลาดบริการของสโมสรฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย" (ศรัณยู ยงพานิช, 2557)ตรงส่วนของบทคัดย่อ มีการกล่าวถึงเรื่องของ การสร้างภาพลักษณ์ และ การผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการของแฟนคลับ

Photo : Bentley University

เมื่อกระแส เกาหลีฟีเวอร์ กำลังคืบคลานเข้ามาในประเทศไทย ประเทศของเขาดำเนินการบริหารลีกอาชีพมาตั้งแต่ปี 1983 นับเป็นรุ่นพี่ของเราที่เริ่มต้นในปี 1996 ดังนั้นการนำเข้านักเตะจากประเทศเกาหลีใต้ ย่อมเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีผู้เล่นมากมายให้คัดสรรเข้ามาได้ตามสเปคที่ต้องการ

เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก กลายเป็นผลพลอยได้ ในการดึงดูดแฟนบอลเพิ่มฐานแฟนคลับให้กับสโมสร ปฏิเสธได้ยากว่าการที่ นักฟุตบอลคนใดคนหนึ่ง มีรูปร่างที่ฟิตสมส่วน บวกกับหน้าตาที่หล่อเหลา จะเป็นแม่เหล็กช่วยโปรโมทแคมเปญต่างๆ ให้กับสโมสร ได้ดีกว่าคัดเกณฑ์มาเฉพาะเรื่องของฝีเท้าล้วนๆ เพราะประเด็นนี้สามารถโยงใยไปถึงภาพลักษณ์ของสโมสรได้ด้วย

ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อปี 2527 อีกหนึ่งประเด็นที่สนับสนุนเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีด้านกีฬาฟุตบอล ระหว่างประเทศไทย กับ ประเทศเกาหลีใต้ คือ การที่ตำนานกองหน้าทีมชาติไทยอย่าง “เดอะ ตุ๊ก” น.อ. ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เคยไปค้าแข้งอยู่กับสโมสร ลัคกี้ โกลด์ สตาร์ พร้อมคว้ารางวัลดาวซัลโว และ แชมป์ เค ลีก สมัยแรกให้กับทีมมาแล้ว รวมไปถึงในรายของ ศศลักษณ์ ไหประโคน แบ็คซ้ายจาก บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่เคยย้ายไปอยู่กับ ชุนบุก ฮุนได มอเตอร์ส ด้วยสัญญายืมตัวเป็นช่วงเวลาสั้นๆ

Photo : Kenh14

นับว่าสองฝ่ายต่างเปิดตลาดเชื่อมความสัมพันธ์กันมาอย่างเนิ่นนาน ทางฝั่ง โสมขาว ก็เปิดรับเรื่องความสามารถในการเล่นฟุตบอลของนักเตะจากประเทศไทย จนกล้านำเข้าไปเป็นตัวหลักให้กับทีม แล้วก็สามารถเพิ่มฐานแฟนคลับในบ้านเราได้กลุ่มหนึ่ง ให้รู้จักกับลีกฟุตบอลในประเทศของพวกเขา

ซึ่งทางทีมงานได้มีการสอบถามกับ เอเย่นต์ในวงการบอลไทย ถึงประเด็นนี้จนได้ใจความสรุปออกมาว่า

“ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ฟุตบอล คือ ธุรกิจ อะไรที่สามารถเชื่อมได้ มันก็คือเงินหมด ถ้าถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับการตลาดมั้ยมันก็เกี่ยว พี่ตุ๊กไปแล้วประสบความสำเร็จมาก  ศศลักษณ์ไป ก็เป็นการปูทางให้กับคนอื่นๆ”

