สิ่งสำคัญคือ “ภาพรวม” : เลือกลูกรัก(ในสายตาแฟนบอล)อย่างไรให้เฮ้ดโค้ชไม่โดนด่า ?
มันเป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ ที่แฟนบอลจะโมโหโกรธากับผลงานของทีมรักที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในเกมการแข่งขัน และหนึ่งในวลีคลาสสิกคือ “โค้ชเลือกแต่ลูกรัก” ที่มักจะตามมาติด ๆ หลังผลที่น่าผิดหวัง
จริงแล้วคำว่าลูกรักนี้มันมีจริง ๆ หรือไม่ ? มันเกิดขึ้นจากอะไร และถ้าจะทำให้ลูกรักชนะใจคนทั้งประเทศมีวิธีแบบไหน ? หาคำตอบที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ทำไมถึงเกิดวลี "ลูกรัก"
เกมฟุตบอลทีมชาติคือเกมที่นาน ๆ ครั้งจะรวมตัวมาแข่งกันสักที หากถามว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้นักเตะคนหนึ่งติดทีมชาติได้ แน่นอนว่าชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า "ทีมชาติ" พวกเขาต้องเป็นนักเตะที่มีผลงานดีที่สุดในประเทศในตำแหน่งของพวกเขา
อย่างไรก็ตามเรื่องราวเหล่านี้มันจะลึกลับซับซ้อนกันสักหน่อย เพราะการทำงานในรูปแบบของสโมสรและทีมชาตินั้นมีบริบทที่แตกต่างกันมาก เพราะในระดับสโมสรแต่ละทีมจะทำงานกันทุกวัน ได้เห็นวิธีการเล่น วิธีการซ้อม และวิธีการใช้ชีวิตตลอดทั้งเดือนทั้งปี ดังนั้นความต่อเนื่องต่าง ๆ ที่เห็นกันทุกเมื่อเชื่อวันทำให้โค้ชแต่ละสโมสรตัดสินใจได้ไม่ยาก ในการจะเลือกใช้งานนักเตะแต่ละคน ภายในตัวเลือกในทีมสควอดราว 22-30 คนโดยประมาณ
แต่กับโค้ชทีมชาติ ความยากพวกเขาพวกเขาการต้องเลือกนักเตะจากทั่วประเทศ พวกเขาอาจจะมีนักเตะในลิสต์เป็นร้อย ๆ คน และนอกจากจำนวนคนที่มากแล้ว ยังมีระยะเวลาในการเตรียมทีมที่จำกัดมาก ๆ ในแต่ละเกมที่ลงเเข่งขัน ยกตัวอย่างในยุโรปที่เล่นเกมตามปฎิทินฟีฟ่า เดย์ หลังจากที่นักเตะลงเกมกับสโมสรเสร็จในวันอาทิตย์ พวกเขาจะได้พักราว 2 วัน จากนั้น และไปรวมตัวในแคมป์ทีมชาติราววันอังคารหรือวันพุธ (อ้างอิงจากทีมชาติอังกฤษ) จากนั้นพวกเขาก็จะเริ่มทำการลงซ้อม และทำความเข้าใจด้านแท็คติก และพร้อมลงเเข่งขันในสุดสัปดาห์ทันที
จะเห็นได้ว่าโค้ชทีมชาติจะมีเวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้นในการจับปูใส่กระด้งเอานักเตะจากสโมสรต่าง ๆ มารวมเป็นทีมชาติ ขณะที่ในทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ ๆ อย่างฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา ทีมชาติส่วนใหญ่ก็เรียกนักเตะเข้าเเคมป์เก็บตัวก่อนฟุตบอลโลกเริ่มไม่เกิน 3 สัปดาห์ ... นี่คือรายละเอียดที่แทบไม่ต้องลงลึกก็น่าจะพอทราบได้เเล้วว่า ทำไมบางครั้งเฮ้ดโค้ชในระดับทีมชาติ จึงมักจะเรียกตัวนักเตะที่ขัดใจแฟนบอลอยู่เสมอ จนเกิดกรณีทีเรียกว่า "ลูกรัก" ขึ้นมา
