‘อินโดนีเซีย โมเดล’ การวางรากฐานที่แปลกใหม่ แต่กลับใช้ได้จริงในโลกฟุตบอลปัจจุบัน
ผลงานของ ทีมชาติอินโดนีเซีย รุ่นอายุต่ำกว่า 23 ปี ในศึกชิงแชมป์เอเชีย ยู-23 ณ ประเทศกาตาร์ครั้งนี้ นับว่าไปได้ไกลเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด หลังผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ ด้วยการล้มยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียอย่าง เกาหลีใต้ ยู-23 ในรอบก่อนรองชนะเลิศ จากการเอาชนะการดวลจุดโทษ 11 ต่อ 10 หลังเสมอกันในช่วงต่อเวลาพิเศษ 2-2 การันตีการไป เพลย์ ออฟ กับ กินี ยู-23 เป็นอย่างน้อยในการลุ้นชิงโควต้าไปเล่นในศึก โอลิมปิก เกมส์ 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
พลพรรคอิเหนา ภายใต้การคุมทัพของ ชิน แท-ยง กุนซือชาวเกาหลีใต้ พ่ายไปเพียงแค่เกมเดียวนับเฉพาะก่อนมาถึงรอบ น็อค เอาท์ ในเกมนัดเปิดสนามรอบแบ่งกลุ่ม ที่เจอกับเจ้าภาพอย่าง กาตาร์ ยู-23 ด้วยสกอร์ 0-2 ก่อนจะพลิกนรกเอาชนะ ออสเตรเลีย 1-0 และถล่ม จอร์แดน 4-1 ผ่านเข้ารอบน็อคเอาท์มาได้แบบน่าเหลือเชื่อ
แม้ว่าทัพ การูด้า ยู-23 จะสามารถปราบทีมเต็งอย่าง โสมขาว มาได้ แต่การเจอกับ อุซเบกิสถาน ยู-23 ในรอบรองชนะเลิศ พวกเขาต้านทานความแข็งแกร่งและเก๋าเกมไม่ไหว พ่ายไป 0-2 จากการเหลือผู้เล่นเพียงแค่ 10 คน ซึ่งสุดท้ายแล้ว อินโดนีเซีย ยู-23 ก็ทำได้ดีที่สุดเพียงการคว้าอันดับที่ 4 มาครองได้ หลังพ่ายในเกมนัดชิงอันดับสามให้กับ อิรัก ยู-23 แบบสู้สุดใจแล้วด้วยสกอร์ 1-2 แบบนำก่อนได้ด้วย แต่มาโดนยิงแซง และเกือบตีเสมอในวินาทีสุดท้ายของการต่อเวลาพิเศษ 120 นาที ทำให้อกหักในรอบ น็อค เอาท์ ถึงสองเกมติด
แต่นี่ก็คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของพวกเขา และปลุกกระแสฟุตบอลเจ้าอาเซียน ให้ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย ต้องหันมองตัวเองและทบทวนนโยบายโครงสร้างการพัฒนานักเตะเยาวชนกันบ้าง ซึ่งนัดสั่งลาของพวกเขายังมีโอกาสเดิมพันตั๋วโอลิมปิกอีกครั้ง ในการตัดกับ กินี อันดับ 4 จากโซนแอฟริกา ในวันที่ 9 พ.ค. ที่ฝรั่งเศส ใครชนะจะคว้าตั๋วใบสุดท้ายของโอลิมปิกเกมรอบสุดท้ายทันที
เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ของ แท-ยง ใช่ว่าเส้นทางของเขา จะโรยด้ว ยกลีบกุหลาบ แต่ความจริงแล้วต้องฟันฝ่ากับอุปสรรคต่างๆ นาๆ มากมาย ทั้งต้องสู้กับสมาคมฟุตบอลแดนอิเหนา และการวางรากฐานแนวทางในแบบของตนเอง ที่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ผลงานที่กว่าจะผลิดอกออกผลให้เห็น ย่อมต้องเจอกับกระแสวิจารณ์กับแรงเสียดทานมากมาย
กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ แท-ยง ต้องเผชิญกับเหตุการณ์หนักขนาดขอลาออกมาแล้ว เรื่องราวนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร? เขาเคยใกล้เคียงกับการคุม ทีมชาติไทย จริงหรือไม่? ผู้เล่นของพวกเขาชุดนี้มีความแข็งแกร่งตรงจุดไหน? อะไรคือเหตุผลที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ปัญหาที่รุมเร้า
ชิน แท-ยง ถือว่าเป็นเฮดโค้ชระดับ ยูฟ่า โปร ไลเซนส์ ที่ผ่านการคุม ทีมชาติเกาหลีใต้ ชุดใหญ่ มาแล้ว ดังนั้นเรื่องของการทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพของเขาย่อมสูงเอามากๆ ซึ่งการมาร่วมงานกับ สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย หรือ PSSI กลายเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ในด้านที่ย่ำแย่แบบที่เขาไม่เคยพบเคยเจอมาก่อน
วงการฟุตบอลของ อินโดนีเซีย นั้นมีปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนานตั้งแต่เข้ายุค 2010 เคยเข้าขั้นวิกฤติถึงขนาด ฟีฟ่า แบนไม่ให้ลงทำการแข่งขันในรายการที่พวกเขารับรอง เนื่องจาก ‘การเมือง’ เข้ามาแทรกแซงโลกของ ‘ฟุตบอล’ ทำให้ทัพ อิเหนา แทบไม่เหลือเค้าโครงของชาติที่น่ากลัวย่าน อาเซียน ต้องดิ้นรนทำผลงานอย่างยากลำบากทั้งในรายการ ซูซูกิ คัพ หรือ ซีเกมส์
นอกจากนี้หากย้อนกลับไปในปี 2015 ฟีฟ่า ได้ประกาศแบน อินโดนีเซีย ไม่ให้ข้องเกี่ยวกับทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่าง ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก 2018 และ เอเชี่ยน คัพ 2019 เนื่องจากปัญหาการเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอลภายในประเทศ ที่มีความขัดเย้งกับ สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ที่รุนแรงถึงขนาดมีการยกเลิกโปรแกรมเกมลีกเลยทีเดียว
จากความขัดแย้งดังกล่าว สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย จึงมีรอยร้าวกับสโมสรในประเทศของพวกเขาเรื่อยมา แล้วสืบเนื่องไปถึงเรื่องของการให้ความร่วมมือการปล่อนตัวนักเตะไปเล่นตามโปรแกรมทีมชาติ ซึ่งทุกอย่างถูกแก้ปัญหาด้วยการให้แต่ละสโมสรส่งตัวผู้เล่นมาแบบเฉลี่ยทีมละ 2 คนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้การแข่งขันเดินต่อไปได้ หลังจากพ้นโทษแบนกลับมาลงแข่งขันได้ตามปกติ
ดังนั้นแค่การรับงานคุม ทีมชาติชุดใหญ่ ก็ว่ายากที่จะกู้ศรัทธาแล้ว แต่ทาง PSSI กลับสอดไส้ไม่แจ้ง แท-ยง ว่าต้องคุมทีมชาติชุดเยาวชน อีกหลายรุ่นด้วยทั้ง ยู-19 กับ ยู-23 ซึ่งทางสื่อของ อินโดนีเซีย ก็เคยออกโรงมาเตือนโค้ชแดนโสมไว้แค่เนิ่นๆ แล้วว่า ต้องเจอกับ ‘ภาระ’ อันหนักอึ้งแบบที่ไม่เคยผ่านมาก่อน
สิ่งที่ช็อคไปกว่านั้น คือ แท-ยง เผยกับสื่อในประเทศเกาหลีใต้อย่าง NEWS1 ว่าเขาเคยยื่นโปรไฟล์มาให้ทาง สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย พิจารณาเป็น เฮดโค้ช มาแล้ว แต่ตอนนั้นกลายเป็นทาง อากิระ นิชิโนะ เฮดโค้ชชาวญี่ปุ่น ที่ได้รับงานไป ตามที่กล่าวไว้ว่า
