กระบี่อยู่ที่ใจ : สตั๊ดชั้นดีทำให้นักเตะเก่งขึ้น…หรือแค่คิดไปเอง ?
กระแสดราม่าของวงการเครื่องเสียงปะทะกับไอที ประเด็นเรื่องของสายแลนเทพ ส่งผลให้ชุดการใช้งานเครื่องเสียงมีศักยภาพดีขึ้นจริงหรือไม่? ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน เนื่องจากบุคลากรตัวท็อปที่เกี่ยวข้องแต่ละฝั่ง ล้วนมีมุมมองและข้อมูลอ้างอิง นำมาโต้แย้งหาข้อพิสูจน์กันแบบไม่รู้จบ
แน่นอนว่าหากมองมาถึงวงการฟุตบอล อุปกรณ์ที่ใช้ทำมาหากินและเป็นอาวุธคู่ใจของนักฟุตบอลอาชีพอย่าง ‘สตั๊ด’ ซึ่งมีหลากหลายเกรด หลากหลายวัสดุ อุดมไปด้วยเทคโนโลยีที่ต่างกัน ย่อมมีคำถามเกิดขึ้นในเชิงเดียวกันว่า ‘เปลี่ยนสตั๊ดแล้วทำให้ผลงานการเล่นดีขึ้นจริงหรือไม่? หรือมีความเปลี่ยนแปลงใดบ้างเกิดขึ้นกับตัวผู้ใช้คนนั้นๆ’
จากจุดเชื่อมโยงตรงจุดนี้ทีมงานจึงพร้อมเก็บข้อมูลสินค้าจากผู้ผลิตมาเป็นตัวอย่าง พร้อมกับสอบถามเกี่ยวกับความรู้สึกของ นักฟุตบอลอาชีพ และ โค้ช เพื่อให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งพวกเขาล้วนเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องและผ่านการใช้งานมาจริง แต่คำตอบที่ได้มานั้นจะเป็นเช่นไร? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
รองเท้าสตั๊ดสำคัญยังไง
สตั๊ด ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับนักฟุตบอลทุกตำแหน่ง ไม่ว่าเล่นตรงส่วนไหนของสนาม ย่อมต้องพึ่งพารองเท้าชนิดนี้ ที่มีความแตกต่างเรื่องของปุ่มรองเท้าด้านล่าง ซึ่งใส่เข้ามาเพื่อยึดเกาะพื้นผิวของสนามหญ้าและดินด้านล่าง หากใช้รองเท้าปกติทั่วไปลงเล่นอาจจะก่อให้เกิดการเสียการทรงตัวได้ง่าย
ผลิตภัณฑ์ที่แบรนด์กีฬาชั้นนำคิดค้นและผลิตออกมาวางจำหน่าย มีให้ผู้บริโภคเลือกใช้กันหลากหลาย ต่างกันที่วัสดุ, เทคโนโลยี และช่วงราคา ที่จำเป็นต้องตอบโจทย์ตลาดของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมาก-น้อยไม่เท่ากันตามงบประมาณที่มีในกระเป๋า ดังนั้นช่วงราคาของสินค้าชนิดนี้จึงมีทั้งถูกไปถึงแพงหูฉีก
วัสดุพื้นผิวของสตั๊ดมีทั้งแบบทำจากหนังแท้ ที่แยกย่อยไปอีกว่าเป็นหนังจากสัตว์ชนิดใด ยกตัวอย่างเช่น หนังวัว และ หนังจิงโจ้ ซึ่งมีคุณสมบัติที่ยืดหยุ่นง่ายต่อการดูแลรักษาและมีความทนทาน ส่วนตัวหนังสังเคราะห์ก็มีการผสมผสานวัสดุแต่ละชนิดที่แต่ละแบรนด์เลือกใช้ ซึ่งบางรุ่นก็จะมีช่วงราคาที่ถูกกว่าเล็กน้อยในช่วงทำตลาดแรกๆ
แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้าตัวสตั๊ดหนังเทียม แทบจะมีคุณภาพไม่ต่างจากหนังแท้มากเท่าไหร่แล้ว เผลอๆ บางรุ่นสามารถเคลมได้เต็มปากว่ามีคุณภาพทัดเทียมกันด้วย
การทำตลาดสินค้าในวงการฟุตบอล จำเป็นต้องหาตัวพรีเซนเตอร์ที่เป็นนักเตะชื่อดังมากระตุ้นยอดขายในแต่ละรุ่นแต่ละซีรี่ส์ที่ผลิตออกมา ซึ่งยุคแรกๆ ผู้เล่นอย่าง เดวิด เบ็คแฮม ก็ได้รับการติดต่อจาก อดิดาส ให้เป็นพรีเซนเตอร์ของรองเท้ารุ่นพรีเดเตอร์
