เจลีกไม่สนุก ? : สิ่งที่แฝงในความน่าเบื่อที่ทำให้ทีมยุโรปจับตาและซื้อแข้งเจลีกทุกปี

แม้ว่าเจลีก จะเป็นลีกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นลีกเบอร์ 1 ของเอเชีย แต่หลายคน โดยเฉพาะแฟนบอลชาวไทย กลับมองว่าการเล่นของลีกแห่งนี้ไม่ค่อยไม่ค่อยเร้าใจมากนัก
ซึ่งมันก็ยืนยันได้จากสถิติการทำประตูเฉลี่ยของเจลีก (2.51 ประตู/นัด) ในฤดูกาล 2022 ที่น้อยกว่าลีกใหญ่ในยุโรป ทั้ง พรีเมียร์ลีก (2.8 ประตู/นัด) และ บุนเดสลีกา (3.12 ประตู/นัด) หรือแม้กระทั่งไทยลีก 1 (2.56 ประตู/นัด)
อย่างไรก็ดี ทั้งที่เป็นเช่นนี้ แต่เจลีกกลับเป็นลีกที่สามารถส่งออกนักเตะไปเล่นในยุโรปอย่างคับคั่ง เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve
สไตล์ไม่เร้าใจ
หลายปีที่ผ่านมา เจลีก ลีกอาชีพญี่ปุ่น ได้รับความสนใจจากแฟนบอลชาวไทยมากขึ้น จากการที่แข้งทีมชาติไทย พาเหรดไปค้าแข้งอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีราธร บุญมาทัน, ธีรศิลป์ แดงดา หรือล่าสุดก็ สุภโชค สารชาติ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่หลายคนพูดตรงกันก็คือ แม้ว่าลีกแห่งนี้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในลีกแถวหน้าของเอเชีย แต่สไตล์การเล่นนั้นชวนง่วง ทั้งการขึ้นบอลที่ค่อนข้างช้า เน้นการพาสซิ่งเป็นหลัก และไม่ค่อยมีจังหวะฉาบฉวย

ทำให้บ่อยครั้งที่ผู้ชมจะเห็นทีมเจลีก เคาะบอลไปมาจนถึงหน้ากรอบเขตโทษคู่แข่ง แต่ไม่มีจังหวะเข้าทำ และจบลงด้วยการคืนหลังไปบิ้วท์อัพใหม่จากผู้รักษาประตู
ทั้งนี้ มันไม่ใช่แค่ความรู้สึก เมื่อความเป็นจริง เจลีก คือลีกที่มีอัตราการทำประตูที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับลีกอื่นในเอเชีย โดยสถิติฤดูกาล 2022 ระบุว่าพวกเขามีอัตราการทำประตูเฉลี่ยแค่เพียง 2.51 ประตูต่อนัด ซึ่งน้อยกว่า ไชนีสซูเปอร์ลีก (2.86 ประตู/นัด), ซาอุดิโปรลีก (2.65 ประตู/นัด) หรือแม้กระทั่ง ไทยลีก 1 (2.56 ประตู/นัด)
นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับลีกใหญ่ในยุโรปในฤดูกาล 2021-2022 ยิ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เมื่อเจลีกตามหลังทั้งพรีเมียร์ลีก (2.8 ประตู/นัด), บุนเดสลีกา (3.12 ประตู/นัด), กัลโช เซเรียอา (2.87 ประตู/นัด), และลีกเอิง (2.81 ประตู/นัด) โดยมีเพียงลาลีกาเท่านั้นที่มีสถิติแย่กว่าพวกเขา (2.50 ประตู/นัด)
และหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เจลีก มีสไตล์การเล่นแบบนี้ คือระบบสังคมกลุ่มของพวกเขา ที่ทำให้คนญี่ปุ่นยึดมั่นในแบบแผน อยู่ในกรอบอย่างเคร่งครัด และเล่นตามระบบที่โค้ชสั่งอย่างอดทน และไม่ค่อยตุกติก แม้ว่าบางครั้งมันจะกลายเป็นดาบสองคมแก่พวกเขาก็ตาม
“ในช่วงเวลานั้น เวลาเราพูดถึงฟุตบอลญี่ปุ่น มักจะมีคำพูดว่าเราโง่และซื่อเกินไป” ฟิลิปส์ ทรุสซิเยร์ ที่เคยคุมทีมชาติญี่ปุ่นในช่วงปี 1998-2002 ย้อนความหลังกับ Football Asian
“ตามกฎของฟีฟ่าบอกว่าเราไม่ควรสัมผัสคู่ต่อสู้ที่มีบอล แต่ในยุโรป พวกเขาใช้ศอกกันโดยไม่สนใจอะไร แต่มันไม่เป็นแบบนั้นในญี่ปุ่น”
“ตอนที่ผมเตรียมทีมสำหรับฟุตบอลโลก ผมบอกผู้เล่นญี่ปุ่นให้ลืมกฎฟีฟ่าเวลาเจอทีมจากยุโรป กฎของฟีฟ่าทำให้คุณโง่ และคุณจะไม่ชนะ คู่ต่อสู้จะเหยียบเท้าเรา ทุบตีเรา ดึงเสื้อเราและยั่วยุเรา เราต้องเตรียมตัวเพื่อสิ่งนั้น”

