“เจ ไม่ลง” : ทำไมแย่เหมือนเดิม ฟรอนตาเล่ พังคาบ้าน ไร้ชัยสามเกมติด
ฟุตบอล เจ ลีก ประเทศญี่ปุ่น ยังคงทำการแข่งขันกันตามปกติ ไม่ได้มีหยุดพักผ่อนเหมือน ไทย ลีก บ้านเรา ที่มีเทศกาลสงกรานต์เข้ามาขั้น ดังนั้นแฟนบอลชาวไทยที่ไม่ได้ออกไปเล่นน้ำ มีโอกาสที่จะหาช่องทางธรรมชาติ ในการเชียร์สตาร์ชาวไทยทั้ง ชนาธิป สรงกระสินธ์ และ สุภโชค สารชาติ เหมือนที่ผ่านมา
แต่เพียงแค่ช่วงสายความจืดก็คืบคลานมาทำร้ายจิตใจแฟนบอลไทยทันที เมื่อทั้ง คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ และ ฮอกไกโด คอนซาโดเล่ ซัปโปโร จับสองสตาร์ชาวไทยอยู่บนม้านั่งสำรอง ต้องรอโอกาสที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่
แล้วหลังจากนั่งรอชมรอเชียร์ทั้งสองทีมมากว่า 90 นาที บทสรุปของทั้ง เจ และ เช็ค ก็ได้ทำแค่นั่งให้กำลังใจเพื่อนที่ข้างสนาม ไม่ได้มีส่วนร่วมกับทีมแม้แต่นาทีเดียว แถมต้นสังกัดของทั้งคู่ก็ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้เหมือนกันอีก
หากโฟกัสไปที่รองแชมป์เก่าอย่าง ฟรอนตาเล่ ของ โทรุ โอนิกิ โค้ชชาวญี่ปุ่นจอมดื้อ มีหลายประเด็นที่เขาเปลี่ยนแปลงทีมของเขาให้ได้พูดถึง แต่ถึงจะเปลี่ยนยังไงก็ตาม สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นเหมือนเดิมๆ จนกลายเป็นว่าเก็บชัยชนะไม่ได้มาแล้ว 3 เกมติดต่อกัน
การปรับเปลี่ยนจุดไหน มีประเด็นที่น่าสนใจพอจะพูดถึงกันได้บ้างในเกมที่พ่ายคาบ้านให้กับ นาโกย่า แกรมปัส 1-2 ร่วมหาคำตอบไปกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
นักเตะบ้านเกิดเต็มระบบ
ไม่รู้ว่าวันนี้ โอนิกิ เกิดอาการผีเข้า หรือ อยากทำตามใจแฟนบอล จึงเลือกส่งผู้เล่นสัญชาติญี่ปุ่นแท้ๆ ลงสนามเป็น 11 ผู้เล่นตัวจริง ถึง 10 คนด้วยกัน ซึ่งเป็นตำแหน่งเอาท์ฟิลด์ทั้งหมด ยกเว้นแค่นายทวารมือหนึ่งอย่าง จุง ซุง-ยอง ผู้รักษาประตูมากประสบการณ์ชาวเกาหลี ที่ยังคงได้รับความไว้วางใจให้เฝ้าเสาเช่นเคย
ประเด็นครั้งนี้อาจมองได้หลายมุมมอง ทั้งในเรื่องของตัวต่างชาติที่มีอาการบาดเจ็บหลายคน อาทิ เจเซียล, มาร์ซินโญ่ และ เลอันโดร ดามิเยา ที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มร้อย แต่หากไม่มีชื่อของ ชนาธิป นั่งอยู่ที่ม้านั่งข้างสนาม รวมไปถึง ชูเอา ชมิดท์ มันคงดูไม่แปลกเท่าไหร่
