ไทยเราใช้ตามไหม ? : เปิดงานวิจัยเรื่อง “ทีมเล็กชนะทีมใหญ่” ของ ส.บอลญี่ปุ่น

ไทยเราใช้ตามไหม ? : เปิดงานวิจัยเรื่อง “ทีมเล็กชนะทีมใหญ่” ของ ส.บอลญี่ปุ่น
วิสูตร ดำหริ

ญี่ปุ่นฝากผลงานสะท้านโลกไว้ในเวิลด์คัพฉบับกาตาร์ ด้วยการโค่นมหาอำนาจลูกหนังอย่าง เยอรมัน และ สเปน สองทีมที่มีศักดิ์ศรีเป็นถึงอดีตแชมป์โลก พร้อมตีตั๋วเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ในฐานะแชมป์กลุ่ม

แม้ว่าสุดท้ายขุนพลซามูไรบลูต้องจอดป้ายในรอบต่อมา จากการแพ้จุดโทษต่อทีมชาติโครเอเชีย แต่ทีมชุดนี้ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วทุกสารทิศ กลายเป็นหน้าเป็นตาของชาวเอเชียในเวทีระดับโลก

ญี่ปุ่นรู้ตัวว่าเป็นรองเรื่องความสามารถเฉพาะตัว พวกเขาจึงเอาระบบและวิธีการเล่นไปสู้ จนสามารถยกระดับตัวเองไปเทียบเคียงทีมยักษ์ใหญ่ของโลกได้อย่างไม่เคอะเขิน ซึ่งแน่นอนว่ามันมีเคล็ดลับอยู่เบื้องหลัง

สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ต้องการไปให้ไกลกว่านี้ในฟุตบอลโลก พวกเขาจึงได้มอบหมายให้ฝ่ายเทคนิคไปศึกษาผลงานของทีมที่กาตาร์อย่างละเอียด โดยมี ไดสุเกะ นากามูระ และ จุน คันโนะ สองเจ้าหน้าที่ดูแลโปรเจ็คต์ทดสอบความฟิตเป็นผู้รับผิดชอบ

งานวิจัยของทั้งคู่สรุปไว้ว่า ในฟุตบอลโลก 2022 มีผลแพ้ชนะเกิดขึ้น 49 เกม จากทั้งหมด 64 เกม (ไม่นับเกมที่ยิงจุดโทษ) ในจำนวนนี้มี 13 เกม ที่ทีมอันดับต่ำโลกกว่าเอาชนะทีมอันดับโลกสูงกว่า ซึ่งข้อมูลตรงนี้เองที่มีสถิติที่น่าสนใจซ่อนอยู่

เจ้าหน้าที่ของ JFA พบว่า ทั้ง 13 เกมที่ทีมเล็กชนะทีมใหญ่ มีสิ่งเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือทีมเล็กวิ่งในโซน 4 และโซน 5 (โซนอัตราการเต้นของหัวใจ) มากกว่าทีมใหญ่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือทีมเล็กวิ่งเต็มสปีดมากกว่าทีมใหญ่นั่นเอง

นอกจากนี้ จำนวนการวิ่งสปีดของทีมเล็กในเกมที่ชนะทีมใหญ่ ยังกินระยะทางไกลกว่าเกมที่พวกเขาแพ้ งานวิจัยของ JFA จึงสรุปได้คร่าว ๆ ว่า หากทีมเล็กต้องการชนะทีมใหญ่ สิ่งแรกที่พวกเขาต้องทำคือต้องมีความฟิตและขยันวิ่งให้มากกว่าอีกทีม

นี่คือสิ่งที่ชาติเล็ก ๆ อย่าง ทีมชาติไทย ควรเอาแบบอย่าง จริงอยู่ว่าแค่ขยันวิ่งอย่างเดียว คงไม่ช่วยให้ไทยเราเก่งเท่าญี่ปุ่น แต่อย่างน้อยมันก็เป็นบันไดขั้นแรกให้ก้าวต่อไป เพราะถ้านักเตะมีความฟิต จะต่อเติมด้วยระบบและวิธีการอะไร มันก็ไม่ใช่ปัญหา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

เป้าที่ไม่ได้ตั้งเล่น ๆ : ญี่ปุ่น จะทำอะไรต่อเพื่อแผนเป็นแชมป์โลกปี 2050 ?

ศิษย์-อาจารย์, เพื่อน, คู่แข่ง : ญี่ปุ่น-เยอรมัน ความสัมพันธ์ลึกซึ้งผ่านฟุตบอล

จีน,เกาหลี, ญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับศึกชิงแชมป์ระดับภูมิภาคแค่ไหน?

อ้างอิง : https://web.gekisaka.jp/news/japan/detail/?387923-387923-fl


แชร์บทความนี้
ฟุตบอล, อนิเมะ, กาแฟ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