จีน,เกาหลี, ญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับศึกชิงแชมป์ระดับภูมิภาคแค่ไหน?

จีน,เกาหลี, ญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับศึกชิงแชมป์ระดับภูมิภาคแค่ไหน?
มฤคย์ ตันนิยม

เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็กโทรนิค คัพ 2022 เปิดฉากกันไปอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และ “แชมป์เก่า” ทีมชาติไทย ก็ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจด้วยการถล่มบรูไนไปถึง 5-0 ในนัดประเดิมสนาม

อย่างไรก็ดี อาเซียนคัพ ไม่ได้เป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับภูมิภาครายการเดียวของเอเชียในปีนี้ เพราะย้อนกลับไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ฝั่งตะวันออกของทวีป ก็มีทัวร์นาเมนต์ชิงเบอร์ 1 ของเอเชียตะวันออก ในนาม EAFF E-1

ทว่า คำถามคือพวกเขาให้ความสำคัญขนาดไหน หรือจริงจังเบอร์ใดกับรายการนี้ ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง : อาวุธลับที่หายไป : เพราะเหตุใดทีมชาติญี่ปุ่นยุคหลังจึงไม่มีจอมสังหารฟรีคิก?

อาวุธลับที่หายไป : เพราะเหตุใดทีมชาติญี่ปุ่นยุคหลังจึงไม่มีจอมสังหารฟรีคิก? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง “ในฟุตบอลโลก ถ้าคุณเตะฟรีคิกได้ดี มันอาจจะเป็นตัวตัดสิน และนำไปสู่ชัยชนะได้” วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช อดีตกุนซือทีมชาติญี่ปุ่นกล่าว

ทัวร์นาเมนต์ของทีมชาติชุดบี

ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลระหว่างประเทศ ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกมลูกหนังในยุคปัจจุบัน ที่ทำให้นอกจากฟุตบอลโลกแล้ว ยังมีการแข่งขันในระดับทวีป ไปจนถึงระดับภูมิภาค เพื่อยกระดับมาตรฐานของทีมชาติในแต่ละชาติ

เช่นกันสำหรับทวีปเอเชีย ทวีปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีการแข่งขันในระดับภูมิภาคกระจายอยู่ทั่วทุกมุม ไม่ว่าจะเป็น อาเซียนคัพ ที่ปัจจุบันใช้ชื่อ เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็กโทรนิค คัพ ของบ้านเรา, SAFF คัพ ของเอเชียใต้, WAFF คัพ ของเอเชียตะวันตก หรือ อาหรับคัพ ของชาติอาหรับ

ทว่า ยังมีอีกรายการหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ EAFF E-1 คัพ หรือศึกชิงแชมป์เอเชียตะวันออก ที่ประกอบไปด้วยทีมเบอร์ต้นของทวีปอย่าง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึง จีน และเกาหลีเหนือ สองชาติที่เคยไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาแล้ว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจากชื่อชั้นของชาติที่เข้าร่วมจะเต็มไปด้วยทีมชั้นนำ แต่รายการนี้มักจะถูกมองว่าเป็นการแข่งขันเกรดรองมากกว่า เนื่องจากส่วนใหญ่ ทั้งเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมถึงจีนในบางครั้ง มักจะส่งนักเตะที่ดูเป็นเหมือนทีมบีเข้าร่วม

ตัวอย่างล่าสุดคือทัวร์นาเมนต์ของปี 2022 เมื่อเดือนกฎาคมที่ผ่านมา ที่กุนซือของพวกเขาต่างเลือกใช้นักเตะไร้ประสบการณ์มาเล่นในรายการนี้ เช่น ญี่ปุ่น ที่เรียกนักเตะที่ไม่เคยติดทีมชาติมาร่วมทัพถึง 13 คน จากทั้งหมด 26 คน หรือที่เหลือก็ติดทีมชาติไม่ถึง 20 นัด แถมเล่นอยู่ในเจลีกเกือบทั้งทีม

Photo : todayonline.com

ซึ่งไม่ต่างกับ เกาหลีใต้ ของเปาโล เบนโต ที่อาจจะมีผู้เล่นตัวเก๋า ติดทีมมาบ้าง แต่ก็มีผู้เล่นที่ไม่เคยรับใช้ชาติมาก่อนมากถึง 8 คน และทั้งหมดก็เล่นอยู่ในลีกของประเทศ ไร้เงานักเตะจากยุโรปเช่นกัน

ในขณะที่จีน ทั้งที่ผู้เล่นระดับทีมชาติส่วนใหญ่ จะเล่นอยู่ในลีกบ้านเกิด แต่พวกเขาก็เลือกที่จะส่งทีมชุดอายุไม่เกิน 23 ปีมาร่วมการแข่งขันของปี 2022

