สุรวิชญ์ บุญครอบ : เด็ก 17 ผู้รับบทนักวิเคราะห์คู่กาย "โค้ชหระ"
"โฮม" สุรวิชญ์ บุญครอบ กลายเป็นทีสนใจของแฟนฟุตบอลไทยขึ้นมาหลังมีเรื่องราวของเขาปรากฎลงบนโซเชี่ยลมีเดีย ในฐานะทีมงานวิเคราะห์เกมของ "โค้ชหระ" อิสระ ศรีทะโร กุนซือทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ และเราบังเอิญได้คุยกับเขาถึงเส้นทางของนักวิเคราะห์เกมที่ตอนนี้เขาอายุเพียงแค่ 17 ปีเท่านั้น ... ติดตามเรื่องราวของเขาที่นี่
เล่าจุดเริ่มต้นกับฟุตบอลหน่อย ?
ต้องย้อนกลับไปตอนอายุ 12 ปีเลยครับ ตอนนั้นผมอยู่ ป.6 ตอนแรกตั้งใจจะเป็นนักฟุตบอลก็เลยตั้งใจฝึกซ้อมจริงจังทุกวันหลังจากเลิกเรียน ตอนนั้นคิดจริง ๆ ว่าอยากจะเป็นนักฟุตบอลเลยไปขอฝึกกับอาจารย์ มงคล ใจเย็น ที่โรงรียนตากพิทยาคม จ.ตาก และก็เริ่มพยายามฝึกฝนตั้งแต่นั้นมา
เรื่องการเรียนหนังสือเป็นยังไงบ้าง ?
ตอนเรียนก็เป็นเด็กกลาง ๆ นี่แหละครับ ชอบเรียนวิชาคอมพิวเตอร์กับคณิตศาสตร์ เราก็พอใช้วิชาพวกนี้ไปใช้ในการสอบชิงโควต้านักกีฬาอะไรได้บ้าง ตอนช่วง ม.5 ผมมีโอกาสได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เชียงใหม่ แล้วก็เริ่มเอาจริงกับฟุตบอลมากขึ้นไปพร้อม ๆ กับการเรียนนี่แหละครับ
จุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิเคราะห์เกม ?
ตอนเรียนเทพศิรินทร์เชียงใหม่ ผมมีโอกาสได้ทุนไปเรียนที่โรงเรียนเชียงรายสามัคคี ที่จังหวัดเชียงราย โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่เด่นเรื่องฟุตบอล และเคยเป็นส่วนหนึ่งของอคาเดมี่ทีม เชียงราย ยูไนเต็ด ด้วย พอผมได้ทุนตอนนั้นเป้าหมายผมชัดเจนเรื่อย ๆ ว่าอยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ หรือถึงขั้นติดทีมชาติเลย
ที่เล่ามายังไม่มีส่วนไหนเกี่ยวกับนักวิเคราะห์เกมเลย เรื่องนี้เริ่มตอนไหน ?
หลังจากได้ทุนที่เชียงรายสามัคคี ผมก็เตรียมตัวเก็บข้าวเก็บของไปเรียนแล้ว แต่บังเอิญว่าตอนนั้นพ่อของผมได้เห็นประกาศรับสมัครนักเรียนโรงเรียนกีฬา TFCA school of football ของโค้ชอิสระ ศรีทะโร พ่อของผมก็ลองมาแนะนำดูว่ามาเรียนที่นี่ไหม เพราะที่นี่เป็นโรงเรียนฟุตบอลแบบครบวงจร มีการสอนเรื่องความรู้เกี่ยวกับฟุตบอลล้วน ๆ เลย
ตอนนั้นก็ตัดสินใจยากอยู่เพราะเหมือนต้องเลือกแล้วระหว่างการเรียนสายสามัญ กับการเรียนด้านความถนัดเฉพาะทาง ผมก็ปรึกษาพ่อกับแม่อยู่พักใหญ่ จนสุดท้ายเราก็ฟังเสียงหัวใจตัวเอง เราชอบตรงนี้จริง ๆ เราก็เลยอยากจะทุ่มมาทางนี้ให้สุด ๆ ไปเลย
พอมาเรียนเฉพาะทางแล้วได้รู้อะไรบ้าง ?
