แนวคิดโค้ชคู่ : จะไปได้สวยหรือไม่กับระบบฟุตบอลไทย ?

แนวคิดโค้ชคู่ : จะไปได้สวยหรือไม่กับระบบฟุตบอลไทย ?
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

หลังจากที่ แม็ตต์ ฮอลแลนด์ กุนซือรักษาการของทีม การท่าเรือ เอฟซี ทำผลงานได้ไม่ตรงไปตามเป้าหมายที่ตั้งเกณฑ์ไว้  “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้บริหารของสโมสร จึงตัดสินใจประกาศปลดผู้ฝึกสอนรายนี้ ออกจากตำแหน่งทันที เมื่อสิ้นสุดเกมลีกที่ทำได้แค่เปิดบ้านเสมอกับ โปลิศ เทโร เอฟซีแบบหืดจับ 2-2

ข่าวคราวเรื่องของโค้ชใหม่มีการคาดเดากันไปต่างๆ นาๆ ก่อนที่สุดท้ายจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากสโมสร สิงห์เจ้าท่า แต่งตั้งโค้ชคู่อย่าง “โค้ชโชค” โชคทวี พรหมรัตน์ และ “โค้ชอั๋น” สุรพงษ์ คงเทพ เข้ามาสานงานต่อ

เกมแรกที่ทั้งสองผู้ฝึกสอนเปิดตัวร่วมงานกัน ดูเหมือนจะไปได้สวย เพราะสามารถพาทีมเปิดบ้านถล่มเอาชนะ เชียงใหม่ ยูไนเต็ด ในศึก เอฟเอ คัพ รอบ 16 ทีมสุดท้าย ขาดลอย 4-0

แต่นั่นเป็นเพียงก้าวแรกที่ตัดสินอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากตัวอย่างในการคุมทีมด้วยแนวคิด โค้ชคู่ มีการลงเอยตอนจบที่แตกต่างกันออกไปทั้งในไทยและต่างประเทศ ร่วมหาคำตอบไปพร้อมๆ กันใน Think Curve - คิดไซด์โค้ง

จุดเริ่มต้น

เมื่อผลงานของทีมไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้บริหารของสโมสรย่อมต้องมองถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งประเด็นหลักๆ ที่เห็นกันจนชินตา ย่อมเป็น “การเสริมทัพผู้เล่น” หรือ “การเปลี่ยนแปลงผู้ฝึกสอน” ไม่ว่าจะเป็นทั้งในไทยหรือต่างประเทศก็ตาม

แน่นอนว่าตัวผู้นำอย่าง มาดามแป้ง แฟนบอลไทยที่ติดตามข่าวสารอยู่เป็นประจำ มักจะคุ้นเคยดีว่า การเลือกคนเข้ามาทำงาน จะเล็งไปที่คนคุ้นเคยรอบตัว ที่รู้จักนิสัยใจคอ เห็นแนวทางการทำทีมมาแล้ว จากการร่วมงานกันมาก่อนหน้านี้

จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่หวยจะออกมาเป็น “โค้ชโชค” ในวัย 47 ปี ที่เคยคุมสโมสรแห่งนี้ในปี 2019 พาทีมคว้าแชมป์ ช้าง เอฟเอ คัพ ได้ในรอบ 10 ปี

Photo : Goal

ส่วนทาง “โค้ชอั๋น” ก็มีความคุ้นเคยและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ จากการทำทีมในไทยมามากมาย อาทิ บีอีซี เทโรศาสน, พัทยา ยูไนเต็ด, เชียงใหม่ เอฟซี, สุโขทัย เอฟซี และ เชียงใหม่ ยูไนเต็ด ด้วยวัยเพียงแค่ 44 ปีเท่านั้น