แม้อาจจะมองว่าเป็นผลมาจากมาตรการป้องกันโควิด แต่เมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 ที่ยังไม่เกิดโรคระบาด จีนเองก็เลือกใช้ผู้เล่นที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในทีมชาติมาเกือบครึ่งทีม ตอกย้ำมุมมองที่มีต่อรายการนี้ได้เป็นอย่างดี

อะไรที่ทำให้พวกเขามองผ่านรายการนี้

เวทีทดลองนักเตะ

ปัจจัยแรกที่ทำให้ EAFF E-1 ไม่ได้ถูกมองเป็นเวทีสำคัญเนื่องจาก มันเป็นการแข่งขันที่ไม่ได้อยู่ในปฏิทินฟีฟ่า จึงไม่สามารถบีบให้สโมสร โดยเฉพาะในลีกยุโรป ที่ยังไม่ปิดฤดูกาล ส่งนักเตะมาให้พวกเขาใช้งาน

สิ่งนี้คล้ายกับเหตุการณ์เมื่อปี 2014 ที่เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง กุนซือทีมชาติไทยในตอนนั้น ตัดสินใจไม่เรียก ธีรศิลป์ แดงดา กองหน้าเบอร์ 1 ของขุนพลช้างศึก ที่กำลังเล่นให้กับ อัลเมเรีย ในลาลีกาของ สเปน มาร่วมศึก เอเอฟเอฟคัพ 2014

“กรณีของ ธีรศิลป์ แน่นอนว่าทุกคนอยากได้เขามาเล่นเขายังอยู่ในรายชื่อ 35 คนแต่เราต้องการให้เขามีสมาธิกับอัลเมเรีย หากต้องการให้เขาประสบความสำเร็จ” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อธิบายเมื่อปี 2014

Photo : Goal

“อีกอย่างรายการนี้ไม่ใช่ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก จึงอาจจะเป็นเรื่องยากที่สโมสรจะปล่อยตัว"

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หลายทีมตัดสินใจเลือกใช้นักเตะที่เล่นอยู่ในลีกบ้านเกิดเป็นหลัก โดยเฉพาะทีมใหญ่อย่าง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ยึดถือแนวทางนี้มาตั้งแต่ครั้งแรกของการแข่งขันเมื่อปี 2003

“ผมเชื่อว่าสาเหตุหลักมาจากปฏิทินการแข่งขันของรายการนี้ แต่มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรหากจะมองหานักเตะในประเทศ ที่พร้อมสำหรับการเรียกติดทีม” สจ็วต สมิธ  ผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลญี่ปุ่นจาก J League Regista อธิบาย ก่อนทัวร์นาเมนต์ในปี 2017

นอกจากนี้ จากการที่การแข่งขันระดับภูมิภาค มีค่าน้ำหนักที่น้อยมากในการคำนวนคะแนนฟีฟ่า เวิลด์แรงค์กิง (ปัจจุบันเทียบเท่าเกมอุ่นเครื่องนอกปฏิทินฟีฟ่า) ทำให้พวกเขา ใช้ทัวร์นาเมนต์นี้เป็นเวทีทดลองแทคติกและนักเตะ โดยเฉพาะก่อนทัวร์นาเมนต์ใหญ่

“เราจะใช้ทัวร์นาเมนต์นี้ในการเตรียมตัวสำหรับฟุตบอลโลกที่กาตาร์”เปาโล เบนโต กุนซือของเกาหลีใต้ กล่าวก่อนการแข่งขันของปี 2022

“นักเตะใหม่ที่ถูกเลือกเข้ามาคือคนที่ทำผลงานได้ดีในเคลีกในช่วงนี้”

ในทางกลับกัน EAFF E-1 ยังเป็นโอกาสของผู้เล่นหน้าใหม่ ที่ไม่สามารถเบียดสู้กับผู้เล่นที่ค้าแข้งอยู่ในยุโรป ได้มีโอกาสโชว์ฝีเท้าอย่างเต็มที่ และเพิ่มความหวังในการรับใช้ชาติในอนาคต

“นี่เป็นโอกาสทองสำหรับผู้ได้รับเลือกในการทำให้บอสเห็นหน้า และสร้างความประทับใจเพื่อความหวังที่จะได้ไป (ฟุตบอลโลก) ในปีหน้า” สมิธกล่าวต่อ

