ถูกต้อง แม่นยำ ไร้ดราม่า : บุนเดสลีก้าใช้ VAR อย่างไร จึงไม่เจอปัญหาแบบไทยลีก-พรีเมียร์ลีก ?

เทคโนโลยี VAR ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับความคาดหวังที่ว่า มันจะช่วยลดข้อผิดพลาดของผู้ตัดสิน และทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างถูกต้องและเที่ยงธรรม หลายคนเชื่อว่ามันจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงเกมฟุตบอลไปในทางที่ดีขึ้น
แต่ยิ่งเวลาผ่านไป การใช้ VAR ก็ยิ่งถูกตั้งคำถาม เพราะปัญหาการตัดสินผิดพลาดยังมีให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ในลีกชั้นนำอย่าง พรีเมียร์ลีก, ลาลีก้า และ กัลโช่ เซเรีย อา ยิ่งฟุตบอลไทยยิ่งแล้วใหญ่ มีดราม่าให้พูดถึงอยู่ตลอด
อย่างเกมไทยลีกที่ โปลิศ เทโร แพ้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 1-2 เมื่อสัปดาห์ก่อน นที มีสุวรรณ เป่าไม่ให้ลูกยิงของ วู กึน-ยอง เป็นประตู เพราะมีการทำแฮนด์บอลก่อน แต่ความจริงบอลไม่ได้โดนแขนนักเตะเทโรเลย
ความจริงผู้ตัดสินห้อง VAR พยายามแนะนำให้ เปานที ไปดูภาพช้าข้างสนาม แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่าตัดสินไปแล้ว ไม่สามารถแทรกแทรงคำตัดสินได้ ทีมมังกรโล่เงินจึงต้องเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ไปอย่างสุดบอบช้ำ
หรือสด ๆ ร้อน ๆ ก็เกมพรีเมียร์ลีกที่ ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ เปิดบ้านชนะ ลิเวอร์พูล 2-1 เมื่อช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา (30 กันยายน) ผู้ตัดสินในห้อง VAR ไม่ยอมเช็คตำแหน่งการยืนของ หลุยส์ ดิอาซ ทั้งที่ดาวเตะชาวโคลอมเบียไม่ได้ล้ำหน้าเลย หงส์แดงจึงชวดได้ประตูขึ้นนำ

แม้ว่า องค์กรผู้ตัดสินอาชีพอังกฤษ จะออกมายอมรับความผิดพลาดและขอโทษในภายหลัง แต่มันก็ไม่สามารถเปลี่ยนผลการแข่งขันได้ ทำเอา เยอร์เก้น คล็อปป์ ถึงกับออกมาปากว่า เขาไม่เคยเจอความไม่ยุติธรรมในเกมมากขนาดนี้มาก่อน
อย่างไรก็ดี มีอยู่ประเทศหนึ่งที่ไม่เคยเจอปัญหานี้คือเยอรมัน พวกเขาสามารถใช้ VAR ได้เต็มประสิทธิภาพ มีข้อกังขาให้ขุ่นข้องหมองใจน้อยมาก เรียกได้ว่าตรงตามจุดประสงค์ของเทคโนโลยีนี้ทุกอย่าง
ลีกเยอรมันก็ใช้ VAR เหมือนกับลีกอื่นนั่นแหละ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือวิธีการ พวกเขาให้ความสำคัญตั้งแต่องค์ความรู้ของผู้ตัดสิน ไปจนถึงระบบที่ถูกออกแบบให้เอื้อต่อการใช้งาน จนนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ
ปัจจัยแรกที่ทำให้เยอรมันประสบความสำเร็จคือผู้ตัดสิน เพราะต่อให้ VAR จะเป็นเทคโนโลยีที่เลิศเลอเพอร์เฟคต์แค่ไหน แต่สุดท้ายก็ต้องถูกควบคุมโดยผู้ตัดสินที่เป็นมนุษย์อยู่ดี ถ้าผู้ตัดสินขาดความเข้าใจหรือไม่แม่นกฎมากพอ มันก็จะนำไปสู่การตัดสินที่ผิดพลาดเกมือนเดิม VAR ก็จะเป็นแค่เครื่องมือที่ไร้ประโยชน์
แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาของผู้ตัดสินเยอรมัน เพราะคุณภาพของพวกเขาไม่เป็นสองรองใคร ขึ้นชื่อว่าเยอรมันต้องจริงจังในทุกเรื่อง ผู้ตัดสินฟุตบอลก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ใครก็จะมาเป็นได้ พวกเขาต้องผ่านกระบวนคัดกรองสุดเข้มข้น