การเข้ามารับงานได้เพียงไม่กี่วันของทั้งคู่ เปิดหัวกรุยทางได้สวยงามเลยทีเดียว จากการเปิดบ้านเอาชนะ เชียงใหม่ ยูไนเต็ด สบายเท้า 4-0 แม้ว่ารูปเกมช่วงแรกอาจมีติดขัดบ้าง รวมไปถึงข้อสงสัยจากแฟนบอลและสื่อเรื่องของการแบ่งหน้าที่การทำงาน

โดย โค้ชโชค รับหน้าที่ให้สัมภาษณ์หลังจบเกมเอาไว้ว่า

“ช่วงแรกบอลมันก็อาจจะติดขัดนิดนึงเพราะเราเพิ่งเข้ามานะครับ แล้วน้องๆ บางคนยังไม่รู้แพทเทิร์นการวิ่งหรือตัวต่างชาติเอง แต่พอผ่านลูกนึงทุกอย่างมันก็คลี่คลาย แต่พอมาโดนลูกโทษเนี่ย ถ้าสกอร์โดนไล่มาเป็นสองต่อหนึ่งขึ้นมาก็อันตรายเหมือนกัน”

“แต่พอเปลี่ยน เจ้ายิม (วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ และ มิคกี้ (ปฐมพล เจริญรัตนาภิรมย์) ลงมา มิติฟุตบอลมันก็เกิดขึ้น บอลมันก็ไหลลื่นเพิ่มมากขึ้น แล้วก็ทำให้เห็นว่า ทีมเรากลับมาเป็น ท่าเรือ ที่เล่นแล้วสนุก”

Photo : Goal

“ประเด็นโค้ชคู่ ผมกับ โค้ชอั๋น ผมเก่งอีกด้านนึง ส่วนโค้ชอั๋น ต้องยอมรับนะครับ ประสบการณ์ในการทำทีม ไทยลีก นี่เยอะ เพราะอย่างงั้นแทคติกอะไรต่างๆ เราเป็นโค้ช เราสามารถเรียนรู้กันได้นะครับ”

“อย่างผมเก่งในเรื่อง ระเบียบวินัย หรือ รู้จักน้องๆ ในทีม เพราะว่ามาจากทีมชาติ เพราะฉะนั้น มาดามแป้ง ก็ให้มาผสมกัน เพื่อให้มันกลมกลืนที่สุด”

“หลักในการทำงานผมว่า จุดสำคัญ คือ ฟุตบอลต้องเล่นให้สนุก ต้องมีชัยชนะ ทำให้แฟนบอลและประธานสโมสรแฮปปี้ด้วย คือ สิ่งที่เราต้องการประมาณนั้น”

“พวกเราไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเยอะ เพราะน้องๆ รู้อยู่แล้วว่า แพทเทิร์นของเราคืออะไร? ของผมคืออะไร? แล้วโค้ชอั๋นเข้ามาอีก ก็มีการประชุมปรึกษาหารือกัน ผมก็บอกว่าที่นี่เป็นแบบนี้นะ ถ้าจัดให้มันลงตัวได้ งานมันจะเนี้ยบอย่างแน่นอน โค้ชอั๋นจะได้วางแทคติกได้ต่อ”

Photo : Goal

แต่ชัยชนะในเกมที่ผ่านมาจะเป็นแค่ ภาพลวงตา หรือไม่? ต้องมาดูกันต่อไปหลังจากนี้แบบยาวๆ เพราะมีทีมอื่นๆ ที่เคยลองระบบนี้มาแล้วเช่นกัน

ตัวอย่างของแนวคิดนี้ในวงการฟุตบอลไทยและต่างประเทศ

กรณีศึกษาจากลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากแฟนบอลทั่วโลก ต้องย้อนกลับไปที่แดนผู้ดี ซึ่งเคยมีหลายสโมสรใช้แนวคิด การใช้ผู้จัดการทีมร่วม หรือ กุนซือคนคู่ มาแล้วในอดีต

