ย้อนหาคำตอบปรัชญาฟุตบอลของ ฟรอนตาเล่ จริง ๆ สไตล์ไหนทำไมขัดชนาธิป ?

ย้อนหาคำตอบปรัชญาฟุตบอลของ ฟรอนตาเล่ จริง ๆ สไตล์ไหนทำไมขัดชนาธิป ?
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี


แฟนบอลชาวไทย อาจรู้สึกชื่นใจได้บ้างเล็กน้อย หลังจากที่ “เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ กลับมามีชื่อเป็น 11 ตัวจริงของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ที่ลงสนามแข่งขันในศึก ลูวาน คัพ ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับกันตามตรงว่า โทรุ โอนิกิ ผู้ฝึกสอนของทีม ไม่ได้เน้นกับผลการแข่งขันในรายการนี้เท่าไหร่นัก เมื่อสังเกตุจากรายชื่อผู้เล่นที่จัดลงสู้ศึก ซึ่งเลือกใช้ตัวสำรองเป็นส่วนใหญ่ ผสมกับแข้งดาวรุ่ง

แม้ว่า ชนาธิป จะทำผลงานในเกมดังกล่าวได้ค่อนข้างน่าพอใจ มีประตูสุดสวยติดไม้ติดมือ เรียกว่าลงเกมแรกก็ยิงเลย แต่ก็โชคร้ายที่ผลต้องจบลงด้วยความพ่ายแพ้ให้กับเจ้าบ้าน ชิมิสุ เอส พัลส์ แบบฉิวเฉียด 2-3

ไฮไลต์เกม ฟรอนตาเล่ 2-3 ชิมิสุ เอส พัลส์ และประตูของชนาธิป

แนวทางการเล่นของทีม ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะส่งชุดไหนลงสนาม คือ การเน้นเกมรุก การต่อบอลสวยงาม แต่แผงหลังยังเป็นจุดบอด เล่นเกมป้องกันได้ย่ำแย่ จึงเป็นที่มาของการเสียไปถึงสามประตู

การส่ง ชนาธิป ลงสนามเป็นเรื่องดีต่อใจแฟนบอลไทยก็จริง แต่การใช้งานเขาในสภาพทีมที่ไม่เอื้อให้เขาฉายแสง เพื่อนๆ รอบตัวไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก บทบาทที่ได้รับต้องมีส่วนร่วมกับทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเกมรุกและเกมรับ อาจทำให้เพลย์เมคเกอร์รายนี้ แสดงศักยภาพที่มีออกมาได้ไม่เต็มร้อย

ความหัวดื้อของ โอนิกิ ไม่ใช่แค่แฟนบอลไทยที่รับรู้ แต่แฟนบอลในประเทศญี่ปุ่นก็ทราบกันดีเช่นกัน ต่อให้ทีมผลงานจะไม่ดี แต่เขาก็ยังเชื่อมั่นในแบบแผนการทำทีมที่ตั้งธงเอาไว้ ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแนวทางการเล่น หรือ ระบบการยืนตำแหน่งนักเตะแน่นอน

Photo : J League

การแก้เกมเต็มที่ก็เป็นการเปลี่ยนตัวตามตำแหน่ง มองตัวหมากบนม้านั่งสำรองว่ามีใครให้ใช้งานบ้าง ยัดแนวรุกลงไปเต็มสูบ พร้อมโอเวอร์โหลดตัวผู้เล่น ให้มีตัวรุกมากกว่าตัวรับ ซึ่งตัวรุกของพวกเขาทุกคน ก็ถูกฝึกเรื่องพื้นฐานเกมป้องกันมาดีอยู่

สาเหตุที่ โอนิกิ ต้องยึดมั่นในสไตล์แบบนี้ย่อมมีที่มา มีแรงบันดาลใจให้ยึดมั่นเชื่อมั่น แต่สิ่งเหล่านั้นคืออะไร? แล้วทาง ชนาธิป จะมีโอกาสสอดแทรกไปเป็นตัวหมากที่โค้ชรายนี้จะเลือกใช้งานหรือไม่? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ดีเอ็นเอที่ถ่ายทอดมาจากยุคอดีต