ต่อมาในยุคหลังที่แฟนบอลพอจะคุ้นชินกัน หนีไม่พ้น คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ดาวยิงสูงสุดตลอดกาลทีมชาติโปรตุเกส กับรองเท้าแบรนด์ ไนกี้ รุ่น เมอร์คิวเรียล เวเปอร์ และ ลิโอเนล เมสซี่ จอมทัพแชมป์โลกจากทีมชาติอาเจนติน่ากับที่ผูกสัญญากับแบรนด์อดิดาส ที่ใช้งานมาแล้วหลากหลายรุ่น อาทิ F30, F50 และตัวล่าสุดที่จะออกมาทำตลาดอย่าง Leyenda 2.0 ซึ่งบางซีรีส์จะมีการทำออกมาเป็นซิกเนเจอร์เฉพาะตัวพรีเซนเตอร์คนนั้นๆ ในช่วงเวลาที่ทีมการตลาดมองแล้วว่าเหมาะสม
แบรนด์กีฬาในประเทศไทยอย่าง แพน (Pan) ที่ทำตลาดด้านอุปกรณ์กีฬามาตั้งแต่เป็นแผนกในเครือของบริษัทไลอ้อนประเทศไทย จนประสบความสำเร็จแล้วแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศชื่อว่า บริษัท บางกอกแอธเลติก ตั้งแต่ปี 1977 ถือว่าเป็นแบรนด์ได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าในบ้านเราและต่างประเทศเป็นอย่างดี
แคมเปญที่มีสโลแกนว่า ‘คนไทยใส่แพน’ ช่วยกระตุ้นยอดขายของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มรองเท้าฟุตบอลที่เป็นแบรนด์ไทย มีราคาจำหน่ายไล่เรียงระดับตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหลายพันบาท ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าตั้งแต่เป็นนักเรียนไปจนถึงนักบอลอาชีพ
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการดึงเอานักเตะตัวท็อปของทีมชาติไทยอย่าง ‘อุ้ม-ธีราทร บุญมาทัน’ มาเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ พร้อมผลิตรองเท้าที่เป็นซิกเนเจอร์เฉพาะออกมาวางจำหน่ายอีกด้วย ซึ่งกระแสของสตั๊ดรุ่น T5 กระแสตอบรับที่ดีจากแฟนๆตามคาด
โดยตัวของ ธีราทร เคยออกมาให้สัมภาษณ์กับช่อง ฟุตบอล 108 ถึงความเกี่ยวข้องของเขาในกระบวนการผลิตรองเท้ารุ่นนี้เอาไว้ว่า
“จริงๆ ต้องขอบคุณพี่แชมป์ (ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน) ทำให้ดีลนี้ประสบความสำเร็จ แกบอกว่า แพน เขามีโปรเจ็คท์ไปที่เวียดนามมา เห็นทางนั้นเขาผลิตรองเท้ามาสักรุ่นนึง แล้วเอารูปนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติมาติดที่กล่องแล้วช่วยกระต้นยอดขายได้ดี ทาง แพน เขาเลยอยากเอารูปผมไปติด”
“แต่ความรู้สึกของผม คือ ถ้าผมไม่ได้ใส่เอง มันไม่ได้การันตีด้วยตัวผม เลยเสนอว่า ทำไมแพนไม่มาทำรองเท้าให้ผมเลยล่ะ หลังจากนั้นพี่แชมป์ก็ไปติดต่อกับผู้บริหาร เขาก็โทรมาพูดคุยปรึกษากับผม เขาก็ดีใจที่ผมสนใจแบรนด์ของเขา แต่ในมุมของผมสินค้ามันต้องทำออกมาให้ดีด้วย…ผมถึงจะการันตีให้ได้”
“ทางแพนเอาเครื่องไม้เครื่องมือมาวัดขนาดเท้าดูเป็นมืออาชีพ พร้อมขอเวลาสามครั้งในการแก้แบบให้ผมใส่ได้สบายและดีที่สุด ใช้เวลาปรับแก้ลงรายละเอียดราว 6-7 เดือนจนออกมาเป็น T5 ตัวสมบูรณ์”
“สตั๊ด มีส่วนสำคัญเป็นเครื่องทำมาหากิน ทุกอย่างที่ออกจากเท้าของผมไปต้องมีความหมายทุกลูก เพราะว่าผมต้องเน้นทุกลูกที่ออกจากเท้าผม เนื่องจากมันคือเครดิตของเรา จึงต้องซีเรียสเรื่องของรองเท้าที่ใช้งาน”
