บอลลีกเทียบไม่ติด : ทำไมคนญี่ปุ่นจึงอินกับบอล ม.ปลาย ในระดับคนดูครึ่งแสน

บอลลีกเทียบไม่ติด : ทำไมคนญี่ปุ่นจึงอินกับบอล ม.ปลาย ในระดับคนดูครึ่งแสน
มฤคย์ ตันนิยม

จบลงไปแล้วสำหรับฟุตบอลชิงแชมป์มัธยมปลายญี่ปุ่นครั้งที่ 101 ที่สุดท้าย โรงเรียนโอคายามะ กาคุเง ตัวแทนจากจังหวัดอาโอยามะ เป็นฝ่ายเอาชนะโรงเรียนฮิงาชิยามะ ตัวแทนจากจังหวัดเกียวโตไปได้ 3-1 กลายเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ของอาโอยามะ ที่คว้าแชมป์รายการนี้

ทว่า นอกจากความสนุกในเกมการแข่งขันแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือเกมนัดนี้ มีผู้ชมเข้ามาชมเกมในสนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่นมากถึง 50,868 คน และเป็นอีกครั้งที่ฟุตบอลมัธยมปลายของพวกเขามีคนดูแตะหลักครึ่งแสน

มันแทบจะเทียบไม่ได้เลยสำหรับฟุตบอลชิงแชมป์ ม.ปลาย ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของไทยอย่าง “ฟุตบอล 7 สี” เมื่อผู้ชมมากสุดน่าจะไม่เกิน 20,000 คน เพราะสนามศุภชลาศัย สังเวียนนัดชิงฯ ของรายการนี้จุผู้ชมได้มากที่สุดที่ 19,173 คน

อะไรที่ทำให้คนญี่ปุ่น อินกับฟุตบอลมัธยมปลายได้มากขนาดนี้ ทั้งที่มันเป็นเพียงกีฬาสมัครเล่น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve

มีมาก่อนบอลอาชีพ

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างนักกีฬาตั้งแต่ระดับเยาวชน ทำให้นอกจาก “วันกีฬาแห่งชาติ” (วันจันทร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม) ที่ทุกโรงเรียนจะมีกิจกรรมการแข่งขันกีฬาภายในโรงเรียนแล้ว พวกเขายังมีทัวร์นาเมนต์กีฬาของนักเรียนตั้งแต่ระดับประถม  

ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ (All Japan High School Soccer Tournament) หรือที่เรียกกันว่า “ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว” ก็คือหนึ่งในนั้น มันคือการแข่งขันที่มีมาตั้งแต่ปี 1918 หรือก่อนที่สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) จะก่อตั้งถึง 11 ปี

Photo : KEGEN PRESS

อันที่จริง ในช่วงเริ่มแรกของการแข่งขัน ทัวร์นาเมนต์นี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดโอซากา เนื่องจากหนังสือพิมพ์ไมนิจิ ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ที่นี่เป็นสปอนเซอร์การแข่งขัน ด้วยเป้าหมายหวังจะให้รายการนี้ช่วยเพิ่มยอดขายให้พวกเขา

ทว่า ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ ทั้งสู้ความนิยมของการแข่งขันเบสบอลมัธยมไม่ได้, ช่วงแรกมีแต่ทีมจากภูมิภาคคันไซ (ภาคตะวันตก)เข้าร่วม ไปจนถึงการบรรจุฟุตบอลเข้าสู่อินเตอร์ไฮ (กีฬามัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ)ในปี 1965 ทำให้ในปี 1966 JFA ตัดสินใจเข้ามารับช่วงต่อ และเปลี่ยนเจ้าภาพมาเป็นสหพันธ์กีฬามัธยมปลายตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา

มันกลายเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะสำหรับเพราะ 3 ปีก่อนหน้านั้นทีมชาติญี่ปุ่นเพิ่งจะคว้าเหรียญทองแดงในฟุตบอลโอลิมปิก 1968 ที่เม็กซิโก ที่ช่วยปลุกกระแสฟีเวอร์ไปทั่วประเทศ

และเมื่อรวมกับการที่ผู้จัดการแข่งขัน ตัดสินใจย้ายสนามแข่งจากโอซากา มายังสนามกีฬาแห่งชาติที่โตเกียว ที่มีความจุมากกว่าในปี 1976 ยิ่งทำให้ฟุตบอลมัธยมปลายได้รับความสนใจมากขึ้นไปอีก