ย้อนกลับไปในปี 1955 สโมสร คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ถูกก่อตั้งขึ้น โดยใช้ชื่อทีมว่า ฟูจิตสึ มีที่มาจากชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในแดนอาทิตย์อุทัย แล้วลงเล่นในนามองค์กรมากว่า 40 ปี บนลีกระดับกึ่งอาชีพ ที่ยังไม่มีการออกกฏข้อห้ามตายตัว

จนมาถึงปลายยุค 90 ที่การปลูกฝังรากฐานของฟุตบอลในญี่ปุ่น ผลิดอกออกผลเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น สมาคุมฟุตบอลแดนปลาดิบ จึงออกกฏข้อห้ามทีมฟุตบอลที่แข่งขันในลีก JFL หรือ Japan football League ใช้ชื่อองค์กรเป็นชื่อทีม

Photo : Japao Fc

ฟูจิตสึ เลยประกาศแยกตัวออกมาเป็นอิสระ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ในปี 1997 ใช้ชื่อเมืองเป็นแกน พร้อมเติมคำสร้อยที่มีความหมาย บ่งบอกถึงปณิธาน ความตั้งมั่น ที่จะประสบความสำเร็จเข้าไป

ฟรอนตาเล่ มีที่มาจากคำว่า Frontal ในภาษาอิตาลี มีความหมายว่า “แนวหน้า” ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกระหายที่จะไปถึงเป้าหมายสูงสุดของสโมสรได้เป็นอย่างดี คือ การทะยานขึ้นไปเป็นทีมชั้นนำของลีกในอนาคต แม้ว่าสถานภาพของทีมในตอนนั้นจะจัดอยู่ในกลุ่มทีมกลางตารางก็ตาม

หลังจากนั้นแนวคิดการพัฒนาลีกฟุตบอลอาชีพของประเทศญี่ปุ่น ต้องการให้ทุกอย่างดูจริงจังและมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น จึงมีการจัดตั้งลีกรอง เจ ทู ขึ้นมาในปี 1999 แล้วทาง ฟรอนตาเล่ ที่จบในอันดับสองของศึก JFL ในฤดูกาล 1998 เป็นหนึ่งใน 10 ทีม ที่ถูกคัดเลือกให้ลงแข่งขันในรายการดังกล่าว ก่อนจะคว้าแชมป์ได้ทันที พร้อมโควต้าเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ฟรอนตาเล่ ฝันหวานได้ไม่นาน ก็ต้องเผชิญหน้ากับผลลัพธ์ที่เลวร้ายในฤดูกาลแรกบน เจ ลีก เก็บไปเพียง 10 แต้ม จากการลงแข่งขัน 15 นัด ต้องตกชั้นไปเริ่มต้นกันใหม่

ทำให้บอร์ดบริหารของทีม ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงก่อนแข่งขันฤดูกาล 2001 ด้วยการโละสตาฟฟ์โค้ช และ นักเตะแกนหลักออกไป แบบยกชุด

พวกเขาเลือกที่จะใช้งานนักเตะและทีมสตาฟฟ์สัญชาติบราซิล เพื่อเติมความหวือหวาให้กับเกมบุกของทีม จึงเป็นที่มาของการดึงตัว เอเมอร์สัน กองหน้าดาวซัลโว เจ ทู มาจาก คอนซาโดเล่ ซัปโปโร พร้อมกับ พิตตา อดีตผู้เล่นชาวแซมบ้า ที่มีประสบการณ์ลงเล่นในลีกแดนปลาดิบ ช่วงปี 1991-1993 เข้ามาเป็นสตาฟฟ์โค้ช