และมันก็ได้ผลจริง เมื่อมีนักเตะจำนวนมากที่สร้างชื่อจาก EAFF E-1 จนสามารถก้าวขึ้นไปเป็นตัวหลักของทีมชาติในเวลาต่อมา อาธิ ยูยะ โอซาโกะ เมื่อปี 2013  หรือ ควอน ชาง ฮุน เมื่อปี 2015 ที่ต่อมาได้ไปเล่นในบุนเดสลีกา

Photo : the-AFC.com

หรือ คิม มินแจ ตัวอย่างล่าสุดที่เป็นตัวหลักให้เกาหลีใต้ ชุดคว้าแชมป์เมื่อปี 2019 ก่อนที่เขาจะย้ายไปค้าแข้งที่ยุโรป กับเฟเนบาห์เช และนาโปลี รวมถึงเป็นกำลังสำคัญให้กับทัพโสมขาวผ่านเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 2022

อย่างไรก็ดี แม้ว่าชื่อชั้นโดยรวมของผู้เล่นจะเป็นเกรดรอง แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะไม่จริงจังกับรายการนี้

ศึกแห่งศักดิ์ศรี

EAFF E-1 อาจจะเป็นทัวร์นาเมนต์ ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ชมนอกภูมิภาค เนื่องจากไม่มีแข้งซูเปอร์สตาร์มาคอยดึงดูด แม้เมื่อพวกเขาได้ลงสนามพบกัน มันแทบจะกลายเป็นสงครามขนาดย่อม

โดยเฉพาะเกมกับญี่ปุ่นระหว่าง เกาหลีใต้ ดุเดือดเลือดพล่าน ใส่กันยับแบบไม่เกรงใจใบเหลืองของกรรมการ โดยมีที่มาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์

เนื่องจากในอดีต ญี่ปุ่น เคยสร้างบาดแผลและความเจ็บช้ำให้กับคนเกาหลีอย่างหนัก ในช่วงของการผนวกคาบสมุทรเกาหลีมาเป็นดินแดนของพวกเขาตั้งแต่ปี 1910-1945

ทั้งการบังคับให้ผู้คนนับแสนต้องมาใช้แรงงานในการขยายจักรวรรดิญี่ปุ่น ไปจนถึงบังคับให้ผู้หญิงหรือเด็กสาวชาวเกาหลี มาทำงานในซ่องเพื่อบำเรอทหารญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีข้อพิพาทในเรื่องหมู่เกาะที่ทั้งสองฝ่ายอ้างกรรมสิทธิ์ ในหมู่เกาะหลายแห่ง รวมไปถึงหมู่เกาะทาเคชิมะ หรือด็อกโด ในภาษาเกาหลี ที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

และมันก็ทำให้การเจอกันของทั้งคู่ มักจะมีดราม่าอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นป้ายผ้าอื้อฉาวของเกาหลีใต้ ที่มีรูปของ อัน จุงกึน ที่คนเกาหลียกย่องเป็นวีรบุรุษ หลังลอบสังหาร อิโต ฮิโรบูมิ นายกรัฐมนตรีคนแรกของญี่ปุ่น ในช่วงที่ปกครองเกาหลี หรือป้ายผ้าที่มีข้อความเป็นภาษาเกาหลีที่แปลว่า “ไม่มีอนาคต สำหรับการเหยียดเชื้อชาติที่ทำให้ถูกลืมไปจากประวัติศาสตร์”

Photo : todayonline.com

เช่นกันกับเกมระหว่างญี่ปุ่นและจีน ที่มีมูลเหตุหลักมาจากการสังหารหมู่ที่นานกิง ในปี 1937 เหตุการณ์นั้น ทหารญี่ปุ่นได้ ฆ่า ข่มขืน และขโมยข้าวของประชาชนชาวจีน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 3 แสนราย และผู้หญิงโดนข่มขืนไปไม่ต่ำกว่า 20,000 คน และทำให้ผู้เล่นจีนใส่ไม่ยั้ง เมื่อเจออดีตศัตรูของพวกเขา

หนึ่งในเหตุการณ์ยังคงถูกพูดถึงอยู่เสมอ EAFF E-1 2008 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ เมื่อในเกมกับจีน นักเตะญี่ปุ่น โดนผู้เล่นจีนเล่นหนักนอกเกมสารพัด ทั้งเตะ ทั้งต่อย คว้าคอ ถีบหน้าอก แต่ที่น่าแปลกใจคือไม่มีใครโดนใบแดงแม้แต่เกมเดียว จนทำให้สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นต้องร้องเรียนกับ EAFF ก่อนจะสั่งปรับจีนไป 5,000 เหรียญ (ราว 173,000 บาท)