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1991-1995 อลัน เคอร์บิชลี่ย์ และ สตีฟ กริตต์ ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการทีมของ ชาร์ลตัน แอธเลติก แต่ผลงานกลับออกมาไม่เป็นไปตามคาด บอร์ดบริหารจึงเลือกที่จะเปลี่ยนแปลง

ด้วยการไล่ กริตต์ ออกไปจากตำแหน่ง แล้วมอบอำนาจให้กับ เคอร์บิชลี่ย์ คุมทีมแบบเดี่ยวๆ มีอำนาจเพียงคนเดียว จนสามารถเลื่อนชั้นไปสู่ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ได้ในปี 1998 หลังหายหน้าหายตาไปจากลีกสูงสุดถึง 8 ปี

Photo : South London Press

ต่อมาที่กรณีของสโมสร ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ในฤดูกาล 1992/93 ที่ประธานสโมสรอย่าง อลัน ชูการ์ และ เทอร์รี่ เวนาเบิ้ลส์ ซึ่งถูกดันขึ้นไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการของทีม ที่ตัดสินใจดึงตัว ดั๊ก ลิเวอร์มอร์ และ เรย์ คลีเมนซ์ เข้ามาทำทีมร่วมกันแทนที่ของ ปีเตอร์ รีฟส์ ที่ทำผลงานได้ไม่ดี

อย่างไรก็ตาม เวนาเบิ้ลส์ ออกมาเผยในภายหลังว่า ลิเวอร์มอร์ และ คลีเมนซ์ ทำหน้าที่ไม่ต่างกับหุ่นเชิดของเขา ซึ่งมีชื่อในตำแหน่งเพียงแค่ในนามเท่านั้น ท้ายที่สุดเมื่อการบริการงานต่างๆ ไปได้ไม่สวยดังคาด ทั้งคู่ก็กระเด็นออกไปจากตำแหน่งพร้อมกัน

ส่วนเคสที่แฟนบอลยุค 90 คุ้นเคยกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้นสโมสร ลิเวอร์พูล ที่เลือกจะดึงตัว เชราร์ด อุลลิเย่ร์ เข้ามาทำทีมร่วมกับ รอย อีแวนส์ ในปี 1998 ด้วยความหวังที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าทั้งสองคน จะทำงานร่วมกันได้แบบราบลื่น

Photo : Planet Football

อีแวนส์ นั้นฝากชีวิตไว้ในถิ่น แอนฟิลด์ นับตั้งแต่เป็นนักเตะเยาวชน ไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้เล่นชุดใหญ่ พอเลิกเล่นก็ทำงานเป็นผู้จัดการทีมสำรอง และก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งผู้จัดการทีมชุดใหญ่ ใช้เวลารวมๆ ราว 35 ปี

เขาเคยผ่านการร่วมงานกับโค้ชระดับตำนานของทีมอย่าง บิล แชงค์ลี่ย์ และ บ็อบ เพสลี่ย์ รวมไปถึงในยุคของ โจ ฟลาแกน และ รอนนี่ โมรัน ซึ่งตัวของ อีแวนส์ คือ บู๊ทรูม สตาฟฟ์ รายสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ แล้วรับรู้เรื่องของวัฒนธรรมองค์กรอย่างลึกซึ้ง

โดยบอร์ดบริหาร ลิเวอร์พูล มองว่า เขาเป็นคนสำคัญที่ทีมยังต้องการ เพื่อที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับสโมสร ด้วยความเข้าใจประเพณีของทีม ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาอย่างเต็มเปี่ยมกับโค้ชชั้นยอดของทีม

ตัวของ อีแวนส์ ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้จัดการทีมแต่ละคนสอนผมให้รู้ซึ้งถึงการเป็นโค้ช พวกเราไม่ได้มีดีกรีอะไรเพื่อยืนยันฝีมือ ไม่จำเป็นต้องมีการตีตรายืนยันอะไรทั้งนั้น เมื่อคุณได้เรียนรู้งานจากบุคคลคุณภาพ คุณคงไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้มาก แต่ได้เรียนรู้จากพวกเขาเต็มๆ”

