สะท้อนผ่านญี่ปุ่นมองไทย : เรื่องลิขสิทธิ์ซีเกมส์จ่ายไปใครได้ประโยชน์?

สะท้อนผ่านญี่ปุ่นมองไทย : เรื่องลิขสิทธิ์ซีเกมส์จ่ายไปใครได้ประโยชน์?
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

กีฬาซีเกมส์ 2023 หรือ ครั้งที่ 32 กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ซึ่งประเด็นร้อนจากเจ้าภาพอย่าง กัมพูชา มีดราม่าให้ติดตามกันเป็นรายวัน โดยเฉพาะเรื่องค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ที่เจ้าภาพต้องการเงินรวมๆ สูงถึง 3 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือ ตีเป็นเงินไทยประมาณ 102 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามมีชาติที่ยอมจ่ายเงินสนับสนุนในส่วนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ และ เวียดนาม ที่พร้อมจ่ายราว 5 แสนเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 17 ล้านล้านบาท ส่วนทาง มาเลเซีย ก็เสนอตัวเลขไปที่ 3 แสนเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 10 ล้าน 2 แสนบาท

แต่ดราม่ามันเริ่มต้นขึ้นจากราคาที่ กัมพูชา เรียกเก็บเงินการถ่ายทอดสดจากประเทศไทย เป็นเงินสูงถึง 8 แสนเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 28 ล้านบาท ซึ่งทางทีมงานผู้เกี่ยวข้องในประเทศเรามองว่า เป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง แล้วตัดสินใจจะไม่ซื้อลิขสิทธิ์ดังกล่าว เพื่อมาถ่ายทอดสดในประเทศไทย

เมื่อแนวโน้มต่างๆ ดูจะเป็นไปในทิศทางที่ย่ำแย่ รัฐบาลประเทศกัมพูชา เลยเลือกที่จะยกเลิกการเก็บเงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อหวังยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้น พร้อมเปิดให้คนในประเทศและชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมได้รับชมกันฟรีๆ ตั้งแต่พิธีเปิดยันพิธีปิด ส่วนชาติที่จ่ายมาแล้วจะคืนเงินให้ทั้งหมด

แน่นอนว่ามุมมองของแต่ละชาติย่อมแตกต่างกันในเรื่องนี้ มีเรื่องราวอยู่เบื้องลึกเบื้องหลังการเล่นเกมครั้งนี้แบบปฏิเสธได้ยาก ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นมีที่มาจากอะไรกันบ้าง การเก็บเงินค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ คนกัมพูชาเห็นด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่ ร่วมหาคำตอบได้ใน Think Curve - คิดไซด์โค้ง

อคติเบื้องหลัง

ถ้าพูดกันตามหน้าเสื่อแล้ว กรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา มันมีเรื่องราวมาตั้งแต่ครั้งอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกมการเมือง หรือประเด็นอื่นๆ มากมาย ซึ่งมันลุกลามมาจนถึงวงการกีฬา แล้วทางทีมงานไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บ ให้มันเสียอารมณ์กันเปล่าๆ

แต่ยากที่จะปฏิเสธว่า ประชาชนของทั้งสองประเทศ มีทั้งกลุ่มที่แยกเรื่องราวดังกล่าวออกจากวงการกีฬาได้ และกลุ่มที่มักจะคอยหาทางโยงเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นประเด็นด้วยเสมอ ซึ่งต้องมองกันโดยภาพรวมว่า “ชาวเน็ต” ไม่สามารถคัดกรองประชากรคุณภาพได้เสมอไป ทั้งเราและเขาต่างมีเกรียนคีย์บอร์ด คอยผสมโรงด้วยกันทั้งคู่

ถ้ามองกันตามหน้าเสื่อ กลิ่นของดราม่ามันโชยมาตั้งแต่เรื่องของกีฬา “กุน แขมร์” ที่ถูกบรรจุเข้ามาชิงเหรียญ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับมวยไทย แล้วทางชาติเราตัดสินใจจะไม่ส่งนักกีฬาไปชิงชัย พร้อมสื่อต่างๆ ในประเทศก็คัดกรองคอมเมนต์เดือดจากประชาชนกัมพูชามานำเสนอ ดังต่อไปนี้

"ถือว่าทำถูกต้องแล้ว … ใครที่ไม่มาเข้าร่วมถือว่าไม่ฉลาด เพราะว่าพวกเราเป็นเจ้าภาพ"

"ทำไมถึงจะใช้คำของกัมพูชาไม่ได้ล่ะ?"

