เตะกลางสงคราม สนามซ้อมโดนระเบิด “ซีเรีย” อันดับโลกสูงกว่าไทยได้ไง ?
ทีมชาติไทยชุดใหญ่ จะต้องเจอกับ ทีมชาติซีเรีย ในค่ำคืนนี้
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นอกจากจะเป็นชาติที่เกือบได้ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเมื่อปี 2018 พวกเขายังมีอันดับในตารางฟีฟ่าเวิลด์แรงกิ้งที่สุดกว่าไทย ทั้งที่ประเทศนี้ตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่าครึ่งล้าน และยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
พวกเขาทำได้อย่างไร ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
สงครามต่อต้านรัฐบาล
แม้ว่า ซีเรีย ประเทศทางตะวันตกของเอเชีย จะเคยเป็นหมุดหมายยอดนิยมของนักเดินทาง อันเนื่องมาจากโบราณสถานที่เก่าแก่อายุนับพันปี แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากไฟสงคราม
ย้อนกลับไปในปี 2011 กระแสอาหรับสปริง ได้ก่อให้เกิดการประท้วงรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด อันเนื่องมาจากปัญหาการว่างงาน การทุจริต และการขาดเสรีภาพทางการเมือง ก่อนที่มันจะกลายเป็นความรุนแรง หลังผู้นำซีเรียใช้อาวุธปราบปรามผู้ประท้วงจนเสียชีวิต
และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นสงครามกลางเมือง ระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน อัล-อัสซาด จนทำให้บ้านเมืองส่วนใหญ่ กลายเป็นซากปรักหักพัง ผู้คนกว่าครึ่งล้านต้องสังเวยชีวิต โดยเป็นเด็กมากถึง 12,000 คน จากข้อมูลของยูนิเซฟ
สงครามส่งผลกระทบไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่เว้นแม้แต่ฟุตบอล กีฬายอดนิยมของซีเรีย นักฟุตบอลหลายสิบคนเอาชีวิตมาทิ้งท่ามกลางสมรภูมิสงคราม ระบบพัฒนาเยาวชนหยุดชะงัก ขณะที่สนามแข่งถูกใช้เป็นฐานทัพ
“ผู้เล่นบางคนต้องตาย ผู้เล่นหลายคนที่ผมรู้จักก็ตาย ผมรู้จักผู้เล่นหลายคนที่ต่อต้านรัฐบาล นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น มันคือเรื่องปกติ แต่เราต้องยอมรับในทุกสิ่ง” ฟาเจอร์ เอบราฮิม อดีตกุนซือทีมชาติซีเรีย กล่าวกับ Indian Express
“เราต้องเสียนักฟุตบอลดาวรุ่งไปหมดทั้งรุ่น บางคนเสียชีวิต บางคนไม่มีที่เล่นฟุตบอล มันเป็นเรื่องปกติในสงคราม ลีกเยาวชนต้องหยุดไปในตอนนั้น โค้ชส่วนใหญ่ไม่มีทีมให้คุม”
ความขัดแย้ง ทำให้วงการฟุตบอลถูกแบ่งเป็นสองฝั่งจากอุดมการณ์ทางการเมือง แฟนๆ ไม่สามารถสนับสนุนผู้เล่นของพวกเขาได้อย่างเต็มปาก สมาชิกในทีมต้องกินแหนงแคลงใจกัน หรือบางทีนักเตะกับโค้ชต้องมาต่อต้านกันเอง
เช่นกับกับ เอบราฮิม เขาเป็นผู้สนับสนุนอัล อัสซาด จนถึงขนาดเคยใส่เสื้อยืดที่มีใบหน้าของผู้นำของเขาไปแถลงข่าว หรือ โอมาร์ อัล โซมาห์ ยอดดาวยิงของประเทศที่อยู่ฝั่งตรงข้าม และเคยประท้วงผู้นำเผด็จการ ด้วยการโบกธงของฝ่ายต่อต้านในศึก WAFF เมื่อปี 2012 หรือหลายคนก็เลิกเล่นทีมชาติไปเลย
“มีผู้เล่นที่ปฏิเสธเล่นให้ทีมชาติในช่วงเวลานั้น เพราะพวกเขาเชื่อว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของด้านในด้านหนึ่ง” ทาเรค ฮินดาวี ที่เล่นให้กับ อัล อิตติฮัด และเป็นกัปตันทีมชาติซีเรียชุดอายุไม่เกิน 20 ปีกล่าว The Guardian
ไฟของสงคราม ยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ “อินทรีแห่งควาซูน” พวกเขาถูกลดงบประมาณในการทำทีม อีกทั้งสนามซ้อมเสียหายจากระเบิด รวมถึงไม่สามารถลงเล่นเกมในบ้านในประเทศได้ เนื่องจากฟีฟ่ามองว่าไม่ปลอดภัย จนต้องระหกระเหินไปเล่นประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่โอมาน จอร์แดนไปจนถึงตุรกี หรือแม้แต่มาเลเซีย
อย่างไรก็ดี ผลงานของซีเรียกลับตรงกันข้าม พวกเขาโชว์ฟอร์มได้อย่างสม่ำเสมอในเกมระดับนานาชาติ และรั้งอยู่ในอันดับ 90 ของโลก ซึ่งสูงกว่าไทย (111 ของโลก) แถมในปี 2017 ยังเกือบผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้าย หลังพ่ายออสเตรเลียไปอย่างน่าเสียดายในรอบเพลย์ออฟชิงตั๋ว ด้วยประตูรวม 2-3 หลังต่อเวลาพิเศษ
พวกเขาทำได้อย่างไร?