“ในปี 1976 สนามจัดการแข่งขันครั้งที่ 55 ได้ย้ายจากโอซากา มาที่สนามกีฬาแห่งชาติโตเกียว ที่ช่วยเพิ่มความสนใจที่มีต่อศึกชิงแชมป์มัธยมปลายยิ่งขึ้น” อัตสึโอะ ซูงิโมโต กล่าวในบทความ School sport, physical education and the development of football culture in Japan

“ในช่วงเวลานั้น มีผู้ชมราว 230,000 คน เข้ามาชมเกมตลอดการแข่งขัน 8 วัน สำหรับนัดชิงชนะเลิศ มีผู้ชมราว 55,000 คน เข้ามาเต็มสนามกีฬาแห่งชาติ”

Photo : サッカーダイジェストWeb

และสิ่งนี้ก็ทำให้แม้ว่าญี่ปุ่น จะมีลีกอาชีพหรือเจลีกในปี 1993 ฟุตบอลมัธยมปลายก็ยังไม่เสื่อมความนิยม โดยเฉพาะนัดชิงชนะเลิศ ที่ได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ เป็นประจำทุกปี ... คนญี่ปุ่นติดใจอะไรจากรายการนี้ ?

ความจริงใจในวัยเยาว์

แม้ว่าความนิยมของฟุตบอลชิงแชมป์มัธยมปลาย อาจจะยังไม่เทียบเท่าเบสบอลชิงแชมป์มัธยมปลายหรือ “โคชิเอ็ง” แต่มันก็ถือเป็นทัวร์นาเมนต์กีฬาสมัครเล่นที่ได้รับความนิยมเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ

จากการรายงานของ Gekisak ระบุว่านับตั้งแต่มีการเก็บสถิติอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2022 พบว่า “ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว” มียอดผู้ชมที่เข้ามาให้กำลังใจถึงขอบสนามตลอดทัวร์นาเมนต์ ไม่ต่ำกว่า 200,000 คน เกือบทุกปี

โดยเฉพาะครั้งที่ 98 ในปี 2019 ซึ่งเป็นปีต่อเนื่องจากฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งญี่ปุ่นผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ มีผู้ชมรวมมากถึง 336,999 คน มากที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่จดสถิติมา

เช่นกันกับนัดชิงชนะเลิศ ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ด้วยยอดแฟนบอลในระดับสองหมื่นคนไปจนถึงครึ่งแสน และเคยทำสถิติสูงสุดถึง 56,025 คน ในปี 2019 ซึ่งมากกว่าผู้ชมในนัดชิงชนะเลิศเอ็มเพอเรอร์สคัพ เมื่อปี 2022 เสียอีก

ที่มา : ‌ ‌https://web.gekisaka.jp/news/detail/?295911-295911-fl ‌ ‌

และหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นชื่นชอบรายการนี้ก็คือการเล่นอย่างซื่อตรงของผู้เล่นวัยเยาว์ แม้ว่าเมื่อเทียบกับเจลีก ฟุตบอล ม.ปลาย จะมีคุณภาพของผู้เล่นที่ต่ำกว่า แต่การเล่นของพวกเขานั้นเต็มไปด้วย “ความจริงใจ”

เพราะกว่าจะได้มาโชว์ฝีเท้าในรอบสุดท้าย แต่ละคนต้องฝึกซ้อมอย่างหนักตลอดระยะเวลา 3 ปี แถมบางครั้งสำหรับทีมใหญ่ที่มีสมาชิกนับร้อย พวกเขายังต้องแข่งขันกันเองในทีม เพื่อได้เป็น 11+9 คน ที่ได้สิทธิ์ลงไปยืนอยู่ในสนาม

“ต้องขอบคุณชีวิตสมัยมัธยมปลายที่ต้อนผมจนจนมุม และทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น” โยชิโตะ โอคูโบะ อดีตกองหน้าทีมชาติญี่ปุ่นชุดฟุตบอลโลก 2 สมัย และดาวยิงสูงสุดตลอดกาลเจลีก ที่สร้างชื่อจากโรงเรียนคุนิมิกล่าว  

