จากเมืองทองฯ ถึง ท่าเรือฯ : รวมดาวทีมชาติไว้ในสโมสรเดียวกันได้ประโยชน์จริงหรือ?
การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ลีกประจำประเทศต่างๆ จุดมุ่งหวังของชาติเจ้าภาพ คือ ต้องการพัฒนาศักยภาพนักเตะชาติตัวเอง ให้มีศักยภาพพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป ขนาดลีกชั้นนำอย่างศึก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ รวมไปถึงการแข่งขันชิงแชมป์ระดับทวีป ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ยังมีการกำหนดโควต้า HG (Home Grown) เพื่อบังคับให้สโมสรต่างๆ จำเป็นต้องใช้นักเตะท้องถิ่นจากชาติตัวเอง หรือ กลุ่มที่ค้าแข้งหรือได้รับการฝึกสอนตามระยะเวลาที่กำหนด
อย่างไรก็ตามการแข่งขัน ไทยลีก ยังมีประเด็นเรื่องโควต้านักเตะต่างชาติ ที่แฟนบอลห่วงกันว่าจะมาปิดกั้นโอกาสของนักเตะไทย หลายทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันในกลุ่มที่มีเม็ดเงินการทำทีมหนาปึ้ก จึงพยายามเสริมขุมกำลังให้เท่าเทียมกันทั้งสองทาง รวมทั้งตัวท็อปจากต่างชาติ และ ตัวท็อปทีมชาติไทย มาไว้ในทีมเดียวกันทั้งหมด แต่ความคิดนั้นมันส่งผลประโยชน์จริงหรือ หาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
รวมเอาไว้เพื่อความเข้าขา?
ประโยชน์ในจุดนี้ หากมองภาพผ่านๆ การรวมเอาตัวผู้เล่นทีมชาติเอาไว้สโมสรเดียวกัน พวกเขาจะได้ซ้อมทีมร่วมกันตามโปรแกรมของสโมสรตามตารางแน่ๆ เพียงแต่ว่า ไม่มีใครสามารถเดาใจผู้ฝึกสอนของแต่ละทีมได้เลยว่า จะเลือกใช้แทคติกแผนการเล่นแบบไหน? เตรียมจัดผู้เล่น 11 ตัวจริงไว้เช่นไรในแต่ละเกม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดจากลีกต่างประเทศ คือ ประเด็นของ ลุค ชอว์ และ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ สองผู้เล่นทีมชาติอังกฤษ ที่สังกัดอยู่สโมสรเดียวกันอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนว่า การอยู่ทีมเดียวกัน อาจไม่ได้ประโยชน์เสมอไป เป็นเรื่องของการได้ลงสนามเป็น “ตัวจริง”
แน่นอนว่า ชอว์ นั้นกำลังทำผลงานได้อย่างโดดเด่น จึงกลายเป็นแบ็คซ้ายเบอร์หนึ่งในทีมของ เอริค เทน ฮาก เทรนเนอร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ที่เพิ่งเข้ามารับงานในฤดูกาลนี้ ด้วยการเบียดเอาชนะ ไทเรลล์ มาลาเซีย แบ็คซ้ายตัวใหม่ เป็นตัวจริงได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนสถานการณ์ของ แม็คไกวร์ นั้นแตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง ต้องตกเป็นตัวสำรองตัวเลือกท้ายๆ เพราะฟอร์มการเล่นที่ออกทะล ยิ่งไม่ได้ลงสนามต่อเนื่องนานเข้า ความมั่นใจก็หดหาย แต่ยังได้รับความไว้วางใจในทีมชาติ เพราะทาง แกเร็ธ เซาท์เกต กุนซือทัพ สิงโตคำราม ยังเชื่อมั่นในฝีเท้าของกองหลังรายนี้ แล้วได้ออกมากล่าวสนับสนุนความคิดของตัวเองเอาไว้ว่า
“ผู้จัดการทีมต้องมั่นใจในการตัดสินใจของตัวเองอยู่เสมอ และทีมงานของเรารู้สึกว่าเขายังเป็นผู้เล่นสำคัญสำหรับทีมชุดนี้”
แม้ว่าฟอร์มการเล่นในระดับชาติของ แม็คไกรว์ จะโดดเด่น แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้สถานการณ์ของเขาในสโมสรดีขึ้นเลย เฮดโค้ชชาวเนเธอร์แลนด์ เคยลองใช้สองคนนี้เล่นร่วมกันทางแนวรับฝั่งซ้ายมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่เท่าที่ควร จนมีข่าวลือเรื่องการย้ายทีม แล้วทาง เทน ฮาก ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า
“มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขาไม่อยากอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้อีกต่อไปแล้ว ผมมีความสุขที่มีเขาอยู่ในทีมตามที่ผมบอกกับตัวเขาเองและหน้าสื่อต่างๆ ผมสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองด้วยว่าจะช่วยทีมได้มากแค่ไหน”
จากประเด็นดังกล่าวหากนำมาเทียบกับสถานการณ์ของนักเตะทีมชาติไทย ยกตัวอย่างให้เห็นกันง่ายๆ แบบที่ไม่มีความตั้งใจจะโจมตีหรือมุ่งร้ายกับสโมสรใดเป็นพิเศษ กรณีของ เบน เดวิส, บดินทร์ ผาลา, ปกรณ์ เปรมภักดิ์ และ ปฐมพล เจริญรัตนาภิรมย์ ล้วนเป็นผู้เล่นตัวริมเส้นที่อยู่กับสโมสรการท่าเรือ แล้วยังเป็นตัวเลือกในโผของทีมชาติไทย
ในเกมลีกนัดล่าสุดมีเพียงแค่สองคนจากสี่คน ที่ได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริง คือ เดวิส และ ปกรณ์ ส่วนที่เหลือต้องนั่งรอโอกาสที่ม้านั่งข้างสนาม ยังไม่นับรวมถึง วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ เพลย์เมคเกอร์อีกหนึ่งรายที่ถูกเปลี่ยนตัวลงมา ซึ่งจะหวังให้ไปใช้การประสานงานที่เข้าขารู้ใจในระดับทีมชาติ คงเป็นไปได้ยาก เพราะเอาแค่ได้ลงพร้อมหน้าพร้อมตากัน ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว
การหยุดพัฒนาการฝีเท้าของเหล่าดาวรุ่ง
ในส่วนของมุมมองของนักเตะดาวรุ่ง การที่มีทีมยักษ์ใหญ่มาชักชวนให้ความสนใจ ย่อมเป็นโอกาสที่ปฏิเสธได้ยาก เพราะนั่นหมายถึงจังหวะการก้าวกระโดดแบบข้ามขั้นในอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ หรือแม้แต่การอยู่กับสโมสรที่ระดับสูงกว่าเดิม
ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก ที่ทุกวันนี้สโมสรจาก ไทยลีก จะมีการจับจองเหล่าผู้เล่นฝีเท้าดีอายุยังน้อย ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนขาสั้น เพื่อดึงตัวเข้ามาปลุกปั้นในอะคาเดมี่ ซึ่งในจุดนั้นเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ในประเด็นการสร้างความมั่นคงเรื่องรายได้
หากดีกรีของพวกเขาเหล่านั้น ยังไม่ใช่ระดับทีมชาติชุด อายุต่ำกว่า 23 ปี หรือ ทีมชาติชุดใหญ่ ที่อยู่ในช่วงอายุเข้าเกณฑ์จะไปแข่งขันรายการสำคัญๆ ที่ตั้งเป้าไว้สูง แต่ถ้าไปถึงระดับดังกล่าว แล้วถูกดึงตัวเอามาดอง ไม่ได้โอกาสลงเล่นแบบที่ควรจะเป็น ก็จะกลายข้อเสียทันทีในเรื่องพัฒนาการของฝีเท้า อย่างที่ควรจะเป็นในแต่ละช่วงวัย
ยกตัวอย่างเช่น ทิตาวีร์ อักษรศรี และ ทิตาธร อักษรศรี สองผู้เล่นฝาแฝดในตำแหน่งแนวรับ ซึ่งแจ้งเกิดได้ในทัวร์นาเมนต์ศึก U-23 ชิงแชมป์เอเชีย ที่เลือกย้ายไปอยู่กับ การท่าเรือ แล้วให้สัมภาษณ์รวมๆ ในช่วงเปิดตัวเอาไว้ว่า
“การย้ายทีมครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายก้าวสำคัญในเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งจะพยายามทำงานของตัวเองอย่างหนักที่สุด ด้วยความตั้งใจทั้งในและนอกสนาม”
“พวกเราหวังจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมการท่าเรือ เพื่อให้ทีมบรรลุเป้าหมายสูงสุดอย่างที่มุ่งหวัง”
