มองจากตะวันตก : ลีกอังกฤษจัดการปัญหาทำร้ายผู้ตัดสินอย่างไร?

มองจากตะวันตก : ลีกอังกฤษจัดการปัญหาทำร้ายผู้ตัดสินอย่างไร?
มฤคย์ ตันนิยม

เรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้สำหรับ เอกพงศ์ อุทธสาร ผู้รักษาประตูของทีม สี่แคว ซิตี้ หลังเตะบอลอัดผู้ตัดสิน กรกฤษ มีครู ด้วยความโกรธ จากการที่เชิ้ตดำให้จุดโทษ เชียงราย ซิตี้ จนทำให้เกมจบลงด้วยผลเสมอ

แม้ว่าสุดท้ายเขาจะได้รับบทลงโทษจากสโมสรด้วยการยกเลิกสัญญา แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้ตัดสินมักจะตกเป็นเป้าอารมณ์ของผู้เล่น มาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่ลีกไทยเท่านั้น ที่เผชิญกับปัญหาทำร้ายผู้ตัดสิน  เพราะแม้แต่ชาติที่ฟุตบอลพัฒนาแล้ว อย่างอังกฤษ ก็ยังหนีไม่พ้น โดยเฉพาะในลีกล่างที่มากถึงเกือบ 1,000 เคส

พวกเขาจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

มะเร็งร้ายแห่งฟุตบอลแดนผู้ดี

อังกฤษ ถือเป็นชาติที่บ้าบอลสุดขีด จากการเป็นต้นกำเนิดของเกมลูกหนังสมัยใหม่ พวกเขามีพรีเมียร์ลีก ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และมีสโมสรที่แทรกตัวอยู่ในทุกมุมเมือง ตั้งแต่ลีกสูงสุดยันลีกล่างไม่น้อยกว่า 40,000 สโมสร

อย่างไรก็ดี พวกเขาก็ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ตก เป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่เกาะกินวงการฟุตบอลแดนผู้ดีมาอย่างยาวนาน นั่นก็คือ “การทำร้ายผู้ตัดสิน”

จากการรายงานของ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2019 มีผู้ตัดสิน และผู้ช่วยผู้ตัดสินโดนทำร้าย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากผู้เล่น โค้ช ผู้จัดการทีม แฟนบอล พ่อแม่ผู้เล่น มากถึง 882 คดี และส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสนามฟุตบอล

Photo : Club Respect

ขณะที่การทำร้ายมีหลายรูปแบบทั้งเตะ เอาหัวโขก ถ่มน้ำลายใส่ ไปจนถึงใช้คำเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในลีกล่าง หรือนอกลีก หรือแม้กระทั่งลีกเยาวชนในระดับอายุไม่เกิน 11 ปี

“เขาเอาหัวโขกผม ผมพยายามหันหัวหนี แต่เขาโขกที่ด้านข้างของหัว หัวผมมีอาการบวมเล็กน้อยแต่โชคดีที่มันไม่รุนแรงมาก ผมปฏิเสธที่จะเริ่มเกมจนกว่าเขาจะออกไปจากสนาม” หนึ่งในผู้ตัดสินที่เคยโดนทำร้ายกล่าวกับ BBC

“ผมให้ใบแดงเขาสำหรับการข่มขู่และพฤติกรรมดูถูก จากนั้นเขาพุ่งมาชกผมจากฝั่งซ้าย เขายังขู่ผมว่าเดี๋ยวเจอกันแน่ในลานจอดรถหลังเกม” ผู้ตัดสินอีกคนเสริม

เดือนตุลาคม 2022 สื่อท้องถิ่นของแลงคาเชียร์ รายการว่ามีการทำร้ายผู้ตัดสิน ในสนาม หลังเกมระหว่างแพลต บริดจ์ และ วีแกน โรส จนทำให้ เดฟ แบรดชอว์ เชิ้ตดำในเกมนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส จมูกหัก ซี่โครงหัก 4 ซี่ ไหล่หลุด ไหปลาร้าหัก สมองได้รับการกระทบกระเทือน