"จริงๆ แล้วผมสนใจที่จะเป็นโค้ชทีมชาติไทย ในตอนนั้นทีมไทยประกาศหากุนซือคนใหม่ (หลังแยกทางกับ "โค้ชโต่ย" ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย) ตอนนั้นผมเกือบที่จะได้เซ็นสัญญากับสมาคมฟุตบอลไทยแล้ว”
“แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เซ็นสัญญากัน ในตอนนั้นผมก็เริ่มศึกษารูปแบบการเล่นและการพัฒนาของฟุตบอลอาเซียนสมากขึ้น จากนั้นก็ได้เซ็นสัญญากับอินโดนีเซีย"
แม้ว่าจะ แท-ยัง จะไม่ลงเอยกับ ทีมชาติไทย แล้วหันไปมุ่งมั่นอย่างเต็มที่กับ ทีมชาติอินโดนีเซีย แต่แล้วการทำงานร่วมกับ สมาคมบอลแดนอิเหนา ก็ไม่สวยหรูอย่างที่เขาคิดไว้ ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือให้ความร่วมมือช่วงที่ โควิด-19 ระบาด แถมยังเจออุปสรรคและงานที่หนักหนากว่าที่ตกลงกันไว้ จนถึงขนาดต้องออกมาให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า
"เดิมทีผมคิดว่าผมยินดีกับงานคุมทีมชาติอินโดนีเซียมาก ๆ เพราะผมรู้สึกว่าผมมีวิสัยทัศน์ตรงกับทาง PSSI เราต่างเชื่อว่าการพัฒนาทีมชาติต้องค่อยเป็นค่อยไป"
"ผมจะยกตัวอย่างก่อนที่เกาหลีใต้จะลงแข่งขันในฟุตบอลโลก 2002 เรามีแคมป์เก็บตัวและทดสอบนักเตะอย่างจริงจัง ได้ลงแข่งขันกับนักเตะที่เก่งกว่า แต่ที่อินโดนีเซียเราทำไม่ได้เลย สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราไม่มีเกมอุ่นเครื่องเลย”
“ดังนั้นถ้าเรามีแคมป์สำหรับฝึกซ้อมก็จะสามารถทำให้ร่างกายของนักเตะดีขึ้นได้ เราจะสามารถกำหนดการออกกำลังกายของพวกเขาได้ เราจะได้จัดการระบบการกินของผู้เล่นและได้มีโปรแกรมลงเตะกระชับมิตรตลอดทั้ง 6 สัปดาห์"
"ผมจะไม่ว่าเลยถ้าพวกเขาไม่ร้องขออะไรมากมายจากผม พวกเขาขอให้ผมพาทีมชุดยู-19 เข้ารอบรองชิงชนะเลิศในศึกชิงแชมป์เอเชียที่อุซเบกิสถานให้ได้ (การแข่งขันถูกเลื่อนไปจัดปี 2023) พวกเขาต้องการให้ผมพาทีมชาติชุดใหญ่คว้าแชมป์ซูซูกิ คัพ และพวกเขาก็อยากให้ผมพาทีมชุด ยู-20 เข้ารอบก่อนรองชนะเลิศในฟุตบอลโลกยู-20 ในปี 2021 (ซึ่งอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ แต่ถูกเลื่อนไปแข่งปี 2023)"
แม้ว่า แท-ยง จะมีปัญหากับคนเบื้องบนใน สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย รวมไปถึงการงัดข้อกับทีมสตาฟฟ์ที่แทนจะถูกปลดออกหลังจากเกิดเรื่อง แต่กลับกลายเป็นว่า ดันเลื่อนขั้นให้กับคู่กรณีไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า เขามองว่ารับงานแล้วจำเป็นต้องทำให้ดีที่สุด ใช้ความ อดทน ตั้งใจ และพยายามพิสูจน์ตนเองจนได้ใจลูกทีม
