ตอนนั้นเป็นกระแส ตอนนี้เป็นไง ? : ตามรอยแข้งโอนสัญชาติจีนที่เคยฮือฮา

ตอนนั้นเป็นกระแส ตอนนี้เป็นไง ? : ตามรอยแข้งโอนสัญชาติจีนที่เคยฮือฮา
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

แนวคิดเรื่องการโอนสัญชาติของผู้เล่นต่างชาติ ให้เปลี่ยนสถานะมาเป็นพลเมืองของอีกประเทศหนึ่ง ย่อมหมายถึงการหวังผลประโยชน์อะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม หากไม่ใช่ความต้องการแรกเริ่มของตัวบุคคลเอง

แน่นอนว่าในวงการฟุตบอล มีการแย่งชิงผู้เล่นฝีเท้าดี เพื่อโน้มน้าวให้มาตกลงปลงใจเล่นให้กับทีมชาติของตัวเอง หากตัวผู้เล่นรายนั้นๆ มีความเกี่ยวข้องเรื่องสายเลือดกับชาติใดก็ตาม เรียกว่าสืบกันไปยันต้นตอจนถึงระดับบรรพบุรุษ

แต่ถ้าไม่มีความเกี่ยวเนื่องใดๆ ทางสายเลือด ฟีฟ่า (FIFA) องค์กรลูกหนังชั้นนำของโลก ก็มีกฏที่โอนอ่อนผ่อนปรนให้ชาติต่างๆ สามารถโอนสัญชาติให้นักเตะฝีเท้าดีเข้ามาร่วมเป็นพลเมืองได้ ด้วยการต้องอยู่พำนักอาศัยในประเทศนั้นๆ เป็นเวลา 5 ปีขึ้นไป ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ ก็เป็นไปตามที่ประเทศนั้นๆ กำหนด

ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง จีน มีแนวคิดที่ต้องการส่งเสริมและพัฒนาวงการฟุตบอลของพวกเขาเช่นเดียวกัน เลยเป็นที่มาของแนวคิดการโอนสัญชาติผู้เล่นต่างชาติฝีเท้าดี ที่ย้ายมาแสดงศักยภาพในศึก ไชนีส ซูเปอร์ลีก

ความมุ่งหวังของประเทศจีน คือ การกลับไปแข่งขันในเวที ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ที่ห่างหายไปนานตั้งแต่ปี 2002 เมื่อคุณภาพนักเตะในชาติลองใช้งานแล้วไม่ดีพอ จึงต้องมีการเติมส่วนเสริมที่น่าจะช่วยได้มากลงไป

แต่แล้วแนวความคิดนั้นผลิดอกออกผลได้ตามความคาดหวังหรือไม่? ปลายทางของผู้เล่นแต่ละคนที่โยกย้ายมาลงเอยแบบไหน? อนาคตจะต่อยอดเช่นไรกับแนวทางนี้?  ร่วมหาคำตอบได้ใน Think Curve - คิดไซด์โค้ง

จุดเริ่มการนำเข้านักเตะต่างชาติ

ย้อนกลับไปในปี 1995 กองกลางชาวสวีเดน เปลเล่ บลอห์ม ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากแดนไวกิ้ง มาเผชิญโชคด้วยการค้าแข้งต่างประเทศกับสโมสร ต้าเหลียน ว่านต๋า ในประเทศจีน จากเหตุผลที่ลีกฟุตบอลประเทศของเขา มีแต่นักเตะที่ยึดอาชีพนักเตะแบบ พาร์ท-ไทม์ เรื่องของรายได้ก็ไม่ได้สูง

แต่การใช้ชีวิตในต่างแดนของ บลอห์ม ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย รับรายได้เป็นสกุลเงินดอลล่าร์ แต่หาธนาคารที่รับฝากเงินสกุลนี้ในจีนไม่ได้ ไม่มีล่ามคอยแปลภาษาให้กว่าสองเดือน แถมยังต้องเจอกับประสบการณ์ที่ค่อนข้างเลวร้าย ขาดความเป็นมืออาชีพของนักเตะเจ้าถิ่นอีกด้วย

Photo : CNN

บลอห์ม กล่าวถึงประสบการณ์ช่วงนั้นว่า

“เหล่านักเตะเจ้าถิ่นสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนักมาก สภาพสนามแข่งก็ย่ำแย่ ไม่มีห้องแต่งตัวในสนาม ต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ในห้องพักของโรงแรม”

