โบลินกิ & ดุมบูย่า : คู่หูอันตรายที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นคู่แข่งแย่งตัวจริง

โบลินกิ & ดุมบูย่า : คู่หูอันตรายที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นคู่แข่งแย่งตัวจริง
ชยันธร ใจมูล

ในขณะที่กองหน้าไทยอย่าง ศุภชัย ใจเด็ด และ ศุภณัฎฐ์ เหมือนตา ถูกยกย่องให้มีส่วนสำคัญกับฟอร์มการเล่นของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในซีซั่นนี้เพราะ 2s ทั้งยิง ทั้งจ่ายกันอย่างร้อนแรง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะลืมไม่ได้เลยคือคู่หูแอฟริกันอันตราย ที่โดดเด่นเข้าตาไม่แพ้กันนั่นคือคู่ของ โจนาธาน โบลินกิ และ ลอนซานา ดุมบูย่า ที่กลายเป็นอาวุธเด็ดในเกมตัน ๆ ให้กับปราสาทสายฟ้าได้เสมอ

และนี่คือเรื่องราวของพวกเขาทั้งคู่ ที่ก่อนจะมาเป็นคู่หูระเบิดเกมรับคู่แข่ง พวกเขาเคยเป็นคู่แข่งที่ต้องแย่งกันลงสนามมาก่อน  เรื่องทั้งหมดเป็นอย่างไร อะไรคือจุดเปลี่ยนของเรื่องนี้ ติดตามที่นี่

นักเตะแอฟริกัน…ขั้นกว่า

โจนาธาน โบลินกิ เป็นนักเตะชาว ดีอาร์ คองโก ขณะที่ ลอนซานา ดุมบูย่า นั้นเป็นนักเตะชาว กีนี พวกเขาคือนักเตะแอฟริกัน ... ซึ่งในความเข้าใจของแฟนบอลไทยที่มีต่อนักเตะแอฟริกันมักจะออกมาในรูปแบบของนักเตะที่รวดเร็ว  แข็งแรง มีลีลาในการเลี้ยงบอลเยอะ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของนักเตะแอฟริกันแบบที่เราเคยเห็นมาเสมอ ส่วนเรื่องของจุดด้อยของนักเตะแอฟริกัน คือเรื่องความเข้าใจในแท็คติก และการขาดสมาธิ และการควบคุมอารมณ์

เรื่องนี้เราไมได้กล่าวขึ้นมาลอย ๆ เพราะครั้งหนึ่ง อาร์แซน เวนเกอร์ อดีตกุนซือ อาร์เซน่อล ที่ขึ้นชื่อเรื่องการปั้นนักเตะแอฟริกันก็เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“ชาวแอฟริกันเป็นคนที่มีความมุ่งมั่น และอารมณ์ร่วมกับเกมฟุตบอลของพวกเขาสูงมาก พวกเขามีความสุขทีได้เล่นฟุตบอลในสนาม และนั่นคือสิ่งที่วิเศษมาก"

"แต่พวกเขาจะเป็นนักตะที่ดีระดับแถวหน้าได้ พวกเขาต้องขัดเกลาเรื่องแท็คติก ความเข้าใจเกม และการมีสมาธิตลอด 90 นาทีให้ได้ก่อน” เวนเกอร์ เคยกล่าวเอาไว้
Photo : AL Jazeera

จากคำกล่าวของ เวนเกอร์ เราจะพบว่านักเตะที่เป็นแอฟริกันแท้ กล่าวคือเกิด โต และมีเชื้อชาติและสัญชาติแอฟริกัน 100% นั้นต้องปรับตัวเรื่องแท็คติกเป็นหลัก อาจจะด้วยเรื่องของการเรียนรู้ฟุตบอลให้ถูกวิธีตั้งแต่อายุยังน้อย รวมถึงการสอนเชิงลึกเรื่องของแท็คติกที่ทางแอฟริกาไมได้เข้มข้นเหมือนกับในยุโรป

