รื้อระบบพรีเมียร์ลีก : การบริหาร “เรื่องเงิน” อย่างมืออาชีพที่ไทยลีกควรเอาอย่าง

รื้อระบบพรีเมียร์ลีก : การบริหาร “เรื่องเงิน” อย่างมืออาชีพที่ไทยลีกควรเอาอย่าง
วิสูตร ดำหริ

เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในลีกเมืองไทย หลายสโมสรต้องตกอยู่ในสถานการณ์ชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถจ่ายเงินอุดหนุนทีมได้ตามกำหนด

เมื่อไม่ได้เงินสนับสนุน สโมสรก็ไม่มีเงินจ่ายนักเตะ เรียกว่าได้รับผลกระทบกันทั้งระบบ หากปล่อยให้มันเป็นปัญหาคาราคาซังแบบนี้ต่อไป ก็อดเป็นห่วงความอยู่รอดของลีกในระยะยาวไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือหาทางแก้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

หนึ่งในทางแก้ที่น่าสนใจคือการศึกษาบริษัทพรีเมียร์ลีก พรีเมียร์ลีกมีการจัดการอย่างไร ? ปัญหาของไทยลีกอยู่ตรงไหน ? และเหตุใดไทยลีกจึงควรยึดพรีเมียร์ลีกเป็นแบบอย่าง ? หาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

โครงสร้างไม่ตอบโจทย์

ต้องเกริ่นก่อนว่า ฟุตบอลลีกอาชีพในเมืองไทย เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในยุคของ วรวีร์ มะกูดี ที่ได้รวม “ไทยลีก” กับ “โปรลีก” เข้าด้วยกันในปี 2007 โดยปรับให้มีระบบเลื่อนชั้นตกชั้น ก่อนที่ 2 ปีต่อมา จะมีการตั้ง บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ตามข้อกำหนดของสมาพันธ์ลูกหนังเอเชีย (AFC)

นอกจากจะดำเนินการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพในประเทศแล้ว หน้าที่สำคัญอีกอย่างของ บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด คือการดูแลสิทธิประโยชน์ของสโมสร โดยเฉพาะการแบ่งสรรปันส่วนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดและเงินจากสปอนเซอร์ อ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา วันที่ 15 สิงหาคม ปี 2015 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ก็คือ วรวีร์ มะกูดี

Photo : Goal

แต่พอมาถึงยุคของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ก็จัดการปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยการตั้ง บริษัทไทยลีก จำกัด ขึ้นมาดูแลสิทธิประโยชน์แทนที่ บริษัทไทย พรีเมียร์ลีก จำกัด พร้อมโอนหุ้นจำนวน 99.98% ให้กับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ตามคำแนะนำของสหพันธ์ลูกหนังนานาชาติ (ฟีฟ่า)

เหตุผลที่ฟีฟ่าแนะนำวิธีนี้ก็เพื่อเพิ่มความโปร่งใส สมาคมฯในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ต้องแสดงรายได้ที่เข้ามาเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงตัวเลขสิทธิประโยชน์ที่แต่ละสโมสรจะได้รับ ในกรณีที่สโมสรเกิดข้อสงสัย สมาคมฯต้องชี้แจงให้กระจ่าง

ฟังดูเผิน ๆ เหมือนเป็นโครงสร้างที่ดี ทุกคนสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินได้ สโมสรก็ไม่ต้องคอยระแวงว่าจะถูกตุกติกเรื่องสิทธิประโยชน์ เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะได้เงินจากสมาคมฯเท่าไร หากได้ไม่ครบตามที่ตกลง สโมสรก็มีสิทธิ์ท้วงติง

แต่หากมองลึกลงไป มันก็เป็นเหมือนดาบสองคมเช่นกัน เพราะเท่ากับว่าอำนาจในการตัดสินใจอยู่กับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ สมาคมฯสามารถตัดสินใจโดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นจากสโมสรก่อน ต่อให้สโมสรจะไม่เห็นดีเห็นงามด้วย ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปโต้แย้งหรือขัดขวาง