Photo : J League

ส่วนตำแหน่งเฮดโค้ชเลือกแต่งตั้ง โนบุฮิโระ อิชิซากิ ที่เคยพา โออิตะ ทรินิตะ คว้าอันดับสามใน เจ ทู สองฤดูกาลติดเข้ามาทำทีม หวังที่จะผลักดันดาวรุ่งของทีมให้ก้าวขึ้นมาเป็นแกนหลักไปด้วย พร้อมเติมปรัชญาการเล่นเกมรุกที่สวยงามและทรงประสิทธิภาพลงไป

แต่แล้วพวกเขาก็ต้องเจอกับอิทธิพลด้านการเงินของ อูราวะ เร้ด ไดมอนด์ สโมสรจอมทุ่มของ เจ ลีก ในยุคนั้น ที่ทุ่มเงินซื้อตัว เอเมอร์สัน ดาวยิงแชมบ้าของทีม ซึ่งกดไป 19 ประตู จากการลงเล่น 18 นัด ไปร่วมทีมช่วงกลางซีซั่น 2001 ที่ย้ายไปแพ็คคู่พร้อมโค้ช พิตตา คนบ้านเดียวกัน ช่วงกลางซีซั่น 2001

ฟรอนตาเล่ ฟอร์มแกว่งไปอย่างชัดเจน เมื่อขาดสตาร์ตัวแบกประจำทีมไป จึงต้องหาทางแก้ไขปัญหา หลังจบในอันดับที่ 7 ของศึก เจ ทู พลาดการเลื่อนชั้น แล้วต้องเป็นแนวคิดที่ใช้งานได้แบบยั่งยืนในระยะยาว

อิชิซากิ ที่ชื่นชอบเกมบุก ไม่เปลี่ยนสไตล์การเล่นของทีมที่มีดีในเรื่องเกมรุก แล้วเติมวิธีการใหม่ที่ชื่อว่า “ฟิสิคเทค” ปลูกฝังให้กับผู้เล่นในทีมทั้งตัวเก๋าและดาวรุ่ง ด้วยการผสมผสานความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะ ใ้ห้เข้ากับสภาพร่างกายที่ฟิตเกินร้อย พร้อมวิ่งได้ไม่มีหมดตลอด 90 นาที อันมาจากการปรับโปรแกรมซ้อมให้มีความเข้มข้นกว่าปกติ

Photo : Transfermarkt

หากทางค่าย มาร์เวล มี กัปตันอเมริกา เป็นซูเปอร์โซลเยอร์ ฟรอนตาเล่ ก็สร้างซูเปอร์เพลเยอร์ ที่มีสมรรถภาพร่างกายเกินร้อยขึ้นมา โดยไม่ได้มีการฉีดสารเร่งอะไรเหมือนกับในหนัง แต่ใช้วิธีการฝึกซ้อมจนร่างกายของนักเตะ พัฒนาและทนทานไปได้เอง

พอตัวหมากในมือมีจุดเด่นเรื่องความฟิตของร่างกาย อิชิซากิ ก็เลือกที่จะใช้แแท็คติก เพรสซิ่งคู่แข่งตลอด 90 นาที เพื่อชิงบอลจากคู่แข่งกลับมาให้ได้เร็วตั้งแต่แดนบน แล้วหาโอกาสเข้าทำสกอร์ เมื่อคู่แข่งยังไม่ทันระวังตัว โซนการป้องกันยังไม่ถูกจัดระเบียบให้ดี

โดยแนวคิดนี้ได้รับการยืนยันจาก เคนโกะ นากามูระ อดีตกองกลางทีมชาติญี่ปุ่น ที่เคยค้าแข้งให้กับ ฟรอนตาเล่ ในช่วงนั้น ที่อธิบายเอาไว้ว่า

“ผมอยู่กับแนวทาง ฟิสิคเทค ในปีแรกของผมกับทีมชุดใหญ่ การฝึกซ้อมเป็นงานหนักสำหรับผมมาก แม้แต่การฝึกซ้อมส่วนตัว ผมถูกฝึกอย่างหนัก เพื่อพัฒนาสภาพร่างกายให้ถึงขีดสุด”

