วิกฤตเกาหลีใต้ ? เมื่อ คลินส์มันน์ เจอกระแสต้านหนัก ก่อนชน ไทย ในเกมคัดบอลโลก 2026

วิกฤตเกาหลีใต้ ? เมื่อ คลินส์มันน์ เจอกระแสต้านหนัก ก่อนชน ไทย ในเกมคัดบอลโลก 2026
PHOTO : KFA
วิสูตร ดำหริ

ปกติแล้ว เกาหลีใต้ คือเต็งจ๋าที่จะคว้าโควตาจากเอเชียไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ยิ่งฟุตบอลโลก 2026 ครั้งนี้ เพิ่มโควตาชาติเข้าแข่งขันเป็น 48 ชาติ ทำให้ทวีปเอเชียได้โควตาเพิ่มเป็น 8 ทีมครึ่ง โอกาสตีตั๋วของขุนพลแข้ง 'แทกุก วอร์ริเออร์ส' น่าจะยิ่งง่ายกว่าครั้งไหน ๆ

แต่ดูเหมือนว่า เกาหลีใต้ จะมีปัญหาใหญ่ให้ขบคิดเช่นกัน ก่อนทำศึกคัดบอลโลกที่จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งพวกเขาอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ทีมชาติไทย เมื่อกุนซือใหญ่ของทีมอย่าง เยอร์เก้น คลินส์มันน์ กำลังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์กดดัน เพราะเจอกระแสสังคมต่อต้านอย่างหนัก

มันเกิดอะไรขึ้นกับโค้ชชาวเยอรมันกันแน่ ? ทำไมคนเกาหลีใต้ถึงพากันร้องยี้ใส่เขา ? Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้สรุปเรื่องราวทั้งหมดไว้ที่นี่แล้ว

ไม่ทุ่มเทแถมรับงานซ้อน

ความขุ่นข้องหมองใจของคนเกาหลีใต้เริ่มก่อตัวอย่างช้า ๆ เพราะ คลินส์มันน์ เริ่มต้นผลงานในฐาะโค้ชทีมโสมขาวได้ไม่ดีนัก เขายังพาทีมเอาชนะใครไม่ได้ตลอด 4 เกมแรก แบ่งเป็นเสมอ 2 และแพ้ 2

แต่ประเด็นหลักที่คนเกาหลีใต้รับไม่ได้อย่างแรง จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านพุ่งตรงไปหา คลินส์มันน์ นั่นก็คือเขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ทั้งที่ความจริงแล้วเขาควรปักหลักในเกาหลีใต้มากกว่า จะได้ตามเช็คฟอร์มนักเตะในเคลีกได้อย่างใกล้ชิด

มีการบันทึกสถิติไว้ว่า เยอร์เก้น คลินส์มันน์ พำนักอยู่ในเกาหลีใต้แค่ 67 วัน หรือคิดเป็น 40% นับตั้งแต่ที่เขาเข้ามารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปี 2023 โดยเขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านพักในแคลิฟอเนีย ประเทศสหรัฐฯ

สื่อเกาหลีใต้จึงพากันออกมาวิจารณ์เขาว่า ไม่ทุ่มเทกับงานคุมทีมชาติมากพอ แม้แต่เกมคู่บิ๊กแมทช์ในเคลีกระหว่าง อุลซาน ฮุนได พบ ชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ส ที่มีนักเตะทีมชาติเกาหลีใต้หลายคนลงเล่น เขายังไม่ปรากฎตัวในสนาม เช่นเดียวกับงานแถลงความพร้อมต่าง ๆ ที่เขาเลือกจะใช้วิธีจัดงานแบบออนไลน์แทน

PHOTO : KFA

อย่างไรก็ดี คลินส์มันน์ ก็ออกมาแก้ต่างในเรื่องนี้ว่า "มันไม่เหมือนกับยุคก่อน ผมสามารถเช็คฟอร์มนักเตะผ่านทีมงานสตาฟฟ์ แม้ว่าตัวจะไม่ได้อยู่เกาหลี ไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหน ผมก็ทำงานเป็นโค้ชทีมชาติเกาหลีใต้ได้"

เท่านั้นยังไม่พอ ในขณะที่รับเงินค่าจ้างก้อนโตจากสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ (KFA) ให้เข้ามาคุมทีมชาติ แต่ตัว คลินส์มันน์ ก็ยังปลีกเวลาไปรับจ็อบเสริมเป็นกูรูวิเคราะห์เกมฟุตบอลของช่อง ESPN พร้อมกันด้วย