“นักบอลคนนึงไปต่างประเทศ มันไม่ได้ดูแค่เรื่องฝีเท้าในสนามอย่างเดียว แต่ต้องดูเรื่อง นิสัย และ พฤติกรรมของคนไทย ประกอบด้วย ซึ่งแม้พี(ศศลักษณ์)อาจจะไม่ได้ลงเยอะ แต่ด้วยสิ่งที่ฝากไว้ที่นั่น มันโอเคเลย…สำหรับการเปิดทางให้เพื่อนในอนาคต ไม่ใช่แค่วงการฟุตบอลอาชีพ แต่หมายรวมถึงธุรกิจฟุตบอล และกีฬาทุกประเภท ”

Photo : Goal

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการบอกเล่าเกี่ยวกับพฤติกรรมของแฟนบอลชาวเกาหลีใต้ ที่แสดงความน่ารักออกมาให้เห็น เพราะพวกเขาเป็น “ติ่ง” นักเตะชาติตัวเองแบบเต็มขั้น แล้วมีการตามนักเตะที่มาค้าแข้งอยู่ในประเทศไทย ถึงขนาดมีการ DM (Direct Message) ส่งข้อความส่วนตัวมาหาเอเย่นต์ เพื่อฝากซื้อเสื้อบอลส่งข้ามน้ำข้ามทะเลกลับไปอีกด้วย

จุดเด่นของนักเตะเกาหลีใต้ ?

จากการให้สัมภาษณ์ของคุณ เนวิน ชิดชอบ เปิดเผยเอาไว้ว่า การเสริมทัพของทีมใน ไทย ลีก ยังต้องพึ่งข้อมูลจากเอเย่นต์เป็นหลัก รวมไปถึงการหาข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ transfermarkt คร่าวๆ เกี่ยวกับ รูปร่าง, ตำแหน่งการเล่น และ ระยะเวลาสัญญา

เพราะไม่มีการส่งทีมงานแมวมองไปซุ่มดูเป้าหมาย ก่อนจะนำสถิติต่างๆ มาวิเคราะห์การเล่นว่า เข้ากับทีมได้หรือไม่? จะใช้ประโยชน์ได้ตรงส่วนไหนบ้าง?

โดยประเด็นสำคัญอีกอย่างก่อนจะพิจารณาเซ็นสัญญา คือ เรื่องของวินัยความเป็นมืออาชีพ หากรูปในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ มีแต่การปาร์ตี้สังสรรค์ เตรียมปัดตกไปได้เลยทันที

ซึ่งตรงจุดนี้นักเตะจากประเทศเกาหลีใต้ นั้นขึ้นชื่อเรื่องความฟิตเกินร้อย การดูแลร่างกาย และ ความมีระเบียบวินัยเป็นทุนเดิม หากผ่านช่วงเวลาในการเกณฑ์ทหารรับใช้ชาติมาแล้ว แทบไม่มีอะไรให้ต้องกังวล

Photo : Goal

เมื่อได้สอบถามข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับการทำงานของเอเย่นต์ ทางทีมงานได้รับคำตอบคร่าวๆ มาว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการรับใบสั่งไปหาผู้เล่น ตามความต้องการของสโมสรที่เป็นลูกค้าที่เป็นระดับผู้บริหารสโมสร ข้อมูลเบื้องต้น คือ ตำแหน่งอะไร? งบประมาณเท่าไหร่?

หลังจากนั้นก็จะไปดูนักฟุตบอล ที่อยู่ในงบประมาณที่ลูกค้าจ่ายได้ นับเป็นสารตั้งต้นแรก ซึ่งส่วนตัวทางเอเย่นต์รายนี้จะแบ่ง นักเตะเกาหลีใต้ ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. นักเตะที่ผ่านการเกณฑ์ทหารมาแล้ว ต้องมีโปรไฟล์ผ่านการลงเล่นลีกอาชีพโดยเฉพาะ เค ลีก 1 อายุจะอยู่ช่วง 29-31 ปี