ผลลัพธ์ของแนวคิด ฟิสิคเทค ออกมาเป็นที่น่าพอใจ เมื่อทีมสามารถจับอันดับที่ 3 ของลีกได้ในปี 2003 แต่น่าเสียดายที่พลาดโควต้าเลื่อนชั้น ด้วยการมีแต้มน้อยกว่าเพียงคะแนนเดียว ซึ่งอีกหนึ่งการการันตีว่าแนวคิดนี้มันได้ผล คือ อิชิซากิ ถูกจีบไปทำทีม ชิมิสุ เอส พัลส์ บนลีกสูงสุด

ลีลาการเล่นหลังถูกใส่ฟิสิคเทค รับชมได้ที่คลิปด้านล่าง

ฤดูกาล 2004 ฟรอนตาเล่ ดึงตัว ทาคาชิ เซกิสุกะ เข้ามารับไม้ต่อจาก อิชิซากิ แล้วด้วยตัวหมากที่มีในมือ บวกกับความสามารถในการคุมทีมของเขา ก็พาทีมคว้าแชมป์ เจ ทู ได้สำเร็จ ด้วยการเก็บไป 105 แต้ม จากการลงสนาม 34 เกม ยิงประตูไปถึง 104 ลูก เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดได้อย่างยิ่งใหญ่ แล้วก็ไม่ตกชั้นอีกเลยมาจนถึงตอนนี้

เซกิสุกะ พยายามปรับแท็คติกของทีม ให้เข้ากับเทรนด์ฟุตบอลในยุคนั้น ด้วยการปรับแผนการเล่นให้มีความคล้ายคลึงกับ เอซี มิลาน ของ คาร์โล อันเชล็อตติ เพิ่มเติมเรื่องการเล่นเกมรับให้มีความแน่นอนมากขึ้น เน้นการครอบครองบอล

ผลงานที่ออกมาในปี 2005 คือ การจบอันดับที่ 8 ของลีก รอดพ้นจากการตกชั้น แต่มันก็ยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับเป้าหมายสูงสุดของทีม ที่ต้องการผงาดขึ้นไปเป็นทีมชั้นนำให้สมกับชื่อทีมที่ตั้งไว้ บอร์ดบริหารจึงเติมงบประมาณในการเสริมทัพ คว้าผู้เล่นฝีเท้าดีเข้ามาให้กับทีมก่อนเริ่มฤดูกาล 2006

ลีลาของ ฮัล์ค ช่วงค้าแข้งในเจลีก รับชมที่คลิปด้านล่าง

นักเตะอย่าง ฮัลค์ กองหน้าชาวบราซิล และ จอง แด แซ ศูนย์หน้าจากเกาหลีเหนือเข้ามา สไตล์การเล่นของทีมที่เป็นบอลเอนเตอร์เทน ถูกใจแฟนบอลที่ติดตามเชียร์ จนมียอดผู้ชมเข้ามาในสนามเฉลี่ยต่อเกมสูงถึง 13,658 คน

น่าเสียดายที่ ฮัลค์ เป็นผู้เล่นที่มีอีโก้จัด ไม่ยอมฟังคำสั่งจากโค้ช เลยต้องปล่อยให้กับทีมอื่นยืมตัวไปใช้งาน ต่อให้เขาจะมีศักยภาพส่วนตัวสูงแค่ไหน สุดท้าย ฟรอนตาเล่ ออกอาการแผ่วปลายจบแค่ตำแหน่งรองแชมป์ในปี 2006

เซกิสุกะ เป็นโค้ชที่มีมาตรฐานดี เล่นมีสไตล์ ภาพลักษณ์ติดตาแฟนบอล ได้รับคำชมจากสื่อชั้นนำอย่าง โกล ว่าเป็นทีมที่เล่นดีที่สุดในศึก เจ ลีก ประเทศญี่ปุ่น ติดอยู่เพียงแค่เรื่องเดียว คือ ไม่มีแชมป์สักรายการติดไม้ติดมือ ไปไกลสุดแค่บทพระรองเท่านั้น บทสรุปก็ต้องแยกทางกันไป