"กุน ขแมร์ถือกำเนิดมา 1,300 ปี แล้ว ไม่เหมือนกับไทยในปัจจุบันนี้"

"ประเทศใดไม่เข้าร่วมก็ไม่เป็นไร สิ่งสำคัญก็คือทำตามเจตจำนงของประชาชน"

แล้วพอมาถึงข้อพิพาทเรื่องการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดของเจ้าภาพ แล้วไทยไม่พร้อมจะจ่ายเงินตามตัวเลขที่เรียกร้อง คอมเมนท์ชาวเน็ตของกัมพูชาบางกลุ่มก็เดือดขึ้นไปอีก แล้วก็มีช่องต่างๆ ในยูทูบแปลคอมเมนท์มานำเสนอให้กับชาวไทยได้รับชม เหมือนเป็นการฟ้องกลายๆ ดังต่อไปนี้

“นี่หรือประเทศผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาเซียน ไม่มีปัญญาซื้อลิขสิทธิ์ แล้วยังมาบอกว่าเราเอาเปรียบอีก แบบนี้มันใช้ไม่ได้ ไม่ควรเข้าร่วมการแข่งขันด้วยซ้ำ”

“กัมพูชา ทำอะไรตรงไปตรงมา ไม่เคยคิดโกงใคร ถ้าเงินจำนวนนี้ประเทศไทยไม่ยอมจ่าย ก็ไม่ต้องมาดูกีฬาที่เราจัดหรอก”

“เงินแปดแสนเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ฉันคิดว่ามันไม่แพงเกินไปสำหรับประเทศที่บอกว่าตัวเองพัฒนาแล้วอย่างประเทศไทยนะ แต่ทำไมถึงไม่จ่าย ฉันไม่เข้าใจเลย”

“พวกคนไทยใช้ข้อมูลเท็จอีกแล้ว แปดแสนเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ มันไม่เป็นความจริงเลย นี่และนิสัยของพวกคนไทย ที่จ้องจะทำลายประเทศเรา”

U22 ใครว่าแย่ ? : ซีเกมส์กัมพูชาที่เหลี่ยมทุกดอกแล้วบอกเพื่อนกัน | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง เหลี่ยมทุกดอก แล้วบอกเพื่อนกัน คงเป็นประโยคฮิตในสังคม ที่สามารถนำมาใช้เปรียบเทียบกับสถานการณ์ศึก ซีเกมส์ 2023 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคมปีนี้ ได้แบบไม่ผิดเพี้ยนเท่าไหร่นัก หลังประเทศที่รับหน้าเสื่อจัดการแข่งขัน เริ่มแสดงเล่ห์เหลี่ยม เอื้อประโยชน…

อย่างไรก็ตามทุกคอมเมนท์ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ เป็นการตอบโต้กันแบบไม่เห็นหน้า ไม่รู้ชื่อ ไม่รู้ตัวจริงๆ ว่าเป็นใคร การบูลลี่กันไปกันมาจนเป็นเกิดดราม่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า ต่างฝ่ายต่างมีวุฒิภาวะสูงแค่ไหน มองกันแบบเป็นกลางฝ่ายเราก็มีแสบไม่เบาเช่นกัน ซึ่งถ้าลองไปสนทนากับคนกัมพูชาที่ยืนยันตัวตนได้จริงๆ มุมมองของเขาอาจจะไม่ออกมาแบบเดียวกันก็ได้

มุมมองจากคนกัมพูชา

จากประเด็นดังกล่าวทางทีมงานคิดไซด์โค้ง ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนกัมพูชาแท้ๆ ที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทย อยู่ที่ มาริน่า สปอร์ต รีสอร์ท เกาะสมุย ในฝ่าย วิจัยและพัฒนาด้านการตลาด แต่ไม่ขอเปิดเผยชื่อจริงของเขา เนื่องจากยังไม่ได้ขออนุญาตเจ้าตัวอย่างเป็นทางการ

