ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม : เบื้องหลังยักษ์มาเลเซียที่สามารถดูดแข้งตัวท็อปไทยลีก

ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม : เบื้องหลังยักษ์มาเลเซียที่สามารถดูดแข้งตัวท็อปไทยลีก
มฤคย์ ตันนิยม

หลังยกเลิก กับ บีจี ปทุม ดิโอโก้ หลุยส์ ซานโต ได้ ย้ายไปร่วมทัพ ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม ยอดทีมของลีกมาเลเซีย

และสด ๆ ร้อน ๆ กับตำนานไทยลีกอย่าง เฮแบร์ตี้ เฟร์นันเดส นักเตะที่ยิงประตูในลีกไทยได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์

2 แข้งตำนานไทยลีก แทบจะเรียกได้ว่าสามารถการันตีความสำเร็จ เมื่อ “เสือใต้แห่งมาลายา” คือทีมที่ผูกขาดความยิ่งใหญ่ของมาเลเซีย ด้วยตำแหน่งแชมป์มาเลเซีย ซูเปอร์ลีก 9 สมัยติดต่อกัน และมาเลเซียคัพอีก 3 สมัย

เพราะอะไร ยะโฮร์ จึงทิ้งคู่แข่งในระดับไม่เห็นฝุ่นขนาดนี้ ที่บางทีเงินอาจจะไม่ใช่เหตุผลเดียว ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ยักษ์หลับแห่งมาลายา

ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม อาจจะไม่ใช่ทีมเก่าแก่มากนักของมาเลเซีย (หลายทีมมีอายุเกิน 100 ปี)  หลังเพิ่งก่อตั้งในปี 1972 (51 ปีก่อน) หรือหลังมาเลเซีย ได้รับเอกราชจากอังกฤษราว 15 ปี

แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็เคยเป็นมหาอำนาจของแดนเสือเหลืองในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980s ถึงต้นทศวรรษ 1990s ด้วยตำแหน่งแชมป์ Malaysia FAM Cup 2 ครั้ง ในปี 1994 และ 1995 ในสมัยที่ยังใช้ชื่อ PKENJ FC

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นความสำเร็จดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องที่ห่างไกล เมื่อโทรฟีใบล่าสุดที่พวกเขาทำได้ คือมาเลเซีย เอฟเอคัพ ในปี 1998 และมีสถานะเป็นแค่ทีมในลีกรองอยู่หลายปี หลังมาเลเซีย ซูเปอร์ลีก ก่อตั้งในปี 2004

Photo : JOHOR NOW

การขาดแคลนความสำเร็จ ทำให้สนามลาร์คิน สเตเดียม รังเหย้าความจุ 30,000 ที่นั่ง ของพวกเขาต้องร้างราผู้คน มีแฟนบอลเข้ามาให้กำลังใจแค่เพียงหลักร้อย ซึ่งแปรผันตามมาตรฐานของฟุตบอลยะโฮร์ในยุคนั้น

ความตกต่ำดังกล่าว ทำให้ ตุนกู อิสมาอิล ไอดริส มกุฎราชกุมาร ของสุลต่านอิบราฮิม อิสมาอิล อิบนี อัลมาห์รุม สุลต่าน อิสกานดาร์ ผู้ปกครองรัฐยะโฮร์ (มาเลเซียใช้รับสหพันธรัฐ แต่ละรัฐมีสิทธิ์ปกครองตัวเอง) ทนไม่ไหว และเดินหน้าปฏิวัติฟุตบอลของที่นี่ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ประธานสมาคมฟุตบอลแห่งรัฐยะโฮร์ในปี 2012

“ในตอนนั้น ผมพยายามมองหาทางที่จะก้าวขึ้นไป และนำความสำเร็จที่จับต้องได้มาให้ประชาชนในดินแดนของผม ผมเลยไปดูเกมเกมของยะโฮร์ในมาเลเซียซูเปอร์ลีก ที่ปาแซร์ กูแดง สเตเดียม” ตุนกู อิสมาอิล กล่าวกับ AFC

Photo : Football Tribe

“ที่นั่นไม่มีใครเลย ผมคิดกับตัวเองว่า ‘นี่มันเกิดอะไรขึ้น’ เพราะผมจำได้ว่าตอนที่ดูการแข่งของยะโฮร์กับครอบครัว มันมีแฟนบอลเยอะกว่านี้มาก”