เราได้รู้ว่าโลกฟุตบอลมันกว้างมาก ๆ อาชีพในวงการฟุตบอลมีมากมายไม่ใช่แค่โค้ชหรือนักฟุตบอล เรื่องความรู้ด้านฟุตบอลโค้ชหระก็สอนควบคู่กับความรู้ด้านแท็คติกและการทำงานแบบโค้ชไปพร้อม ๆ กัน โค้ชหระบอกว่าต่อให้เป็นนักฟุตบอล แต่การเรียนเรื่องอื่น ๆ ก็จะช่วยส่งเสริมให้เราเป็นนักฟุตบอลที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อย ๆ หากเราไม่สามารถเป็นนักฟุตบอลได้จริง ๆ เราก็ยังมีอาชีพอื่น ๆ รองรับ มันเหมือนเป็นการเรียนเผื่ออนาคตของเราไปด้วย
เริ่มต้นเรียนรู้ยังไง ?
ตอนแรกก็เตะบอลไปตามปกติ จนกระทั่งโค้ชหระ ได้ลาออกจากทีม พีที ประจวบ เอฟซี มาสอนที่โรงเรียนแล้ว มีวันหนึ่งโค้ชถามว่าตอนนี้มีใครอยากจะฝึกงานในตำแหน่งโค้ชฟิตเนส กับทีมวิเคราะห์เกม (Analysis) บ้างไหม ซึ่งจริง ๆ ตอนนั้นผมก็ไม่ได้ยกมือหรือสนใจอะไรหรอกนะครับ แต่มันมีเรื่องที่ทำให้เราต้องมาลองงานด้านนี้ดู
เรื่องนั้นคือ ?
ตอนนั้นผมอายุ 16 ปี ก็ราว ๆ ปีที่เเล้ว ผมเกิดบาดเจ็บที่เข่าขึ้นมา แล้วมันก็ต้องใช้เวลาพักเป็นเดือน ๆ เลย ผมก็เลยจะพยายามหาอะไรทำ อย่างน้อยเราซ้อมไม่ได้ ลงเกมไม่ได้ เราก็ยังสามารถพัฒนาด้านอื่น ๆ ได้ ผมก็เลยอยากทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์เกมดู ทุกอย่างก็เริ่มต้นจากตรงนั้นเลย
โค้ชหระทดสอบเรายังไงบ้าง ?
จริง ๆ ก็มีทั้งการทดสอบบบทฤษฎีบนหน้ากระดาษเป็นเรื่ององค์ความรู้เกี่ยวกับฟุตบอลต่าง ๆ ถ้าเราสามารถผ่านไปได้ก็ได้ลองเริ่มทำภาคปฎิบัติดูบ้าง
ภาคปฎิบัติได้ทำอะไร ?
งานชิ้นแรกที่ผมได้รับมอบหมายให้ทำเลยคือการเข้าไปนั่งดูเกมการแข่งขันของทีม สุพรรณบุรี เอฟซี เพื่อวิเคราะห์เกมนี้ ขั้นตอนก็คือเราก็เตรียมตัวไปให้พร้อม มีสมาธิในการดูเกมมาก ๆ เพราะเราต้องดูการเล่นของนักเตะของทั้งทีม คอยจดสถิติต่าง ๆ ว่านักเตะแต่ละคนทำอะไรบ้าง จ่ายบอลกี่ครั้ง เสียบอลกี่ครั้ง ทำผิดพลาดยังไงบ้าง จากนั้นเมื่อเกมจบลง เราก็จะเอาข้อมูลที่ได้มาจากเกมนี้มานั่งวิเคราะห์เพื่อหาจุดแข็งและจุดอ่อน ซึ่งตอนนั้นก็ได้ส่งให้กับทีม สุพรรณบุรี ไปใช้งานจริง ๆ เลย แล้วจากแมตช์แรกก็ทำงานในลักษณะนี้มาเรื่อย ๆ
เมื่อไหร่ที่ได้ขยับมาทำงานกับทีมชาติ ?
ผมเพิ่งเริ่มงานกับทีมชาติได้ไม่นาน งานแรกที่ผมได้ทำกับทีมชาติก็คือการอุ่นเครื่องกับทีมชาติลาวที่สนามธรรมศาสตร์ รังสิต ในช่วงก่อนที่ทีมชาติไทยยู 23 จะไปแข่งทัวร์นาเม้นต์โดฮาคัพ ตอนนั้นโค้ชหระ ให้มีนักวิเคราะห์เกมถึง 3 คนเลยรวมผมด้วย ทั้ง 3 คนวิเคราะห์เกมเดียวกันนี่แหละ แล้วก็เหมือนว่าเขาจะให้แข่งกันว่าใครวิเคราะห์ออกมาได้ดีที่สุด จนกระทั่งผมได้มาทำกับทีมชาติในชุดซีเกมส์นี่แหละครับ
ในซีเกมส์นี้เรามีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายยังไงบ้าง ?