“ไม่มีใครสื่อสารกันโดยใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ เลย มีแต่การพูดภาษาจีนกันเท่านั้นเท่าที่ผมจำได้”

สภาพความเป็นอยู่ในเมือง ต้าเหลียน ก็ไม่ใช่สถานที่ อันเหมาะสมในการใช้ชีวิตของชาวต่างชาติเท่าไหร่นัก ไม่มี คาเฟ่, ร้านค้าแบรนด์เนม หรือแม้แต่ร้านอาหารที่ขายแฮมเบอร์เกอร์

ต้องยอมรับว่าการใช้ระบอบการปกครองประเทศแบบคอมมิวนิสต์ ตามแนวทางของสหภาพโซเวียตที่เป็นต้นแบบ ย่อมส่งผลกระทบต่อเรื่องการเดินทางเข้า-ออกประเทศที่ยาก มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการมากมายเพื่อผ่านเกณฑ์ ทำให้ชาวต่างชาติเดินทางมายังประเทศจีนน้อย

Photo : CNN

ขนาดประชาชนจีน จะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงยุคนั้น ต้องติดต่อทำเรื่องผ่านบริษัททัวร์ที่มีการรับรองจากรัฐบาลจีน ยังไม่มีระบบการใช้พาสปอร์ต มีแค่เอกสารเป็นใบรับรอง ที่เรียกกันว่า “เอ็กซิท วีซ่า” เท่านั้น กว่าจะผ่านแต่ละเคส ใช้เวลาราว 6 เดือน

ยิ่งไปกว่านั้นคู่สามีภรรยา ไม่สามารถเดินทางออกจากประเทศจีนได้พร้อมกัน ต้องมีคนนึงอยู่เฝ้าบ้านเกิด ราวกับเป็นตัวประกัน เพื่อให้อีกคนหนึ่งจำเป็นต้องกลับมา เนื่องจากรัฐบาลกลัวเรื่องแรงงานในประเทศ จะย้ายออกไปแบบถาวร

อย่างไรก็ตามต่อมาเมื่อประเทศจีน เริ่มหันมาพัฒนาฟุตบอลลีกในประเทศให้มีความจริงจังและเป็นมืออาชีพมากขึ้นในปี 2004 รวมไปถึงการลงทุนเป็นเจ้าภาพ โอลิมปิก เกมส์ ในปี 2008 ที่ใช้เงินทุนไปกว่า 4 หมื่นพันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ อันเป็นผลมาจากประสบการณ์ผ่านไปเล่นบอลโลก รอบสุดท้าย ปี 2002

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เปิดโปรเจ็คท์ผลักดันกีฬาฟุตบอลในประเทศ ให้มีการฝึกสอนในโรงเรียนเพื่อหวังสร้างบุคคลากร แล้วต้องการให้คนทั้งชาติหันมาสนใจกีฬาชนิดนี้มากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2011

Photo : CNN

ยิ่งไปกว่านั้นก็มีการไปเจรจาโน้มน้าวให้นักธุรกิจชั้นนำอย่าง แจ็ค หม่า เจ้าของอาลีบาบา และ หวัง เจียนหลิน ผู้นำของ วานด้า กรุ๊ป ยอมทุ่มเงินลงทุนรวมๆ หลักพันล้านหยวน ในการอัดฉีดเงินทุนเข้าไปสู่ศึก ไชนีส ซูเปอร์ลีก

การแข่งขันของสโมสรฟุตบอลทั้งหมด 16 ทีม กลายเป็นการขิงกันเรื่องความหนาเรื่องเงินทุน ทุ่มซื้อนักเตะชื่อดังมาจากยุโรป รวมไปถึงการใช้ผู้จัดการทีมต่างชาติที่มีโปรไฟล์ไม่ธรรมดามาทำทีม

สตาร์ลูกหนังอย่าง ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา ย้ายมาเล่นให้กับ เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว และ มารูยาน เฟลไลนี่ กองกลางจากสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ย้ายมาด้วยค่าตัวราว 13 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อมาเล่นให้กับ ชานตง ลู่เหนิง

Photo : CNN

อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันภาวะหนี้ของแต่ละสโมสร ที่ดูแล้วน่าจะพุ่งสูงเกินพอดี เลยมีกฏการเงินจากทางลีกป้องกันไม่ให้แต่ละทีม จ่ายค่าเหนื่อยผู้เล่นต่างชาติเกิน 1.45 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อสัปดาห์ ดีลของ แกเร็ธ เบล ปีกจาก เรอัล มาดริด ของ เจียงซู ซู่หนิง เลยถูกปัดตกไป