“เราไม่สามารถให้อภัยกับการเล่นที่พยายามคุกคามชีวิตนักเตะอาชีพของผู้เล่น” คูนิยะ ไดนิ รองประธานสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นในตอนนั้นกล่าว

“มันยังมีปัญหาเกี่ยวกับกรรมการในการควบคุมการแข่งขันอีกด้วย”

อย่างไรก็ดี ฝั่งจีนเองก็ไม่ได้รู้สึกผิดในเรื่องนี้ พวกเขายังคงเล่นแบบดุดันในเกมกับเกาหลีใต้ ก่อนจะจบทัวร์นาเมนต์ด้วยใบเหลือง 17 ใบ และใบแดงอีก 2 ใบ และมันอาจจะเยอะกว่านี้หากผู้ตัดสินชาวเกาหลีเหนือไม่ปล่อยจนเกินไปในเกมพบญี่ปุ่น

“ในทัวร์นาเมนต์นี้ ผมคิดว่าอย่างน้อยทีมชาติจีนก็สมควรได้รับชื่อว่าเป็นทีมที่สู้ได้ดีที่สุด” วลาดิเมียร์ เปโตรวิช กุนซือของจีนในตอนนั้นกล่าว  

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่พวกเขาที่ลงเล่นด้วยความมุ่งมั่นและแบกศักดิ์ศรี เพื่อเอาชนะอดีตศัตรูในประวัติศาสตร์ เพราะหลายชาติก็ล้วนก็ต่างมีความขัดแย้งไขว้กันไปมา

เช่นเกาหลีเหนือ กับเกาหลีใต้ ที่ยังอยู่ในภาวะสงครามโดยพฤตินัย, ญี่ปุ่นที่เจ็บช้ำที่เกาหลีเหนือมาลักพาตัวประชาชนของพวกเขาในช่วงทศวรรษที่ 1960s ไปจนถึงญี่ปุ่นที่ไม่ชอบจีน จากการขึ้นมาแทนที่พวกเขาในฐานะมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก

มันจึงทำให้แม้ว่าภาพโดยรวมผู้เล่นใน EAFF E-1 อาจจะไม่ได้ดึงดูด แต่ทุกครั้งที่ลงสนาม ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงเกาหลีเหนือ ต่างเล่นกันอย่างเต็มที่ แบบไม่มีใครยอมใคร ในฐานะตัวแทนของประเทศ

Photo : CGTN

“มันอาจจะยังมีความคลางแคลงใจในคุณภาพที่แท้จริงในเกมกระชับมิตรของทั้งคู่ แต่ไม่ว่าเมื่อไร ที่ไหน หรืออะไรจะเกิดขึ้น ผมคิดว่า เกาหลี เจอ ญี่ปุ่นจะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้นเป็นอย่างมาก” ไรอัน วอลเตอร์ นักข่าวผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลเกาหลีจาก KLeague United กล่าว

นอกจากนี้ การเป็นโอกาสของผู้เล่นหน้าใหม่ ยังทำให้พวกเขาเล่นกันแบบไม่กลัวเจ็บ ไม่มีกั๊ก เพื่อรีดศักยภาพของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะบางทีนี่จะเป็นโอกาสเดียวในชีวิตของพวกเขา

แต่สิ่งสำคัญคือการเป็นเวทีพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า พวกเขาพร้อมที่จะยกระดับตัวเองขึ้นมาทัดเทียม หรือใกล้เคียงกับผู้เล่นที่ได้ไปค้าแข้งในยุโรปได้มากแค่ไหน

ดังนั้น แม้ว่ามันอาจจะเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ไม่ดูจริงจัง แต่ทุกคนที่เข้าร่วมก็ล้วนใส่ใจ และทำอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติจากรายการนี้

“เราแค่โฟกัสกับเราเอง และเป็นตัวแทนของประเทศอย่างมีเกียรติ” อเล็กซานดรา แยนโควิช กุนซือรักษาการณ์ของจีนกล่าวก่อนการแข่งขันปี 2022

“เราเคารพคู่ต่อสู้ของเราทุกทีม แต่เราก็จะเล่นในสไตล์ของตัวเอง และมองไปที่ทัวร์นาเมนต์เป็นหลัก”

แหล่งอ้างอิง

https://thediplomat.com/2013/07/japan-appeals-to-eaff-over-s-koreas-politically-charged-soccer-banners/

https://apnews.com/article/soccer-sports-china-asia-japan-45b46dbaea7a5169ec6ac60f7f3e4788

https://www.theguardian.com/football/2008/mar/03/sport.comment

http://www.kleagueunited.com/2017/12/east-asian-cup-japan-vs-south-korea.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Geography_of_association_football

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