“คืนนั้น ผมบอกกับตัวเองว่าผมต้องเปลี่ยนโฉมหน้าของฟุตบอลยะโฮร์ให้ได้”

รื้อ-สร้างประวัติศาสตร์

อันที่จริง ก่อนปี 2012 รัฐยะโฮร์ มีสโมสรฟุตบอลถึง 4 ทีมได้แก่ ยะโฮร์ เอฟเอ, ยะโฮร์ เอฟซี, ยะโฮร์ บารูห์ ซิตี้ เอฟซี แต่ทั้งหมดล้วนมีผลงานที่ย่ำแย่ หากไม่หนีกตกชั้น ก็ดิ้นรนอยู่ในลีกล่างของมาเลเซีย

ทำให้หลัง ตุนกูอิสมาเอล เข้ารับตำแหน่ง เขาตัดสินใจปฏิวัติฟุตบอลในรัฐใหม่ ด้วยการเอายะโฮร์ เอฟเอ มาเป็นที่ตั้ง พร้อมกับเอายะโฮร์ เอฟซี มาบริหาร ส่วนที่เหลือยุบทิ้ง และรวมสโมสรกันเป็น ดารุล ต๊ะซิม เอฟซี ที่กลายเป็น ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม เอฟซี ในเวลาต่อมา

เขายังได้ก่อตั้ง ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม 2 ซึ่งเป็นทีมสำรองของ ยะโฮร์ และส่งลงเล่นใน มาเลเซีย พรีเมียร์ลีก (ลีกระดับ 2) ขณะเดียวกันก็สร้าง ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม 3 ซึ่งเป็นทีมยะโฮร์ รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี ไว้คอยปั้นนักเตะส่งให้ทีมสำรอง

Photo : kesultananjohor

แม้การต้องสร้างทีมขนาดนี้ จะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ ตุนกูอิสมาเอล เนื่องจากเขาคือหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของมาเลเซีย และเคยอยู่ใน 50 อันดับแรกของประเทศตั้งในตอนอายุ 30 ปี

นอกจากนี้ รัฐยะโฮร์ ที่ราชวงศ์เขาเป็นผู้ปกครอง ยังเป็นหนึ่งในรัฐที่ร่ำรวยที่สุดของมาเลย์ จากรายได้หลักที่มาจากการเป็นเมืองท่า และการลงทุนจากต่างชาติ ที่ทำให้เงินเดือนเฉลี่ยในรัฐยะโฮร์สูงถึง 40,000 ริงกิต หรือราว 3 แสนบาท

อย่างไรก็ดี เงินเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถซื้อความสำเร็จได้ แต่ต้องใช้การวางแผนที่ดีด้วย ทำให้ ตุนกู อิสมาอิล จัดการวางรากฐานสโมสรตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในสนาม ลาร์คิน สเตเดียม สร้างสนามซ้อมใหม่ ที่มีอคาเดมีอยู่ในนั้น ไปจนถึงอัพเกรดเครื่องไม้เครื่องมือในการฝึกซ้อม

ในขณะเดียวกัน เขายังสร้างทีม ด้วยการดึงนักเตะดีกรีหรูมาร่วมทัพ ไล่ตั้งแต่ดานี กีซ่า อดีตกองหน้าทีมชาติสเปน ชุดแชมป์ยูโร 2008, ปาโบล ไอมาร์ และลูเซียโน ฟิเกอรัว อดีตดาวเตะทีมชาติอาร์เจนตินา รวมถึง ฆอร์ดี อาร์มัต ที่เคยเล่นให้กับสวอนซี ซิตี้

Photo : Suara.com

ทั้งนี้ไม่ใช่แค่นักเตะต่างชาติเท่านั้น ยะโฮร์ ยังเดินหน้าคว้าตัว ผู้เล่นทีมชาติมาเลเซีย มาร่วมทัพอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ซาฟิก รอฮิม และ โมฮิด อามิร์ ยาห์ยาห์ ที่กระชากมาจาก คู่แข่งอย่าง เซลังงอร์ เอฟซี หรือ จูเนียร์ เอลสตรัล ที่เอามาจากซาราวัค

และมันก็ทำให้ ยะโฮร์ ขึ้นมาเป็นทีมชั้นนำของมาเลเซีย อย่างก้าวกระโดด เริ่มจากการคว้าแชมป์ มาเลเซียซูเปอร์ลีกในปี 2013 ก่อนจะทำได้อีก 8 สมัยติดต่อกัน ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นทีมที่คว้าแชมป์ลีกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของลีกมาเลเซีย

ขณะเดียวกัน ยะโฮร์ ยังไปไกลในระดับทวีป ด้วยการคว้าแชมป์ เอเอฟซี คัพ ในปี 2015 ซึ่งเป็นทีมแรกของอาเซียนที่ทำได้ ก่อนที่ในปี 2022 พวกเขาจะผ่านเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายในเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ซึ่งไม่เคยมีทีมจากมาเลย์ทีมไหนทำได้มาก่อน  

Photo : Panditfootball

“ด้วยการบริหารจัดการแบบมืออาชีพและโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ของ JDT (ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม) เราในฐานะผู้เล่นก็มีแค่สิ่งเดียวที่ต้องโฟกัส นั่นคือการพยายามอย่างเต็มที่ทุกเกมในสนาม” ซาฟิก รอฮิม กล่าวกับ AFC  

“JDT เป็นสโมสรที่ใครก็ตามที่อยากทำให้ชีวิตนักฟุตบอลอาชีพของตัวเองรุ่งเรืองมากขึ้น”

อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้โดดเด่นแค่ในสนามเท่านั้น  

เรื่องที่ราวที่เกี่ยวข้อง
ตัวบัคแน่ ๆ แม่จ๋า : กาลครั้งหนึ่งเมื่อ ดิโอโก้ สวมวิญญาณ ”ฮาลันด์ไทยลีก” | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง ในวันที่ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ย้ายจาก โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มาอยู่กับ แมนฯ ซิตี้ มีหลายคนบอกว่าเขาจะต้องใช้เวลาปรับตัวกับลีกที่ยากที่สุดในโลก และมันจะไม่ง่ายกับเขาแน่นอน


การตลาดที่ยอดเยี่ยม

แม้ว่าหลายคนจะปรามาสว่า ยะโฮร์ แค่โชคดีที่มีผู้อุปถัมป์ทีมเป็นคนกระเป๋าหนัก แต่ความเป็นจริง การที่พวกเขาหยัดยืนขึ้นมากได้ ไม่ได้มาจาก ตุนกู อิสมาอิล เท่านั้น แต่มาจากการวางแผนที่ชาญฉลาด

การลงทุนทั้งหมดในช่วงแรก เป็นความตั้งใจในการรีแบรนด์ ยะโฮร์ ให้ดูหรูขึ้น เป็นมืออาชีพมากขึ้น และดูเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่จากจำนวนโทรฟี ที่ทำให้พวกเขาได้รับความสนใจจากสปอนเซอร์ในท้องถิ่น และต่างประเทศ

มันคือการตลาด ที่ล้ำลึก เมื่อความสำเร็จทำให้พวกเขามีแฟนบอลมากขึ้น และมันก็หมายถึงแหล่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่นเสื้อแข่งในปี 2018 ที่ยะโฮร์ ทำเงินได้มากถึง 1.2 ล้านริงกิต (ราว 9 ล้านบาท) ตั้งแต่วันแรกที่วางจำหน่าย

Photo : Goal

สถิติดังกล่าวอาจจะยังห่างกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สโมสรจากไทย ที่ชาวมาเลเซียยกให้เป็นบรรทัดฐาน เมื่อในปีนั้นปราสาทสายฟ้าทำสถิติขายเสื้อวันแรกได้ถึง 19 ล้านบาท แต่พวกเขาก็พยายามย่นช่องว่างเข้ามาใกล้พอควร

หรือการสร้างสนามใหม่ ซุลต่าน อิบราฮิม สเตเดียม ที่มีความจุ 40,000 ที่นั่ง และเปิดใช้ในปี 2020 ยังทำให้ ยะโฮร์ สามารถรองรับแฟนบอลได้มากขึ้น และเปิดโอกาสให้พวกเขาสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากตั๋วเข้าชมและของที่ระลึก

ทั้งนี้ ปี 2022 ที่ผ่านมา ยะโฮร์ ยังคงเป็นทีมที่มีแฟนบอลเข้ามาชมเกมในสนามเฉลี่ยมากที่สุดของมาเลเซีย ซูเปอร์ลีก ด้วยจำนวน 16,484 คน และเป็นทีมเดียวของมาเลย์ ที่มีแฟนบอลเฉลี่ยในสนามเกิน 10,000 คน ในฤดูกาลดังกล่าว