รวมไปถึงการกำหนดโควต้าให้แต่ละทีม มีลงทะเบียนนักเตะต่างชาติได้เพียง 4 คน แล้วส่งลงสนามได้เกมละ 3 คน เพื่อจะได้ไม่เป็นการปิดโอกาสของนักเตะจีน พร้อมทั้งพัฒนาฝีเท้าของบุคคลากรในประเทศไปในเวลาเดียวกัน

เหล่านักเตะที่ตัดสินใจโอนสัญชาติ

พอแผนการพัฒนาต่างๆ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โมเดลเรื่องการหานักเตะลูกครึ่ง ที่มีเชื้อสายจีนหรือเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่ง ก็ถูกนำมาเป็นหัวข้อในการพิจารณาดึงตัวผู้เล่นมาเสริมทัพของแต่ละสโมสร คล้ายๆ กับการเป็นเรื่องการเลี่ยงบาลีกลายๆ

ยิ่งพอมีกฏของ ฟีฟ่า เอื้อให้เรื่องการย้ายสัญชาติในกรณีที่นักเตะย้ายมาอาศัยในประเทศนั้นนานพอ การโอนถ่ายสัญชาติเพื่อเลี่ยงโควต้าต่างชาติ ก็เริ่มมีให้เห็น ยกตัวอย่างเช่น อเล็กซ์ อคานเด้ กองหน้าที่เกิดในไนจีเรีย แต่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศฮ่องกง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีนเวลานั้น ก็เปลี่ยนสัญชาติมาเป็นพลเมืองฮ่องกง แล้วก็ไม่ถูกนับรวมในโควต้าต่างชาติในศึก ไชนีส ซูเปอร์ลีก

ด้วยแผนงานระยะยาวที่ทางประธานาธิบดี สี จิ้นผิง วางไว้ว่า ประเทศจีน ต้องไปอยู่ในจุดที่เป็นชาติชั้นนำของวงการลูกหนังในปี 2050 ทางนายกสมาคมฟุตบอลประเทศจีน เฉิน ซู่หยวน ก็ออกมารับลูกด้วยการให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“เราต้องการไปเล่นฟุตบอลโลกที่กาตาร์ปี 2022 ซึ่งผู้เล่นโอนสัญชาติจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เหมือนเป็นทางลัดที่จะไปยังเป้าหมายแบบสั้น”

Photo : CNN

“ตอนนี้มีการอนุญาติให้แต่ละสโมสร สามารถลงทะเบียนนักเตะโอนสัญชาติได้ทั้งหมด 9 คน นักเตะหลายคนจึงอยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนสัญชาติ”

“อย่างไรก็ตามมันไม่ใช่นโยบายระยะยาวของสมาคม จำนวนการพิจารณามีการกำหนดตัวเลขที่เหมาะสมเอาไว้อย่างละเอียด”

“การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก เป็นความฝันของคนทั้งชาติรวมไปถึงตัวผมด้วย ซึ่งสมาคมจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะที่ควรอีกครั้ง”

แล้วในวันที่ 21 สิงหาคม 2019 เอลเคสัน ผู้เล่นตำแหน่งกองกลางตัวรุกชาวบราซิล ที่ไม่ได้มีสายเลือดใดๆ เกี่ยวพันกับ จีน ก็กลายมาเป็นนักเตะโอนสัญชาติรายแรก เพื่อหวังจะเติมแกร่งขุมกำลังให้ทีมชาติ มีลุ้นผ่านเข้าไปเล่นบอลโลก 2022

Photo : CNN

หลังจากนั้นก็พาเหรดย้ายสัญชาติกันอีกหลายราย ทั้งในกลุ่มที่มีสายเลือดเกี่ยวพัน และไม่มีส่วนเกี่ยวกัน ยกตัวอย่างเช่น นิโก เยนนาริส, ไทอาส บราวนิ่ง และ จอห์น ฮู แซเทอร์ รวมๆ แล้วตอนนี้มี ประเทศจีน มีนักเตะโอนสัญชาติทั้งหมด 11 คน ลงสนามรับใช้ชาติไปแล้ว 6 คนด้วยกัน

แต่ใช่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะผ่านเกณฑ์ของ สมาคมฟุตบอลประเทศจีน ง่ายๆ เพราะผู้เล่นกลุ่มนี้ต้องเรียนรู้คุณค่าของการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์, เรียนประวัติศาสตร์จีนและภาษา และถูกจับตามองเรื่องการร้องเพลงชาติ