Photo : Liverpool Echo

โอกาสของ อีแวนส์ ที่ได้คุมทีมชุดใหญ่แบบเต็มตัว เป็นการรับไม้ต่อจาก แกรม ซูเนสส์ ที่อำลาทีมไปในช่วงเดือนมกราคมปี 1994 แม้ว่าช่วงแรกเขาจะมีความกังวล ไม่กล้าจะรับงานที่หนักหนานี้

แต่พอบอร์ดของทีมสนับสนุนว่า เขาคู่ควรกับตำแหน่ง แล้วมันถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว เขาอยู่กับสโมสรมาอย่างยาวนาน แล้วรู้ดีว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป ก็ไม่มีเหตุผลที่จะบอกปฏิเสธ ซึ่งผลงานของเขาก็พาทีมประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์ ลีก คัพ ได้ในซีซั่น 1994/95

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นทีมกลับไม่สามารถไปถึงตำแหน่งแชมป์รายการอื่นๆ ได้เลย แม้ว่าจะขึ้นชื่อเรื่องการเล่นเกมบุกที่ดุดันเร้าใจ ยังคงภาพลักษณ์ของคำว่า “เครื่องจักรสีแดง” เอาไว้ได้ แต่เมื่อไม่มีถ้วย บอร์ดบริหารก็ต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง

Photo : Planet Football

แล้วนั่นก็เป็นที่มาของการติดต่อให้ เชราร์ด อุลลิเย่ร์ เข้ามาเป็น ผู้จัดการทีมร่วมกับ อีแวนส์ ในฤดูกาล 1998/99 เพื่อหวังเติมแนวคิดใหม่ในการทำทีม เปิดประสบการณ์เล่นฟุตบอลสไตล์ยุโรป ไม่ได้ปิดกั้นเป็นทีมที่เล่นแบบอังกฤษโบราณ เหมือนแต่เก่าก่อน

การนำผู้จัดการทีมคนใหม่เข้ามา ด้วยแนวคิดที่ไม่ต้องการทำร้ายจิตใจคนเก่าแก่ เลยส่งผลให้ทั้งคู่ต้องทำงานร่วมกันแบบเลี่ยงไม่ได้ แต่แล้วช่วงเวลา “ผู้จัดการทีมคนคู่” ของทีม หงส์แดง ก็กินเวลาแค่ราวสามเดือนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นทาง อีแวนส์ ที่ต้องลาจากทีมไปในเดือนพฤศจิกายน เพราะความเห็นหลายอย่างไม่ตรงกัน

ซึ่งตัวของ อีแวนส์ ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังเหตุการณ์นี้ว่า

“ย้อนกลับไปถึงเรื่องราวที่คนอื่นไม่เคยรู้มาก่อน มันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะพูดว่า การใช้ผู้จัดการทีมทำงานร่วมกันสองคน เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด แม้ว่าบอร์ดบริหารจะยืนยันว่า การปลดผมออกไปจะทำให้ทีมดีขึ้นก็ตามที”

“การเล่นของทีมที่นำแนวคิดของฟุตบอลยุโรปเข้ามาในเวลานั้นมันดีใช้ได้ แต่ตัวผมเองก็ควรจะมีอำนาจที่มากกว่า ถ้านำ อุลลิเย่ร์ เข้ามารับบทบาทผู้อำนวยการสโมสรหรือรับหน้าที่อื่นๆ ในทีม มันน่าจะเป็นสิ่งที่ลงตัวมากกว่าการแต่งตั้งเขาเป็นผู้จัดการทีมร่วม”