ทว่า แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่เจลีก กลับเป็นลีกแถวหน้าของเอเชีย ที่สามารถส่งนักเตะไปเล่นในลีกระดับท็อปของยุโรปได้เป็นจำนวนมากในทุกปี โดยจากสถิติเมื่อฤดูกาล 2021-2022 พวกเขามีผู้เล่นอยู่ในอังกฤษ 5 คน เยอรมัน 54 คน สเปน 31 คน และฝรั่งเศส 7 คน
เพราะอะไร?

คุณสมบัติที่ฟุตบอลยุโรปถูกใจ
อันที่จริง นอกจากการติดนิสัยเล่นเป็นแบบแผนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เจลีกไม่เร้าใจก็คือการที่แต่ละทีมมีระดับคุณภาพที่ใกล้เคียงมากเกินไป พวกเขาไม่มีทีมเล็ก ไม่มีทีมใหญ่ ที่บางครั้งเราอาจจะเห็นทีมที่เคยคว้าแชมป์ ร่วงตกชั้นในซีซั่นต่อมา
ยิ่งไปกว่านั้น การที่แต่ละทีมมีรูปแบบการเล่นที่เกือบจะเหมือนกันทั้งลีก ไม่ว่าจะเป็นระบบกองหลัง 3 คน หรือเน้นการจ่ายบอลสั้น หรือผู้เล่นที่สไตล์คล้ายกันในแต่ละตำแหน่ง ยังทำให้เจลีก ดูไม่สนุก เมื่อเทียบกับลีกอื่นที่มีความหลากหลายมากว่า

อย่างไรก็ดี มันกลับเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้เล่นญี่ปุ่น ได้ไปเล่นในยุโรปอย่างต่อเนื่อง เพราะความซ้ำซากจำเจเหล่านี้ทำให้พวกเขามีพื้นฐานที่ค่อนข้างแน่นกว่าผู้เล่นเอเชียชาติอื่น
ผู้เล่นชาวญี่ปุ่นพร้อมที่ก้มหน้าก้มตาฝึกฝนตามที่โค้ชสั่งโดยไม่ปริปากบ่น แม้ว่ารูปแบบการซ้อมจะน่าเบื่อแค่ไหน หรือจะให้เล่นในสนามอย่างไรก็ไม่เคยมีปัญหา เพียงแค่บัญชามาเท่านั้น
“จิตใจคืออันดับหนึ่ง” เทอร์รี เวสท์เลย์ อดีตผู้อำนวยการอคาเดมีเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของเจลีก กล่าวกับ The Athletic
“คุณจะได้นักเตะที่อยากจะเก่งขึ้น มีเทคนิคระดับสูง ถ้าผู้เล่นดาวรุ่งญี่ปุ่นถูกบอกให้ทำอะไร พวกเขาจะไม่เบื่อมัน พวกเขาจะฝึกฝนจริงๆ”

นอกจากจากนี้ พวกเขายังขึ้นชื่อในเรื่องการเสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวม ยอมทำงานที่ไม่สนุก เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ และพร้อมวิ่งสู้ฟัด จนสิ้นเสียงนกหวีดสุดท้าย
“พวกเขาถ่อมตัว และเป็นคนทำงานหนักที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มก่อน” มิชาเอล เฮาส์พี ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นกล่าวกับ Archy Sport
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือพยายามปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมต่างแดน ตั้งแต่ภาษา อาหารการกิน และความเป็นอยู่ แถมหลายคนยังเตรียมพร้อมตั้งแต่ยังค้าแข้งในญี่ปุ่น
“มันขึ้นอยู่กับแต่ละคน (จุนยะ) อิโต ตอนอยู่เกงค์ติดอยู่กับภาษาญี่ปุ่น แต่มิโตมะ (ตอนอยู่ยูนิโอน) ไม่นานก็พยายามพูดภาษาอังกฤษ และ(มูซาชิ) ซูซูกิ (เบียร์ช็อต) ก็พูดภาษาอังกฤษได้บ้างแล้ว ตอนที่เขามาอยู่กับ(รอยัล) อันเวิร์ป” เฮาส์พี ที่ทำหน้าที่เป็นเอเยนต์พาแข้งญี่ปุ่นมาเล่นในยุโรปกล่าวต่อ