ยิ่งไปกว่านั้นสโมสรต้นสังกัด ต้องมีการส่งรายงานเกี่ยวกับศักยภาพความคิด ที่พัฒนาไปในทิศทางไหนของตัวนักเตะแต่ละคนรายเดือนอีกด้วย เพื่อจะได้หลบเลี่ยงเรื่องคำวิจารณ์จากแฟนบอลในประเทศ ที่มองว่าแนวคิดนี้ไม่เหมาะสม

เนื่องจากถ้าวัดกันเรื่องของความนิยมจากโลกออนไลน์ ผู้เล่นโอนสัญชาติอย่าง เยนนาริส และ ฮู มียอดผู้ติดตามในแอพพลิเคชั่น Weibo มากพอสมควร เพราะมีรากเหง้าเกี่ยวกับประเทศจีนทางสายเลือด ต่างกับเคสของ เอลเคสัน แบบสิ้นเชิง

Photo : Yahoo! Sports

ซึ่งตัวของ เยนนาริส เคยกล่าวถึงการย้ายสัญชาติไว้สั้นๆ ว่า

“ผมไม่เคยเสียใจเลยกับการตัดสินใจครั้งนี้”

“ถ้าเวลาผ่านไปอีกสัก 20 ปี ผมคงต้องมีเหตุผลที่เข้าท่า ในการบอกลูกๆ ของผมว่า ผมมาจากที่ไหน แล้วได้ตัดสินใจทำอะไรลงไป”

อย่างไรก็ตามคงเป็นเรื่องยาก ที่จะเปลี่ยนแนวคิดของแฟนบอลสายชาตินิยมบางส่วนว่า การหาผู้เล่นทีมชาติจีนชุดใหญ่ 11 คนลงสนาม ไม่น่าใช่เรื่องยากสำหรับประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จีน,เกาหลี, ญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับศึกชิงแชมป์ระดับภูมิภาคแค่ไหน ? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็กโทรนิค คัพ 2022 เปิดฉากกันไปอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และ “แชมป์เก่า” ทีมชาติไทย ก็ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจด้วยการถล่มบรูไนไปถึง 5-0 ในนัดประเดิมสนาม


ปลายทางที่ยังไม่ชัดเจน

อย่างที่ทราบกันดีว่า ไชนีส ซูเปอร์ลีก ที่มีการลงทุนของแต่ละสโมสรไปด้วยเม็ดเงินมหาศาล เจอภาวะฟองสบู่แตก อันเนื่องจากมาจากวิกฤติการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19

ผู้เล่นต่างชาติที่ย้ายมาโกยเงินหลายราย ต้องหาทางย้ายกลับไปหารายได้เลี้ยงชีพที่อื่น เนื่องจากสโมสรไม่มีเงินเพียงพอ จะมาจ่ายค่าจ้างแพงๆ ตามสัญญาที่เซ็นกันไว้ จากสภาพคล่องทางการเงินที่ฝืดเคือง

สุดท้ายนักเตะหลายคนต้องถกกับสโมสรเพื่อยกเลิกสัญญา เช่นในรายของ เปาลินโญ่ อดีตกองกลางชาวบราซิลของ บาร์เซโลน่า

Photo : BeSoccer

รวมไปถึงเคสของนักเตะโอนสัญชาติอย่าง ริคาร์โด้ กูลาร์ต จากสโมสร กว่างโจว เอฟซี ที่ถูกทางต้นสังกัดร้องขอให้ยกเลิกสัญญา จนต้องพยายามติดต่อไปยังสโมสร ซานโตส และ ฟลูมิเนนเซ่ ในประเทศบราซิลบ้านเกิด

ยิ่งไปกว่านั้นเบื้องลึกเกี่ยวกับประเด็นการโอนสัญชาตินักเตะ ก็ถูกเปิดเผยออกมาว่า สโมสรในลีกจีนต้องควักเงินกว่า 130 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อโน้มน้าวให้นักเตะต่างชาติ ยอมย้ายมาเล่นในแดนมังกรในขั้นเบื้องต้น ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปในการเปลี่ยนสัญชาติ นับมาตั้งแต่ปี 2018