ฟุตบอลคือแรงกระตุ้น
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทีมชาติซีเรีย มาตรฐานไม่ตกแม้จะอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง ก็คือคุณภาพนักเตะ อันที่จริงพวกเขาเต็มไปด้วยนักเตะชั้นเยี่ยมมาตั้งแต่แรก ที่พิสูจน์ได้จากผลงานของสโมสรจากซีเรียในฟุตบอลสโมสรเอเชีย
ทั้ง อัล ญาอิช ที่คว้าแชมป์ เอเอฟซี คัพ ด้วยการเอาชนะ อัล วาดาห์ เพื่อนร่วมชาติในปี 2004 และอัล อิตติฮัด มาทำได้อีกครั้งในปี 2010 หรือการที่อัล คารามาห์ ไปถึงตำแหน่งรองแชมป์ เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีกได้ถึง 2 ครั้งในปี 2006 และ 2009 เป็นต้น
“เรามีฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมในตอนนั้น” เอบราฮิมย้อนความหลังกับ Indian Express
นอกจากนี้ การที่ทีมชาติของพวกเขามีเกมลงเล่นอย่างสม่ำเสมอ เฉลี่ย 10 เกมต่อปี รวมถึงการที่ลีกซีเรีย พรีเมียร์ลีก ลีกแห่งชาติไม่เคยหยุดเตะเลย ยังทำให้ผู้เล่นของพวกเขาได้มีโอกาสลับฝีเท้าอย่างต่อเนื่อง
“บางครั้งเราเล่นกันในแค่หนึ่งหรือสองรัฐ แต่มันไม่เคยหยุด” เอบราฮิม กล่าวเมื่อปี 2019
“ตอนนี้ 95 เปอร์เซ็นต์ของซีเรียปลอดภัยแล้ว ขอบคุณพระเจ้า ตอนนี้เราสามารถเล่นฟุตบอลได้ทุกที่ยกเว้นรัฐเดียวคือ อิดลิบ ที่นั่นยังมีปัญหาจนถึงตอนนี้ เมื่อเราสิ้นสุดสงครามในรัฐนี้ ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติในซีเรีย”
อีกทั้ง การประกาศนิรโทษกรรมผู้ที่เคยต่อต้านรัฐบาล เมื่อปี 2017 และทำให้ อัล โซมาห์ และ ไฟราส อัล คาติบ สองผู้เล่นที่เก่งที่สุดในประเทศ ได้กลับมารับใช้ทีมชาติ ก็ทำให้ขุนพล “อินทรีแห่งควาซูน” แข็งแกร่งขึ้นไปอีก
“เราจะให้อภัยชาวซีเรียทุกคนที่อยู่ฝ่ายต่อต้าน เว้นแต่ว่ามือของพวกเขาเปื้อนเลือด” แถลงการณ์ของรัฐบาลระบุ
แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือสงครามที่กลายเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาต้องสู้ หรือผลักดันออกไปเล่นในต่างแดน เพราะมันอาจจะเป็นวิธีเดียวที่ทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ ที่กลายเป็นแรงขับสำคัญจนเกือบสร้างปาฏิหาริย์ในฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกเมื่อหลายปีก่อน
“การได้เข้ารอบเพลย์ออฟเอเชียเกือบจะเป็นปาฏิหาริย์ ไม่มีใครคาดคิดว่าเราจะเข้ามาถึงรอบนี้ อันเนื่องมาจากสถานการณ์ที่ลำบากในประเทศของเรา” อายมาน อัล ฮาคิม กุนซือของทีมชาติซีเรียในตอนนั้นกล่าวกับ AFP
“มันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ชาวซีเรียมี และความสามารถในการบรรลุในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
“ทุกคนรู้ขอบเขตของโศกนาฏกรรมที่ประเทศเราเผชิญ และมันก็สะท้อนออกมาในทุกแง่มุมของชีวิต รวมถึงกีฬา”
ทว่า เหนือสิ่งอื่นใด สำหรับชาวซีเรีย การไม่มีสงครามเลย อาจจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เนื่องจากบางครั้งมันก็ไม่จำเป็นต้องใช้แรงกระตุ้นในลักษณะนี้ และคงไม่มีใครยินดี หากทีมชาติประสบความสำเร็จ แต่ประเทศกลับต้องล่มสลาย
บทความที่น่าสนใจ
ใจได้ สู้สนุก : 5 แข้งไทยยู 23 ฟอร์มเยี่ยมเกมดวล ซาอุดิอาระเบีย
โจนาธาร เข็มดี : เซนเตอร์พันธุ์ห้าวดาวดวงใหม่ทัพช้างศึก
ไม่มีเกมแต่มีของ : ปุรเชษฐ์ ทอดสนิท ไพ่เด็ดทีมชาติไทยชุดยู-23
จากดาวรุ่ง T3 : ธีรศักดิ์ เผยพิมาย วันเดอร์คิดท่าเรือฯ ผู้แจ้งเกิดสำเร็จเพียง 1 เดียว
แหล่งอ้างอิง
https://www.theguardian.com/football/blog/2014/sep/07/syrian-football-civil-war
https://www.besoccer.com/new/there-s-no-impossible-as-war-torn-syria-eye-football-world-cup-305574
https://www.middleeasteye.net/fr/node/66651
https://www.arabnews.com/node/1739766/middle-east
https://www.dw.com/en/is-un-aid-into-syria-being-used-as-a-political-football/a-64309561
ข่าวและบทความล่าสุด