เขามีส่วนร่วมในการดูแลแคมป์เก็บตัวทีมฟุตบอลกัมพูชา ที่มาตั้งแคมป์ฝึกซ้อมอยู่ในประเทศไทย ณ รีสอร์ทดังกล่าว จึงได้สอบถามถึงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องดราม่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด แล้วได้คำตอบกลับมาว่า

3 สมัยได้เรื่อง : เปิดไทม์ไลน์พัฒนาการ กัมพูชา ในมือ เคสึเกะ ฮอนดะ | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
แม้เส้นทางจะการเข้ารอบน็อคเอาท์จะจบลงไปแล้ว แต่กัมพูชา ของกุนซือ เคสึเกะ ฮอนดะ นั้นได้คำชมมากมาย จากแฟนบอลอาเซียน และเพื่อให้รู้ว่าทีมของเขาพัฒนาขึ้นมาแค่ไหน เราจะเปิดไทม์ไลน์ การคุมทีมกัมพูชาตั้งแต่ปี 2018 ถึงปี 2022 ของ เขาที่นี่ AFF 2018

“ผมได้ยินมาบ้างแล้วว่า การเก็บค่าลิขสิทธิ์ครั้งนี้ มีผู้คนตำหนิกันเยอะเอามากๆ ผมจำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้นะ แต่เห็นคร่าวๆ ผ่านตามาบ้าง” เจ้าหน้าที่ชาวกัมพูชากล่าวกับ Think Curve

“ด้วยความสัตย์จริงในมุมมองส่วนตัวของผม ถ้าประเทศใดก็ตามต้องจ่ายเงินซื้อ แล้วประชาชนได้ชมการแข่งขันมันก็เป็นประโยชน์กับคนในประเทศ ด้วยการลงทุนด้วยจำนวนเงินเล็กน้อย แต่สามารถกระจายความสุขให้กับคนจำนวนมากได้ทั่วถึง”

“การถ่ายทอดสดตามช่องทางต่างๆ มันสำคัญอย่างมากในการช่วยสนับสนุนวงการกีฬาให้ก้าวหน้า ถ้าชาติต่างๆ ไม่ร่วมด้วยช่วยกัน ความหวังที่จะพัฒนาในภูมิภาคนี้ก็จะไม่ไปไหนไกลเหมือนเดิม”

“ถ้าให้ผมพูดจากใจจริง ราคาที่มันสูงเกินไปมันทำให้เกิดปัญหา แต่มันก็มีหนทางในการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับทั้งสองฝ่ายได้อยู่”

“มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่เราต้องช่วยกันสนับสนุนวงการกีฬาให้ก้าวหน้า ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์แบบถูกต้องให้มีเงินทุนหมุนเวียนในแวดวงธุรกิจกีฬา อุตสาหกรรมกีฬา เพื่อยกระดับความก้าวหน้าไปทั่วทั้งภูมิภาค”

Photo : AFP

สิ่งที่ทาง นายเอ ได้นำเสนอมุมมองของเขาให้กับทีมงานได้รับรู้ มันเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธได้ยากว่า ทุกวันนี้ธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงกีฬา มันจำเป็นต้องหมุนเวียนด้วยเงินทั้งสิ้น ชาติที่รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ ต้องใช้เงินลงทุนการจัดการแข่งขันไปมากพอสมควร ย่อมต้องการทุนคืนกลับมาไม่มากก็น้อย

หากประเทศในภูมิภาคอาเซียน ไม่สนับสนุนกันเองเรื่องเงินทุนในจุดนี้ อนาคตกีฬา ซีเกมส์ ที่หวังผลเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ อาจไม่มีชาติไหนอยากรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพอีกแล้วก็เป็นได้ เนื่องมาจากปัญหาการขาดเงินทุนสนับสนุน