อย่างไรก็ตามความหวังของเขาทั้งคู่ กลับไม่เป็นไปตามคาด เพราะได้โอกาสลงเล่นเพียงน้อยนิด นับเฉพาะจำนวนเกมในลีกกับต้นสังกัดใหม่ ยังลงไปไม่ถึง 10 นัด ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวไปให้กับ ประจวบ เอฟซี ยืมไปใช้งานเพื่อเก็บประสบการณ์ในฤดูกาลที่แล้ว จึงได้ลงสนามจำนวนเกมแตะสองหลักเสียที
ตอนนี้สองแฝดอายุปาเข้าไป 25 ปีเข้าให้แล้ว การเล่นให้กับทีมชาติไทย ต้องขยับขึ้นไปอยู่ชุดใหญ่แบบเต็มตัว ซึ่งการทิ้งช่วงเวลาเกือบสองปี แล้วไม่ค่อยได้ลงเล่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้สัมผัสเกมจริงๆ พัฒนาการต่างๆ ย่อมไม่เป็นไปตามเป้า ต่อให้มีพรสวรรค์ แต่ไม่มีเวทีให้โชว์ของ อาวุธที่เคยแหลมคมก็มีสิทธิ์จะทื่อไปดื้อๆ ได้ไม่ยาก
ต่อให้แฟนบอลจะมองในมุมกลับกันว่า ถ้าฝีเท้าดีจริงโค้ชก็จะเลือกส่งลงสนามเอง เพราะเป็นด่านสุดท้ายในการตัดสินใจ แต่ถ้าในทีมเต็มไปด้วยทั้งนักเตะต่างชาติ ที่มีประสบการณ์เหนือกว่า รุ่นพี่ในทีมชาติที่ขวางหน้าอยู่ ความเป็นไปได้นั้นย่อมถูกลดทอนลงไปแบบปฏิเสธได้ยาก ในเมื่อดีกรีต่างๆ ยังนำมาใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินได้เช่นกัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอามาได้…แต่ต้องให้ลงสนามด้วย
เรื่องการเรียกตัวนักเตะไทย ไปติดทีมชาติชุดใหญ่ ภายใต้การทำทีมของ มาโน่ โพลกิ้ง ตามการแข่งขันรายการต่างๆ ก็ยังเป็นประเด็นให้แฟนบอลถกเถียงกันได้ตามสื่อออนไลน์อยู่เสมอ ยากที่เลือกได้ตรงใจแฟนบอลทุกคน ไปเสียทุกตำแหน่ง
อย่างไรก็ตามหากมองจากรายชื่อชุดแชมป์ อาเซียน คัพ ครั้งล่าสุด เชื่อว่า มาโน่ คงเลือกผู้เล่นที่เขาได้เห็นฟอร์มการเล่น จากการลงสนามให้กับต้นสังกัดอย่างต่อเนื่องเป็นหลัก ไม่ได้ตัดสินจากดีกรีแต่เก่าก่อน หลายคนที่เคยมีชื่อติดทีมก่อนหน้านี้เลยหลุดไป
ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องของการหวงตัวผู้เล่นจากสโมสรต้นสังกัดในช่วงการแข่งขันที่ไม่ใช่ปฏิทินฟีฟ่าเดย์ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องนำมาขบคิด เพราะตัวสโมสรเป็นค่าลงทุนจ่ายค่าเหนื่อย ลงทุนไปหนัก ต้องการเก็บผู้เล่นให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมที่สุด เพื่อสู้ศึกชิงแชมป์รายการต่างๆ แฟนบอลก็ต้องเข้าใจในจุดนี้ด้วยเช่นกัน
การรวมดาวทีมชาติไว้ในทีมเดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องผิดในมุมมองของผู้บริหาร ที่ต้องการมีขุมกำลังทีมที่แข็งแกร่งที่สุด เพื่อลุ้นแชมป์ตามเป้าหมายรายการต่างๆ ที่ตั้งเป้าเอาไว้ในแต่ละฤดูกาล ซึ่งเป็นการสร้างความสุขให้กับแฟนบอลในบั้นปลาย
ถ้าโค้ชของทีมกล้าที่จะใช้นักเตะทีมชาติไทยเป็นแกนหลักจริง มองว่าฝีเท้า ฟอร์มการเล่นต่างๆ เหนือกว่าตัวอื่นๆ ที่มีอยู่ในมือ เคยมีสโมสรทำแบบนั้นให้เห็นมาแล้ว คือ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ยุคปี 2559 ที่คว้าแชมป์ ไทยลีก และครองแชมป์ โตโยต้า ลีก คัพ ร่วมกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
โดยขุมกำลังทีมชาติไทยของ กิเลนผยอง ในยุคนั้น มีทั้ง กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ เป็นประตูมือหนึ่ง แนวรับมีทั้ง ธีราทร บุญมาทัน, ทริสตอง โด, พีรพัฒน์ โน้ตชัยยา และ อดิศร พรหมรักษ์ กองกลางก็จัดเต็มทั้ง สารัช อยู่เย็น, ธนบูรณ์ เกษารัตน์, วัฒนา พลายนุ่ม และ ชนาธิป สรงกระสินธ์ กองหน้าก็มีทั้ง ธีรศิลป์ แดงดา และ อดิศักดิ์ ไกรษร เรียกว่า จัดมาแบบเต็มระบบ
