วันนี้ไล่ พรุ่งนี้เรียกมาใหม่ : เหตุใดลีกอิตาลีจึงชอบเรียกโค้ชเก่าที่ปลดไปกลับมาคุมอีก ?

วันนี้ไล่ พรุ่งนี้เรียกมาใหม่ : เหตุใดลีกอิตาลีจึงชอบเรียกโค้ชเก่าที่ปลดไปกลับมาคุมอีก ?
วิสูตร ดำหริ

ซาแลร์ติตานา สโมสรใน กัลโช่ เซเรีย อา กลายเป็นประเด็นในหน้าสื่อ เมื่อพวกเขาตัดสินใจเรียกกุนซือคนเก่า ดาวิดเด้ นิโคล่า กลับมาคุมอีกครั้ง ทั้งที่เพิ่งสั่งปลดไปได้แค่ 2 วัน

ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในลีกอื่น คงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดน่าดู แต่สำหรับลีกอิตาลีแล้ว มันกลายเป็นวังวนที่เกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ โค้ชบางคนกลับมาคุมทีมเดิม 3-4 รอบด้วยซ้ำ

แล้วเคยสงสัยไหมว่า ทำไมทีมลีกอิตาลีจึงชอบเรียกโค้ชที่ปลดไปแล้วกลับมาคุมทีมอีก หาคำตอบได้ที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

กฎหมายคุ้มครอง

ในอิตาลีมีกฎหมายที่ถูกตราขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของโค้ชในอุตสาหกรรมกีฬาของประเทศที่เรียกว่า “Exoneration” โดยระบุว่าต้นสังกัดไม่สามารถยกเลิกสัญญากับโค้ชได้ ตราบใดที่ยังไม่มีการละเมิดข้อตกลงในสัญญาเกิดขึ้น

ต่อให้โค้ชคนนั้นจะทำผลงานไม่ดี มีปัญหากับนักกีฬาและผู้บริหารของทีม หรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากแฟน ๆ จนถูกขับไล่ ต้นสังกัดก็ไม่มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญากับโค้ช ทำได้เพียงสั่งปลดจากตำแหน่ง แต่ยังต้องจ่ายค่าจ้างตามเดิม พูดง่าย ๆ คือเป็นการปลดแค่ในนาม แต่สัญญาของโค้ชยังอยู่

ลีกฟุตบอลอิตาลีก็อยู่ภายใต้กฎหมายข้อนี้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการที่สโมสรปลดโค้ช มันก็เป็นแค่การปลดจากหน้าที่ ไม่ได้หมายถึงการไล่โค้ชออกไปจริง ๆ โค้ชคนนั้นยังถือเป็นลูกจ้างของสโมสรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถเรียกกลับมาใช้งานได้ทุกเมื่อ

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีของ ลาซิโอ ที่พยายามขอยกเลิกสัญญากับ วลาดิเมียร์ เพตโควิช กุนซือของทีมเมื่อปี 2014 โดยอ้างว่า เพ็ตโควิช ละเมิดข้อตกลงในสัญญา ด้วยการแอบไปตกลงรับงานคุมทีมชาติสวิตเซอร์ล่วงหน้า แต่สุดท้ายพวกเขาถูกศาลตัดสินให้แพ้และเสียค่าปรับไปบานเบอะ

Photo : Eurosport

หากสโมสรต้องการยกเลิกสัญญาแบบตัดขาดกับโค้ช ก็ต้องมีหลักฐานแน่ชัดว่า โค้ชทำผิดข้อตกลงจริง ๆ ไม่อย่างนั้นก็จะมีบทลงเอยไม่ต่างจากลาซิโอ ทำให้สโมสรส่วนใหญ่เลือกที่จะจ่ายเงินค่าจ้างให้กับโค้ชที่ปลดไปมากกว่า

ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งที่นำไปสู่การยกเลิกสัญญาได้คือ สโมสรสามารถตกลงกับโค้ชด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก ๆ ในอิตาลี เหตุผลข้อแรกคือ โค้ชรู้อยู่แล้วว่าจะได้รับค่าจ้างแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามสัญญาที่เซ็นไว้ แล้วทำไมพวกเขาต้องยอมยกเลิกสัญญาก่อน และทิ้งเงินที่เหลือไปด้วยล่ะ

เหตุผลข้อสองคือ ลีกอิตาลีได้ทำข้อตกลงกับสหภาพโค้ชอิตาลีไว้ว่า โค้ชในลีกอิตาลีจะคุมทีมได้แค่ 1 ทีมต่อฤดูกาล ทางเลือกของพวกเขาก็จะเหลือแค่ในลีกต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทักษะภาษาอังกฤษในการสื่อสาร โอกาสได้งานจึงมีน้อยมาก ๆ พวกเขาจึงเลือกที่จะอยู่รับเงินค่าจ้างกับสโมสรที่ปลดอย่างน้อยจนจบฤดูกาล เพราะตอนนั้นจะไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ส่งผลต่อการพิจารณาอนาคตอีก

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ใช้แล้วโหดอยู่คนเดียว : คู่มือใช้การงาน โรเมลู ลูกากู ให้เต็มคาราเบลของ ‘คอนเต้’ | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
โรเมลู ลูกากู ทุบกระจกม้านั่งสำรองพังกระจายเเละร้องไห้ออกมาอย่างไม่อายใคร ในเกมที่ เบลเยียม ทำได้เเค่เสมอกับ โครเอเชีย เเละทำให้ต้องตกรอบฟุตบอลโลกตั้งเเต่รอบเเบ่งกลุ่ม เขารู้ตัวดีว่าการพลาดโอกาสทอง ส่งผลเสียหายต่อทีมเเค่ไหน เขาน่าจะเป็นกองหน้าที่มีฝันร้ายที่สุดในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ที่กาตาร์ เเ…

ข้อจำกัดทางการเงิน


อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงเกิดคำถามว่า ทีมอิตาลีจ่ายเงินชดเชยยกเลิกสัญญาโค้ชไม่ได้หรอ คำตอบคือทำได้ แต่ทีมที่มีศักยภาพทำได้แบบนี้ มีแค่ทีมใหญ่และเป็นส่วนน้อยในลีกอย่าง ยูเวนตุส, อินเตอร์ มิลาน, เอซี มิลาน หรือ โรมา ที่มีงบประมาณทำทีมสูงเท่านั้น

ส่วนทีมระดับกลางไปจนถึงระดับเล็กที่มีงบประมาณจำกัด จึงต้องเลือกวิธีปลดแค่ในนามแทน พวกเขาไม่มีงบมากพอที่จะจ่ายเงินฉีกสัญญาโค้ชเก่าและจ้างโค้ชใหม่หลาย ๆ คน เต็มที่ก็เปลี่ยนได้แค่ 2 คนในระหว่างฤดูกาล

ตัวอย่างเช่น เมื่อโค้ช A ทำผลงานได้ไม่ดี ทีมเหล่านี้ก็จะจ้างโค้ช B มาทำแทน แต่ถ้าโค้ช B ทำผลงานไม่กระเตื้องอีก พวกเขาก็จะไปตามโค้ช A ที่ยังคงรับค่าจ้างจากทีมตามสัญญา กลับเข้ามาทำใหม่เป็นวังวนอยู่แบบนี้

Photo : SerieD24

ขณะที่โค้ชก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะพวกเขายังมีสัญญาอยู่กับสโมสร ขืนปฏิเสธขึ้นมามีสิทธิ์ถูกฟ้องยกเลิกสัญญาทันที ทีนี้จากรับเงินค้าจ้างตามสัญญาไปแบบสบาย ๆ พวกเขาจะไม่ได้อะไรกลับมาแม้แต่ยูโรเดียว