2. นักเตะที่ยังไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร อายุไม่เกิน 27 ปี ยังไม่ผ่านการเล่น เค ลีก (ต้องการเก็บโปรไฟล์การค้าแข้ง) เพื่อเตรียมทำเรื่องย้ายกลับไปยัง เค ลีก ในอนาคต ซึ่งถ้าผ่านจะได้รับสิทธิพิเศษเรื่องการเกณฑ์ทหารบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เคสของ จอง ฮัน-ซอล กองหลังของ ขอนแก่น ยูไนเต็ด ที่มาไทย ตั้งแต่อายุ 25 ปี แล้วมีความทะเยอทะยานในการเล่นสูง เพื่อหวังให้ทีมบ้านเกิดสนใจดึงตัวกลับในอนาคต

Photo : Chonburi Football Club

ต่อมาก็เป็นการนำรายชื่อทั้งหมดมาผ่านโปรแกรมด้านสถิติให้เข้ากับการเล่นใน ไทย ลีก แล้วคัดกรองกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงด้านต่างๆ ออกไป ไม่ว่าจะเป็น ติดเหล้า, ติดการพนัน หรือแม้แต่เรื่องผู้หญิง

เป็นการการันตีว่า พอมาถึงไทยแล้ว จะไม่ทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อการค้าแข้งของเขา หรือทำให้ต้นสังกัดเสียภาพลักษณ์ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะได้รายชื่อของทั้งสองกลุ่ม มานำเสนอประมาณปีละไม่เกิน 10 คนเท่านั้น

นอกจากนี้ทางตัวของเอเย่นต์ ยังได้เปิดเผยถึงข้อได้เปรียบสำคัญของ นักเตะเกาหลีใต้ เอาไว้ว่า

“เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในชาติท็อปๆ ในแถบเอเชีย แม้ว่าจะเล่นบอลไม่หวือหวา แต่เล่นเป็นระบบ เล่นเป็นทีม มองเรื่องของประโยชน์ต่อทีมเป็นเรื่องแรก ค่าจ้างไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับชาติท็อปๆ ชาติอื่นในเอเชีย ในกรณีที่ระดับฝีเท้าเท่ากัน ค่าจ้างของพวกเขาจะลดลงมานิดหน่อย รายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ลีกไทย สำหรับนักเตะเกาหลีใต้ จะตกอยู่ที่ราว 7 หลักต่อเดือนหลังหักภาษี”

Photo : Police Tero FC

“เรื่องของวินัยเต็ม 10 อย่างน้อยต้องมีสัก 8 บางรายคือเต็มสิบเลย นักบอลเกาหลีใต้ทุกคน ถูกปลูกฝังให้มาเล่นตามแท็คติก ไม่เช่นนั้นอาจถูกคาดโทษจากโค้ชได้ ด้วยการดร็อปไม่ให้ลงสนาม”

“การสื่อสารภาษาอังกฤษ มีการเลือกกลุ่มที่มีพิ้นฐานภาษาอังกฤษอยู่แล้ว หรือไม่ก็ต้องเป็นนักเตะที่พร้อมจะเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง ดังนั้นในส่วนนี้ก็ไม่ใช่ปัญหา ขนาด ยู บยอง-ซู ที่เคยไปค้าแข้งในลีกของซาอุดดิอาระเบีย แล้วพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ยังพยายามด้วยการไปเรียนกับคนขับรถมาแล้วเลย”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เพราะเหตุใดแข้งฟิลิปปินส์จึงเป็นโควต้าอาเซียนยอดนิยมของไทยลีก? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง การปรับโควต้าการลงทะเบียนนักเตะต่างชาติในศึก ไทยลีก จากเดิม 3 (ต่างชาติ)+1 (เอเชีย)+3 (อาเซียน) ให้กลายมาเป็น 5 (ต่างชาติ)+1 (เอเชีย) + ไม่จำกัด (อาเซียน) ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวกับสโมสรที่ทำทีมพอสมควร


