โซล เวิลด์ คัพ สเตเดี้ยม : กรณีศึกษาการวางระบบระบายน้ำที่ถูกต้อง
เกมปรีซีซั่นระหว่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ พบ แอตเลติโก้ มาดริด ที่ประเทศเกาหลีใต้ กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในหมู่แฟนบอลชาวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันมีความคล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราเมื่อสัปดาห์ก่อน
ก่อนเกมที่ โซล เวิลด์ คัพ สเตเดี้ยม จะเริ่มขึ้น ปรากฏว่ามีฝนถล่มลงมาอย่างหนัก จนน้ำเจิ่งนองเต็มพื้นที่สนาม ฝ่ายจัดจึงต้องขอเลื่อนการแข่งขันออกไป 40 นาที เพื่อประเมินสถานการณ์ของสนาม
และเมื่อครบเวลาที่กำหนด พื้นสนามก็กลับมาอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานจริง ๆ เพราะระบบระบายน้ำของ โซล เวิลด์ คัพ สเตเดี้ยม ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รีดน้ำขังออกไปจนหมด เกมคู่นี้จึงลงแข่งกันตามโปรแกรมได้ แฟน ๆ ในสนามก็พลอยดีใจไปด้วย ที่ไม่ต้องเดินทางมาเสียเที่ยว
ต่างจากที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่ต้องยกเลิกเกมระหว่าง เลสเตอร์ ซิตี้ พบ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ เพราะสนามระบายน้ำฝนที่ตกลงมาไม่ทัน แฟนบอลชาวไทยจึงอดนำสองเหตุการณ์นี้มาเปรียบเทียบกันไม่ได้
อย่างไรก็ดี การกีฬาแห่งประเทศไทยฯ (กกท.) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะองค์กรก็วางแผนของบกลางมาปรับปรุงสนามราชมังฯแล้ว โดยวางไว้ที่ 5,000 ล้านบาท ในส่วนของตัวสนาม จากงบประมาณทั้งหมด 12,000 ล้านบาท
จากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ (30 สิงหาคม) โซล เวิลด์ คัพ สเตเดี้ยม น่าจะเป็นกรณีศึกษาการวางระบบระบายน้ำของไทยได้เป็นอย่างดี เพราะนี่คือสนามที่มีมาตรฐานระดับโลกและผ่านการจัดฟุตบอลโลก 2002 มาแล้ว
ล่าสุด Golf Course Specialists Co., Ltd. บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลพื้นสนามฟุตบอล ซึ่งผ่านงานดูแลสนามราชมังฯในเกม The Match ระหว่าง แมนฯ ยูฯ - ลิเวอร์พูล มาแล้ว ได้ออกมาอธิบายวิธีการทำงานของ โซล เวิลด์ คัพ สเตเดี้ยม จากประสบการณ์ที่พวกเขาเคยไปดูงานที่นั่น
Golf Course Specialists Co., Ltd. อธิบายว่า ปัจจัยที่ โซล เวิลด์ คัพ สเตเดี้ยม ระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพ เพราะเลือกใช้เม็ดทรายที่มีคุณภาพในปริมาณความหนาที่ถูกต้อง อีกทั้งยังมีการดูแลประคบประหงมหญ้าในสนามเป็นอย่างดี ซึ่งแต่ละปีพวกเขาต้องใช้งบดูแลสนามเกือบ 10 ล้านบาทเลยทีเดียว
Golf Course Specialists Co., Ltd. โพสต์ผ่านเพจผ่านว่า "เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่ โซล เวิลด์ คัพ สเตเดี้ยม ก่อนการแข่งขันปรีซีซั่นระหว่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ แอตเลติโก้ มาดริด มีฝนตกหนักมาก และต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป 40 นาทีจึงกลับมาเตะได้.. แสดงให้เห็น การทำงานที่ถูกต้องของระบบระบายน้ำ.. เมื่อระบบระบายน้ำทำงานได้ดี คุณไม่ต้องทำอะไรหลังฝนตก"
"แอดได้เคยไปดูงานที่สนามแห่งนี้ ก็ทราบว่า โครงสร้างและการดูแลเป็นในแบบที่แอดเคยเขียนไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือ ทรายสะอาดตามสเป็ค หนา 30 ซม… มีระบบระบายน้ำเต็มพื้นที่ คำนวณที่ 60 มม./ชม. ประกอบกับตัวสนามอยู่สูง น้ำจะระบายลงด้านล่างได้ค่อนข้างเร็ว"
"ในแง่การดูแลเขาตัดหญ้าเก็บ clipping (ตัดเล็ม) ทุกวัน วันละ 2 ทิศทาง.. ใช้สารควบคุมการเจริญเติบโต ใช้สารบริหารความชื้น.. มีการทำ Verticut (ซอยหญ้า) และ Topdress (เสริมแต่งผิวหน้าหญ้าให้เรียบ) บาง ๆ ทุกเดือน และ Renovation (ฟื้นฟูหญ้า) ด้วยเครื่อง Topmaker ทุกปี.."
"มีเพิ่มเติมคือ เขาใช้ Hybrid (พันธุ์ผสม) ของ Hero (หญ้าเทียม) เพิ่มการยึดเกาะของรากหญ้า.. อันนี้ไม่เกี่ยวกับการระบายน้ำโดยตรง แต่ช่วยให้การ compact (หญ้าไม่เกาะตัว) เกิดยากขึ้น.. และเขาจะมี Nursery (เพาะเลี้ยง) หญ้า ที่สร้าง และดูแลใกล้เคียงกัน แต่ทรายน้อยกว่า มีการควบคุมชั้น thatch (ใต้พื้นหญ้า) แบบเดียวกัน เพื่อที่เมื่อนำหญ้าไปเปลี่ยน จะระบายน้ำได้แบบเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการดูแลสนามเกือบ 10 ล้านบาท/ปี"
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
บริษัทผู้เชี่ยวชาญ แนะนำวิธีดูแลพื้นสนามราชมังฯ แก้ปัญหาน้ำไม่ระบาย
สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ : สังเวียนระดับโลกแห่งอาเซียนที่ไม่หวั่นแม้วันฝนหนัก
ไขข้อข้องใจ : ทำไมเกม สเปอร์ส - เลสเตอร์ ยกเลิก, ทางแก้มีไหม ?
ทำไมเตะสนามที่ไทยไม่ได้ : สนามมาตรฐานระดับพรีเมียร์ลีกต้องแบบไหน ?
ข่าวและบทความล่าสุด