การพัฒนาชาติในทวีปเอเชียแบบองค์รวม

ความคิดในการพัฒนาวงการกีฬาของเอเชีย มีการสนับสนุนจากองค์การชั้นนำอย่าง เจ ลีก ลีกฟุตบอลอันดับต้นๆ ในทวีปนี้ ซึ่งมีแผนการกระจายความนิยมไปทั่วทั้งภูมิภาค ส่งต่อองค์ความรู้และการสร้างบุคคลากรคุณภาพ ป้อนเข้าสู่วงการแบบต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศของพวกเขาเท่านั้น

พวกเขาจึงคิดและพัฒนาโปรเจ็คท์ “Asean Eleven” ขึ้นมา เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ต่างๆ ในการสร้างความสำเร็จของฟุตบอลญี่ปุ่น เพื่อหวังถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นให้กับชาติอื่นๆ ในย่านอาเซียน แล้วเลือกใช้กีฬาฟุตบอลที่ได้รับความนิยมอย่างมากมาเป็นสื่อกลาง เพราะมีจำนวนผู้เล่นกีฬานี้ทั่วโลกกว่า 265 ล้านคน โดยเป็นแค่ส่วนหนึ่งของ ยุทธศาสตร์เอเชีย ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2012

Photo : AFP

ตัวแทนจากญี่ปุ่น มีการเซ็นข้อตกลงร่วมกันกับชาติในอาเซียนอย่าง กัมพูชา, เวียดนาม และ เมียนมาร์ เพื่อส่งสตาฟฟ์โค้ชและอดีตนักเตะไปช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยความมุ่งหวังว่าชาติต่างๆ ในทวีปเอเชียจะพัฒนามาถึงระดับเดียวกับญี่ปุ่นในอนาคต

ซึ่งแนวคิดนี้เป็นการได้ประโยชน์ทุกฝ่าย เจ ลีก ก็ได้รับการประชาสัมพันธ์ เพิ่มฐานแฟนบอลในประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น ส่วนทางชาติที่รับองค์ความรู้ต่างๆ ไป ก็สามารถพัฒนาบุคคลากรคุณภาพในประเทศของพวกเขาไปด้วยพร้อมๆ กัน ตามความมุ่งหวังที่ มิตสุรุ มุราอิ ประธานของ เจ ลีก กล่าวเอาไว้ว่า

“ผมคิดว่าวงการกีฬาการเป็นศัตรูต่อกัน มันเป็นมุมมองของผู้ชม แต่ไม่ใช่ทุกคนในวงการจะกลายเป็นอริต่อกันจริงๆ” อดีตประธานเจลีกให้ความเห็น

“มันไม่มีต้นแบบตายตัวในการพัฒนาเรื่องของกีฬาทุกชนิดไม่ใช่แค่ฟุตบอล ท้ายที่สุดแล้วมันจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับ เจ ลีก หากสร้างฐานแฟนกีฬาได้มากขึ้น”

โปรเจ็คท์นี้ถูกมอบหมายงานให้ เค โคยามะ ทีมงานฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต่อยอดไปในเรื่องต่างๆ อีกมากมาย รวมไปถึงแผนการดึงนักเตะฝีเท้าดีจากย่านอาเซียน มาค้าแข้งในศึก เจ ลีก ตามที่กล่าวไว้กับสื่ออย่าง The New York Times ว่า

“บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากเล็งเป้าไปที่อาเซียน และเจลีกก็พยายามทำเหมือนกัน”

"เราพยายามเพิ่มฐานแฟนบอลเจลีก และในเวลาเดียวกันคือช่วยให้ฟุตบอลเอเชียพัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อทุกคน"

“ฟุตบอลอาจจะได้รับความนิยมในอาเซียน แต่ทีมชาติของพวกเขายังดีไม่พอ ซึ่ง เจ ลีก มีความรู้และความชำนาญที่สามารถมอบให้แก่ประเทศอื่นๆ ได้”

“การที่นักเตะชื่อดังของท้องถิ่นมาร่วมทีมเจลีก ทำให้เกมเจลีกมีคนดูในเอเชียมากขึ้น นักเตะที่ได้ย้ายมาเจลีกก็เติบโตขึ้น พัฒนาขึ้น และทำให้ทีมชาติแข็งแกร่งขึ้น และพวกเขาก็จะกลายมาเป็นคู่แข่งของญี่ปุ่น และยกระดับฟุตบอลเอเชียทั้งหมดให้สูงขึ้น”