อย่างไรก็ตามเมื่อบอร์ดบริหารของทีม ประเมินภาพรวมออกมาแล้วว่า แนวคิดในการทำทีมแบบนี้มันถูกต้อง ก็เพียงแค่ต้องหาผู้ที่เหมาะสมเข้ามารับไม้ต่อ ซึ่งสุดท้ายก็ไปลงเอยที่ผู้ฝึกสอนคนปัจจุบันอย่าง โทรุ โอนิกิ ที่เป็นอดีตผู้เล่น แล้วทำงานกับสโมสรในตำแหน่งผู้ช่วยมาตั้งแต่ปี 2010

PHoto : J League

ในเมื่อภาพที่มองเห็นปลายทางตรงกันพอดี ไม่จำเป็นต้องคุยอะไรใหม่หมด เข้าใจวัฒนธรรมสโมสร โอนิกิ เลยกลายเป็นคนที่ใช่สำหรับ ฟรอนตาเล่ อย่างที่เห็น ซึ่งฝีมือของเขาก็การันตีแล้วด้วยผลงานแชมป์ลีกตั้งแต่การรับแหน่งซีซั่นแรกในปี 2017 นับรวมจนถึงตอนนี้คว้าแชมป์มาครองแล้วทั้งหมด 4 สมัย

ควบรวมกับอีโก้ของกุนซือ

ในเมื่อ โอนิกิ เป็นกุนซือของ ฟรอนตาเล่ ที่เปิดตัวได้อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร กระแสคำยกย่องและคำชม ย่อมหลั่งไหลมาแบบไม่ขาดสาย

รวมลูกยิงทุกลูกในฤดูกาล 2022 ของ ฟรอนตาเล่

เมื่อแนวทางที่เขายึดมั่นถือมั่น ตรงกับดีเอ็นเอของสโมสรที่ยึดถือกันมาตั้งแต่อดีต ด้วยการเลือกมาแต่ข้อดีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น เล่นฟุตบอลเกมบุกเอาใจผู้ชม, การครองบอลต่อบอลให้เหนือกว่าคู่แข่ง, เตรียมสภาพร่างกายนักเตะตามหลักฟิสิคเทค และ แทคติกการเล่นเกมเพรสซิ่ง ตามเทรนด์ของ โมเดิร์น ฟุตบอล

ความสำเร็จที่พุ่งชน โอนิกิ มากมาย ย่อมกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้อีโก้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แผนการเล่นที่เคยสร้างความหวาดหวั่นให้กับคู่แข่ง ถ้าไม่ได้ผลก็แก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนตัวผู้เล่น เพราะเขายึดมั่นในแนวทางในการทำทีมของตัวเองแบบไม่มีผ่อนปรน หรือยอมอ่อนข้อให้ใคร

บางครั้งถ้าจั่วผู้เล่นถูกตัวมันก็ได้ผล แต่ถ้าไม่เกิดผลก็ไม่เห็นเป็นไร ในเมื่อตัวเขายังได้รับการหนุนหลังจากบอร์ดบริหารของทีม แบบที่ยังไม่มีข่าวใดๆ หลุดออกมาว่า ขาเก้าอี้สั่นคลอน แม้ว่าผลงานรวมๆ ของ ฟรอนตาเล่ ฤดูกาลนี้ จะไม่เข้าตานักก็ตาม

แล้วในเมื่อ ชนาธิป เป็นขุนพลที่ถูกซื้อเข้ามาด้วยความคาดหวังสูงลิบลิ่ว มีดีกรีเป็นนักเตะอาเซียนที่ค่าตัวแพงสุดใน เจ ลีก คล้ายๆ ว่าจะเป็นตัวแทนของ คาโอรุ มิโตมะ อดีตสตาร์ของทีมที่ย้ายไปเฉิดฉายอยู่กับ ไบรท์ตัน ในตอนนี้ แรงกดดันจากรอบด้านย่อมพุ่งเข้าหา เจ แบบเลี่ยงไม่ได้