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การเหมารวมและบอกว่านักเตะแอฟริกันจะไม่มีวันเข้าใจแท็คติก เพียงแต่พวกเขาต้องไปอยู่กับคนที่สอนเป็น อยู่กับทีมที่มีวิธีการเล่นชัดเจน และพวกเขาต้องมีต้นทุน ซึ่งต้นทุนของพวกเขาคือ "เซ้นส์" ซึ่ง เซ้นส์ นี่แหละที่จะทำให้พวกเขาเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างได้ไว และถ้านักเตะแอฟริกันคนไหนสามารถเรียนรู้เรื่องแท็คติกและความเข้าใจเกมได้ พวกเขาก็จะกลายเป็นสุดยอดนักเตะไปโดยปริยายเพราะมีศักยภาพทางร่างกายที่ได้เปรียบอยู่แล้ว ดังเช่น เวอาห์, ซามูเอล เอโต้ หรือ ดิดิเยร์ ดร็อกบา เป็นต้น

กลับมาที่เรื่องของ โบลินกิ และ ดุมบูย่า กันต่อ ทั้งสองคนนี้อาจจะมีเชื้อสายแอฟริกันแต่พวกเขา ผ่านเวทียุโรปมาโชกโชนก่อนจะมาถึงการเป็นนักเตะของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

โบลินกิ นั้นเข้ามาเล่นในยุโรปตั้งแต่ปี 2017 ผ่านเกมระดับลีกสูงสุดของ เบลเยี่ยม มาแล้วมากกว่า 100 นัด นอกจากนี้ยังเล่นมาในลีก ตุรกี และ สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะย้ายมาค้าแข้งในไทยลีก

ฟอร์มของ โบลินกิ ก่อนย้ายมา บุรีรัมย์

ขณะที่ ดุมบูย่า นั้นเกิดและโตในฝรั่งเศส ผ่านระบบเยาวชนระดับแถวหน้าอย่าง แก็งก็อง ซึ่งเป็นอคาเดมี่ที่สร้างนักเตะอย่าง ดร็อกบา, ฟลอร็องต์ มาลูด้า, และ แว็งซ็องต์ ก็องเดล่า ซึ่งนักเตะเหล่านี้ก็มีเก่งกาจและมีชื่อเสียงไม่น้อยในวันที่พวกเขาอยู่ในช่วงพีกของอาชีพ

สิ่งที่พยายามจะบอกก็คือ พวกเขาเหล่านี้มีประสบการณ์ในยุโรป และไม่ใช่แค่ประสบการณ์ระดับลีกในประเทศเล็ก ๆ ดิวิชั่นล่าง ๆ แต่เป็นเป็นดิวิชั่นสูงสุดมาแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ทำให้ ดุมบูย่า และ โบลินกิ ดูจะแตกต่างกับนักเตะที่อิมพอร์ตมาจากแอฟริกันคนอื่น ๆ ก็คือพวกเขามีความเข้าใจเกมที่เหลือกินเหลือใช้สำหรับการเล่นในไทยลีกอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการเล่นแบบฟุตบอลสมัยใหม่ นั่นก็คือการเล่นแบบรุกทั้งทีมและรับทั้งทีม ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ทุก ๆ ทีมล้วนใช้งานกันในตลอดช่วง 10 ปีหลังสุด

ฟอร์มของ ดุมบูย่า ก่อนมา บุรีรัมย์

การเล่นเกมรับเป็น ขยันไล่บอล และยืนตำแหน่งเป็น คือกุญแจสำคัญมากที่ทำให้พวกเขาตอบโจทย์กับการเล่นของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในยุคของ มาซาทาดะ อิชิอิ ที่ถือว่าเป็นทีมที่ใช้นักเตะแต่ละคนอย่างเต็มที่ วิ่งกันแบบลืมตาย ขึ้นลงตลอดทั้งเกมในแต่ละนัด ดังนั้นเราจึงได้เห็นพวกเขาทั้งคู่แสดงศักยภาพออกมาในระดับที่ตอบโจทย์ทั้งเวลาที่ทีมเป็นฝ่ายบุก และฝ่ายตั้งรับ

อย่างไรก็ตามกว่าทั้งสองคนจะขยับหาพื้นที่เล่นอย่างลงตัวได้ ก็ต้องใช้เวลาสักพักเพราะเดิมทีต่างคนต่างเป็นกองหน้าธรรมชาติทั้งคู่ จนกระทั่ง อิชิอิ เจอวิธีการใช้งานของพวกเขาพร้อมกันจนได้