นี่คือสิ่งที่คนเกาหลีใต้ยอมไม่ได้ เพราะมันแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เขาไม่ได้มุ่งมั่นกับงานคุมทีมชาติอย่างที่พูดเลย โดยสื่ออย่าง Onsen ถึงกับเปรียบเทียบว่า "ถ้าเป็นพนักงานออฟฟิศธรรมดาที่ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ แถมยังไปรับงานสองจ็อบพร้อมกัน ป่านนี้คงโดนไล่ออกไปแล้ว"

ทำลายประเพณี 20 ปี

แค่ประเด็นข้างต้นก็ว่าแย่แล้ว แต่ คลินส์มันน์ ยังไปสุมไฟใต้เก้าอี้ของตัวเองให้ร้อนรุ่มขึ้นมาอีก เพราะอยู่ดี ๆ เขาก็ประกาศว่า ต่อไปนี้จะไม่มีการแถลงข่าวประกาศรายชื่อนักเตะติดทีมชาติอีกแล้ว

ปกติแล้วเวลาใกล้ถึงสัปดาห์ทีมชาติ หลายชาติก็จะเลือกวิธีประกาศรายชื่อในงานแถลงข่าว โดยจะให้ผู้จัดการทีมมานั่งอ่านรายชื่อนักเตะที่ติดทีม พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถามถึงข้อสงสัยต่าง ๆ

PHOTO : KFA

หนึ่งในชาติที่ใช้วิธีนี้ก็คือเกาหลีใต้ พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ๆ และยึดถือปฏิบัติมาอย่างยาวนาน เพราะการแข่งขันเกมทีมชาติในแต่ละครั้งถือเป็นวาระแห่งชาติของคนเกาหลี ดังนั้นโค้ชมีหน้าที่ที่ต้องให้ความกระจ่างต่อสังคมในทุกเรื่อง

แต่ เยอร์เก้น คลินส์มันน์ กลับตัดสินใจยกเลิกพิธีดังกล่าว และเลือกที่จะประกาศรายชื่อนักเตะผ่านการแจกเพรสรีลีส (Press Release) ไปให้กับสื่อสำนักต่าง ๆ แทน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม โดยเฉพาะจากสื่อเกาหลีใต้

สตีฟ ฮัน ผู้สื่อข่าวอาวุโสชาวเกาหลีใต้ คือหนึ่งในคนที่ออกมาโจมตี คลินส์มันน์ ในเรื่องนี้ โดยเขาบอกว่านี่เป็นการทำลายประเพณีของทีมชาติเกาหลีใต้ที่ปฏิบัติติดต่อกันมา 20 ปีเป็นอย่างน้อย

"โค้ชมีหน้าที่เผชิญหน้าและตอบคำถามยาก ๆ จากสื่อมวลชน เขาก็ควรปฏิบัติตามประเพณีของฟุตบอลเกาหลีใต้เมื่อต้องประกาศรายชื่อนักเตะทีมชาติ ไม่มีผู้จัดการทีมคนไหนได้รับการยกเว้นหน้าที่นี้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย กระทั่งมาถึงยุคของคลินส์มันน์" สตีฟ ฮัน โพสต์ผ่านทวิตเตอร์

PHOTO : KFA

นี่คือมรสุมลูกใหญ่ที่ เยอร์เก้น คลินส์มันน์ กำลังเผชิญในเวลานี้ ซึ่งตัวเขาเป็นคนสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น และถ้ายิ่งผลงานในเกมฟีฟ่าเดย์เดือนกันยายนที่จะไปเล่นกับ เวลส์ และ ซาอุดิอาระเบีย ในยุโรป ออกมาน่าผิดหวังอีก กระแสต่อต้านเขาก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจลุกลามถึงขั้นเรียกร้องให้ปลดเขาออกจากตำแหน่ง

หากโค้ชของทีมไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในชาติ สภาพจิตใจของนักเตะในทีมก็จะพลอยย่ำแย่ไปด้วย และมันก็จะส่งผลต่อไปยังการเตรียมทีมลุยศึกใหญ่อย่างฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก กับ เอเชียน คัพ รอบสุดท้าย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

คิม มิน-แจ : ปราการหลังผู้สร้างมาตรฐานใหม่ให้แนวรับชาวเอเชีย

เปิดประเด็นส่องโลก : เหตุใดนักเตะ เกาหลีใต้ จึงใช้นามสกุล "คิม" กันเพียบ ?

ปีเดียวเป็นตำนาน : คิม ชิน วุก ตัวตึง FIFA ที่ถล่มลีกสิงคโปร์ราบคาบ

แหล่งอ้างอิง :

http://osen.mt.co.kr/article/G1112170119

https://sportalkorea.com/news/view.php?gisa_uniq=2023082515361826

https://twitter.com/realstevescores/status/1694909799253905491

แชร์บทความนี้
ฟุตบอล, อนิเมะ, กาแฟ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