ภาพรวมในอนาคต

เมื่อเหล่านักเตะเกาหลีใต้ ที่ย้ายมาเล่นใน ไทย ลีก แล้วต่างทำผลงานได้ดี ย่อมมีโอกาสที่หลายสโมสร พร้อมดึงจะดึงเอาผู้เล่นจากชาตินี้เข้ามาอีกแน่นอนในอนาคต เพราะได้นักเตะที่ตรงตามความต้องการ ในราคาที่จ่ายไหว ค่าจ้างไม่แพงจนเกินไป ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง

โดยแฟนบอลต้องไม่เอาบรรทัดฐานค่าจ้างของทีมระดับหัวแถวเป็นเกณฑ์ แล้วทำความเข้าใจหัวอกของสโมสรด้วย ว่ามีงบประมาณในการทำทีมจำกัด จึงต้องมีการตั้งเกณฑ์ค่าจ้างเอาไว้ตามงบประมาณการบริหารทีมในแต่ละปี หากไปทุ่มเต็มที่แล้วไม่ประสบความสำเร็จ สู้เลือกทางที่คุ้มค่าคุ้มราคา ย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่า

Photo : PT Prachuap FC

ยิ่งไปกว่านั้นทางตัว เอเย่นต์ ยังกล่าวถึงประโยชน์ที่ ไทย ลีก จะได้รับจากผู้เล่นเกาหลีใต้เอาไว้ว่า

“เราได้จะซึมซับความเป็นมืออาชีพมากขึ้น จากกลุ่มนักเตะเกาหลีใต้ที่คัดเลือกมาแล้ว เพราะพวกเขาผ่านลีกอาชีพมาแล้ว ขนาดตอนซ้อมยังใส่กันเต็มร้อย”

“พวกกลุ่มนักเตะจากชาตินี้ส่วนใหญ่ที่มีประสบการณ์ร่วมกันมา จะมาถึงสนามซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเวลานัดเสมอเป็นชั่วโมงๆ ทำเป็นกิจวัตรประจำ

“หากนักบอลไทย มองเห็นตัวอย่างการกระทำต้นแบบเหล่านี้ แล้วมองว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และปฏิบัติตาม ย่อมเป็นข้อดีต่อตัวพวกเขาเอง”

แล้วใช่ว่าทางฝั่งประเทศไทยจะเป็นฝ่ายนำเข้าเพียงฝั่งเดียว แต่ทางฝั่งเราก็มีแผนจะส่งออกนักเตะไปยัง เค ลีก เช่นกัน ในฤดูกาลที่ผ่านมา ก็มีดีลที่เกือบจะสำเร็จไปแล้วด้วย เพียงแต่ติดเรื่องของช่วงเวลาการแข่งขันของลีกที่ลงตัว เลยส่งผลให้การเจรจาล่มไปอย่างน่าเสียดาย แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเป็น “สัญญาณที่ดี” ให้แฟนบอลไทยได้แอบชื่นใจ แล้วฝันไปไกลกันได้บ้าง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

จากเมืองทองฯ ถึง ท่าเรือฯ : รวมดาวทีมชาติไว้ในสโมสรเดียวกันได้ประโยชน์จริงหรือ?

เพราะเหตุใดแข้งฟิลิปปินส์จึงเป็นโควต้าอาเซียนยอดนิยมของไทยลีก?

ชินภัทร ลีเอาะ : การกำเนิดสิงห์ฟรีคิกที่ซุ่มซ้อมมา 4 ปี

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://doi.nrct.go.th/ListDoi/listDetail?Resolve_DOI=10.14457/MU.the.2014.262

https://en.wikipedia.org/wiki/Thai_League_1

https://en.wikipedia.org/wiki/K_League_1

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A9%E0%B9%8C_%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99

https://www.youtube.com/watch?v=YuaWQis_cmo

https://www.transfermarkt.com/

การสัมภาษณ์ออนไลน์

แชร์บทความนี้
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