Photo : AFP

ประเทศไทยของเรา ก็ได้รับประโยชน์จากโปรเจ็คท์นี้เช่นกัน ซึ่งเราก็ได้เห็นสตาร์ชื่อดังอย่าง ชนาธิป สงกระสินธ์, ธีรศิลป์ แดงดา หรือ สุภโชค สารชาติ ย้ายไปค้าแข้งในแดนปลาดิบ แล้วสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ โดยเราก็ต้องแลกด้วยการลงทุน มอบกลับไปให้ เจ ลีก ได้ประโยชน์เช่นกัน ตามที่ โอยะ ทาเคยูกิ ผู้บุกเบิกโครงการ ยุทธศาสตร์เอเชีย กล่าวไว้ว่า

“เราได้รับความเคารพอย่างสูงจากทุกประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งกำลังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของตำนวนประชากร ทำให้ผมมีความคิดที่จะนำฟุตบอลญี่ปุ่นไปจับความร่วมมือกับประเทศกลุ่มอาเซียน”

“ตัวอย่างเช่นไทย ซึ่งลงทุนกว่า 1 พันล้านเยน เพื่อการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ พวกเขาพร้อมลงทุนกับฟุตบอลอย่างเต็มที่ เพื่อการพัฒนาฟุตบอลในประเทศ ซึ่งหากเราไม่จับมือกับพวกเขา ก็นับว่าเสียโอกาสเปิดตลาดใหญ่ไปอย่างมาก”

Photo : J.League

อย่างที่แฟนบอลไทยได้ทราบกันว่า พอมีนักเตะของเราย้ายไปเล่นต่างแดน บริษัทเอกชนต่างๆ ก็พร้อมจะหาช่องทางในการซื้อลิขสทธิ์การถ่ายทอดสดกลับมายังประเทศของเรา เพื่อให้แฟนๆ ได้ชมได้เชียร์นักเตะไทยแบบจุใจทุกอาทิตย์ก่อนหน้านี้

ซึ่งหากทุกชาติในระดับอาเซียน ลดเรื่องของอคติต่างๆ ที่เป็นกำแพงลง แล้วพยายามจับมือสนับสนุนพัฒนาวงการกีฬา หรือจะใช้สื่อกลางอย่างฟุตบอลเป็นจุดตั้งต้น ไม่คิดที่จะเอาเปรียบกัน ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน ความหวังที่จะเห็นชาติในแถบนี้ พัฒนาไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ย่ำอยู่กับที่แบบเดิมๆ คงไม่ใช่ฝันที่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

โดยองค์ประกอบสำคัญที่จะร่วมด้วยช่วยกันได้ ย่อมหนีไม่พ้นฐานแฟนๆ ในแต่ละประเทศ ซึ่งถ้าลดดีกรีความดุเดือดในการตอบโต้กัน มองข้ามในสิ่งแย่ๆ ลดเรื่องของการเหยียดหยาม บูลลี่ หรือใช้ถ้อยคำเชิงดูถูกให้หายไปได้ มันก็ย่อมส่งผลดีต่อทั้งตัวเอง ภาพลักษณ์ของประเทศ รวมไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน แล้วพอทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดี มีความสามัคคีเพื่อไปถึงเป้าหมายเดียวกัน เชื่อว่า บทสรุปตอนท้ายก็ต้องออกมาดีด้วยอย่างแน่นอน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://www.thairath.co.th/sport/others/2668921

https://mgronline.com/sport/detail/9660000030190

https://www.thairath.co.th/sport/eurofootball/otherleague/2609768

https://www.youtube.com/watch?v=82UquhbAMCk

https://asiawa.jpf.go.jp/en/culture/projects/asia_football/?fbclid=IwAR0ll-kSyy8CxCL0ACtrcCQLkIeJxa8lto-vhayFzFXQFnebR-62Qq_w4tY

https://rakuten.today/sports-entertainment/j-league-chairman-takes-japanese-soccer-global.html?fbclid=IwAR06wavU7WFREceaZCyBkUXZhHeTc9H-JUahag1Jh1hoJftaY0FQq7YkgEI

แชร์บทความนี้
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