งานของผมก็จะแบ่งเป็น 2 แบบครับ แบบแรกคือดูการแข่งขันของเราเอง เช่นตอนที่ทีมชาติไทยแข่ง เราก็ต้องคอยถ่ายคลิปวีดีโอ จดสถิติต่าง ๆ คอยมองหาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งสถิติต่าง ๆ ที่เราได้มาก็จะถูกส่งให้กับโค้ชหระ และเขาก็จะเอาไปแก้ไขกับนักเตะแบบรายบุคคล
ส่วนงานที่ 2 ก็คือการสเก้าท์(ดูฟอร์ม) และวิเคราะห์เกมของคู่แข่ง เราก็ทำคล้าย ๆ กันนั่นคือการไปถ่ายวีดีโอของคู่แข่งที่เราจะต้องเจอ และต้องพยายามหาให้ได้ว่าจุดอ่อนของเขาคืออะไรบ้าง เพื่อทำให้งานของโค้ชเราง่ายและสะดวกขึ้น
เราได้ไปวิเคราะห์เกมของทีมไหนบ้างนอกจากทีมชาติไทย ? แล้วเราเจอจุดอ่อนของเขาหรือเปล่า ?
มีโอกาสได้ไปดูเกมที่ มาเลเซีย เจอกับ ลาว ครับ ในเกมนั้นก็ไปบันทึกวีดีโอแล้วก็วิเคราะห์เกมตามที่ได้รับมอบหมายปกติ ส่วนในเกมนั้นผมว่าผมได้เห็นถึงจุดอ่อนของทีมชาติมาเลเซียตรงที่เขามีระยะห่างระหว่างเซ็นเตอร์ฮาล์ฟกับฟูลแบ็ค (พื้นที่ฮาล์ฟสเปซ) ซึ่งถ้าเราพยายามผ่านบอลและสอดทะลุไปตรงนั้นก็จะมีโอกาสได้ประตู
แล้วไทยก็ได้ประตูจากตรงนั้นจริง ๆ ?
ใช่ครับ (ลูกยิง 1-0 ของ อนันต์ ยอดสังวาลย์) เราได้ประตูจากตรงนั้นเลย ชาญณรงค์ ได้บอลแล้วก็แทงทะลุช่องเข้ามาตรงนั้น ... ตอนนั้นความรู้สึกของผมคือดีใจมาก ๆ สะใจมากที่การวิเคราะห์ของเรามันกลายเป็นประโยชน์สำหรับทีม มันรู้สึกเหมือนกับเรามีส่วนในชัยชนะด้วย ภูมิใจมาก ๆ ครับ
เป้าหมายต่อไป ?
ก็จะตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปนี่แหละครับ ส่วนเป้าหมายระยะยาวของผมยังเหมือนเดิม ผมยังอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพอยู่ มันคือเป้าหมายแรกเสมอ แต่ก็จะไม่ทิ้งงานตรงนี้ไป ก็พยายามจะทำควบคู่กันไปตลอดให้มันส่งเสริมกันครับ
อยากบอกอะไรกับเพื่อน ๆ หรือเยาวชนรุ่นเดียวกันที่กำลังตัดสินใจกับอนาคตบ้าง ?
ก็อยากให้เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองรัก รู้ในสิ่งที่ตัวเองอยากทำครับ เราชอบอะไรอยากทำอะไรก็แสดงออกมาให้เต็มที่ โชว์ศักยภาพออกมาให้ทุกคนเห็น ทำให้เขาเห็นว่าเราตั้งใจที่จะเดินทางจริง ๆ ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อน ๆ วัยเดียวกันทุกคนนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
นครปฐม ยูไนเต็ด : งบน้อยที่สุด ใช้แข้งเดินสาย แต่กลายเป็นแชมป์
ไม่มีเกมแต่มีของ : ปุรเชษฐ์ ทอดสนิท ไพ่เด็ดทีมชาติไทยชุดยู-23
แนวรุกแสนดุดัน : 5 แข้งไทยยู 23 ฟอร์มร้อนเกมถล่ม สิงคโปร์ 3-1
เปิดหัวหรู : ช้างศึก อัด สิงคโปร์ 3-1 จุดไหนดี-จุดไหนควรปรับอีก ?
ข่าวและบทความล่าสุด
RELATED BY AUTHOR