ปรากฎการณ์เรียกโค้ชที่ปลดไปกลับมาคุมทีม จึงเกิดขึ้นแบบไม่รู้จักจบจักสิ้นในลีกอิตาลี เคสที่เด่นชัดเลยคือ ฟรานเชสโก้ กุยโดลิน โค้ชชาวอิตาเลี่ยน ที่เคยเข้า ๆ ออก ๆ จากตำแหน่งกุนซือของ ปาแลร์โม มากถึง 5 รอบ

เมื่อถูกสถานการณ์ทางการเงินบังคับ สโมสรจึงต้องมีศาสตร์ในการปลดโค้ช พวกเขาจำเป็นต้องแยกทางกับโค้ชด้วยดีเพื่อผลประโยชน์ของทีมในอนาคต เพราะเวลากลับมาร่วมงานกันอีกที ทุกอย่างจะได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น หากแยกทางกันด้วยความบาดหมาง ผลก็จะออกมาตรงกันข้าม

เหมือนในกรณีของ เมาริซิโอ ซามปารินี่ อดีตประธานสโมสรปาแลร์โมผู้ล่วงลับ ที่ได้รับการขนานนามว่าประธานจอมเชือดกุนซือ ที่เคยให้สัมภาษณ์โจมตีตอนปลด เดลิโอ รอสซี่ ว่า “เขาทำลายทีมนี้ทั้งหมด เขาทำลายปาแลร์โมของผม เขาทำลายนักเตะในทีม”

Photo : Il Messaggero

ทว่า 4 เกมให้หลัง ซามปารินี่ ก็ต้องกลืนน้ำลายเรียก เดลิโอ รอสซี่ กลับมาคุมทีมอย่างรวดเร็ว โดยกล่าวว่า “การเปลี่ยนโค้ชคือความผิดพลาดของผม ผมขอโทษแฟนบอลปาแลร์โม ผมหวังว่าอนาคตของสโมสรจะดีกว่านี้” เรียกได้ว่านอกจากทีมจะผลงานแย่แล้ว ความน่าเชื่อถือของ ซามปารินี ยังลดน้อยถอยลงไปอีก

การเรียกใช้บริการโค้ชที่ปลดไปในลีกอิตาลี ไม่ได้การันตีว่าผลงานของทีมจะดีขึ้น ส่วนใหญ่แล้วจะออกแนวล้มเหลวเสียด้วยซ้ำ อย่าง เว็บไซต์ calcioengland.com ได้เก็บสถิติ 50 เคสในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ปรากฎว่า มีเพียง 17 เคส ที่กอบกู้วิกฤตของทีมได้ หรือคิดเป็น 34% จากทั้งหมด แต่ด้วยข้อจำกัดทางการเงินจึงทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือก และต้องจบลงด้วยการกลับมาเปิดหนังสือเล่มเดิม ที่ตอนจบไม่ต่างจากเดิมมากนัก… ดังเช่นที่เราได้กล่าวมาในข้างต้น


เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ผลงาน วิธีการ วิธีคิด : ทำไม อาร์เตต้า จึงถูกมองว่าเป็นร่างทรง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ?

สิ่งสำคัญคือ “ภาพรวม” : เลือกลูกรัก(ในสายตาแฟนบอล)อย่างไรให้เฮ้ดโค้ชไม่โดนด่า ?

พ่อมดก็ช่วยไม่ไหว : เกิดอะไรขึ้นกับเชลซีในฤดูกาลนี้?

แหล่งอ้างอิง : https://calcioengland.com/2022/10/02/gli-esonerati-why-italians-go-back-to-their-exes/

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11649205/Salernitana-rehire-manager-Davide-Nicola-TWO-DAYS-sacking-him.html?ns_mchannel=rss&ns_campaign=1490&ito=1490

แชร์บทความนี้
ฟุตบอล, อนิเมะ, กาแฟ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