Photo : Goal

มันจึงเกิดคำถามตามมาว่า โครงสร้างที่ใช้อยู่นี้ดีจริงหรือไม่ เพราะสิ่งที่สมาคมฯตัดสินใจเลือกมา อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสโมสรก็เป็นได้ เนื่องจากสมาคมฯต้องพยายามโกยเม็ดเงินเข้ามาในลีกให้มากที่สุด จนบางทีลืมนึกถึงผลกระทบที่จะตามมาถึงสโมสร หากมันไม่เป็นตามแผนที่วางไว้หรือเกิดวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นมา เหมือนอย่างกรณีค้างจ่ายเงินสนับสนุนสโมสรไทยลีกในตอนนี้

ปัญหาใหญ่สั่นคลอนไทยลีก

เดิมทีสโมสรในไทยลีก 1 จะได้รับเงินสนับสนุนจากสมาคมฯ ฤดูกาลละ 20 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นเงินส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดนั่นแหละ แต่ในฤดูกาลนี้ถูกลดเงินส่วนนี้ลงมาเหลือ 14 ล้านบาท (30%) ซึ่งพวกเขาก็ทำได้แต่ก้มหน้ายอมรับ

สมาคมฯกำหนดการจ่ายเงินไว้ 4 งวด (งวดละ 3.5 ล้านบาท) งวดแรกจ่ายสิ้นเดือนสิงหาคม 2022, งวดที่ 2 จ่ายสิ้นเดือนธันวาคม 2022, งวดที่ 3 จ่าย สิ้นเดือนพฤษภาคม 2023 และงวดสุดท้ายจ่ายเกิดเริ่มฤดูกาล 2023/24 1 เดือน (เดือนกรกฎาคม)

หากเป็นไปตามเงื่อนไข ตอนนี้สโมสรในไทยลีก 1 ต้องได้เงินเข้ากระเป๋า 2 งวด รวมเป็นเงิน 7 ล้านบาท เพราะนี่ก็ล่วงเลยเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว แต่ความจริงคือพวกเขาเพิ่งได้ไปเพียง 1.5 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากสมาคมฯไม่ได้ทำตามข้อตกลง  

เพราะกว่าสมาคมฯจะจ่ายงวดแรกได้ ก็ปาเข้าไปวันที่ 9 มกราคม 2023 ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมถึง 4 เดือน แถมยังจ่ายไม่ครบอีกต่างหาก จากเดิมที่สัญญาว่าจะจ่าย 3.5 ล้านบาท ถึงเวลากลับจ่ายแค่ 1.5 ล้านบาท เงินหายไป 2 ล้านบาท สร้างความผิดหวังให้กับสโมสรในไทยลีกถ้วนหน้า

Photo : Goal

พอเป็นแบบนี้ นครราชสีมา เอฟซี จึงส่งหนังสือถึงสมาคมฯ เพื่อสอบถามเรื่องกำหนดระยะเวลา แต่คำตอบที่ได้มากลับไร้ความชัดเจน โดย พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ในฐานะนายกสมาคมฯ บอกเพียงว่าไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาจ่ายเงินได้ เนื่องจากปัญหาขาดสภาพคล่องที่สะสมมาตั้งแต่วิกฤตโควิด-19

กลายเป็นว่าสมาคมฯลอยตัว แต่สโมสรต้องแบกรับปัญหาแทน ทั้งที่พวกเขาไม่มีโอกาสได้ร่วมออกเสียง นี่จึงเป็นข้อเสียของโครงสร้างดูแลสิทธิประโยชน์ที่สมาคมฯครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทไทยลีก จำกัด

ปัญหาที่เกิดขึ้นสั่นคลอนความมั่นคงของไทยลีกไปด้วย ในเมื่อไม่มีรายได้ก้อนใหญ่เข้ามา สโมสรจะเอาเงินจากไหนไปแบ่งเบาค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะกับสโมสรระดับกลางลงไปถึงเล็ก พวกเขาไม่มีงบประมาณก้อนโตเหมือนสโมสรใหญ่ ลำพังรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมและสินค้าที่ระลึก ไม่เพียงพอต่อการทำทีมในลีกอาชีพ พวกเขาจำเป็นต้องพึ่งเม็ดเงินสนับสนุนจากสมาคมฯเพื่อความอยู่รอด ไม่อย่างนั้นก็นับถอยหลังถึงวันยุบทีมได้เลย

Photo : Goal

ขนาดทีมใหญ่อย่าง เชียงราย ยูไนเต็ด ที่คว้าแชมป์ในเมืองไทยมาแล้วทุกรายการ มีทั้งสปอนเซอร์และแฟนบอลหนุนหลัง ยังได้รับผลกระทบหนัก จนต้องติดค้างค่าจ้างกับนักเตะบางส่วน เพราะได้เงินส่วนนี้จากสมาคมฯไม่ครบ