จากคู่แข่งสู่คู่หู

ว่าด้วยเรื่องระบบการเล่นของ บุรีรัมย์ กันก่อนแผนที่ อิชิอิ มักจะใช้บ่อยที่สุดคือระบบการเล่น 4-2-3-1 โดยจะมีการปรับมาเล่นในระบบ 3 เซ็นเตอร์ฮาล์ฟบ้างในระหว่างเกมบางเกม ดังนั้นเท่ากับว่าพวกเขาจะมีกองหน้าตัวเป้าได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า โบลินกิ กับ ดุมบูย่า ต้องแย่งตำแหน่งโดยตรง หากจะใช้งานพวกเขาแบบตรง ๆ ไม่ได้พลิกแพลงอะไร

ลีลาของ แฟรงค์ คาสตาเญดา

อย่างไรก็ตามปัญหาในช่วงเลกแรกที่นั้นมีให้เห็น ทั้งคู่นั้นย้ายมาไม่พร้อมกัน โดย โบลินกิ มาในฤดูกาล 2021-22 จากนั้น ดุมบูย่า ก็ย้ายมาในช่วงปี  2022-23

ซึ่งกว่าที่ทั้งสองคนจะได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงพร้อมกัน ก็ต้องรอถึงเกมที่ 9 ของฤดูกาลกับ หนองบัว พิชญ ซึ่งนอกจากตำแหน่งของทั้งสองคนทับกันเเล้ว ในช่วงเลกแรก แฟรงค์ คาสตาเญด้า ก็ยังเป็นแข้งต่างชาติที่จับจองสัมปทานตัวรุกฝั่งซ้ายของทีม ซึ่งก็ดูเหมือนว่า อิชิอิ เริ่มจะเห็นปัญหาบางอย่างแล้วในช่วงที่เขาเริ่มจับเอา โจนาธาน โบลินกิ ขยับออกมาเป็นตัวรุกฝั่งซ้ายแทนที่ของ คาสตาเญด้า

ปัญหาของ คาสตาเญด้า คือเป็นนักเตะที่เล่นเกมรับไม่ค่อยเก่งตามแบบฉบับแข้งอเมริกาใต้ เขาค่อนจะมีความเป็นศิลปินลูกหนัง มีคาแร็คเตอร์แบบเเสบ ๆ กวน ๆ สร้างสีสันให้กับเกมได้ ทว่าเรื่องเกมรับคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาตามที่ได้กล่าวไป เพราะ คาสตาเญด้า นั้นแย่งบอลและเข้าปะทะคู่แข่งในยามที่ไม่มีบอลได้ไม่ดีนัก อีกทั้งหากมองเรื่องสถิติการยิงประตู และอิทธิพลต่อทีมในเชิงคุณภาพ เพราะยิงไป 3 ประตูและทำไปอีก 2 แอสซิสต์ จากการลงเล่น 9 นัดในศึกไทยลีก นั่นจึงทำให้ อิชิอิ เริ่มลองใช้ ดุมบูย่า ลงสนามพร้อมกับ โบลินกิ ในเกมดังกล่าว

ไฮไลต์เกม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด vs หนองบัว พิชญ

ซึ่งแน่นอนว่าการลงเล่นกันครั้งแรกนั้นแม้ทีมจะชนะไป 3-1 โดนตัวของ โบลินกิ แอสซิสต์ไป 1 ลูก และ ดุมบูย่า ในตำแหน่งหน้าเป้ายิงไป 1 ลูก แต่ อิชิอิ ก็ให้สัมภาษณ์หลังเกมในเชิงที่ว่า "ทั้งคู่ยังมีดีมากกว่านี้"

“การที่ส่ง โจนาธาน โบลินกิ และลอนซานา ดุมบูญา ลงไป เราอยากจะลองว่าทั้ง 2 คนเมื่อลงไปพร้อมกันเกมรุกของเราจะเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายก็มองว่ามันยังไม่ดีเท่าที่ควร กับเป้าหมายที่เราคาดหวังเอาไว้"