คาโอรุ มิโตะมะ ตัวความหวังของ ฟรอนตาเล่ ที่ ชนาธิป เข้ามาแทนที่

แน่นอนว่า เจ ย่อมรู้หน้าที่ของตัวเองว่าต้อง พิสูจน์ตัวเองว่ามีดีพอ ในการลงสนามเป็นตัวหลักให้กับ ฟรอนตาเล่ ซึ่งการจะเอาชนะในกุนซือที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง ในวงการฟุตบอล เจ ลีก อย่าง โอนิกิ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ยิ่งพอเจ้าตัวต้องไปเจอโปรแกรมการซ้อมที่หนักหน่วงตามหลัก ฟิสิคเทค การต้องเบียดแย่งตำแหน่งกับผู้เล่นระดับท็อปของลีกภายในทีม ที่หลายคนมีดีกรีเป็นลูกรัก มีคู่มือการใช้งานอยู่แล้ว พาทีมประสบความสำเร็จร่วมกันมาแล้วเป็นเรื่องยากไปกันใหญ่

แม้ว่าจะพยายามอย่างเต็มที่ เข้าโปรแกรมซ้อมปรีซีซั่นเต็มรูปแบบ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา คือ ยังไม่มีชื่อในลีกตลอดสามนัดที่ผ่านมา แล้วเพิ่งได้ลงสนามในเกมบอลถ้วยไปเพียงนัดเดียวเท่านั้น

แถมยังมีกระแสข่าวลือออกมาว่า โอนิกิ ไม่พอใจ เจ ที่สื่อบางเจ้าในประเทศไทย ไปปั่นจนมีแฟนบอลเชื่อกันไปเป็นแถบ ผสมโรงเข้ามา ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดูซับซ้อนขึ้นไปอีก

ซึ่งทางจากการเปิดเผยของ เจ วรปัฐ อรุณภักดี ที่มีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น แล้วได้แวะไปเยี่ยมพร้อมพูดคุยกับ ชนาธิป อัพเดตถึงสถานการณ์ล่าสุดเอาไว้ว่า

“เรื่องสถานการณ์ของ เจ ไอ้ที่มีเรื่องสัมพ่ง สัมภาษณ์ มันอีรุงตุงนังไปหมดเลยนะ คือ เขาไม่ได้พูดอะไรนะ”

“คือ เจ บอกว่าไม่ได้พูดอะไรแบบนั้นออกไป แต่ไม่รู้ว่าการสื่อสารบทสัมภาษณ์มันออกไปเป็นแบบนั้นได้ยังไง? คือ ไม่ได้พูดเลย”

“โอนิกิ เรียก เจ ไปคุยล่าสุด ก่อนที่พี่จะไปญี่ปุ่นเนี่ย คือ เจ ก็เล่าให้ฟังแบบว่า โอนิกิ ก็อยากให้ เจ อดทนหน่อย เพราะเขาก็อยากจะใช้งาน เจ”

ดูคลิป คิดไซด์โค้ง ประเด็นชนาธิปเต็ม ๆ ที่คลิปด้านล่าง

“แต่เหมือนว่าแผนที่เขาเตรียมมา ตอนที่ เจ เจ็บ คือ เขาก็เตรียมตัวแทนคนอื่นไว้ด้วยส่วนหนึ่ง แล้วฟุตบอลของ ฟรอนตาเล่ ระบบมันก็ซับซ้อนมากไง”

“ถ้า ชนาธิป จะได้เล่น แฟนบอลไทยต้องภาวนาให้ ฟรอนตาเล่ ฟอร์มไม่ดี ซึ่งตอนนี้มันก็เป็นสถานการณ์นั้นอยู่ เดี๋ยวก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นทางเดียว เนื่องจาก ฟรอนตาเล่ ไม่มีทางเปลี่ยนแผนการเล่นอยู่แล้ว ยึดระบบแนวทางเดิมมาโดยตลอด”