ทุกคนต้องเริ่มต้นจากการตัดสินในเกมระดับภูมิภาค นอกจากผลงานจะเป็นตัวชี้วัดการเลื่อนชั้นแล้ว พวกเขายังต้องผ่านการทำข้อสอบสุดหินอีกด่าน เรียกว่าเก่งในภาคปฏิบัติอย่างเดียวไม่พอ คุณต้องเก่งในภาคทฤษฎีด้วย
เพราะฉะนั้นผู้ตัดสินในเวทีบุนเดสลีก้าจึงมีแต่บุคลากรคุณภาพ แถมบางคนยังมีอาชีพเป็นหมอ ทนายความ หรือ นายธนาคาร ที่มีไอคิวและอีคิวสูง ความสามารถในการตัดสินใจก็จะยิ่งแม่นยำขึ้น ทำให้พวกเขาใช้งาน VAR ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อผู้ตัดสินแม่นกฎ ปัญหาในเกมระหว่าง โปลิส เทโร กับ บุรีรัมย์ ก็จะไม่เกิด เพราะถ้าคุณไม่มั่นใจว่ามีการฟาวล์เกิดขึ้นหรือไม่ คุณก็ไม่ควรรีบเป่า คุณควรให้คนในห้อง VAR ช่วยตรวจเช็คจังหวะนั้นก่อน
ปัจจัยต่อมาคือเยอรมันมีระบบการใช้งานห้อง VAR แตกต่างจากลีกอื่น อย่าง พรีเมียร์ลีก, ลาลีก้า หรือ ไทยลีก จะใช้ผู้ตัดสินในห้อง VAR สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละเกม ปัญหาที่ตามมาคือมาตรฐานการตัดสินที่ไม่ตรงกัน เพราะดุลยพินิจของผู้ตัดสินแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ในขณะที่การตัดสินของลีกเยอรมันจะอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เพราะพวกเขาได้กำหนดทีมงานผู้ตัดสินประจำห้อง VAR โดยเฉพาะ (ศูนย์ตั้งอยู่ที่เมืองโคโลญจน์) โดยผู้ตัดสินชุดนี้จะทำหน้าที่เช็ค VAR ของทุกเกม และส่งฟีดแบ็คกลับไปให้ผู้ตัดสินที่ 1 ของแต่ละสนาม
จุดนี้เองทำให้การใช้ VAR ของบุนเดสลีก้ามีมาตรฐานที่ชัดเจน เพราะใช้ผู้ตัดสินชุดเดียวกันในทุกสนามแข่งขัน ช่วยลดปัญหาและข้อพิพาทต่าง ๆ ไปได้เยอะ ซึ่งต้องให้เครดิตสมาคมฟุตบอลเยอรมันที่เล็งเห็นถึงประโยชน์จากตรงนี้
นอกจากจะไม่ต้องกังวลเรื่องมาตรฐานแล้ว การให้ผู้ตัดสินชุดเดียวประจำการในห้อง VAR ไปเลย ยังช่วยให้พวกเขาเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ได้อย่างคล่องแคล่ว และเมื่อเกิดความเชี่ยวชาญแล้ว พวกเขาก็จะตัดสินได้รวดเร็วขึ้นเมื่อถึงเวลาจริง ไม่กินเวลาจนยืดเยื้อเหมือนกับลีกอื่น และมันก็จะไม่เกิดปัญหาเหมือนในเกม สเปอร์ส-ลิเวอร์พูล
นี่ไม่ใช่การกล่าวอ้างลอย ๆ เพราะมีสถิติยืนยันว่า บุนเดสลีก้าใช้เวลาเฉลี่ยในการใช้ VAR ต่อครั้ง เพียง 53 วินาที ขณะที่การใช้ VAR ทั่วโลกต่อครั้ง มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 80 วินาที จะเห็นว่าลีกเยอรมันใช้เวลาน้อยกว่าถึง 27 วินาทีเลยทีเดียว

ปัจจัยสุดท้ายคืออำนาจของผู้ตัดสินในสนาม ผู้ตัดสินในลีกส่วนใหญ่มักเชื่อคำตัดสินของห้อง VAR ในทันที โดยที่ไม่มีการตรวจเช็คอีกรอบ จนนำมาซึ่งการตัดสินที่ผิดพลาด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เราเห็นกันจนชินตา
แต่สำหรับลีกเยอรมันแล้ว ผู้ตัดสินในสนามคือคนที่มีอำนาจสูงสุด หากเขาเกิดสงสัยและไม่แน่ใจในคำตัดสินจากห้อง VAR เขาสามารถขอดูจอข้างสนามได้ เหมือนเป็นการตรวจสอบคำตัดสินอีกชั้นก่อนประกาศออกไป ทำให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยลง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เมื่อบวกกับคุณภาพของผู้ตัดสินที่ผ่านการคัดกรองมาอย่างดี ยิ่งทำให้บุนเดสลีก้าแทบจะไม่มีข้อผิดพลาดจากการใช้ VAR เกิดขึ้น ถ้ามีก็มีน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับในลีกอื่น ถ้าจะบอกว่าผิดพลาดน้อยที่สุดในโลกก็คงจะไม่เกินจริง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้นี้คือเหตุผลที่ทำให้ลีกเยอรมันใช้ VAR ได้อย่างมีมาตรฐานและทรงประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น ว่ากันตามตรงลีกอื่น ๆ ก็น่าจะดูพวกเขาเป็นแบบอย่าง เพราะมันก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถเลย ถ้าคิดจะทำกันจริง ๆ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ปัจจัยทำไมกองหน้า “เบอร์ 9” จึงกลับมาเป็นที่นิยมในโลกฟุตบอล
รวดเร็ว ละเอียด แม่นยำ : OPTA เก็บสถิติอย่างไร จนทีมดัง ๆ ยังต้องมาขอซื้อข้อมูล ?
นอนนาน เปลี่ยนตัวช้า ยั่วให้วุ่นวาย: ทำไมแทคติก “ถ่วงเวลา” ควรหายไปจากบอลอาเซียน ?
ข่าวและบทความล่าสุด
MOST POPULAR

นายกเทศมนตรีญี่ปุ่น เดินทางไกลกว่า 800 กม. ตามเชียร์ทีมรักเลื่อนชั้น

'สโมสรฟุตบอลอาชีพ' ในประเทศอังกฤษ ค้างเงินเดือนนักเตะ มีบทลงโทษอย่างไร?

รู้จัก อาลี อัล-บูไลฮี แข้งจอมห้าวแห่งซาอุฯ ที่ทีมชาติไทยต้องเผชิญหน้า

มุมมอง “โค้ชโย่ง” : นักเตะเทโรจะใส่เกียร์ว่างไหม หลังเงินไม่ออก 5 เดือน ?

ยิ่งเล่น ยิ่งแกร่ง : โจนาธาร ฟอร์มดี จนเข้าตาสโมสรเคลีก