นั่นทำให้ มิตติ ติยะไพรัช ประธานที่ปรึกษาของ เชียงราย ยูไนเต็ด ต้องออกมาพูดถึงปัญหานี้ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าคุยเรื่องอย่างจริงจัง เพราะมันหมายถึงอนาคตของฟุตบอลลีกเมืองไทย ขืนยังปล่อยไว้แบบนี้ ฟุตบอลไทยมีสิทธิ์พังทั้งระบบ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
5 ปี 5 ดราม่า : รวมเหตุการณ์ที่ทำให้ บุรีรัมย์ & เชียงราย กลายเป็นคู่อริเบอร์ 1 | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับ เชียงราย ยูไนเต็ด ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมาของวงการฟุตบอลไทย ไม่ใช่แค่นักเตะที่สาดแข้งใส่กัน แต่ผู้บริหารก็ฟาดฟันกันไม่ยั้ง เหตุการณ์ใดที่ทำให้ทั้งสองทีมกลายเป็นคู่อริเบอร์ 1 ติดตามได้ที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง


“สมาคมฯยังไม่จ่ายเงินเลย จริง ๆ ตอนนี้ทุกทีมต้องได้เงินเต็มจำนวนแล้ว แต่ตอนนี้ได้มาแค่ 1.5 ล้านเอง ทุกทีมไม่ต้องอายหรอก ทีมไหนไม่มีเงินจ่ายนักบอล มันต้องคุยกันด้วยความจริงครับ เพราะมันไม่มีเงินจริง ๆ ” มิตติ เปิดใจ

“การบริหารจัดการช่วงนี้เหมือนปล่อยเกียร์ว่าง เราจะไปต่อกันยังไง อยากวอนให้ทุกคนมาช่วยดูประเด้นนี้ดีกว่า มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้องและความมั่นคงของลีกเราในระยะยาว เราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้กันเลย”

Photo : Chiang Rai United FC

เรียนรู้จากมืออาชีพ

ฟุตบอลไทยลีกไม่ใช่ลีกเดียวที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างลักษณะนี้ ลีกในหลายประเทศต่างเคยประสบพบเจอไม่ต่างกัน แต่พวกเขารู้จักปรับตัวจนสามารถก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นได้ หนึ่งในนั้นคือ พรีเมียร์ลีก ที่กลายเป็นลีกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลกไปแล้ว

เดิมทีฟุตบอลลีกอังกฤษก็ขึ้นตรงกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) เหมือนกับไทยลีก นอกจากสโมสรต้องยอมให้อีกฝ่ายดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์แล้ว พวกเขายังต้องแบ่งรายได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้กับ FA อีกต่างหาก

แต่พอพวกเขาตัดสินใจทำฟุตบอลให้เป็นธุรกิจ เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์จากปัญหาฮูลิแกน เปิดทางให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสร หลายทีมได้จ้างผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน เข้ามาช่วยทำการตลาด และหารายได้เข้าสู่ทีม จนมีรายรับมากขึ้นเรื่อย ๆ

Photo : FourFourTwo

ทีนี้พอมีเงินมากขึ้น อำนาจก็มากขึ้นตาม สโมสรจึงต่อรองกับ FA เพื่อขอค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้น กระทั่งสุดท้ายพวกเขาคิดได้ว่าไม่มีความจำเป็นต้องแบ่งเงินก้อนนี้อีกแล้ว ในเมื่อสามารถหาเงินด้วยตัวเองได้ ดังนั้นจึงแยกตัวไปตั้งบริษัทดูแลสิทธิประโยชน์กันเอง และนั่นก็เป็นจุดกำเนิดของศึกพรีเมียร์ลีก

“ผมไม่เคยสงสัยเลยว่าพรีเมียร์ลีกจะประสบความสำเร็จ แต่ผมจำเกมแรกได้ดีเลย พวกเราทุกคนตื่นเต้นกันมาก ๆ เพราะมันหมายความว่าพวกเราทำมันได้จริง ๆ แล้ว” ไมค์ ฟอสเตอร์ เลขาธิการคนแรกของพรีเมียร์ลีก เปิดใจ