Photo : This Is Anfield

“มันไม่ใช่ความผิดของใครเลย แล้วการพูดของผมครั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่เคารพ อุลลิเย่ร์ เพราะเขาไม่มีทางจะทำให้ ลิเวอร์พูล ตกต่ำอยู่แล้ว แต่มันเป็นสถานการณ์ที่เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเราทั้งคู่”

“เมื่อคุณเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับการเลือกตัวผู้เล่นลงสนาม แล้วผมกับเขาเลือกผู้เล่นที่ต่างกันมันทำให้เกิดปัญหา สุดท้ายก็ต้องเลือกการตัดสินใจของคนใดคนหนึ่งอยู่ดี”

“นักเตะในทีมทุกคนไม่ได้โง่ ถ้ามีใครคนหนึ่งถูกดร็อปออกจากทีม แล้วเขาคิดว่านั่นเป็นการตัดสินใจของผม เขาก็จะหันไปสนับสนุน เชราร์ด ส่วนคนที่มองในมุมตรงกันข้ามก็จะหันมาเข้าข้างผม มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

“ผมจึงเลือกที่จะตกลงเดินออกมาด้วยการตัดสินใจของตัวเอง เพราะตระหนักดีแล้วว่า สถานการณ์แบบนั้นมันไม่ถูกต้อง แล้วถ้าหากทนอยู่แบบนั้นต่อไปก็จะมีปัญหามากมายเกิดขึ้นตามมา”

“บทสรุปของเรื่องทั้งหมดมันก็มีเท่านี้ ฟุตบอล คือ อุตสาหกรรมที่ไม่ต่างกับ ฆาตกร ที่ต้องมีการกำจัดคนที่ไม่ใช่ออกไป”

Photo : SportsJOE

เคสตัวอย่างในประเทศไทย ก็มีให้เห็นคล้ายๆ กับเรื่องราวที่กำลังเป็นอยู่ในสโมสร การท่าเรือ เอฟซี เพียงแค่เปลี่ยนตัวละครบางคนเท่านั้น

มาดามแป้ง เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติไทย ชุดอายุต่ำกว่า 23 ปี ที่ไปแข่งขันในรายการชิงแชมป์เอเชียเมื่อราวปีก่อน แล้วตัดสินใจที่จะแต่งตั้ง โค้ชโชค ทำงานร่วมกับ “โค้ชโย่ง” วรวุฒิ ศรีมะฆะ ทำงานร่วมกัน

ผลงานของทีมชุดดังกล่าว จบลงที่อันดับที่สามในศึก ชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี กลุ่ม ซี ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งไม่ได้มีใครออกมาพูดถึงสาเหตุเบื้องหลังว่า ทำไมผู้เล่นชุดดังกล่าวถึงทำผลงานได้ไม่ตรงตามเป้า ทั้งที่คู่แข่งในกลุ่มก็ไม่ได้แข็งแกร่งมากนัก

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ลูปท่าเรือฯ : วังวนเดิมกับการหวังผลลัพท์ใหม่... เป็นได้จริงหรือ ?
การท่าเรือเปลี่ยนโค้ชไปแล้ว 18 ครั้ง นับตั้งแต่ นวลพรรณ ล่ำซำ หรือ ”มาดามแป้ง” เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรในปี 2015 ตลอดระยะเวลา 8 ปี แม้จะมีความสำเร็จคือแชมป์ เอฟเอ คัพ ในปี 2019 แต่ปัญหาที่หลายคนมองเห็นคือพวกเขามักจะเลือกโค้ชในแบบที่เป็น ”คนใน” อยู่เสมอ

ข้อดี และ ข้อเสีย

แน่นอนว่า กุนซือคนคู่ อาจมีข้อดีตามสุภาษิตไทยที่ว่า “สองหัวดีกว่าหัวเดียว” สามารถช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง ช่วยกันแก้ปัญหา ปรับปรุงแนวทางการทำทีมไปพร้อมๆ กัน คนหนึ่งอาจเห็นจุดบอดส่วนนี้ อีกคนอาจเห็นจุดดบอดส่วนนั้น ด้วยวัสัยทัศน์ที่มองต่างมุม