เขานำเอาสไตล์การทำทีมที่ยืดหยุ่นเน้นการทำทีมแบบนัดต่อนัดแบบที่เขาถนัดมาใช้กับ อินโดนีเซีย เดิมทีนักเตะ อินโดนีเซีย นั้นมีจุดเด่นที่ความเร็วเท่านั้น ซึ่งมันไม่พอที่จะประสบความสำเร็จในฟุตบอลสมัยใหม่ เพราะไม่ว่าจะเจอกับใคร อินโดนีเซีย ก็จะอาศัยการวิ่งและความสามารถส่วนตัวของนักเตะเป็นหลักตลอด ครองบอลนาน ๆ เล่นวิธีเดิมตั้งแต่ต้นจนจบเกม ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาต้องผิดหวังกับสไตล์การเล่นแบบนี้
นับตั้งแต่ ชิน แท ยง เข้ามา อินโดนีเซีย ก็กลายเป็นทีมที่ใช้งานหลายระบบการเล่น นับตั้งแต่คัดฟุตบอลโลกจนถึง ซูซูกิ คัพ ครั้งนี้พวกเขาใช้แทคติกมมาแล้วถึง 4 แผน ทั้งกองหลัง 3 ตัว ทั้งระบบ 4-4-2, 4-3-3 และ 4-1-4-1 นอกจากนี้ยังมีนักเตะอายุน้อย ๆ ฝีเท้าดีมาก ๆ ซึ่งก็เป็นผลจากการที่เขาได้คุมเด็กพวกนี้แบบตกกระไดพลอยโจร มาตั้งแต่ปี 2019 นั่นเอง
การสร้างขุมกำลัง
การตกกระไดพลอยโจรของ ชิน แท-ยง ที่ต้องทำงานควบคุมทีมชาติอินโดนีเซีย ตั้งแต่ U19, U20, U23 และ ทีมชาติชุดใหญ่ แม้ว่ามันจะเป็นงานที่หนักหน่วงเกินกว่าจะรับไหว ถึงขนาดเตรียมยื่นซองขาวขอลาออก แล้วเป็นสิ่งที่ทาง ประธานสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย โมชาหมัด อิไรวัน (Mochamad Iriawan) ออกมายืนยันว่า
"ผมคิดว่าเหตุผลมันน่าจะมาจากการที่เขาต้องง่วนกับการทำทีมถึง 3 ชุด แน่นอนเราไม่อยากเสียเขาไปเพราะเขาคือคนที่เก่งที่สุดที่เราเคยมี เราจึงพยายามจะแนะนำให้เขาคุมแค่ทีมชุดยู 19 ชุดเดียวเท่านั้น เพราะเราการแข่งขันฟุตบอลโลก ยู20 รออยู่ "
ฟังเผินๆ เหมือนจะเป็นการลดงานให้กับ แท-ยง แต่สุดท้ายแล้วมันก็ไม่เกิดขึ้นจริง การทำงานควบทุกชุดของเขายังคงเป็นไปตามเดิม หนักหนาถึงขนาดที่ผู้ช่วยของเขาที่เป็นชาวเกาหลีใต้และทำงานกับเขามาตั้งแต่ฟุตบอลโลกปี 2018 ทั้ง 3 คนอย่าง คิม แฮ-วุน (Kim Hae-woon (โค้ชประตู), คิม วู แจ (Kim Woo-jae) เป็นโค้ชด้านเทคนิค และ อี แจ-ฮง (Lee Jae-hong) ที่เป็นเทรนเนอร์ทางกายภาพ ก็ประกาศลาออกไปในช่วงปี 2021 พร้อม ๆ กัน ส่วนหัวหน้าทีมเองก็ต้องขอเวลาหยุดพักผ่อนในปี 2022 เพื่อทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น
แต่ใช่ว่าสิ่งที่ แท-ยง ทำมาจะเปล่าประโยชน์ เพราะการได้ไปคลุกคลีกับเยาวชนทีมชาติตั้งแต่อายุยังน้อย ส่งผลให้เขาได้ซ่องสุมและสร้างขุมกำลังฝีเท้าดี ที่ตามเป็นทหารเอกตามเลื่อนขั้นไปช่วยเขาตามทุกรุ่นอายุและรายการต่างๆ แบบไม่ได้ตั้งใจ ต่างฝ่ายต่างซื้อใจด้วยการพัฒนาไปแบบเป็นขั้นเป็นตอนพร้อมๆ กัน