การปรับเปลี่ยนให้โอกาสผู้เล่นลงสนามแบบเฉลี่ยเท่าๆ กัน ยึดตัวหลักบางตำแหน่ง หมุนเวียนนักเตะในบางเกม ถูกนำมาใช้ได้อย่างลงตัว เท่านี้เทรนเนอร์ทีมชาติก็จะได้เห็นฟอร์มนักเตะแบบทั่วถึง มีตัวเลือกในใจเพิ่มมากขึ้น เป็นประโยชน์ทุกทางไม่ว่าจะเป็น สโมสร, ทีมชาติ และ ตัวนักเตะ เองด้วย
ชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสีย
สรุปรวมแล้วการทำทีมแบบรวมดาวทีมชาติ มากองกันไว้ในสโมสรเดียว ไม่ใช่เรื่องที่ “ผิด” สำหรับมุมมองของผู้บริหาร ที่ต้องการพาทีมประสบความสำเร็จ การมีขุมกำลังที่แข็งแกร่งเต็มร้อย ส่งมอบให้ไปอยู่ในมือของผู้ฝึกสอน ก่อนจะถูกนำไปปรุงแต่ง ให้ออกมาลงตัวกับทีมที่สุด ย่อมเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แถมแฟนบอลยิ่งถูกใจไปกันใหญ่
เพียงแต่ต้องคิดถึงอนาคตของผู้เล่นเช่นเดียวกัน หากซื้อเข้ามาเสริมทัพ เพราะต้องการให้เป็นตัวหลักจริงๆ เติมในส่วนที่ขาด ปรับปรุงทีมให้ดีขึ้น แล้วให้โอกาสผู้เล่นรายนั้นๆ ได้ลงสนามพัฒนาฝีเท้าอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นผลดีสำหรับทุกฝ่าย ยิ่งได้ลงเผชิญหน้ากับนักเตะต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามา จะเป็นการเติมประสบการณ์ให้แกร่งขึ้นเร็วแบบก้าวกระโดด
การมีตัวทีมชาติไทย พูดภาษาเดียวกัน สื่อสารกันได้เข้าใจแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ลงสนามพร้อมๆ กัน ทำให้การประสานงานของทีมนั้นไหลลื่นแน่นอน แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เกมที่ไม่เน้นมากถึงลอง ต้องกล้าเสี่ยงในทุกเกม ด้วยความมั่นใจในศักยภาพนักเตะที่เลือกเข้ามาแบบไม่มีข้อสงสัย ในอนาคตตัวเลือกนักเตะทีมชาติชุดต่างๆ ก็จะมีให้เลือกมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาแต่ผู้เล่นหน้าเดิมๆ
อย่างไรก็ตามหากใช้เม็ดเงินลงทุนสูง เพียงเพื่อว่าจะ “กั๊ก” ขุมกำลังของนักเตะ ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของทีมคู่แข่งร่วมลีก แล้วไม่ให้โอกาสพวกเขาลงสนามโชว์ฝีเท้าแบบที่ควรจะเป็น การกระทำแบบนั้นคงไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก เพราะเป็นการตัดอนาคตของผู้เล่น ที่กำลังก้าวหน้าในอาชีพและฝีเท้า ถ้ามีเวทีได้พิสูจน์ตัวเอง
ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจทำการใดๆ ควรชั่งน้ำหนัก คิดให้ดีเสียก่อนจะลงมือ เพราะมันไม่ได้ส่งผลต่อทรัพย์สินของทีมเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรของ “ทีมชาติไทย” ด้วยเช่นกัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ซื้อจริงจ่ายจริง : 10 อันดับนักเตะไทยค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์
Y2K เดอะ ซีรี่ส์ : เรื่องเล่าสมัยไทยลีกยังเต็มไปด้วยขาโหดจาก "รุ่งโรจน์ สว่างศรี"
Y2K เดอะ ซีรีส์ : เปิดตำนาน “ชลขาโหด” ของ ชลทิตย์ จันทคาม
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://www.transfermarkt.com/port-fc/startseite/verein/27092
https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/man-utd-ten-hag-maguire-28718026
https://www.theguardian.com/football/2022/nov/20/gareth-southgate-biggest-england-gamble-harry-maguire-loyalty-world-cup
ข่าวและบทความล่าสุด