“ทั้งพ่อแม่ ผู้จัดการทีม โค้ช พวกเขาโจมตีผู้ตัดสินอย่างต่อเนื่อง ด้วยทัศนคติว่าต้องชนะอย่างเดียว และพูดว่า ‘คุณเข้าใจผิด’” คีธ เรดคลิฟฟ์ ผู้ตัดสินระดับอาวุโส กล่าวกับ  BBC Radio 5 Live

ขณะที่ เฮเลน ที่มีลูกชายเป็นผู้ตัดสินอยู่ในเกมระดับสูงของอังกฤษ และเคยถูกขู่ฆ่า มองว่าการที่ผู้ตัดสินไม่ได้รับการสนับสนุน เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตุลาการในสนามต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

“ทุกคนเลย พ่อแม่ ผู้เล่น ผู้จัดการ หรือกูรูในสื่อ พวกเขาไม่ได้ปกป้องผู้ตัดสิน พวกเขากำลังสร้างตัวอย่างที่ไม่ดี และทำให้คนเลียนแบบพฤติกรรมนั้น” เฮเลน กล่าวกับ BBC

อย่างไรก็ดี เอฟเอ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สุดพีกไทยลีก 3 : รวม 4 เหตุการณ์ความเดือดที่เกิดขึ้นในสัปดาห์เดียว | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง ฟุตบอลไทยลีก 3 เป็นประเด็นในหน้าโซเชี่ยลประจำสัปดาห์ที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้หลังจากเกิดเหตุการณ์เดือดมากมายทั้งการไล่ทำรายกรรมการ, เตะอัดกรรมการ, วอล์คเอาท์ และ ชกคู่แข่ง ... และทุก ๆ เรื่อง Think Curve - คิดไซด์โค้ง สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นและผลที่ตามมาในแต่กรณีไว้ที่นี่เเล้ว .. ติ…

เทคโนโลยี+ความเข้มงวด

จากการรายงานของเอฟเอ ระบุว่าปัจจุบันพวกเขามีผู้ตัดสินที่สอบผ่านอยู่มากถึง 28,000 คน และมีคนมาสอบเป็นผู้ตัดสินไม่น้อยกว่า 4,000 คนในแต่ละปี แต่ก็มีเชิ้ตดำไม่น้อยที่ลาออกไป จากปัญหาความรุนแรง

พอล ฟิลด์ ประธานผู้ตัดสินของอังกฤษกล่าวว่า อีกสาเหตุหนึ่งคือการไม่ได้รับความเอาใจใส่เท่าที่ควร บวกกับการที่ปัญหามักจะเกิดขึ้นนอกเวลาทำการ (เสาร์-อาทิตย์) ของผู้มีอำนาจที่ดูแลเรื่องนี้

“ถ้าบางคนถูกทำร้ายในเช้าของวันเสาร์ แต่อาจจะต้องรอจนถึงวันพุธกว่าที่สมาคมฟุตบอลท้องถิ่น จะรับโทรศัพท์แล้วถามว่าคุณเป็นไงบ้าง?” ฟิลด์ กล่าวกับ BBC Sport

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ ฟิลด์ คิดว่าการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น รวมไปถึงบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น อย่างการยึดใบอนุญาตการเป็นโค้ช (หากเป็นโค้ชหรือผู้จัดการทีม) อาจจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดี

Photo : Nottinghamshire FA

“ฟุตบอลระดับรากหญ้าจำเป็นต้องได้รับความรักและความเอาใจใส่มากกว่านี้ และผมจะเพิ่มโทษแบนในทุกการข่มเหง ผมจะเพิ่มกับคนดูด้วย” ฟิลด์ กล่าว

จากกฎล่าสุดของ เอฟเอ ที่อัพเดทไปเมื่อปี 2019 ระบุว่า หากมีการสัมผัสร่างกายผู้ตัดสิน ที่ครอบคลุมตั้งแต่การดัน ผลัก ไปจนถึงแย่งใบเหลืองใบแดง จะมีการลงโทษห้ามเล่นอย่างน้อย 182 วัน หรือราว 6 เดือน