การถูกร้องขอความร่วมมือจากสมาคมฟุตบอลจีน ให้ลงทุนเพื่อพัฒนาวงการฟุตบอลให้ก้าวหน้า กลายเป็นภาระที่ฝั่งสโมสรต้องแบกรับไว้ สืบเนื่องมาจากผู้เล่นโอนสัญชาติบางราย ลงเล่นให้กับทีมชาติแล้วไม่ได้ค่าจ้างตอบแทน กลายเป็นต้นสังกัดต้องจ่ายเงินครอบคลุมสองทาง

เมื่อปัญหามันคืบคลานใหญ่โตเลยเกิดการประท้วง มีรายงานระบุว่า 13 สโมสร จากทั้งหมด 16 สโมสรในลีก ค้างค่าจ้างนักเตะก้อนโต ไม่มีเงินลงทุนจะทำทีมต่อในปีต่อๆ ไป จนถึงขนาดต้องระงับแผนการซ้อมทีม แทบไม่รู้ว่าจะต้องเดินหน้าต่อไปยังไง

Photo : South China Morning Post

พอนำมารวมกับผลงานของทีมชาติจีน ที่ไม่ผ่านเข้าไปเล่น ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 2022 ที่ประเทศกาตาร์ กลายเป็นว่า เป้าหมายระยะสั้นเรื่องการโอนสัญชาติผู้เล่นมาช่วยทีม ไม่ประสบผลสำเร็จไปตามเป้า

แถมนักเตะหลายคนยังอายุมากเกินไป ที่จะแบกสังขารช่วยทีมในบอลโลกปี 2026 แผนการวางแนวทางต่างๆ ราวกับว่า ต้องกลับมายกเครื่องกันใหม่หมดอีกครั้ง

ฝั่งที่ไปต่อได้แบบไม่มีอะไรจะเสีย คือ ทีมชาติจีน แต่ในด้านของผู้เล่นนั้นแทบจะมืดแปดด้าน เพราะการลงสนามให้กับทีมชาติใดชุดใหญ่ไปแล้ว จะไม่สามารถเล่นให้กับชาติอื่นได้อีกตลอดชีวิต

การโอนสัญชาติมาเป็นพลเมืองจีน ถือพาสปอร์ตจีน เท่ากับคนนั้นต้องสละสัญชาติอื่นทิ้ง การจะย้ายกลับไปเล่นในยุโรปหรือทวีปอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เพราะมีกฏเรื่องของวีซ่าและใบอนุญาตการทำงาน ที่ต้องนำมาขบคิดเพิ่มเติม แล้วถ้าต้นสังกัดเดิมไม่มีเงินจ้างต่อ ยิ่งเคว้งคว้างไปกันใหญ่

Photo : The Guardian

จริงอยู่ที่บางประเทศ สามารถยื่นขอย้ายสัญชาติกลับไปถือตามเดิมได้อีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ แต่สุดท้ายแล้วมันก็ต้องขึ้นอยู่กับเหตุผลอันควร ที่ต้องไปผ่านการพิจารณาจากผู้มีอำนาจอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งไม่มีทางจะเป็นเรื่องง่ายๆ

บทสรุปของการหวังรวยทางลัด ยอมลงทุนแลกทุกอย่างที่มีค่า ในกรณีนี้คือ การสละสัญชาติ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนก้อนโตกลับมา ไม่ต่างกับ “การพนัน” ที่อาจลงเอยแบบไม่แน่นอน แล้วเสียหมดตัวจนไม่เหลืออะไรเลยก็เป็นได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

หัวร้อน (เกือบ) = 0 : ทำไมแข้ง เจลีกโดนไล่ออกก็นิ่ง โดนเล่นหนักใส่ก็ยังเฉย ?

หมีขาวข้ามทวีป : จะเกิดอะไรขึ้นหาก รัสเซีย - เบลารุส ย้ายมาเล่นในเอเชีย ?

ทั้งที่เป็นภูมิภาคบ้าบอล : ทำไมไม่ค่อยมีนักเตะสัญชาติ ‘อาเซียน’ ค้าแข้งอยู่ในยุโรป

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://edition.cnn.com/2019/07/29/china/foreign-footballers-becoming-chinese-intl-hnk/index.html

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Chinese_naturalized_footballers

https://theasiadialogue.com/2019/04/09/chinas-awkward-embrace-of-naturalised-football-players/

https://www.straitstimes.com/sport/football/football-china-world-cup-boost-as-nine-foreigners-switch-nationality

https://www.sixthtone.com/news/1009379/whats-next-for-chinas-naturalized-soccer-players%3F

แชร์บทความนี้
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