ทำไม ญี่ปุ่น จึงพับแผน เสนอตัวจัดฟุตบอลโลก 2034 ทั้งที่มีศักยภาพพร้อม ?

ทำไม ญี่ปุ่น จึงพับแผน เสนอตัวจัดฟุตบอลโลก 2034 ทั้งที่มีศักยภาพพร้อม ?
วิสูตร ดำหริ

หลังจากที่ ฟีฟ่า เลือกทวีปอเมริกาเหนือจัดฟุตบอลโลก 2026 ขณะที่ฟุตบอลโลก 2030 ถูกจัดที่ทวีปยุโรป, แอฟริกา และอเมริกาใต้ในคราวเดียวกัน ทำให้โควตาเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 จะเป็นของทวีปเอเชียหรือไม่ก็โอเชียเนีย

ชาติในเอเชียจึงพาตื่นตัวเป็นพิเศษ ซาอุดิอาระเบีย คือชาติแรกที่ประกาศเจตนารมณ์เสนอตัวจัดฟุตบอลโลกหนนี้ ตามมาด้วย อินโดนีเซีย ที่พยายามดีลกับ ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ และมาเลเซีย (ตอนนี้ล้มแผนไปแล้ว) ไหนจะมีกลุ่มชาติอาเซียนที่มี ไทย เป็นหนึ่งในนั้นอีก

แต่จะมีใครรู้บ้างว่า สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ภายใต้การนำของ โคโซ ทาจิมะ ก็มีความคิดที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 เช่นกัน และได้มีการปรึกษาหารือกับภาคส่วนทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องแล้ว

หากพูดถึงศักยภาพ ญี่ปุ่น มีความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสนามแข่ง, ขนส่งมวลชน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สำคัญพวกเขาเคยผ่านการจัดฟุตบอลโลก 2002 มาแล้ว จึงเข้าใจในกระบวนการทั้งหมด จุดนี้เองทำให้พวกเขาได้เปรียบชาติคู่แข่ง

อย่างไรก็ดี JFA กลับตัดสินใจพับแผนจากการยื่นข้อเสนอครั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป เพราะฟีฟ่าขีดเส้นตายให้แจ้งเจตจำนงภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ และยื่นข้อเสนอภายในเดือนมิถุนายน ปี 2024

ด้วยความที่มีการเพิ่มทีมแข่งเป็น 48 ชาติ ฟีฟ่า จึงกำหนดเงื่อนไขของชาติที่ต้องการเป็นเจ้าภาพสูงขึ้น อาทิ ต้องมีสนามแข่งความจุ 80,000 ที่นั่งขึ้นไป 1 สนาม, 60,000 ที่นั่งขึ้นไป 2 สนาม และ 40,000 ที่นั่งขึ้นไป 11 สนาม นอกจากนี้ยังกำหนดสเป็คหลังคา และอื่น ๆ อีกมากมาย

เท่ากับว่า ญี่ปุ่น มีเวลาราว 6 เดือน ในการดำเนินการตามแผนงานทั้งหมด ซึ่ง JFA มองว่ามันน้อยเกินไป จากประสบการณ์ที่เคยจัดฟุตบอลโลกมาแล้ว ระยะเวลาแค่นี้ไม่มีทางทำสำเร็จแน่นอน

PHOTO : JFA

"เราได้คุยกันเรื่องระยะเวลาอันน้อยนิดในการยื่นข้อเสนอ มันกลายเป็นอุปสรรคของเรา การได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2002 และยื่นข้อเสนอจัดฟุตบอลโลก 2022 ทำให้ผมรู้ว่าเราไม่มีทางดำเนินการเสร็จใน 6 เดือน" โคโซ ทาจิมะ ประธาน JFA กล่าว

"ถ้าเรายังเดินหน้าต่อ เราจำเป็นต้องประสานงานกับหน่วยงานเยอะแยะไปหมด อาทิ รัฐบาลกลาง, จังหวัดต่าง ๆ, สภาเมืองท้องถิ่น และรัฐสภา เป็นต้น เพื่อที่จะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้อยู่ในเกณฑ์ของฟุตบอลโลก ซึ่งมันเป็นอะไรที่ยากมาก ๆ"