ปราการหลังกัปตันทีมชาติ ชุดอายุต่ำกว่า 23 ปี อย่าง ริซกี้ ไรโด (Rizky Rhidho) จากสโมสร เปอร์ซิย่า จาการ์ต้า คือ ดาวเตะที่อยู่กับ แท-ยง มาตั้งแต่นัดชิง เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ในปี 2021 ที่แพ้ให้ ทีมชาติไทย เกมแรกแบบยับเยิน 0-4 ส่วนเกมที่สองเสมอกันไปแบบสุดมัน 2-2 ด้วยวัยเพียงแค่ 22 ปี เขาก้าวไปเป็นตัวหลักให้กับ ทีมชาติทั้งยู-23 และ ชุดใหญ่ ซึ่งได้รับโอกาสตั้งแต่อายุแค่ 19 ปี
เอกี้ เมลาน่า (Egy Maulana) แนวรุกตัวเก่งวัยแค่ 23 ปี คือ ขุนพลเด็กสร้างของ แท-ยง อีกหนึ่งรายที่อยู่กับเขามาตั้งแต่ศึก เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ปี 2021 แล้วทุกวันนี้ก็ก้าวไปเป็นขุมกำลังสำคัญให้กับ ทีมชาติชุดใหญ่ ได้อย่างเต็มตัว
นอกเหนือจากตัวชูโรงที่กล่าวไปเป็นตัวอย่างทั้งสองรายแล้ว แท-ยง ที่มองเห็นปัญหาในระยะยาวเกี่ยวกับการเรียกตัวผู้เล่นที่อาจไม่ได้รับความร่วมมือจากสโมสร จึงเลือกที่จะให้โอกาสนักเตะดาวรุ่งอายุไม่เกิน 23 ปี เป็นแกนหลักในการทำงานของเขามาตั้งแต่ทัวร์นาเมนต์ AFF 2021
เห็นได้จากการที่เขาส่งรายชื่อขุนพล 30 คนสุดท้ายของทัพ การูด้า ที่มีนักเตะอายุไม่เกิน 23 ปีไปถึง 14 คน หรือเกือบครึ่งทีมเลยทีเดียว ประกอบไปด้วย เอร์นานโด อารี (Ernando Ari), ริซกี้ ไรโด (Rizky Ridho), วิตาน สุเลมาน (Witan Sulaeman), เอกี้ เมาลาน่า (Egy Maulana), ปราทามา อาร์ฮาน (Pratama Arhan), ราชมัท ไอริอันโต (Rachmat Irianto), อัสนาวี มังกัวลัม (Asnawi MangKualam), ไซอาห์เรียน อาบิมันยู (Syarian Abimanyu), คาเด็ค อากุง (Kadek Agung), ราไม รูมาเคียค (Kamai Rumakiek), มูฮัมหมัด ริยานดี (Muhammad Riyandi), อัลเฟรอันดรา เดวังก้า (Alfreandra Dewangga), ฮานิส ซาการ่า ปูตรา (Hanis Saghara Putra) และ เอลกาน แบ็กก็อต (Elkan Baggot) เหลือรอดมาถึงทีมชาติชุดใหญ่ ณ ปัจจุบันถึง 8 คนด้วยกัน หากเทียบกับชุดทีบุกไปถล่ม เวียดนาม 3-0 ถึงถิ่นในเกมฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา
การวางแผนของ แท-ยง ไม่ใช่เพียงแค่ซ่องสุมขุมกำลัง แต่ยังพยายามส่งเสริมผลักดันผู้เล่นให้ไปเก็บประสบการณ์ในต่างประเทศ ซึ่งในเวลานั้น อัสนาวี ก็เล่นให้กับ อันซาน กรีนเนอร์ส (เกาหลีใต้), เอกี เมาลานา เล่นอยู่กับ เซนิซ่า (สโลวาเกีย), วิตาน สุไลมาน เล่นอยู่กับ เลเคีย กดานซ์ค (โปแลนด์), และ ไซอาห์เรียน อาบิมันยู ก็เล่นอยู่กับ ยะโฮร์ ดะรุลห์ ต๊ะซิม (มาเลเซีย) ส่วนตัวที่มีเชื้อสายอินโดผสมยุโรปอย่าง แบ็กก็อต ที่อยู่กับทีมสำรองของ อิปสวิช ทาวน์ (อังกฤษ) ก็เริ่มมีการดึงตัวเข้ามาผสมผสานทีละเล็กทีละน้อย เพื่อไม่ให้เสียองค์ประกอบโดยรวม
น่าเสียดายที่ขุนพลที่เขาสร้างมาเพื่อเตรียมทีมไปสู้ศึก ฟุตบอลโลก รุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องฝันสลายเพราะติดปัญหาเรื่องสงครามและการเมืองกับ อิสราเอล จนทำให้ ฟีฟ่า ต้องถอนสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพของ อินโดนีเซีย ไปให้กับ อาร์เจนติน่า แทนในปี 2023