ในเมื่อ โอนิกิ มีแย้มออกมาแล้วว่าต้อง อดทน ซึ่งมันเป็น นามธรรม ที่ไม่มีการการันตีอะไรได้แน่นอนว่า โอกาสจะมาถึงเมื่อไหร่ หน้าที่ของ เจ ที่มีสัญญาอยู่กับ ฟรอนตาเล่ ก็ทำได้เพียงพยายามอย่างเต็มที่เท่านั้น จนกว่าจะชนะใจ โอนิกิ ได้สำเร็จ

การเล่นที่ไม่เป็นตัวเอง

แฟนฟุตบอลชาวไทย นั้นทราบกันดีอยู่แล้วว่า ชนาธิป นั้นเป็นนักเตะเกมรุกโดยธรรมชาติ การจะใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ย่อมต้องให้อิสระเขาเล่นเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งมันขัดกับแผนการเล่นของ ฟรอนตาเล่ ที่ทาง โอนิกิ วางแนวทางไว้

ความจี๊ดของ ชนาธิป สมัยค้าแข้งกับ คอนซาโดเล ซัปโปโร

หน้าที่ของเขาแตกต่างกับสมัยที่เฉิดฉายให้กับ คอนซาโดเล่ ซัปโปโร จนก้าวไปติดทีมยอดเยี่ยมของศึก เจ ลีก ปี 2018 แบบคนละขั้ว ตามที่เจ้าตัวให้สัมภาษ์ถึงบทบาทของตัวเองกับต้นสังกัดปัจจุบันเอาไว้ว่า

“เรามีมาตรฐานที่มันสูงตอนเล่นอยู่ ซัปโปโร ไง คือมาที่นี่ ผมเล่นตำแหน่งเบอร์ 8 (กองกลางตัวสร้างสรรค์เกม) พอเราทำงานหนัก บางทีเราไปไล่บอลจนสุด แล้วเราก็ต้องรับบอลต่อ ไล่มามันก็เหนื่อยแล้ว รับบอลมาก็ต้องให้ง่ายๆ ก่อน เราจะเสียบอลง่ายไม่ได้ตามหน้าที่”

“การเล่นเบอร์ 8 ทีมผมต้องฟิตมาก เล่นปีกไม่เหนื่อยเท่าเบอร์ 8 คือ มันเป็นระบบทีมของเขา ที่เราต้องทำตามให้ได้ เพราะมันเป็นระดับมืออาชีพแล้ว”

“พอเราให้บอลไปปุ๊บ บางทีเราให้ไปเราก็อยากได้บอลคืนมาอีกทีนึง เพื่อที่จะเรียกความมั่นใจ แต่เพื่อนก็อาจไม่ส่งคืนมาให้แล้ว เพราะเลือกที่จะไปฝากบอลกับคนอื่น ซึ่งเขาก็ไม่ผิด เนื่องจากเขาอาจมีตัวเลือกที่ดีกว่า”

“แต่ผมเป็นคนที่เล่นฟุตบอลแบบอยากให้ไปก่อน แล้วเราค่อยหาจังหวะทำของเราเอง เดี๋ยวหาจังหวะจ่ายของเราเอง ซึ่งเราก็ไม่โทษโค้ช โทษเพื่อน เพียงแต่เว่าเราต้องเล่นในแบบของเราให้เขาดูให้ได้

จากคำกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ฟรอนตาเล่ มีแนวทางการเล่นที่ถูกปลูกฝังมาอย่างชัดเจน ผู้เล่นที่ได้ลงสนาม ต้องมีส่วนช่วยทั้งเกมรุกและเกมรับ ทำหน้าที่ไม่ต่างกับหุ่นยนต์ที่ถูกป้อนโปรแกรมมา

ร่างกายต้องมีความแข็งแกร่ง ห้ามก่อข้อผิดพลาดในสนาม ทำหน้าที่ตามที่ถูกป้อนคำสั่งมาเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ ชนาธิป ดูเหมือนเคมีจะไม่เข้ากับต้นสังกัดทีมนี้อย่างแรง