ลูกรัก(ในสายตาแฟนบอล) เกิดขึ้นจากข้อจำกัดตามที่ได้กล่าวมา การเตรียมทีม การเก็บตัว และการแข่งขันที่เน้นผลพลาดไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้โค้ชไม่กล้าเสี่ยงที่จะลองทีม เปลี่ยนนักเตะใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย หรือแม้กระทั่งส่งดาวรุ่งอายุ 17-18 ปี ออกสตาร์ทเหมือนกับเกมในสโมสร
มันเป็นธรรมชาติในการทำงานของมนุษย์แทบทุกคน ในวันที่คุณได้รับสิทธิ์ขาดมอบงานชิ้นสำคัญที่พลาดไม่ได้ให้ลูกน้องของคุณสักคนรับมอบหมาย ทุกคนก็มักจะเลือกคนที่รู้มือ รู้ใจกันเป็นอย่างดีไว้ก่อน เเม้ลูกน้องคนนั้นพักหลัง ๆ จะทำตัวขี้เกียจไปบ้าง แต่คุณก็ยังเชื่อใจว่าถ้าถึงเวลาคอขาดบาดตาย พวกเขาก็ยังมีศักยภาพพอที่รับผิดชอบงานที่มอบหมายให้ได้
ในทางเดียวกันมันเป็นเรื่องยากมากที่คุณจะมอบงานชิ้นสำคัญให้พนักงานอีกคนที่คุณแทบไม่รู้จัก และไม่เคยทำงานร่วมกับเขาเลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้เขาจะได้รับการยกย่องจากที่อื่นว่า "คนนี้เก่งจริง ๆ" แต่คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไอ้คำว่าเก่งสำหรับคนอื่น ๆ คือมาตรฐานเดียวกับที่คุณได้ตั้งเอาไว้ .... การเลือกในลักษณะนี้คือการเพลย์เซฟของเหล่ากุนซือทีมชาติที่มีให้เห็นมาแทบทุกยุคทุกสมัย กุนซือระดับโลกที่คุมทีมชาติโดนวิจารณ์ว่า "เลือกลูกรัก" มาเเล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ กับ โอลิวิเยร์ ชิรูด์ ในช่วงฟุตบอลโลก 2018, มานูเอล นอยเออร์ กับทีมชาติเยอรมัน ในยุค โยอาคิม เลิฟ ที่มีสื่อเชียร์ให้ มาร์ค อังเดร แตร์ สเตเก้น ขึ้นมาเป็นมือ 1 แทนที่เป็นต้น
และที่ชัดสุด ๆ เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ในฟุตบอลโลก 2022 แกเรธ เซาธ์เกต ถูกตั้งแง่ว่าเขามี แฮร์รี่ แม็คไกวร์ เป็นลูกรัก เพราะเรียกติดทีมชาติไปฟุตบอลโลกทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวยังเจ็บกับสโมสรและแทบไม่ได้ลงเล่นเลยด้วยซ้ำ
ตามที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น การจะถูกเรียกว่าลูกรักนั้นไม่แปลก แล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิดสำหรับโค้ชและนักเตะด้วย แต่ประเด็นสำคัญคือเฮ้ดโค้ชต้องรู้จักศักยภาพของลูกรักของพวกเขาเป็นอย่างดี และรู้ถึงวิธีใช้ว่าจะทำให้ลูกรักเหล่านี้มีประโยชน์ต่อทีมที่สุดได้อย่างไร ... ซึ่งเรื่องนี้ เซาธ์เกต ทำได้สำเร็จในฟุตบอลโลก เหตุผลที่เขาลบคำว่าลูกรักได้ก็คือเขาสามารถตีโจทย์ที่มีได้แตกฉาน กลายเป็นผลงานของ แม็คไกวร์ ที่ตอกหน้าทุกคำวิจารณ์โดยที่ เซาธ์เกต แทบไม่ต้องออกมาสัมภาษณ์อะไรเลยด้วยซ้ำ
รู้วิธีใช้ = ไม่ใช่ลูกรัก
กรณีของ แม็คไกวร์ กับ เซาธ์เกต นั้นสมควรกับการนำมายกเป็นตัวอย่างอย่างยิ่ง เพราะฟอร์มของ แม็คไกวร์ ก่อนฟุตบอลโลกกับ แมนฯ ยูไนเต็ด กับฟอร์มในฟุตบอลโลกกับทีมชาติอังกฤษ แตกต่างกันราวฟ้ากับเหวเลยทีเดียว