Photo : Twitter

“สมัยมัธยมปลาย การฝึกซ้อมตอนหน้าร้อนเข้มงวดมาก ผมวิ่งมากที่สุดในชีวิต มากจนรู้สึกว่าร่างกายจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ก่อนวิ่งผมมักจะบ่นว่า ‘แบบนี้ไม่ไหวแน่’ พอครูเป่านกหวีดเริ่ม ก็เหมือนเปิดสวิตช์ และขยับไปเอง วิ่งไปแบบนั้นจดหมดแรง”

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในการแข่งขันทุกอย่างจึงดูสมจริง และเต็มไปแพชชั่น ทั้งดีใจอย่างสุดเหวี่ยงเมื่อยิงประตูได้ หรือผิดหวังมากเมื่อเสียประตู ไปจนถึงชนะก็เต็มไปด้วยมวลแห่งความสุข และในทางกลับกันก็ไม่อายที่จะหลั่งน้ำตาเมื่อพ่ายแพ้

มันไม่ต่างจากโคชิเอ็ง ที่ทุกทีมต่างมุ่งมั่นเพื่อชัยชนะ พวกเขาพร้อมเสียเหงื่อเพื่อตัวเอง เพื่อเพื่อน เพื่อทีม และเต็มที่ทุกครั้งเมื่อลงสนาม ไล่บอลอย่างเต็มกำลัง จนถึงวินาทีสุดท้าย

“มันไม่มีอะไรทดแทนได้กับการได้สัมผัสความรู้สึกของหยาดเหงื่อ หยดน้ำตา และเสียงเชียร์ที่แท้จริงในกีฬา ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม” คัตสึนาริ ซาวาดะ อดีตเจ้าหน้าที่ของ Nippon Television ผู้รับผิดชอบการถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์ฤดูหนาว กล่าวกับ Soccer King

นอกจากนี้ การได้เห็นสิ่งที่ไม่คาดคิด ก็เป็นอีกเสน่ห์ของฟุตบอล ม.ปลาย ไม่ว่าจะเป็นแชมป์เก่า หรือทีมใหญ่ ถูกเขี่ยตกรอบ ตั้งแต่วันแรก ๆ หรือทีมม้ามืดที่เพิ่งเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรก ทะลุเข้าไปถึงรอบลึก ๆ เป็นต้น

Photo : Number Web - 文春オンライン

สายสัมพันธ์ท้องถิ่น

ด้วยความที่ฟุตบอลชิงแชมป์มัธยมปลาย เป็นการแข่งขันในระบบตัวแทน ที่แต่ละจังหวัดจะต้องหาทีมที่แกร่งที่สุดเพียง 1 ทีม (ยกเว้นโตเกียวได้โควต้า 2 ทีม) จาก 47 จังหวัด มาชิงชัยแบบน็อตเอาท์ในรอบสุดท้าย ทำให้มันเป็นเหมือนตัวแทนความภาคภูมิใจในท้องถิ่น

ดังที่เห็นในพิธีเปิดของการแข่งขันครั้งที่ 101 ที่แต่ละโรงเรียน พยายามพรีเซนท์จุดเด่นของจัดหวัดตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น อาโอโมริ ยามาดะ แชมป์เก่าของครั้งที่ 100 ที่เดินถือลูกแอบเปิ้ลเข้าสนาม เนื่องจากจังหวัดอาโอโมริ ขึ้นชื่อในเรื่องแอปเปิ้ล

Photo : 青森山田高校

หรือโรงเรียนมาเอบาชิ ฟูคูเอ ตัวแทนจากจังหวัดกุมมะ ที่ถือตุ๊กตาดารูมะ เนื่องจากจังหวัดของพวกเขาเป็นแหล่งผลิตตุ๊กตาดารูมะที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีเทศกาล มาเอบาชิ ฮัตสึอิจิ มัตสึริ หรือเทศกาลทำลายตุ๊กตาดารูมะ ที่ดังในระดับประเทศ