"ส่วนการหมุนเวียนนักเตะในเกมนี้นั้นมันเป็นเหมือนกับการลอง และเตรียมความพร้อม เพื่อที่เราจะก้าวเข้าสู่ช่วงที่มีเกมติด ๆ กัน ซึ่งมันเป็นการดูว่าตัวจริง ตัวสำรอง เมื่อมีการหมุนเวียนนักเตะแล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด” อิชิอิ กล่าว

การลองครั้งนี้อาจจะยังไม่เท่าที่ อิชิอิ คาดไว้ แต่มันคือการจุดประกายบางอย่างที่ลงตัวให้กับทีม เพราะหลังจากที่เขาลองใช้ทั้งคู่ร่วมกันในเกมนั้น แฟรงค์ คาสตาเญด้า ก็ได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงเพียงแค่ 1 เกมเท่านั้น จนจบเลก 2 ของไทยลีก

สิ่งที่ โบลินกิ ทำได้ดีกว่า คาสตาเญด้า คือเขาสามารถเล่น เกมรับได้ดีดังที่กล่าวไป สิ่งนี้ไม่ใช่กล่าวขึ้นมาลอย ๆ แต่สามารถวัดได้จากสถิติ กล่าวคือในช่วงเลกแรกที่ คาสตาเญด้า ลงสนาม บุรีรมย์ เสียประตูไป 8 จาก 15 เกมในเลกแรก โดยเสียประตูไปทั้งหมด 10 ลูก

ขณะที่เมื่อ โบลินกิ ลงสนามเป็นตัวจริง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า บุรีรัมย์ เก็บคลีนชีทได้ถึง 10 นัดจาก 14 เกม ดังนั้นมันค่อนข้างชัดเจนว่าถ้าคุณต้องการแย่งบอลตั้งแต่หน้าปากประตูของคู่แข่ง นักเตะอย่าง โบลินกิ ที่ขยันวิ่ง แข็งแรง และเข้าใจเกม จะมีประโยชน์กว่า คาสตาเญด้า อย่างเห็นได้ชัด

โจนาธาน โบลินกิ ฉลองชัยกับ ลอนซานา ดุมบูย่า

ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ โบลินกิ สามารถแย่งตำแหน่ง แฟรงค์ ได้สำเร็จ จนดาวเตะชาวโคลอมเบีย ต้องยกเลิกสัญญาในช่วงตลาดเลก 2 ซึ่งนั่นก็ถือเป็นการเปิดศักราชของ 2 คู่หูอย่าง โบลินกิ และ ดุมบูย่า ในเลกที่สอง ที่ไม่ได้แกร่งแค่การเล่นเกมรับในเเดนบนอีกแล้ว แต่เกมรุกก็เข้าขารู้ใจกันเป็นอย่างดีอีกด้วย

เรื่องเกมรุกไม่ต้องพูดถึง

เมื่อเป็นตัวรุก ถ้าเล่นดีเฉพาะเกมรับมันคงไม่ถูกต้องนัก ซึ่งตัวของ โบลินกิ และ ดุมบูย่า ก็เริ่มแสดงให้เห็นเรื่องการผสานงานในเกมรุก ร่วมกับ ฮาริส วูชคิช ที่มาใหม่ รวมถึงนักเตะไทยอย่าง ศุภชัย และ ศุภณัฎฐ์ ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่เปิดเลกที่ 2

ซึ่งนับตั้งแต่เลกที่ 2 เป็นต้นมา บุรีรัมย์ คือทีมที่สามารถยิงประตูได้มากที่สุดในไทยลีก เป็นจำนวนทั้งหมด 18 ประตูจาก 8 นัด ซึ่งคนยิงประตูนั้นไม่มีซ้ำหน้า เพราะวิธีการเล่นของ อิชิอิ คือเมื่อได้เล่นเกมรุก จะปรับมายืนในระบบกองหลัง 2 - 5 - 3 เพิ่มนักเตะเข้าไปในพื้นที่สุดท้ายให้มากขึ้น สวิตช์บอลข้ามฝั่งจากขวาไปซ้ายถ่างเกมรับของคู่แข่งตลอดเวลา เพื่อให้สามารถโจมตีได้อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ทิศทาง  ซึ่งที่สุดแล้วเราจึงได้เห็นนักเตะแนวรุกของ บุรีรัมย์ แต่ละคนในปีนี้ ยิงประตูเป็นว่าเล่น