ส่วนการทำร้ายผู้ตัดสิน จะมีโทษขั้นต่ำคือ 5 ปี ไปจนถึงลงโทษแบนตลอดชีวิต (เอฟเอยืนยันว่ามีคนได้รับโทษนี้แล้ว) และอาจจะโดนปรับซ้ำ รวมถึงต้องเข้าคอร์สอบรม ก่อนกลับมาลงสนาม

“เราชัดเจนว่าการละเมิดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะในหรือนอกสนามเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และเราจะทำทุกอย่างเพื่อกำจัดพฤติกรรมเหล่านี้ออกจากเกม” โฆษกของเอฟเอ กล่าว

Photo : Daily Mail

และล่าสุด เอฟเอ ยังได้เตรียมทดลองใช้กล้องติดตัว (Body Camera) กับผู้ตัดสิน ด้วยเป้าหมายที่จะยับยั้งและป้องกันความรุนแรงในสนาม และกำลังปรึกษากับคณะกรรมการฟุตบอลระหว่างประเทศ (IFAB) ในแนวคิดนี้

“เอฟเอ ได้ดำเนินการตามข้อเสนอของชุมชนผู้ตัดสิน ด้วยการขอความยินยอมจากคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ (IFAB) ในระหว่างการประชุมสามัญประจำปี ในเดือนมิถุนายน 2022 ให้มีการทดลองใช้กล้องติดตัวสำหรับผู้ตัดสินในฟุตบอลระดับรากหญ้าของอังกฤษ” แถลงการณ์ของ เอฟเอ ระบุ

“เป้าหมายของการทดลองนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลก คือเพื่อสำรวจว่าการใช้กล้องติดตัวจะช่วยปรับปรุงพฤติกรรมของผู้เล่นได้หรือไม่ ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ตัดสินในฟุตบอลรากหญ้าได้อีกด้วย”

“เราจะติดตามผลกระทบของการทดลองนี้ในแง่พฤติกรรม และถ้ามันประสบความสำเร็จ เราจะเอามันมาใช้ในระดับชาติ และนานาชาติ เรากำลังสรุปรายละเอียดของการทดลองกับ IFAB และข้อมูลเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบในภายหลัง”

Photo : Sky Sports

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎ และไม่ยอมอ่อนข้อกับความรุนแรง แบนเป็นแบน ปรับเป็นปรับ ไม่มีการลดโทษภายหลังในอนาคต ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ให้มีใครทำตาม

“เราอยากจะเห็นเอฟเอมีจุดยืนที่เข้มงวดขึ้นในคุณสมบัติและหรือการรับรองโค้ชที่ถูกไล่ และสโมสรที่ยังคงพฤติกรรมแย่ๆ ซึ่งอาจจะมีผลให้เงินช่วยเหลือถูกถอดถอนออกไป” ฟิลด์ให้ความเห็น

ฟุตบอล อาจจะมีรูปแบบการเล่นที่รุนแรง และต้องเข้าปะทะตลอดเวลา แต่มันไม่ใช่การฆ่าฟันที่จะทำร้ายใครก็ได้ หากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ดั่งใจ หรือไม่สบอารมณ์

มันคือกีฬา ที่มีแพ้ มีเสมอ มีชนะ ที่ทุกคนต้องยอมรับมัน แม้บางครั้งอาจจะไม่เต็มใจ  และความรุนแรง ก็ไม่ควรอยู่ในสมการนี้ ไม่ว่าจะในหรือนอกสนามก็ตาม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

อังกฤษ-ไทย ดูไว้หน่อย : บุนเดสลีก้า เขาทำ VAR ยังไงไม่ให้วุ่นวาย ?

VAR ออกอากาศเสียงผู้ตัดสิน : ทางแก้ปัญหาความแคลงใจของ ไทยลีก?

รวดเร็ว ละเอียด แม่นยำ : OPTA เก็บสถิติอย่างไร จนทีมดัง ๆ ยังต้องมาขอซื้อข้อมูล ?

แหล่งอ้างอิง

https://www.bbc.com/sport/football/61425471

https://www.dailymail.co.uk/sport/sportsnews/article-11303735/Grassroots-referees-trial-wearing-body-cameras-2023-amid-FAs-concerns-abuse.html

https://www.telegraph.co.uk/football/2022/09/24/exclusive-referees-could-murdered-unless-fa-cracks-abuse-officials/

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