จากการให้สัมภาษณ์ของ โค้ชโชค ที่กล่าวถึงการปรึกษาหารือกับ โค้ชอั๋น ในการถ่ายทอดดเรื่องวัฒนธรรมองค์กรของสโมสร การท่าเรือ เอฟซี พร้อมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับนักเตะ ที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนในทีมชาติ ย่อมเป็นประโยชน์ในการวางแทคติกการเล่นของ โค้ชอั๋น

ผลงานในช่วงแรกๆ ที่ทีมมีการปรับเปลี่ยน อาจไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม เพราะอยู่ในช่วงโปรโมชั่น นักเตะได้รับแรงกระตุ้นใหม่ๆ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะคงฟอร์มการเล่นแบบนี้ไปได้นานแค่ไหน เพราะล่าสุดการท่าเรือก็บุกแพ้ ขอนแก่น ยูไนเต็ดไปอีก 0-1 ในเกมไทยลีกที่ผ่านมา

Photo : Port FC

อย่างไรก็ตามข้อเสียที่เห็นได้จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับทีมในลีกชั้นนำในประเทศอังกฤษ คือ เรื่องของภาระหน้าที่ของ ผู้ฝึกสอนแต่ละคน ที่ค่อนข้างจะเกี่ยวเนื่องกัน ไม่ได้มีการแบ่งแยกอำนาจชัดเจนว่า ใครจะจัดการเรื่องไหน? มีสิทธิ์ที่จะเกิดการก้าวก่ายงานกันได้ ซึ่งคงไม่มีใครพอใจกับเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว

การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ลีกฟุตบอลชั้นนำ มีการแบ่งแยกตำแหน่งการบริหารในทีมเป็นฝ่ายๆ ชัดเจน แฟนบอลที่ติดตามข่าวสารจากต่างประเทศ คงจะเคยได้ยินตำแหน่งอย่าง ประธานฝ่ายเทคนิค, ผู้อำนวยการสโมสร หรือ หัวหน้าทีมซื้อ-ขายผู้เล่น เพื่อที่แต่ละคนจะได้รู้หน้าที่ของตัวเองว่า ต้องทำอะไรอย่างชัดเจน ไม่ไปก้าวก่ายฝ่ายอื่นๆ จนทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันในภายหลัง

สุดท้าย แฟนบอลสิงห์เจ้าท่า คงได้แต่หวังให้แนวคิด กุนซือคนคู่ ไม่ลงเอยแบบไม่สวย เหมือนเคสตัวอย่างที่ยกมา ทีมจะได้ก้าวหน้าและไปต่อถึงการลุ้นแชมป์รายการต่างๆ ที่ห่างหายไปนานได้เสียที

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

จากเมืองทองฯ ถึง ท่าเรือฯ : รวมดาวทีมชาติไว้ในสโมสรเดียวกันได้ประโยชน์จริงหรือ?

“โค้ชอ๊อตโต้” : กุนซือวัย 26 ปีผู้คืนชีพ ชัยนาท เอฟซี ด้วย “เข็มทิศแห่งอนาคต”

รื้อระบบพรีเมียร์ลีก : การบริหาร “เรื่องเงิน” อย่างมืออาชีพที่ไทยลีกควรเอาอย่าง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A9%E0%B9%8C_%E0%B8%84%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%8A%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B5_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%8C

https://www.youtube.com/watch?v=D9a1__fxKpc

https://www.planetfootball.com/nostalgia/curious-case-joint-managers-bolton-admired/

https://www.snl24.com/soccerladuma/international/joint-managers-in-football-20201012

https://www.thisisanfield.com/2020/04/roy-evans-and-the-impossible-situation-gerard-houlliers-arrival-at-anfield-presented/

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