ติดตามเรื่องของ โบลินกิ กับ ดุมบูย่า แบบคลิปที่นี่

โดยตัวของ โบลินกิ นั้นแม้จะยิงไปแค่ 4 ประตู แต่ถ้านับจากโอกาสลงสนามใน 4 เกมหลังสุดของเขา เขายิงได้ 3 ลูกและทำไปอีก 1แอสซิสต์ ส่วน ดุมบูย่า นั้นไม่ต้องพูดถึงเมื่อได้เล่นเป็นกองหน้าตัวเป้าและมีตัวป้อนบอลเยอะ ๆ เขาจะมีประโยชน์มากทั้งในการพักบอล จบสกอร์ และการทำทางเปิดพื้นที่

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่สุดในเกมที่ โบลินกิ ยิงประตูชัยให้ บุรีรัมย์ ชนะ หนองบัว พิชญ ในเกมเยือนล่าสุด เราจะเห็นได้ทันทีว่า เมื่อบอลมาถึงริมเส้น โบลินกิ และ ดุมบูย่า รวมถึง ศุภชัย จะวิ่งเข้าตำแหน่งกันอย่างพร้อมเพียง ศุภชัย เล่นที่เสาแรก, ดุมบูย่า รอตรงกลาง และ โบลินกิ รออยู่ที่เสาสอง ซึ่งสุดท้ายบอลก็มาถึงเขายิงเข้าไปง่าย ๆ

ไฮไลต์ลูกยิงประตูดังกล่าว

วิธีการเล่นเกมรุกแบบนี้ถือเป็นลายเซ็นของ บุรีรัมย์ โดยเฉพาะในช่วงเลกที่ 2 เพราะมีนักเตะในเขตโทษคู่แข่งเยอะมาก และแต่ละคนก็เข้าใจการยืนตำแหน่งเป็นอย่าง บางครั้งอาจจะมีการสลับพื้นที่กันบ้าง แต่ก็ไม่มีการเสียบทเพลง ทุกคนยังแทนตำแหน่งของเพื่อนร่วมทีมได้ตลอด เราจะเห็นได้ว่าแต่ละประตูของบุรีรัมย์ ที่เกิดขึ้น มักจะมาจากการเข้าทำทีมหลากหลาย และมีตัวเลือกเยอะมากในพื้นที่สุดท้าย

จริงอยู่ที่ โบลินกิ และ ดุมบูย่า อาจจะไม่ใช่นักเตะที่เลี้ยงบอลเก่ง รวดเร็ว คล่องตัว เทคนิคแพรวพราว เหมือนกับนักเตะบราซิลและอเมริกาใต้ แต่สิ่งที่แลกมาก็คือความแข็งแรง การมีสมาธิในเกมและการยืนตำแหน่ง ซึ่งทำให้พวกเขาเฉียบคมในแง่ของประสิทธิภาพ แม้จะมีวิธีการเล่นที่ไม่ค่อยสวยงามก็ตาม

มีคำกล่าวว่าขึ้นชื่อว่าแมว ไม่ว่าจะสีอะไรแต่ขอให้จับหนูได้ก็พอ ... โบลินกิ และ ดุมบูย่า กำลังทำเช่นนั้น เมื่อพวกเขาอยู่ในสนามทีมเล่นเกมรับได้ดีขึ้น และเปลี่ยนโอกาสเป็นประตูได้มากขึ้น ... นี่คือความสุดยอดของคู่หู ที่เริ่มต้นจากการเป็นคู่แข่งการแย่งตำแหน่งกันอย่างแท้จริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

DNA ดี ๆ มีอยู่จริง : 7 สโมสร ที่ใช้ “โค้ชคนใน” แล้วได้ผลลัพธ์คือความสำเร็จ

คิดและทำแบบ “อันเก” : สาเหตุที่อดีตกุนซือ ‘มารินอส’ ถูกยกให้เป็นตัวแทน คล็อปป์

รื้อระบบพรีเมียร์ลีก : การบริหาร “เรื่องเงิน” อย่างมืออาชีพที่ไทยลีกควรเอาอย่าง

แชร์บทความนี้
หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