ตั้งแต่ปี 1992 จนถึงปัจจุบัน พรีเมียร์ลีกเป็นอิสระจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ พวกเขาได้รับเม็ดเงินลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเปิดโอกาสให้ 20 สโมสรในลีก มีอำนาจในการโหวตตัดสินใจในทุกเรื่อง โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของ FA ก่อน และนั่นคือปัจจัยที่ทำให้พรีเมียร์ลีกมาไกลอย่างทุกวันนี้

Photo : Eurosport

จริงอยู่ว่าบริบทของฟุตบอลอังกฤษต่างจากไทย การแก้ปัญหาจึงไม่สามารถใช้แนวทางเดียวกันได้ทั้งหมด แต่แนวคิดเรื่องการแยกลีกออกจากการบริหารของสมาคมฯ เป็นสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์กับฟุตบอลลีกในเมืองไทย

ข้อดีที่เด่นชัดเลยคือสโมสรจะมีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ ไม่มีใครรับรู้ถึงปัญหาและสิ่งที่สโมสรต้องการได้ดีกว่าตัวพวกเขา ดังนั้นสโมสรสามารถเลือกในสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อตัวเองได้ ได้ดีกว่าปล่อยให้สมาคมฯเป็นคนตัดสินใจ

ส่วนในเรื่องสิทธิประโยชน์นั้น สโมสรก็จะได้รับเม็ดเงินโดยตรง โดยที่ไม่ต้องไปรอจากสมาคมฯอีกแล้ว หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา พวกเขาจะได้รู้วิธีรับมือหรือหางทางแก้ไข ไม่ใช่ทำได้แค่เพียงรออย่างไร้จุดหมายเหมือนที่เป็นอยู่

Photo : Goal

นี่ถือเป็นทางเลือกที่ฟุตบอลไทยน่าเอาอย่าง แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะสโมสรต้องมีอำนาจไปต่อรองกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯเสียก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำสำเร็จกันในวันสองวัน บางทีอาจต้องใช้เวลานับสิบปีก็เป็นได้

ก่อนอื่นสโมสรไทยลีกต้องสร้างมูลค่าให้กับตัวเองและการแข่งขัน เริ่มจากผู้บริหารของสโมสรต้องรู้จักวิธีหาเงินเข้าสู่ทีม มุ่งมั่นพัฒนาทีมไปข้างหน้า และแฟนบอลอย่างเรา ๆ ต้องหันมาสนับสนุนทีมในท้องถิ่นอย่างจริงจัง ซื้อตั๋วเข้าไปชมเกมในสนาม อุดหนุนสินค้าที่ระลึก เพื่อสร้างรายได้ให้กับสโมสร สโมสรและแฟนบอลต้องเดินไปพร้อมกัน

นี่คือหนทางเดียวที่จะสร้างอำนาจต่อรองให้กับสโมสรไทยลีก ซึ่งไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วมันจะได้ผลเหมือนพรีเมียร์ลีกหรือไม่ แต่อย่างน้อย ๆ มันก็ดีกว่าอยู่เฉย ๆ เอาแต่แบมือรอรับเงินส่วนแบ่งจากสมาคมฯ และต้องเจอปัญหาปวดหัวอย่างทุกวันนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

จากเมืองทองฯ ถึง ท่าเรือฯ : รวมดาวทีมชาติไว้ในสโมสรเดียวกันได้ประโยชน์จริงหรือ?

ลูปท่าเรือฯ : วังวนเดิมกับการหวังผลลัพท์ใหม่... เป็นได้จริงหรือ ?

ซื้อจริงจ่ายจริง : 10 อันดับนักเตะไทยค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์

แหล่งอ้างอิง : https://www.isranews.org/content-page/item/40607-report_40607.html?fbclid=IwAR0CeHDiBVjXVWY13-HKObRBRLBmcQfpvQ7sN9wzHf4ezLNXU2jHj2tbO18

https://www.thairath.co.th/content/728345?fbclid=IwAR0CG2_HdwIRtZw0waXgzNtylICCzyk52YdRIq4_7UqQovQszuiB54ixim8

https://theathletic.com/1765966/2020/04/23/how-did-the-premier-league-really-change-english-football/?fbclid=IwAR0IQ98PrDy-2bMEjwbJA8bultuZYdSp8tb1BEEH1kugRIVoqEKlDtw4YRo

แชร์บทความนี้
ฟุตบอล, อนิเมะ, กาแฟ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