อย่างไรก็ตามการที่ แท-ยง มีส่วนร่วมกับ ทีมชาติอินโดนีเซีย แทบทุกชุดส่งผลให้เขาสร้างขุมกำลังที่แข็งแกร่งเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่อง จนมาผลิดอกออกผลในศึกชิงแชมป์เอเชียครั้งนี้
นายทวารมือหนึ่งอย่าง เอร์นานโด อารี (Ernando Ari) จากสโมสร เปอร์เซบูย่า ซาราบาย่า ก็เพิ่งจะอายุแค่ 22 ปี แต่ก้าวไปมีชื่อในทีมชุดใหญ่เรียบร้อยแล้ว ยังไม่นับรวมดาวรุ่งอย่าง มาร์เซลิโน่ เฟอร์ดินาน (Marcelino Ferdinan - 19 ปี), อาคาน ฟิครี่ (Arkhan Fikri - 19 ปี) และ รามาดาน ซานานต้า (Ramadhan Sananta-21ปี) ที่เป็นกำลังหลักให้กับชุดล่าแชมป์เอเชียและทีมชาติชุดใหญ่
ยิ่งไปกว่านั้นแผนสองของ แท-ยง คือ การตามหาลูกครึ่งหรือลูกเสี้ยว มาเติมความแข็งแกร่งให้ทีมทีมเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น ราฟาเอล สตรูอิค (Rafael Struick) กองหน้าที่เกิดในประเทศเนเธอร์แลนด์ วัยแค่ 21 ปี ที่เพิ่งเหมายิง 2 ประตูในเกมกับ เกาหลีใต้ ยู-23 สังกัดสโมสร เอดีโอ เดน ฮาก แดนกังหันลม, จัสติน ฮุบเนอร์ (Justin Hubner) ปราการหลังเชื้อสายดัตช์อีกหนึ่งราย วัยแค่ 20 ปี ค้าแข้งอยู่กับ เซเรโซ โอซาก้า จ่าฝูงศึก เจ ลีก ประเทศญี่ปุ่น, นาธาน โจ-อา-โอน (Nathan Tjoe-A-On) แนวรับชาวดัตช์วัย 22 ปี จากสโมสร ฮีเรนวีน และ อิวาร์ เจนเนอร์ (Ivar Jenner) จอมทัพวัย 20 ปี ลูกครึ่งดัตช์ จากสโมสร อูเทร็คช์ ยู-21
ยิ่งไปกว่านั้น เฟอร์ดินาน (ไดน์เซ่-เบลเยียม) และ ปราทามา อาร์ฮาน (Pratama Arhan - Suwon FC) ที่เป็นแข้งเชื้อสายอินโดนีเซียแท้ๆ ยังเล่นอยู่ในลีกต่างแดนชั้นนำ หากนับรวมผู้เล่นชุดใหญ่แล้ว อินโดนีเซีย จะมีนักเตะที่เล่นทั้งในลีกยุโรปและเอเชีย มากกว่า ทีมชาติไทย เราเสียอีก
แน่นอนว่าเมื่อเจาะลึกลงไปที่อายุของนักเตะแต่ละราย อินโดนีเซีย ที่ทาง ชิน แท-ยง สร้างขุมกำลังขึ้นมา จะมีผู้เล่นที่น่ากลัวอย่างมาก แถมใช้งานได้ยาวๆ ไปอีกอย่างต่ำถึง 7 ปี ต่อให้หลังจากนี้ แท-ยง ออกลูกงอนขอลาออก ผู้เล่นเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปไหน
ผลงานความสำเร็จของ แท-ยง อาจไม่ใช่การคว้าแชมป์ทัวร์นาเมนต์ต่างๆ มาเอาใจแฟนบอลหรือสมาคมชาวอิเหนา แต่เป็นการสร้างผู้เล่นฝีเท้าดีก้าวขึ้นไปพร้อมๆ กับตัวเขา ซึ่งถ้าเทียบกันจริงๆ แล้ว นักเตะไทย และ อินโดนีเซีย ไม่ได้เป็นรองชาติใดเลยในเรื่องของทักษะหรือความสามารถเฉพาะตัว แต่การบริหารจัดการและวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมผู้เล่นต่างหากที่ต่างกัน นั่นหมายถึงโอกาสของผู้เล่นที่จะก้าวไปอยู่ในจุดที่สูงกว่าในการค้าแข้งก็ต่างกันไปด้วย