Photo : JOHOR Southern Tigers

และที่ขาดไม่ได้คือการเป็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับสโมสรในยุโรป โดนเฉพาะการจับมือกับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทีมดังจากเยอรมัน ที่ทำให้พวกเขา ได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้ ข้อมูลการฝึกซ้อม แลกเปลี่ยนเยาวชน รวมถึงได้ลงเล่นกระชับมิตรกับเสือเหลืองในปี 2015 อีกด้วย

“ความเป็นมืออาชีพจะดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วยการจัดการของสโมสร, การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐ สมาคมฟุตบอลของประเทศ และลีก รวมถึงพัฒนาความสัมพันธ์ที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายกับสปอนเซอร์ (เช่น Nike หรือ Adidas)” บทความ Explaining the Success of Johor Darul Ta’zim Football Club (JDT) ระบุ

“ทำให้แม้ว่า JDT จะได้รับการสนับสนุนจากสมาคมฟุตบอลของรัฐ แต่พวกเขาจะไม่ประสบปัญหาจากการต้องพึ่งพาอาศัยกันและ ‘ความคิดที่งี่เง่า’ เนื่องจากมันเป็นเงินช่วยเหลือเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการเงินสโมสรเท่านั้น”

Photo : New Straits Times

นอกจากนี้ในปี 2016 ยะโฮร์ยังได้ก่อตั้งมูลนิธิ JDT เพื่อเอาไว้เป็นแหล่งรวบรวมเงินทุน และช่วยเหลือสโมสรในแง่การพัฒนาในทุกรูปแบบ ด้วยการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่มีสโมสรไหนในมาเลเซียเคยทำมาก่อน

ด้วยเหตุนี้ความสำเร็จของ ยะโฮร์ จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแค่ชั่วข้ามคืน แต่เป็นการวางแผนระยะยาว และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้พวกเขามีอันดับโลกใน International Federation of Football History and Statistics (IFFHS) ที่สูงกว่า เซาแธมป์ตัน หรือ เอซี มิลาน เสียอีก

มันคือการทำงานหนัก แต่ก็มันคง ที่ทำให้พวกเขาทิ้งห่างเพื่อนร่วมลีกในระดับที่ไม่เห็นฝุ่น และเป็นหนึ่งในสโมสรแถวหน้าของภูมิภาคอาเซียน และความภาคภูมิใจของชาวมาเลเซียในปัจจุบัน

Photo : ESPN

“สิ่งสำคัญที่สุดจึงไม่ได้เป็นเรื่องกระเป๋าหนัก หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ความสำเร็จของพวกเขา มาจากการบริหารที่ยอดเยี่ยม และสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของสโมสร และผู้เล่น, สต้าฟโค้ช, แฟนบอล, รัฐบาลของรัฐ, สมาคมฟุตบอลของรัฐ และสมาคมฟุตบอลของประเทศ” บทความ Explaining the Success of Johor Darul Ta’zim Football Club (JDT) ระบุ

“เงินอาจจะมีประโยชน์และสำคัญ แต่ปัจจัยอื่นๆ มีความสำคัญมากกว่า และกุญแจความสำเร็จของ JDT ก็มาจากความเชื่อใจและเคารพในการบริหารงานของสโมสร”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ฟิลิป โรกิช : แข้งต่างชาติป้ายเเดง บุรีรัมย์ ที่เคยฮ็อตเตะตากุนซือ เชลซี

แฮริส วูชคิช : ดาวยิงบุรีรัมย์ที่เคยเล่นพรีเมียร์ลีกตั้งแต่ 19 และอดีตคู่ซ้อมของ 'กาก้า'

ดิออน คูลส์ : เเข้งโควต้าอาเซียนที่โหดที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยลีก

แหล่งอ้างอิง

https://www.the-afc.com/en/club/afc_cup/news/johor_darul_tazim_the_history_makers.html

https://www.redbull.com/my-en/5-steps-fam-can-learn-from-johor-southern-tigers-recent-success

https://suaraharimau.com/archives/93

https://www.goal.com/en/news/johor-darul-tazim-super-league-commercial/emshhjkz7mm01f6uti5cnwwz6

https://soccerkakis.org/2020/05/06/johor-darul-tazims-success-is-down-to-one-individual-tunku-ismail-idris/

https://www.the101.world/johor-malaysia-secession/
https://www.dosm.gov.my/v1/index.php?r=column/cone&menu_id=d1dTR0JMK2hUUUFnTnp5WUR2d3VBQT09

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