“ทำไมเราถึงเลือกเขา? เพราะเขาเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ทำให้เรามีโอกาสชนะมากที่สุด” เซาธ์เกต ตอบแค่นี้หลังถูกสื่อรุมถามเรื่องแม็คไกวร์ก่อนศึกฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้น
นอกเหนือจากแบกหน้ารับ แจกแจงที่มาเพื่อให้ได้ใจนักเตะเเล้ว สิ่งที่ เหล่าโค้ชควรทำในการใช้ลูกรักของพวกเขาก็คือ คือพวกเขารู้ว่าลูกรักของพวกเขาจะเป็นประโยชน์ให้ทีม ลงเล่นแล้วช่วยแบกทีมได้ ไม่ใช่เป็นภาระให้คนอื่นมาแบก
คาร์ล อันก้า นักข่าวของ The Athletic วิเคราะห์เรื่องนี้ว่า "เซาธ์เกต รู้ชัดว่าวิธีการเล่นของทีมชาติอังกฤษนั้นเหมาะกับการมีเขาอยู่ในทีม แม็คไกวร์ เป็นคนที่ดักเก็บจังหวะ 2 ได้ดีกว่าการเป็นคนชนเอง ที่ ยูไนเต็ด ในยุคก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยมีนักเตะกองกลางตัวรับชั้นยอดเลย แต่ ยูไนเต็ด กลับเป็นทีมที่ให้แนวรับยืนอยู่แถวเส้นครึ่งสนาม ดังนั้นภาระทั้งหมดจึงตกไปอยู่กับ แม็คไกวร์ ... เขาต้องวิ่งออกจากพื้นที่เกมรับของเขาอยู่บ่อย ๆ"
แต่ที่อังกฤษนั้นอย่างที่เราได้เห็นกัน ดีแคลน ไรซ์ ยืนปักหลักหน้ากองหลังคอยตัดเกมปัดกวาด ไหนจะมี จอร์เเดน เฮนเดอร์สัน เข้าช่วยวิ่งปะทะ หาพื้นที่รับบอลต่อจากกองหลัง ดังนั้น แม็คไกวร์ ที่เป็นคนตัวใหญ่แข็งแรงจึงได้ใช้จุดแข็งของตัวเองอย่างเต็มที่ในเวลาที่เล่นให้ทีมชาติอังกฤษ นอกจากนี้อังกฤษยังเป็นทีมที่เน้นการครองบอลมากกว่าการเล่นแบบฉาบฉวยรวดเร็ว ซึ่งนั่นเป็นวิธีการเล่นที่ทำให้ เซาธ์เกต กล้าเลือกแม็คไกวร์ลงสนามสวนทางกระแสแฟนบอล
และผลลัพธ์ที่ออกมาคือแม็คไกวร์ก็เล่นได้ดีจนสื่อบางเจ้า อาทิ เจ้าใหญ่อย่าง BBC ยังจัดให้เขาเป็นหนึ่งในนักเตะที่ติดทีมยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเม้นต์เลยด้วยซ้ำ .... แม้แต่สื่ออังกฤษที่รุมสับแม็คไกวร์ ก่อนทัวร์นาเม้นต์เริ่ม ยังต้องกล่าวคำชม นี่คือเหตุผลที่ว่า การเลือกลูกรักที่ดีที่สุด คือการเลือกพวกเขาโดยมีเป้าหมาย วิธีใช้ และเข้าใจขอบเขตการทำงานของนักเตะเหล่านี้อย่างชัดเจน ใช้จุดเเข็งของพวกเขามาเล่น
เพราะโค้ชคือคนที่ต้องรับผิดชอบผลการแข่งขัน ดังนั้นทุกอย่างที่พวกเขาเลือกย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย ที่สุดเเล้วคำว่าลูกรักจะหมดไปหากพวกเขาสามารถตอบคำถามจากแฟนบอลได้ว่า "เรียกมาทำไม" ... นี่เป็นคำตอบง่าย ๆ ที่โค้ชบางคนไม่สามารถตอบได้ และต้องตกเป็นจำเลยสังคมจากแฟนบอลว่า "เป็นโค้ชที่เลือกแต่ลูกรัก" ไปโดยปริยาย
ย้อนกลับมามองทีมชาติไทย
คำวิจารณ์ไม่สำคัญอะไรเลยตราบใดที่ฟุตบอลชนะ ... แต่ถ้าวันไหนแพ้เกิดแพ้ หรือผลลัพธ์ไม่ได้เป็นอย่างที่ขึ้นมา ความกดดัน การวิจารณ์ และการตั้งคำถามก็จะเกิด นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมงานโค้ชจึงเป็นงานที่เครียดที่สุดงานหนึ่ง
สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นกับ มาโน่ โพลกิ้ง กุนซือทีมชาติไทย หลังจากพาทีมบุกเยือน มาเลเซีย และแพ้กลับมาด้วยสกอร์ 0-1 ... ฟุตบอลมีแพ้มีชนะ แต่ในระดับอาเซียน แฟนฟุตบอลไทยมักวิจารณ์อย่างดุเดือดเสมอหากวันไหนทีมชาติไทยเกิดแพ้ขึ้นมา ไม่ว่าโค้ชคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม
ในส่วนของ มาโน่ นั้นก็หนีไม่พ้นคำวิจารณ์ว่า "เลือกลูกรัก" ลงสนาม หรือเลือกนักเตะที่ไม่ได้มีผลงานโดดเด่นกับสโมสร เราไม่อาจจะรู้เหตุผลลึก ๆ ได้ว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจอย่างนั้น แต่ด้วยความกดดันในตำแหน่งนี้ บวกกับทัวร์นาเม้นต์ที่พลาดไม่ได้อย่าง AFF กลายเป็นเหตุผลที่ มาโน่ เพลย์เซฟเลือกนักเตะที่คุ้นเคยเอาไว้ก่อน เหมือนกับโค้ชทุกคนที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับคำถามเรื่อง โค้ช และ นักเตะลูกรักในทีมชาติไทย ในอดีตก็เคยมีมาเเล้วอาทิ วิลฟรีด เชเฟอร์ กับ สมปอง สอเหลบ, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง กับ มงคล ทศไกร และ เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์, มิโลวาน ราเยวัช กับ สิโรจน์ ฉัตรทอง เป็นต้น จะเห็นได้ว่านี่คือเรื่องธรรมดาที่โค้ชทุกคนต้องเจอ
แต่สิ่งที่แตกต่างคือมาโน่ยังตอบคำถามไม่ได้ว่า "เรียกนักเตะคนนี้มาเพื่ออะไร และมีวิธีการเล่นที่ตอบโจทย์กับสไตล์ของพวกเขาหรือไม่" ซึ่งหากจะให้ว่ากันตรง ๆ ใน AFF2022 นี้ก็ยังไม่มีนักเตะไทยคนไหนที่เด่นทุกนัดระดับแบกทีมได้เหมือนนักเตะซีเนียร์ของทีมอย่าง ธีรศิลป์ แดงดา และ ธีราทร บุญมาทัน เลยด้วยซ้ำ
ดังนั้นเราอาจจะพูดได้ว่าจริง ๆ แล้วคำว่า "นักเตะลูกรัก" อาจะเป็นวลีที่แฟนบอลแค่คิดไปเองและใช้มาโจมตีในยามที่ทีมมีผลงานได้ดั่งใจ เพราะถ้าเรามองภาพให้กว้างกว่านั้น เชื่อว่าหลายคนก็ยังตอบไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าทีมชาติไทยชุดนี้มีรูปแบบการเล่นหลัก ๆ คือวิธีการไหน เป็นบอลคอนโทรล บอลไดเร็กต์ บอลตั้งรับแล้วสวนกลับ ... หรือวิธีการใด ๆ ก็ตาม
และเมื่อภาพรวมของทีมชาติไทยยังไม่ชัดนักเตะส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเอาจุดเด่นออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะเพราะวิธีการเล่นไม่ชัดเจน เราจะเห็นได้ในหลาย ๆ เกมว่าไทยมักจะเป็นฝ่ายครองบอลได้เยอะกว่าคู่แข่ง แต่ปัญหาคือการสร้างโอกาสในพื้นที่สุดท้ายที่เจาะเข้าทำได้ไม่มากนัก
"ตอนนี้ประสิทธิภาพทีมมันยังไม่ได้ พอประสิทธิภาพยังไม่ได้เราก็เลยตีโซนเกมรับคู่แข่งไม่ผ่าน เราก็เลยได้เห็นภาพที่ทีมชาติไทยต่อบอลกันไป-มา ปริมาณในการต่อบอลเยอะ แต่ปริมาณบอลทะลุทะลวงมันน้อยมาก" โค้ชเบ๊ ไพโรจน์ บวรวัฒนดิลก พูดถึงวิธีการเล่นของทีมชาติไทย ในเกมรอบแบ่งกลุ่มนัดสุดท้ายที่เสมอกับ อินโดนีเซีย 1-1