แน่นอนว่า เจ ลีก มีแนวทางในการขยายตลาด ด้วยการดึงนักเตะอาเซียนเข้ามาเพิ่มฐานแฟนบอลจากย่านอื่นๆ แต่แฟนบอลกลับมองว่า พวกเขาถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง
แล้วประธานสโมสรคนใหม่อย่าง อาคิฮิโร โยชิดะ ก็ใส่ใจเรื่องการตลาดมากเกินไป จนเกิดการประท้วงใหญ่ด้วยการชูป้ายผ้าของกลุ่มแฟนบอลเมื่อไม่นานมานี้ พอผลงานของทีมในสนามย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง แฟนบอลก็ย่อมหาแพะมารองรับอารมณ์เป็นธรรมดา เห็นได้จากคอมเมนท์ตามอินเตอร์เน็ตในเกมก่อน เช่น
"ผมไม่มีทางยกโทษให้ผู้บริหารที่ยอมจ่ายเงินกว่า 500 ล้านเยนเพื่อ ชนาธิป แน่นอน" @philips_psg
"ตั้งแต่ปีที่เเล้วแล้วล่ะที่ผมเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ฟรอนตาเล่ ผมเบื่อหน่ายมาก ๆ ที่จะพูดถึงนักเตะตำแหน่งฟูลแบ็คที่ไม่ดีพอ ไหนจะในส่วนของชนาธิปเจ้าของค่าตัว 500 ล้านเยนอีก ผมอยากเห็นนักเตะอายุน้อย ๆ ลงบ้าง แต่ก็ยังไม่ค่อยเห็นมากเท่าไหร่ ช่วงนี้คือช่วงของการเปลี่ยนแปลง ทีมมีนักเตะย้ายออกไปค้าแข้งในยุโรปหลายคน ดังนั้นอายุเฉลี่ยของทีมก็ต้องมากขึ้นเป็นธรรมดา มันยากจริง ๆ กับช่วงเวลาแบบนี้" @GAMBAMADRID58
ดังนั้นเกมในบ้านที่เจอกับ นาโกย่า แกรมปัส นัดล่าสุด โอนิกิ จึงจัดให้แบบเต็มระบบ ใช้ผู้เล่นบ้านเกิด 10 คน รวมไปถึงการส่ง ทาคาโทระ เออินากะ ปีกดาวรุ่งวัยแค่ 20 ปี ลงสนามเป็นตัวจริงเกมแรกในลีก เรียกว่าเอาให้สาสมใจแฟนบอลแบบเต็มสูบ
การปรับเปลี่ยนแทคติกส์
เอาจริงๆ แล้ว 5 นาทีแรก ฟรอนตาเล่ ของ โอนิกิ ในเกมนี้ ถือว่าเริ่มต้นเกมได้อย่างวูบวาบทีเดียว โดยเฉพาะดาวรุ่งอย่าง เออินากะ ที่ได้รับมอบหมายบทบาทให้ขึ้นเกมทางฝั่งขวา รับบทบาทเป็น อินไซด์ ฟอร์เวิร์ด ที่เล่นด้วยเท้าซ้าย รอจังหวะตัดเข้าในเพื่อจ่ายบอลสั้น ทำชิ่ง ต่อบอล หรือ สอดขึ้นไปหาจังหวะยิงประตู
ตำแหน่งการยืนของนักเตะหลายคนเปลี่ยนไปในระบบ 4-2-3-1 แผนเดิม แนวรุก 4 ตัวบน จับทาง ไทเซย์ มิยาชิโระ ถ่างออกไปเป็นตัวริมเส้นฝั่งซ้าย ยาสุโตะ วากิซากะ เล่นเป็นตัวกลางในตำแหน่งเพลย์เมคเกอร์แทนที่ของ ชนาธิป ที่ลงตัวจริงเกมก่อน ส่วนพี่ใหญ่ อากิฮิโระ อิเอนากะ ไปยืนเป็นหน้าเป้าตัวจบสกอร์