ขณะเดียวกันฟุตบอลชิงแชมป์ม.ปลายยังเป็นเวทีที่ทำให้พวกเขาได้มีโอกาส เห็นทีมรวมไปถึงนักเตะในบ้านเกิดของตัวเอง เฉิดฉายในระดับชาติ เพราะนี่คือหนึ่งแหล่งผลิตแข้งจากส่วนภูมิภาคขึ้นสู่ทีมชาติมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น  ฮิเดโตชิ นาคาตะ จากจังหวัดยามานาชิ, ชุนซูเกะ นาคามูระ จากจังหวัดคานางาวะ, ยาซูฮิโตะ เอ็นโด จากจังหวัดคาโงชิมา, เคซูเกะ ฮอนดะ จากจังหวัดไอจิ (แต่เกิดที่โอซากา) หรือ ทีมชาติชุดปัจจุบันอย่าง ทาคูมะ อาซาโนะ ก็สร้างชื่อมาจากโรงเรียนในจังหวัดมิเอะ ในทัวร์นาเมนต์นี้

มันคือภาพสะท้อนอย่างดีของระบบการศึกษาญี่ปุ่น ที่ความเจริญไม่ได้กระจุกตัวอยู่ศูนย์กลาง แต่กระจายตัวไปยังส่วนภูมิภาค และทำให้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ไม่ได้ถูกผลิตจาก เมืองหลวงของประเทศเท่านั้น

Photo : 日刊スポーツ

“เมื่อต้องรับมือกับนักเรียน มันเป็นการแข่งขันที่จริงจังเสมอ แทนที่จะรู้สึกว่ากำลังสอน ผมกลับรู้สึกว่าจะแพ้นักเรียนไม่ได้ ผมไม่เคยเข้าห้องสาย มันเหมือนน้ำที่ไหลลงมา เด็กมีแนวโน้มที่จะไหลไปในทิศทางที่สบาย” ทาดาโตชิ โคมิเนะ เคยพาโรงเรียนคูนิมิ จากจังหวัดนางาซากิ คว้าแชมป์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ 6 สมัยกล่าวกับ NTV News

“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคุณจะไม่สามารถสร้างทีมที่แข็งแกร่งได้ หากเด็กไม่ได้การศึกษาอย่างดี ทั้งโรงเรียนและที่บ้าน เพื่อให้ฟุตบอลของญี่ปุ่นแข็งแกร่งขึ้น ผู้เล่นจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี ผมคิดว่านี่คือกุญแจสำคัญ”

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว ทำหน้าที่เป็นเหมือนสายสัมพันธ์ที่ผูกโยงคนในท้องถิ่นเดียวกัน และทำให้แต่ละปี มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่เดินทางข้ามจังหวัดมาเชียร์ลูกหลานของพวกเขากันอย่างคึกคัก

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
เป้าที่ไม่ได้ตั้งเล่น ๆ : ญี่ปุ่น จะทำอะไรต่อเพื่อแผนเป็นแชมป์โลกปี 2050 ? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
| Think Curve - คิดไซด์โค้ง “ผมเบื่อที่จะได้ยินเรื่องการเป็น “ผู้แพ้ที่ยอดเยี่ยม” ผมอยากจะเป็นผู้ชนะมากกว่าเป็นผู้แพ้ที่ดี” มายะ โยชิดะ กัปตันทีมชาติ กล่าวหลังเกมพ่ายโครเอเชีย

“ครั้งนี้ต้องขอบคุณความสำเร็จของโรงเรียนเก่าของผม ที่ทำให้ผมเชื่อว่าการได้มีส่วนร่วมกับ ‘ฟุตบอล ม. ปลาย’ ทุกปี ได้ทำให้ผมตระหนักถึงสายสัมพันธ์ของผู้คนในบ้านเกิดของพวกเขา” คัตสึโนริ ซาวาดะ ศิษย์เก่าโรงเรียนโคคุกาคุอิง คุงายามะ รองแชมป์ครั้งที่ 94 เมื่อปี 2015 กล่าวกับ Soccer King

“นั่นคือพลังของฟุตบอลมัธยมปลาย และผมก็รู้สึกขอบคุณที่ได้มีประสบการณ์สัมผัสแง่มุมของวัฒนธรรมกีฬาที่นำพาผู้คนมารวมกัน ที่ไม่ใช่แค่ความสนุกและความผิดหวังจากชัยชนะหรือความพ่ายแพ้เท่านั้น แต่คือสายสัมพันธ์ของผู้คนผ่านกีฬา”

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลนี่คงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากขาดสิ่งนี้

ความรู้สึกที่ส่งต่อผ่านทีวี

อันที่จริงกระแสฟุตบอลมัธยมปลาย อาจจะจุดไม่ติด หากไม่มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสิ่งได้รับความนิยมอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960s หลังญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1964