ให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์
การทำงานอย่างหนักของ ชิน แท-ยง ตั้งแต่แรกเริ่มยาวมาจนถึงตอนนี้ มันพิสูจน์คุณค่าของตัวเขาเองได้โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม ปัญหาต่างๆ ที่เขาเผชิญไม่แตกต่างจากที่ ทีมชาติไทย ต้องเจอ แต่เขาก้มหน้ารับชะตา พร้อมกับเตรียมตัวให้ดีที่สุดเพื่อหวังลุ้นกับโอกาสที่มีอยู่อย่างน้อยนิด ตามที่กล่าวไว้ว่า
“การแข่งขัน U-23 Asian Cup ไม่ได้อยู่ในปฏิทินของ FIFA ดังนั้นผมจึงไม่สามารถพูดได้ว่าการเตรียมการของเราสมบูรณ์แบบ แต่เรายังคงพยายามเผชิญหน้าและสร้างทีมและหวังว่าเราจะสามารถทำผลงานได้ดีในทัวร์นาเมนต์นี้”
“ในยุคของเรา สไตล์ฟุตบอลแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละโค้ช นั่นเป็นเรื่องยากสำหรับเรา เราเล่นฟุตบอลด้วยความอดทน ผมคิดว่าถ้านักเตะต้องพัฒนาพวกเขาก็ต้องเล่นตามความสามารถของตัวเอง แทนที่จะโค้ชพูดว่า 'ทำนี่ ทำนั่น' ผมคิดว่าเขาควรนำเสนอภาพรวมของสิ่งที่เขาต้องการ และปล่อยให้นักเตะทำให้มันเกิดขึ้น มันไม่ควรทำในบรรยากาศที่บีบบังคับ แต่ควรทำในลักษณะเอาใจใส่ ผมคิดว่าผลลัพธ์ที่ดีกว่าสามารถบรรลุผลได้ด้วยการปล่อยให้ผู้เล่นทำสิ่งที่พวกเขาทำได้ด้วยตัวเอง”
การได้รับความเชื่อมั่นจากผู้เล่นในทีมทุกคน เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่พา แท-ยง และ ทีมชาติอินโดนีเซีย ยู-23 มาได้ไกลถึงรอบรองชนะเลิศศึก ชิงแชมป์เอเชีย ยู-23 พร้อมคว้าอันดับ 4 มาครองได้อย่างสมภาคภูมิ การปลูกฝังจิตใจที่เป็นนักสู้และความเชื่อมั่นในศีกยภาพฝีเท้าของตนเอง คือ สิ่งที่เขาถ่ายทอดไปให้กับลูกทีมเต็มร้อย ตั้งแต่การปลุกใจในเกมที่เจอกับ ออสเตรเลีย ยู-23 แล้วสามารถคว้าผลการแข่งขันที่ต้องการมาได้ จนสุดท้ายมาได้ไกลเกินฝัน
ไม่ว่าปลายทางของ แท-ยง ที่กำลังจะหมดสัญญากับทีมหลังจบทัวร์นาเมนต์นี้จะเป็นอย่างไร? สุดท้ายแล้วสิ่งที่เขาทิ้งไว้ให้กับ อินโดนีเซีย คือ ผลผลิตระยะยาวที่เตรียมใช้งานได้แบบเกินคำว่า ‘คุ้ม’ ซึ่งนั่นจะกลายเป็นสิ่งที่ ทีมชาติไทย ต้องย้อนมาดูกันว่า เหล่าแฟนบอลอิเหนา ที่โม้เคลมล่วงหน้าว่าจะเป็น เจ้าอาเซียน แทนที่เรา มันอาจไม่ใช่เรื่องตลกและกลายเป็นจริงได้ในไม่ช้า
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://www.facebook.com/MainStandTH/photos/a.250798898813146/1094538687772492/?type=3&locale=ms_MY
https://thinkcurve.co/kaarcchabpuuaiskradngthiithamaih-chin-aeth-yng-yaaklaa-kcchaak-inodniiechiiy/
https://en.wikipedia.org/wiki/Indonesia_national_under-23_football_team
https://thinkcurve.co/chin-aeth-yng-chaayphuusraangprawatisaatraihkabwngkaarfutb-l-inodniiechiiy/
ข่าวและบทความล่าสุด