แต่แล้วจากจังหวะการเล่นที่ประมาท และ ขาดประสบการณ์ของ เออินากะ ส่งบอลพลาดทางริมเส้นฝั่งขวา ในจังหวะที่ฟูลแบ็ค มิกิ ยามาเนะ เติมขึ้นมาช่วยเกมบุกพอดี เลยโดนแทงบอลทะลุแนวรับโป้งเดียว
ไม่มีกองกลางตัวตัดเกมคอยช่วยชะลอบอล เพราะใช้ เคนโตะ ทาจิบานาดะ และ คาซูกิ โคซูกะ เล่นแบบ บ็อกซ์ ทู บ็อกซ์ โอเวอร์โหลดผู้เล่นในตำแหน่งแนวรุกเต็มที่ จังหวะขึ้นเลยลงไม่ทันเป็นธรรมดา หากเสียบอลกลางทาง
แล้วก็เป็นทาง คาสเปอร์ ยังเคอร์ กองหน้าตัวเป้าของทีมเยือน ได้หลุดเข้าไปยิงง่ายๆ ด้วยซ้ายเข้าประตูไปให้ นาโกย่า แกรมปั่ส ออกนำไปก่อน 1-0 เล่นเอาผู้เล่นของ ฟรอนตาเล่ เสียกระบวนไปพักใหญ่
รูปเกมของ ฟรอนต่าเล่ ของ โอนิกิ ยังคงเป็นเหมือนเคยๆ เน้นการต่อบอลทำชิ่ง ต้องรอเข้าระยะเน้นๆ ถึงจะส่องประตู แล้วเมื่อเล่นมากจังหวะไป ก็เสี่ยงที่จะเสียบอลกลางทาง ซึ่งเกมนี้ก็เป็นเช่นนั้นบ่อยครั้ง เพราะอาคันตุกะรู้วิธีรับมือ วางผู้เล่นแพ็คเกมรับลึก ตั้งแต่หน้าเขตโทษ ไปจนถึงในเขตโทษ รอชิงบอลแล้วสวนเน้นๆ
เมื่อตัวเลือกในการจ่ายบอลไม่พอ ฟรอนตาเล่ ก็โอเวอร์โหลดผู้เล่นแนวรุกเพิ่ม เหลือทิ้งไว้แค่เซนเตอร์แบ็คสองคน ปรับตำแหน่งให้ อิเอนากะ ลงมาเป็นเพลย์เมคเกอร์ คอยรับบอลออกบอล สลับกับ วากิซากะ ที่ต้องสอดเข้าเขตโทษเข้าไปลุ้นทำประตูจากทางฝั่งซ้าย แทนที่ มิยาชิโระ ที่ขึ้นไปเล่นหน้าเป้า
แล้วสุดท้ายแผลเดิมๆ จากการเสียบอลกลางทาง กลางหน้าแผงหลังสองคนไม่สามารถตัดฟาล์วได้อยู่หมัดในระยะกลางสนาม เลยไปเสียฟรีคิกในพื้นที่อันตรายหน้าเขตโทษช่วงทดเวลาบาดเจ็บ แล้วก็เป็นทาง มาเตอุส ที่สังหารด้วยซ้ายเข้าเสาแรกไป ให้ทาง นาโกย่า แกรมปัส ออกนำห่าง 2-0
ก่อนหน้านี้ เจเซียล เซนเตอร์แบ็คตัวหลัก เคยกล่าวถึงรูปแบบการเล่นของ ฟรอนตาเล่ ที่ทำให้เกิดความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าไว้ว่า
“มีภารกิจของผู้เล่นที่ท้าทาย มันจะเข้าใจและทำได้ถูกต้องมากกว่า หากเรียนรู้จากความผิดพลาดในการเล่นที่ไม่ได้ตั้งใจให้มันเกิดขึ้น”
“ผู้เล่นหลายคนพยายามทำมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าจะถึงจุดที่โค้ชพึงพอใจ”
ซึ่งจากการโดนทิ้งห่างไปถึงสองลูกในครึ่งแรก ไม่รู้ว่า โอนิกิ จะสาสมใจกับสิ่งที่เขาดื้อด้าน พยายามพิสูจน์แนวทางของตัวเองหรือยัง?