"ถ้าเรามีอาวุธ เราคงสู้ต่อแล้ว แต่นี่เราไม่มีแม้แต่ฐานที่มั่น เราจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมแพ้ ผมคิดว่าเราไม่พร้อมสำหรับฟุตบอลโลกครั้งนี้"

สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) จึงเลือกที่จะสนับสนุน ซาอุดิอาระเบีย เพราะมองว่าเป็นชาติที่มีความพร้อมมากที่สุดในเวลานี้ แล้วยิ่ง กาตาร์ ประสบความสำเร็จกับการจัดฟุตบอลโลก 2022 ยิ่งทำให้ ซาอุดิอาระเบีย ต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า พวกเขาก็สามารถทำได้ดีไม่แพ้กัน

"ในทวีปเอเชียและโอเชียเนียมีแค่ ซาอุดิอาระเบีย เท่านั้นที่ทำได้ ผมรู้สึกว่าเมื่อพิจารณาจากความสำเร็จของฟุตบอลโลกกาตาร์ ยิ่งทำให้ ซาอุดิอาระเบีย ตระหนักว่า พวกเขาก็ทำแบบนั้นได้" ประธาน JFA กล่าวต่อ

แม้ว่า ญี่ปุ่น จะยอมถอยจากการจัดฟุตบอลโลก 2034 แต่ใช่ว่าพวกเขาจะล้มเลิกความคิดเสียทีเดียว เพราะใน ปฏิญญา ของ JFA ที่ประกาศออกมาในปี 2005 นอกจากการคว้าแชมป์โลกภายในปี 2050 แล้ว อีกหนึ่งเป้าหมายที่ ญี่ปุ่น ต้องการจะทำให้ได้ นั่นคือการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกอีกครั้งในภายปี 2050

ดังนั้น สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) จะพยายามสั่งสมความพร้อมไปเรื่อย ๆ และเมื่อถึงเวลาทีเหมาะสม พวกเขาก็จะยื่นข้อเสนอขอจัดฟุตบอลโลกอย่างที่ตั้งใจไว้ และไม่ปิดโอกาสที่จะจับมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ เหมือนอย่างที่เคยผนึกกำลังกับ เกาหลีใต้ จัดฟุตบอลโลก 2002 มาแล้ว

PHOTO : JFA

"ฟุตบอลโลกที่มี 48 ทีมเข้าแข่งขัน มีไม่กี่ชาติที่สามารถจัดด้วยตัวคนเดียวได้ เพราะมันต้องใช้กำลังเงินมหาศาล เมื่อถึงตอนนั้นผมคงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้ว แต่ผมคิดว่ามันจำเป็นที่เราต้องมองหาความเป็นไปได้ที่หลากหลาย" โคโซ ทาจิมะ กล่าว

"คนเกาหลีใต้ยังคิดถึงฟุตบอลโลก 2002 และอาจถามเราว่า 'มาร่วมจัดกันอีกครั้งไหม ?' เรามีการหารือกันบ้าง อย่าง จีน ที่ไม่ร่วมมือ ในอนาคตก็อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ มันมีทางเลือกหลากหลาย เราต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้"

"เราจะมีโอกาสเป็นเจ้าภาพอีกครั้งแน่นอน ผมเชื่ออย่างนั้น เราจำเป็นต้องทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับประเทศของเรา"

บทความที่น่าสนใจ

ช้างศึก vs ซามูไร : ครั้งหนึ่งญี่ปุ่นส่ง “ทีมชาติปลอม” มาเตะคิงส์คัพ?

เหตุใด เจลีก จึงเตรียมปรับ เวลาเปิด/ปิดฤดูกาล มาเป็นเดือนสิงหาคม-พฤษภาคม ?

ถอดรหัส “ท่าจีบมือ” บันลือโลก ที่ ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ ได้เรียนรู้สมัยค้าแข้งในอิตาลี

เหตุใด โช ยอง-อุค จึงเป็นแข้งเกาหลีใต้คนเดียว ที่ทำวันทยาหัตถ์ตอนเคารพเพลงชาติ ?

เหตุใดร้านไก่ทอดเกาหลีจึงดีใจ เมื่อได้ ญี่ปุ่น เป็นคู่ต่อกร ในนัดชิงเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ?

อ้างอิง

https://web.gekisaka.jp/news/japan/detail/?394348-394348-fl

แชร์บทความนี้
ฟุตบอล, อนิเมะ, กาแฟ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