เพราะเอาแค่การยืนตำแหน่งตรงแดนกลาง รูปร่างของเขาก็เสียเปรียบเรื่องการเข้าปะทะมากอยู่แล้ว พอถูกจำกัดอิสระในการเล่น

ข้อดีที่เป็นจุดเด่นก็หายไปอีก จังหวะการกระชากลากเลื้อยแหวกแนวรับ ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่มีให้เห็นเพราะถูกกำหนดมาให้เล่นง่ายๆ สุดท้ายก็กลายร่างเป็น อาแปะ แบบที่เกรียนคีย์บอร์ดในบ้านเรานิยามไว้

ทุกเหตุผลที่ยกตัวอย่างมา ชี้ไปในแนวทางเดียวกันว่า ชนาธิป อาจไม่เหมาะกับ ฟรอนตาเล่ เหมือนอย่างที่ เจ วรปัฐ อรุณภักดี วิเคราะห์เอาไว้ว่า

Photo : J League

“เจ ชนาธิป ต้องรอเวลาอยู่แล้ว คือ อดทนหน่อย แล้วภาวนาไม่ให้ตัวเองเจ็บ”

“แต่จังหวะฟุตบอลของ เจ มันก็น่าเห็นใจตรงที่ว่า ฟรอนตาเล่ เอามา ไม่ได้มอบบทบาทตัวสร้างสรรค์เกมให้ เจ้าตัวก็เลยไม่รู้ว่า ต้องทำอะไรเวลาที่ได้บอล”

“สิ่งที่เราเห็น คือ การที่ เจ ได้บอลต้องคืนหลังๆ อะไรแบบนี้ แทบไม่เคยเห็น เจ ชนาธิป ได้ลุยแบบอิสระเลยนะ อันนี้ทาง ฟรอนตาเล่ ก็ต้องไปคิดเหมือนกัน”

“ผมว่า ชนาธิป ถ้าเล่นแบบเป็นตัวเองได้แบบตอน ซัปโปโร เนี่ยจะดีมาก แต่ทีนี้ด้วยรูปแบบของ ฟรอนตาเล่ กับ ซัปโปโร มันไม่เหมือนกันไง

“เหนื่อยเหมือนกันครับ คือถึงบอกว่า นักเตะที่ไปเล่นให้กับทีมที่ใช่ อะไรมันก็ถูกไปหมด แต่ถ้าเกิดไปอยู่กับทีมที่ไม่ใช่ มันก็ต้องไปดูว่าสถานการณ์ที่จะกลับมา”

“ในช่วงเวลานั้น มันเหมาะสมแล้วเข้าทางเรารึเปล่า? ฟุตบอลเนี่ยมันไม่ได้มีเรื่องของ ร่างกาย ทัศนคติ แล้วเรื่องของโชคเรื่องจังหวะมันต้องมีด้วย”

Photo : Kawasaki Frontale

ไม่ว่าสถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป แฟนบอลไทยก็คงทำได้เพียงแค่เอาใจช่วย ชนาธิป ต่อไป เพราะเขาคือหนึ่งในนักเตะต้นแบบ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ มีแรงใจที่จะสู้เพื่อเป็นนักฟุตบอลอาชีพ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ

แล้วหว้งว่า โอนิกิ จะทำตามคำพูดของตัวเองที่เคยบอกเอาไว้ว่า พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาทีมเสียที ไม่เช่นนั้นผลงานก็จะวนลูป สามวันดี สี่วันไข้ ไม่ต่างกับช่วงที่ผ่านมา


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

3 เกม 0 นาที : เกิดอะไรขึ้นที่ ฟรอนตาเล สาเหตุที่ ชนาธิป ไม่ได้ลงสนาม ?

3 ทางของ “เจ” : มองรอบด้านถึงอนาคต ชนาธิป ในการค้าแข้งต่างเเดน

‘ชนาธิป’ ยิงประตูแรกให้ ฟรอนตาเล ซีซั่นนี้ : รวมความเห็นแฟนบอลญี่ปุ่น

แหล่งอ้างอิง  https://www.goal.com , https://www.jleague.co/

แชร์บทความนี้
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