ตัวของ อุ้ม อธิบายถึงรายละเอียดที่เขามีส่วนร่วมปรับแก้และพัฒนารองเท้ารุ่นซิกเนเจอร์ของเขา ตั้งแต่การเลือกวัสดุหนังจากยุโรปที่มีให้เลือก 4 ชนิด แล้วเขาเลือกตัวที่หนึบที่สุดเพื่อช่วยในการจับบอลแรก และ เชือกรองเท้าที่ต้องปรับแก้ให้มีความยืดหยุ่น ซึ่งก็ต้องให้เครดิตกับทาง แพน ที่ทำออกมาได้ตรงความต้องการของเขาอย่างครบถ้วน
คุณภาพสตั๊ดมีผลต่อการเล่นของนักบอลหรือไม่
เรื่องของการใช้งาน ธีราทร อธิบายเกี่ยวกับการทดสอบรองเท้าของเขาเอาไว้ว่า การเล่นของเขานั้นต้องควบคุมบอลด้วยความรู้สึกที่สัมผัสกับเท้า เหมือนกับว่า สตั๊ด เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ดังนั้นแม้แต่เรื่องของสีก็มีผลต่อการใช้งาน
การที่เขาเลือกสีส้มที่เป็นสีที่ชอบส่วนตัว จะช่วยในเรื่องของการจ่ายบอล เพราะสามารถชายตามองได้ว่า ส่วนไหนของเท้านั้นกระทบลูกฟุตบอลบ้าง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อทิศทางและคุณภาพในการออกบอลแต่ละจังหวะ แล้วมันเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสร้างผลงานในสนามของเขา จึงจำเป็นต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด
แต่หากจะเก็บแค่ชุดข้อมูลจาก ธีราทร ที่เป็นพรีเซนเตอร์รองเท้าเพียงรายเดียว อาจดูเฉาพเจาะจงเหมือนกับการขายของมากไป ทีมงานจึงได้มีการติดต่อสอบถามไปยังนักเตะที่ผันตัวมาเป็นโค้ช เพื่อให้ความคิดเห็นกับประเด็นนี้อีกสองรายด้วยกัน คือ “โค้ชธง-ธงชัย สุขโกกี” กุนซือของสโมสร บีจี ปทุม ยูไนเต็ด และ ‘ใหญ่ นิลวงษ์’ อดีตนักเตะอาชีพที่ผ่านการเล่นมาหลายระดับ แล้วปัจจุบันผันตัวไปเป็นโค้ชให้กับทีมบอลเดินสาย
ซึ่งทาง โค้ชธง ที่ทำงานกับนักเตะมาแล้วหลายระดับตั้งแต่ลีกล่างๆ จนถึงโอกาสที่ได้มาคุมซูเปอร์สตาร์ชั้นนำของ ไทยลีก แชร์มุมมองสั้นๆ ไว้ว่า
“อุปกรณ์ทุกชนิดของนักฟุตบอลมันส่งผลต่อการเล่นของนักเตะแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้เล่นแต่ละคนมีสรีระที่ต่างกัน อุปกรณ์ที่เลือกมาใช้แล้วเหมาะสม ย่อมเสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักเตะคนนั้นๆ ได้”
ด้านโค้ชใหญ่ ที่เคยค้าแข้งในลีกระดับสูงสุดในประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นเดียวกันเอาไว้ว่า
“ผมว่ามันช่วยได้เยอะในเรื่องคุณภาพของรองเท้า ความถนัดของแต่ละคนในการใช้รองเท้าแต่ละรุ่นก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับรูปทรงและสรีระของเท้า คุณภาพของทุกแบรนด์ก็ต่างกัน ข้อดีและข้อเสียของแต่ละรุ่นก็ไม่เหมือนกัน จากประสบการณ์ใช้งานจริงของผมที่เปลี่ยนมาแล้วหลายยี่ห้อ”
“เทคโนโลยีบางตัวที่ใส่เข้ามาในรองเท้าบางตัวก็เกิดประโยชน์จริง ใช้งานได้จริง แต่ก็มีบางอันที่ไม่ทำให้รู้สึกต่างกัน น้ำหนักของตัวรองเท้าก็ไม่เท่ากัน นักเตะที่ชอบใช้รองเท้าเบา หากไปใส่รุ่นที่มีน้ำหนักมาก บางทีก็เล่นไม่ออกเพราะไม่ถนัด ดึงศักยภาพตัวเองออกมาได้ไม่เต็มที่”