การเปลี่ยนตัวที่น่าสงสัย
เกมในครึ่งหลังยังคงเหมือนการฉายหนังซ้ำแบบน่าเบื่อ นาโกย่า หวังรักษาสกอร์ที่นำอยู่สองลูก ด้วยการแพ็คเกมรับให้เหนียวแน่นเต็มระบบ รอชิงจังหวะตัดบอล ทิ้งยาวไปให้แนวรุกไม่กี่คน โจมตีเจ้าบ้านด้วยความสามารถเฉพาะตัว
ส่วนทาง ฟรอนตาเล่ พอเจอแพ็คแน่น ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมาก ต่อบอล ครองบอล ป้อไปเรื่อยๆ พยายามหาช่องเข้าทำที่มันตันไปหมด แล้วมาประสบความสำเร็จ จากการฉวยโอกาสพลิกยิงเร็วของ มิยาชิโระ ตรงแถวหัวกะโหลกด้วยเท้าซ้าย ไล่มาเป็น 1-2
ถ้ามองกันจริงๆ แล้วจังหวะนี้ค่อนข้างมั่วซั่วอยู่พอควร เพราะทาง อิเอนากะ ที่เป็นคนเริ่มสร้างสรรค์โอกาสนี้ด้วยการจ่ายบอลทำชิ่ง พุ่งเข้าไปจะแย่งยิงด้วยเท้าขวาเช่นกัน แต่ดีที่ไม่โดนบอล ไม่งั้นอาจได้เห็น “ทวิน ช็อต” เหมือนในการ์ตูน กัปตันซึบาสะ เป็นแน่
พอเห็นว่าสถานการณ์เริ่มมีลุ้น โอนิกิ ก็จัดการเปลี่ยนแนวรุกลงมาเติมความสด โดยนาทีที่ 63 เลือก ไดยะ โทโนะ และ ชิน ยามาดะ ลงมาแทน เออินากะ และ โคซูกะ จนทีมของเขาครองเกมได้มากขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากนั้นมาถึงนาทีที่ 74 ก็เปลี่ยนเอาพี่ใหญ่ อิเอนากะ และแบ็คซ้าย เคียวเฮย์ โนโบริซาโตะ ออก แล้วส่ง ชูเอา ชมิดท์ กองกลางเชิงรับ และ อาซาฮี ซาซากิ ฟูลแบ็คอีกรายลงมา ไม่ใช่คิวของ ชนาธิป ทั้งที่ทีมกำลังต้องการตัวออกบอลคมๆ
เมื่อเกมตึงขึ้นเรื่อยๆ ถึงนาทีที่ 83 แต่ทาง ฟรอนตาเล่ ไม่ได้ประตูตีเสมอสักที โอนิกิ เลยทิ้งไพ่ตายใบสุดท้าย ถอดเอา วากิซากะ ที่หมดมุขออก แล้วส่งทาง ทัตซึกิ เซโกะ ลงมาทำหน้าที่แทน กลายเป็นว่าโควต้าสำรองถูกใช้ครบ 5 คน แต่ไม่ถึงคิวของ เจ แล้วผลก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ 1-2
มองตามหน้าเสื่อแล้ว โอนิกิ มีความแปลกในการเลือกใช้งานนักเตะอยู่ไม่น้อย เพราะเกมที่ขาดตัวลากตะลุยกินตัวดีๆ รวมไปถึงมีความสามารถในการออกบอลได้อย่าง ชนาธิป น่าจะเป็นตัวเลือกอย่างน้อย 1 จาก 5 ตัวสำรองที่ถูกส่งลงสนาม
แต่ในเมื่อการตัดสินใจสุดท้ายของ โอนิกิ ออกมาเป็นเช่นนั้น จั่วไพ่แล้วไม่ลงล็อค ไม่ได้ประตูตีเสมอ เก็บไม่ได้สักแต้มในรัง คราวนี้แฟนบอลฟรอนตาเล่ที่เป็นชาวเน็ต คงไม่มีทางหาเรื่องพุ่งเป้ามาที่ ชนาธิป ได้เหมือนเกมก่อน ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีเรื่องเดียวของแฟนบอลไทย ที่เบาใจได้หลังรับชมเกมนี้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
การชมเกมถ่ายทอดสด
เรื่องที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจ
ดื้อไม่เปลี่ยน : เมื่อ ฟรอนตาเล่ ใช้งาน ชนาธิป ในสภาพที่ทีมยุ่งเหยิง
โบลินกิ & ดุมบูย่า : คู่หูอันตรายที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นคู่แข่งแย่งตัวจริง
ยูสุเกะ มารุฮาชิ : ตำนานเซเรโซของดีที่ซ่อนในช่วงเวลาย่ำแย่ของ บีจี
จากดาวรุ่ง T3 : ธีรศักดิ์ เผยพิมาย วันเดอร์คิดท่าเรือฯ ผู้แจ้งเกิดสำเร็จเพียง 1 เดียว
ปรเมศย์ อาจวิไล : ฟอร์มเปรี้ยงเข้าตาเพราะของดีที่ได้มาจาก "โค้ชมาริโอ"
ข่าวและบทความล่าสุด