“และมันมันเป็นเรื่องจริง ที่ชาวญี่ปุ่นเป็นคนทำงานหนัก พวกเขายังใจเย็น สุภาพ และคำนึงถึงส่วนรวมก่อนเรื่องส่วนตัว เป็นนักเตะในฝันของโค้ชฟุตบอล”
บวกกับนโยบายผลักดันผู้เล่นออกไปต่างประเทศของเจลีก ที่พยายามตั้งค่าตัวนักเตะให้ต่ำเข้าไว้ เพื่อดึงดูดสโมสรจากยุโรป ที่เห็นได้จากค่าตัวของ คาโอรุ มิโตมะ ตอนย้ายไป ไบรท์ตัน (2.5 ล้านปอนด์ หรือราว 105 ล้านบาท) น้อยกว่าค่าตัวของ ชนาธิป (465 ล้านเยน หรือราว 120 ล้านบาท) ตอนย้ายมาอยู่กับ คาวาซากิ ฟรอนทาเล เสียอีก
“สโมสรญี่ปุ่น ยังคงมีความภาคภูมิใจในการส่งนักเตะของพวกเขาไปยุโรป” แดน ออร์โลวิตซ์ นักข่าวจาก Japan Times กล่าวกับ AFP
“ถ้าสโมสรเจลีก คิดค่าตัวเท่ากับนักเตะในยุโรป สโมสร (ยุโรป) คงจะไม่มาซื้อนักเตะจากภูมิภาคนี้”

ด้วยเหตุจึงทำให้แม้ว่าสไตล์การเล่นของลีกอาชีพญี่ปุ่น จะดูไม่เร้าใจ แต่มันแฝงไปด้วยประสิทธิภาพ และทำให้โค้ชในยุโรปนิยมเลือกใช้ จนกลายเป็นอีกสินค้าส่งออกหลักของแดนอาทิตย์ไปเป็นที่เรียบร้อย
“สโมสรเยอรมันหลายทีมชื่นชมทัศนคติและความเป็นมืออาชีพทั้งในและนอกสนามของนักเตะญี่ปุ่น พวกเขาสามารถดูแลนักเตะเหล่านี้ได้ง่าย แถมพวกเขายังเล่นได้หลายตำแหน่ง ซึ่งช่วยให้โค้ชสามารถสร้างทีมได้” ทาเคฮิโกะ นาคามูระ ผู้จัดการ Lead Off Sports Marketing กล่าวกับ AP
แต่เหนือสิ่งอื่นใจ มันคือการสะท้อนให้เห็นการเสียสละตัวเอง เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าของพวกเขา เพราะจุดประสงค์เริ่มแรกในการก่อตั้งเจลีก คือการพัฒนานักเตะสู่ทีมชาติ และทำให้ทีมชาติญี่ปุ่นของพวกเขาแข็งแกร่งขึ้น
ดังนั้น ถึงผู้ชมต่างชาติจะบอกว่าลีกของพวกเขาเล่นไม่สนุก มันไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ตราบใดที่รูปแบบการเล่นแบบนี้ สามารถสร้างนักเตะที่มีคุณภาพขึ้นมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพราะสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ของชาติ ก็เป็นสิ่งสำคัญมากกว่า
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
หัวร้อน (เกือบ) = 0 : ทำไมแข้ง เจลีกโดนไล่ออกก็นิ่ง โดนเล่นหนักใส่ก็ยังเฉย ?
ตอนนั้นเป็นกระแส ตอนนี้เป็นไง ? : ตามรอยแข้งโอนสัญชาติจีนที่เคยฮือฮา
กี่นาทีก็มีความหมาย : สุภโชค กับโอกาสน้อยนิดที่วัดกันด้วยทัศนคติล้วน ๆ
แหล่งอ้างอิง
https://www.the42.ie/celtic-reap-rewards-of-japanese-market-on-and-off-the-pitch-5670866-Feb2022/
https://theathletic.com/3949714/2022/11/30/japan-football-west-ham/
https://www.foxsports.com/stories/soccer/germanys-bundesliga-takes-on-japanese-flavor
http://www.football-asian.com/news/articleView.html?idxno=34
ข่าวและบทความล่าสุด
MOST POPULAR

อดีตอันแสนเจ็บปวด : ทาเคฟุสะ คุโบะ โดนบูลลี่หนัก สมัยอยู่อคาเดมี่ของ บาร์เซโลนา

ชินจิ โอโนะ ฉลองวันเกิดอายุ 44 ปี ประกาศแขวนสตั๊ดหลังจบฤดูกาล

คาโอรุ มิโตมะ ไม่พอใจฟอร์มส่วนตัว แม้ทำ 3 ประตู 3 แอสซิสต์ จาก 6 เกม

นาโปลี ลงคลิป Tik Tok ล้อ โอซิมเฮน แต่นักเตะไม่ขำเตรียมฟ้องสโมสร

อิสสระ มอง ไทย มีโอกาสโค่น อิหร่าน เพราะไม่แกร่งเท่าเกาหลีใต้