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ Nippon Television หรือ NTV ที่รับหน้าที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1970 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

Photo : Twitter

อย่างไรก็ดี จุดเด่นของ NTV  คือพวกเขาไม่ได้แค่นำเสนอในมุมของการแข่งขัน แต่ยังถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักเตะ สต้าฟโค้ช กองเชียร์ รวมไปถึงผู้ปกครอง  

มันจึงทำให้ทัวร์นาเมนต์นี้ เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก ขณะเดียวกันพวกเขามักจะมักจะโฟกัสกับผู้แพ้มากกว่าผู้ชนะ เพราะมันเต็มไปด้วยเรื่องราว ที่มักจะไม่มีใครพูดถึง

และหนึ่งในช่วงที่ได้รับการพูดถึงคือ “ห้องแต่งตัวครั้งสุดท้าย” (Last Locker Room) ที่จะไปถ่ายห้องแต่งตัวของทีมแพ้ เพื่อดูว่าพวกเขาคุยอะไรกัน รวมถึงสัมภาษณ์นักเตะและโค้ช ถึงความรู้สึกของพวกเขาในฟุตบอล ม.ปลายครั้งนี้

มันคือการนำเสนออารมณ์ออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง และถ่ายทอดความรู้สึกนี้ไปให้ผู้คนทั้งประเทศ รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ที่ได้รับชมรู้สึกว่า นี่คือรายการศักดิ์สิทธิ์ เป็นรายการแห่งความฝันที่ผู้คนต้องฝ่าฝัน อย่างยากลำบาก เพื่อไปอยู่บนจุดสูงสุด ไม่ต่างจาก “โคชิเอ็ง”

แต่มันคงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีความมุ่งมั่นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน ที่ช่วยผลักดันจนทำให้ ฟุตบอลฤดูหนาว ฮิตติดตลาด จนกลายเป็นการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นที่ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย

“เป็นเวลากว่า 45 ปีแล้ว นับตั้งแต่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลม.ปลายทางทีวีเป็นครั้งแรก และตลอดช่วงเวลาเหล่านั้น การแข่งขันก็ต้องเผชิญกับวิกฤติหลายอย่างในการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด” ซาวาดะ กล่าวกับ NTV เมื่อปี 2015

Photo : サッカーキング

“สิ่งที่ทำให้มันก้าวข้ามมาได้ก็คือ ‘จิตวิญญาณ’ ของผู้เล่นและโค้ช ‘แพชชั่น’ ของเจ้าหน้าที่โทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดสด ครูของสหพันธ์กีฬาโรงเรียนมัธยม และพ่อแม่, รุ่นพี่, ศิษย์เก่า, คนในท้องถิ่นที่ชมการแข่งขัน”

“ผมคิดว่าเป็นเพราะ ‘ความรัก’ ของผู้คนที่ช่วยสนับสนุนเหล่านี้ การได้รู้สึกถึงความรู้สึกโดยตรงเหล่านี้ คือความสุขของผมที่สุด”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

อาวุธลับที่หายไป : เพราะเหตุใดทีมชาติญี่ปุ่นยุคหลังจึงไม่มีจอมสังหารฟรีคิก?

โมเดิร์นกัมพูชา : ‘ฮอนดะสไตล์’ การสอนให้นักเตะ วิ่ง บู๊ และกินอยู่แบบมืออาชีพ

เป็นรอง ของถนัด : การสู้สุดใจของทีมชาติญี่ปุ่นในบอลโลก 2022 ราวหลุดมาจากมังงะ

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ Football Goes East : Business, Culture and the People's Game in East Asia

https://www.soccerdigestweb.com/news/detail3/id=103254

https://zeninsyugo.com/2019/11/19/sensyuken/

https://soccermama.jp/30059

https://soccer-baka.jp/archives/5346

https://www.soccer-king.jp/sk_column/article/394156.html

https://spaia.jp/column/student/soccer/4221

https://web.gekisaka.jp/news/detail/?295911-295911-fl

https://koko-soccer.com/news/5-koukousoccer/28330-202101103

https://gendai.ismedia.jp/articles/-/69342

https://www.soccerdigestweb.com/news/detail/id=103254
https://news.yahoo.co.jp/articles/ba2eeaca015004773f2d6a8196308fb9c32c4425

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