“การเปลี่ยนรองเท้าของนักฟุตบอล ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจโดยตรง ผมเคยเป็นเหมือนกันในการมีรองเท้าคู่ใจ ใส่ตัวนี้เรามั่นใจ เราก็จะมีโอกาสเล่นได้ดี”
สำหรับนักเตะในระดับ ไทยลีก สอง หรือ ไทยลีก สาม ที่มีรายได้ไม่มากนัก งบประมาณในการเลือกซื้อรองเท้าสตั๊ดก็ต้องเป็นไปตามสภาพที่จ่ายไหว แต่เท่าที่ โค้ชใหญ่ สัมผัสกับลูกทีมมาโดยตรง เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ถ้าเลือกได้ใครก็อยากใส่ของดีของแพงทั้งนั้น
ตัดสินแค่อุปกรณ์ไม่ได้
สุดท้ายแล้วศักยภาพฝีเท้าของนักเตะแต่ละคน ย่อมเป็นตัวชี้วัดได้ดีที่สุดว่าพวกเขามีคุณภาพในการเล่นมากแค่ไหน ใช่ว่าการเปลี่ยนรองเท้าไปใส่ตัวท็อป จะทำให้เก่งเหมือนนักเตะพรีเซนเตอร์แบบทันทีทันควันคงไม่มีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นแน่นอน เพราะตัวของ สตั๊ด หน้าที่ของมันเป็นแค่อุปกรณ์เสริมเท่านั้น ไม่ใช่ของวิเศษที่จะสามารถเสกให้คนใช้กลายเป็นนักเตะระดับโลกได้
หากสารตั้งต้นที่เป็นฝีเท้าของนักเตะไม่ได้โดดเด่นเป็นทุนเดิม แล้วไม่ฝึกซ้อมพัฒนาตัวเอง หวังจะไปฝากผีฝากไข้กับแค่อุปกรณ์ราคาแพงที่ซื้อมาใช้งาน คงเป็นเรื่องยากที่จะก้าวไปถึงจุดที่ใฝ่ฝันเอาไว้ได้ แต่ละคนย่อมรู้ตัวดีว่า ความเหมาะสมในเรื่องการเลือกใช้อุปกรณ์ตามระดับราคา ตามกำลังซื้อนั้นเป็นแบบไหน
ซึ่งเรื่องนี้ทาง โค้ชใหญ่ ได้เผยมุมมองส่วนตัวที่น่าสนใจเอาไว้ว่า
“ผมว่าเด็กไทยเก่งเรื่องของการปรับตัว รู้สภาพความเป็นอยู่ของตัวเองดี พยายามเค้นศักยภาพตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด ตั้งต้นจากฝีเท้าของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าเรื่องของทุนทรัพย์ของแต่ละครอบครัวในบ้านเรานั้นจำกัด บางคนต้องเก็บเงินสองสามเดือนถึงจะซื้อสตั๊ดได้หนึ่งคู่”
“ฝีเท้าของผู้สวมใส่ต้องสอดคล้องไปกับตัวผลิตภัณฑ์ ความสามารถของนักเตะนั้นมีส่วนมากในการดึงศักยภาพของรองเท้าที่สวมใส่ออกมาได้เต็มที่”
ท้ายที่สุดตัวผู้ใช้งานเองย่อมเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่า สตั๊ด ที่เขาสวมใส่ลงสนามเพื่อลงไปคว้าชัยชนะ นั้นมีส่วนช่วยพวกเขามากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจตัดสินกันที่เรื่องของความรู้สึกส่วนตัวที่วัดค่าออกมาไม่ได้ แต่ในเมื่อผู้ผลิตกล้าลงทุนนับสิบนับร้อนล้านบาท เพื่อพัฒนาสินค้าออกมาวางจำหน่าย ถ้าไม่มั่นใจว่าดีจริง ขายได้จริง เจ้าตลาดแบรนด์ใหญ่ๆ คงไม่กล้าเสี่ยงวัดดวงกับเงินก้อนโตแน่นอน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
http://www.pan-sportswear.com/TH/
https://www.youtube.com/watch?v=wigePxiGHc4
การสัมภาษณ์ออนไลน์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
สู้จนได้ดี : ‘จิรวัฒน์ วังทะพันธุ์’ จอมหนึบจากขอนแก่น สู่ขุนพลทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งแรก