แน่นอนว่าโค้ชแต่ละคนก็มีนักเตะในแบบที่พวกเขาชอบ ไม่ว่าจะเรื่องทักษะ, สไตล์, ร่างกาย หรือแม้แต่ทัศนคติ พวกเขาต่างมั่นใจในนักเตะที่ตัวเองเลือก เเละเอาตำแหน่งของตัวเองมาเป็นเดิมพัน
ไม่มีโค้ชคนไหนหนีคำว่าลูกรักพ้นแน่นอน โดยเฉพาะในวันที่พวกเขาทำทีมแพ้ แต่เรื่องเหล่านี้สามารถลดความเสี่ยงลงได้ เช่นการมีระบบทีมที่ชัดเจน และแบ่งหน้าที่ของนักเตะแต่ละคนให้ชัด คนไหนทำอะไร มีหน้าที่รับผิดชอบตรงไหนบ้าง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพนั่นคือฟุตบอลของ ลิโอเนล สคาโลนี่ ที่ทำทีมชาติ อาร์เจนติน่า ได้เเชมป์ โคปา อเมริกา และ ฟุตบอลโลก ที่วิธีการเล่นของนักเตะเเต่ละคนชัดเจน คนไหนเป็นมดงาน คนไหนเป็นคนสร้างสรรค์ คนไหนเป็นคนเล่นจังหวะชี้เป็นชี้ตาย
นิโคลัส โอตาเมนดี้ ที่ไม่ได้อยู่ในเกมระดับสูงนักในช่วง 2-3 ปีหลัง ดีกว่า ลิซานโดร มาร์ติเนซ ที่กำลังขึ้นหม้อกับ แมนฯ ยูไนเต็ด ตรงไหน ? ก่อนทัวร์นาเม้นต์เริ่มไม่มีใครตอบได้ แต่พอถึงวันที่แข่งจริง โอตาเมนดี้ ไล่เก็บคู่แข่งเป็นว่าเล่นด้วยร่างกายที่เเข็งแรง และมีคุณสมบัติเป็นผู้นำในเกมรับที่มากกว่า ทำให้เขาสามารถเข้ามาเป็นผู้บัญชาการในแนวรับ และเป็นหัวใจสำคัญของทีมแชมป์โลก
ฮูเลี่ยน อัลวาเรซ ที่เป็นตัวสำรองที่ แมนฯ ซิตี้ ทำไมถึงได้ลงเล่นก่อนตัวจบสกอร์ที่แถวหน้าของกัลโช่ เซเรีย อา อย่าง เลาตาโร มาร์ติเนซ ? คำตอบก็อย่างที่เราได้เห็นเพราะ อัลวาเรซ หนุ่มกว่า ขยันวิ่งหาช่องเพื่อเปิดทางเลือกให้ ลิโอเนล เมสซี่ ผ่านบอลสร้างเกมรุกได้ดีกว่า ไหนจะเรื่องการวิ่งเพรสซิ่งที่ อัลวาเรซ ไปสุดทุกลูก กดดันคู่แข่งทุกจังหวะ ... คำตอบของคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นในสนามทั้งนั้น ไม่ต้องไปสืบเสาะค้นข้อมูลจากไหนเลยด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้นการเลือกนักเตะให้ตรงกับวิธีการเล่น คือสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการเป็นโค้ช ถ้าคุณใช้นักเตะผิดไปจากสิ่งที่เขาถนัดผลงานก็จะออกมาดูไม่ดี และถ้ายังตะบี้ตะบันใช้ไปเรื่อย ๆ ผลร้ายก็ส่งผลถึงนักเตะทำให้เสียความมั่นใจลงเรื่อย ๆ และสะท้อนมายังภาพรวมของทีมในท้ายที่สุด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
Inverted Wing Back : ตำแหน่งที่ทำให้ ธีราทร เล่นกองกลางได้เนียนตา
เบรนเเดน กัน : แข้งลูกครึ่งขวัญใจแฟน มาเลเซีย ผู้เอาชนะมะเร็งและคืนสู่สังเวียนลูกหนัง
ปัญหาจริงหรือแค่อ้าง ? : เปิดตำนานหญ้าใบใหญ่วลีคลาสสิกยามไทย เยือน มาเลเซีย
แหล่งอ้างอิง
https://theathletic.com/3634871/2022/10/19/harry-maguire-possible-england-replacements/
https://www.goal.com/en/news/nicolas-otamendi-argentina-other-superman-world-cup-best-defender/bltc8671ba7e8e4efa2
https://theathletic.com/3442067/2022/12/13/julian-alvarez-argentina-world-cup/
ข่าวและบทความล่าสุด
RELATED BY AUTHOR